Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: ไพล

ชื่อท้องถิ่น: ปูขมิ้น มิ้นสะล่าง (ฉาน-แม่ฮ่องสอน)/ ว่านไฟ ไพลเหลือง (ภาคกลาง)/ ปูเลย ปูลอย (ภาคเหนือ)/ ว่านปอบ (ภาคอีสาน)

ชื่อสามัญ: Phlai, Cassumunar ginger, Bengal root

ชื่อวิทยาศาสตร์: Zingiber montanum (J.Koenig) Link ex A.Dietr.

ชื่อวงศ์: ZINGIBERACEAE

สกุล:  Zingiber 

สปีชีส์: montanum 

ชื่อพ้อง: 

-Jaegera montana (J.Koenig) Giseke

-Zingiber newmanii Theilade & Mood

-Zingiber nudicarpum D.Fang

-Zingiber peninsulare Theilade

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นไพล เป็นไม้ล้มลุก สูงประมาณ 0.7-1.5 เมตร มีลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า เปลือกสีน้ำตาลแกมเหลือง เหง้าสดมีเนื้อในสีเหลืองถึงเหลืองแกมเขียว ฉ่ำน้ำ มีกลิ่นหอมเฉพาะ แทงหน่อหรือลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอ ประกอบด้วยกาบหรือโคนใบหุ้มซ้อนกันเป็นลำกลม สีเขียวเข้ม โคนกาบสีแดง


ไพล thai-herbs.thdata.co | ไพล สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ ออกระนาบเดียว รูปขอบขนานแกมใบหอก กว้างประมาณ 3.5-5.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 18-35 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมน หรือเว้ารูปหัวใจ ผิวใบเรียบ ขอบใบเรียบ ไม่มีก้านใบ มีขนนุ่มที่เส้นกลางใบด้านท้องใบ แผ่นใบบาง หลังใบสีเขียวเข้ม ท้องใบสีอ่อนกว่า กาบใบมีลิ้นใบ


 ไพล thai-herbs.thdata.co | ไพล สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อเชิงลด รูปไข่หรือยาวรี หรือรูปกระสวย แทงจากเหง้าใต้ดิน ดอกกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร ใบประดับจำนวนมากเรียงตัวเป็นระเบียบซ้อนกันแน่นคล้ายเกล็ดปลา มีขนประปราย ใบประดับย่อยม้วนหุ้มดอกย่อย ใบประดับมีสีแดงอมม่วง ขอบสีเขียว รูปเหมือนกลีบดอกบัว ข้างในใบประดับมีดอกย่อย 1 ดอก กลีบดอกเป็นหลอดเชื่อมติดกัน หลอดยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ส่วนปลายมี 3 กลีบ สีเหลืองนวล กลีบดอกบอบบาง เกสรเพศผู้ส่วนเป็นกลีบมี 3 หยัก สีขาวนวล หยักกลางขนาดใหญ่เป็นกลีบปาก   รูปเกือบกลม เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันมีสีเหลืองอมขาว ส่วนนี้มีขนาดใหญ่กว่ากลีบดอกและสวยสะดุดตา บริเวณกลางกลีบส่วนปลายจะเข้มกว่าเล็กน้อย หยักข้างมี 2 หยักติดกับกลีบปาก หรือหยักใหญ่ที่โคน เกสรเพศผู้ มีก้านสั้น อับเรณูสีเหลืองอ่อน มีส่วนปลายยื่นยาวออก เกสรเพศเมีย ยอดเกสรที่ส่วนปลายมีขนละเอียดสีขาว รังไข่ ค่อนข้างแบน มีขน

ผล ลักษณะผลเป็นผลแห้ง รูปทรงกลม ขนาดเล็ก แก่แตก 3 พู เมล็ดรูปไข่กลม ผิวเป็นมัน สีดำ มีเมล็ดจำนวนมาก

สภาพนิเวศวิทยา: -

ถิ่นกำเนิด: จีนตอนใต้ไปจนถึงอินโดจีน

การกระจายพันธุ์: จีนใต้-กลาง, จีนตะวันออกเฉียงใต้, ไหหลำ, ลาว, ไทย, เวียดนาม

ไพล thai-herbs.thdata.co | ไพล สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*หัว รสฝาดขื่นเอียน สรรพคุณ ตำคั้นผสมกับเกลือสะตุ ๑ ช้อนโต๊ะรับประธานถ่ายพิษบิด ขับลมในลำไส้ ขับประจำเดือนสตรี ฝนทาแก้เคล็ดบวมยอก และผสมกับน้ำมันเบนซิน ทาแก้เหน็บชาชนิดบวมสมานแห

*ใบ รสขื่นเอียน สรรพคุณ แกครั่นเนื้อครั่นตัว แก้ปวดเมื่อย

*ต้น รสฝาดขื่นเอียน สรรพคุณ แก้อุจจาระพิการ แก้ธาตุพิการ อุจจาระพิการ

*ดอก  รสขื่น สรรพคุณ แก้ช้ำใน กระจายเลือดเป็นก้อนเป็นนิ่ม

*ราก  รสเบื่อเอียน สรรพคุณ แก้เลือดกำเดาออกทางปากทางจมูก แก้อาเจียนเป็นโลหิต

องค์ประกอบทางเคมี: 

-เหง้า (หัว) พบสารกลุ่ม arylbutenoid คือ cassumunarin, สารสีเหลืองเป็นสารกลุ่มเคอร์คูมินอยด์ที่พบ ได้แก่ cassumunin A-C, curcumin, น้ำมันหอมระเหยที่กลั่นจากเหง้ามี sabinene เป็นองค์ประกอบหลักประมาณ 50% , terpene-4-ol ประมาณ 20%, triquinacene 1,4-bis (methoxy), (Z)-ocimene  และสารอื่นๆ,พบสารสเตียรอยด์ beta-sitosterol, สาร 4-(4-hydroxy-1-butenyl) veratrole มีฤทธิ์ขยายหลอดลม

-ใบ พบสารกลุ่มน้ำมันหอมระเหยหลายชนิด เช่น sabinene, β-pinene, caryophyllene oxide และ caryophyllene เป็นต้น

การศึกษาทางเภสัชวิทยา: 

-ฤทธิ์ต้านการอักเสบ การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารบริสุทธิ์ 3 ชนิด ที่แยกได้จากเหง้าไพล ได้แก่ terpinene – 4 – 0l, α- terpinene และ (E)1-(3 ,4-dimethoxyphenyl) but-3-en-1-0l ซึ่งเป็นสารฟีนิลบิวตานอยด์ การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบและบรรเทาปวด พบว่าเป็นผลจากสาร (E)1-(3 ,4- dimethoxyphenyl) but-3-en-1-0l มีฤทธิ์ต้านการอักเสบเป็น 2 เท่าของยามาตรฐาน diclofenac ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันที่ใช้บรรเทาอาการอักเสบ โดยออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase และ lipooxygenase จากการศึกษาผลของการลดการอักเสบในสัตว์ทดลองโดยวิธีต่างๆ พบว่าสามารถลดอาการบวมของอุ้งเท้าหนูจากการฉีดคาราจีแนน และลดอาการอักเสบของใบหูหนูจากการทากรด arachinodic  (ชลิต และคณะ, 2554)

-ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบ ของสาร (E)-1-(3,4-dimethoxyphenyl) butadiene (DMPBD), ที่แยกได้จากเหง้าไพล ในสัตว์ทดลองโดยใช้หนูขาวเพศผู้สายพันธ์ุุ Sprague-Dawley โดยดูผลในการยับยั้งการบวมของใบหูหนู กี่ถูกกระตุ้นให้เกิดการบวมด้วยสาร ethyl phenylpropiolate (EPP), arachidonic acid (AA) และ 12-O-tetradecanoylphorbol 13-acetate (TPA)  โดยฤทธิ์ในการยับยั้ง จะขึ้นกับปริมาณสารสกัด ที่สัตว์ทดลองได้รับ และพบว่า สาร  DMPBD ออกฤทธิ์ได้ดีกว่ายามาตรฐานทุกการทดสอบ ในการทดลองโดยใช้ EPP กระตุ้นให้เกิดการบวมของหูหนู สาร DMPBD และสารมาตรฐาน oxyphenbutazone มีค่าการยับยั้ง  IC50 เท่ากับ 21 และ 136 nmol/ear ในการทดลองโดยใช้ AA กระตุ้นให้เกิดการบวมของใบหูหนู สาร DMPBD และสารมาตรฐาน phenidone มีค่าการยับยั้ง  IC50 เท่ากับ 60 และ 2,520 nmol/ear  เมื่อใช้ TPA-กระตุ้นให้เกิดการบวมของใบหูหนู สาร DMPBD และสารมาตรฐาน diclofenac มีค่าการยับยั้ง  IC50เท่ากับ 660 และ  7200 pmol/ear พบว่าสาร  DMPBD ออกฤทธิ์ได้ดีกว่ายา diclofenac ประมาณ 11 เท่า  สาร DMPBD และ diclofenac สามารถยับยั้งการบวมของอุ้งเท้าหนู ที่ถูกกระตุ้นด้วย carrageenan แต่ไม่สามารถยับยั้งเมื่อใช้  platelet activating factor (PAF) เป็นตัวกระตุ้น (Jeenaponga, et al, 2003)

-การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารบริสุทธิ์ 2 ชนิด ที่แยกได้จากเหง้าไพล ได้แก่ สารอัลฟาพินีน (α- pinene) และเทอร์ปินีน (terpinene –4-ol) พบว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ทั้งการให้โดยการป้อนให้หนูกิน หรือฉีดเข้าช่องท้อง โดยออกฤทธิ์นานกว่ายามาตรฐานอินโดเมธาซิน ส่วนเคอร์คิวมิน (curcumin) พบว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยออกฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (ชลิต และคณะ, 2554)

-การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบของสาร 3 ชนิด ที่แยกได้จากเหง้าไพล โดยใช้ลิโพพอลิแซ็กคาร์ไรด์ (LPS) กระตุ้นให้เกิดการแสดงออกของเอนไซม์ COX-2  ที่เกี่ยวข้องในขวนการอักเสบ ผลการทดสอบพบว่า สารทั้ง 3 ชนิด สามารถลดการสร้างพรอสตาแกลนดิน (PGE2) ที่ทำให้เกิดการอักเสบได้ โดยสาร cis-3-(3’,4’-dimethoxyphenyl)-4- [(E)-3’’’, 4’’’-dimethoxy-styryl] cyclohex-1-ene (compound B), cis-3-(2’,4’,5’- trimethoxyphenyl)-4-[(E)-2’’’,4’’’,5’’’-trimethoxy-styryl]cyclohex-1-ene (compound C) และ DMPBD สามารถลดการแสดงออกของเอนไซม์ COX-2 และลดการสร้าง PGE2 ที่บริเวณเนื้อเยื่อของฟันได้ นอกจากนี้พบว่าสารเคอร์คูมิน ซึ่งเป็นองค์ประกอบปริมาณน้อยในไพลสามารถยับยั้งเอนไซม์ COX-2 ได้เช่นกัน (Tangyuenyongwatana and Gritsanapan, 2014)

-การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบ ด้วยวิธีการยับยั้งการผลิตไนตริกออกไซด์ (NO) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ โดยใช้เซลล์แมคโครฟาจในเยื่อบุช่องท้องของหนู ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย LPS พบว่าสาร DMPBD, 4- [2,4,5-trimethoxy-phenyl)but-1,3-diene (TMPBD) และ cassumunaquinone มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง NO โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 69, 83 และ 47 µM ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีรายงานฤทธิ์ต้านการอักเสบของ compound D ซึ่งมีชื่อทางเคมี (E)-4-(2’,4’,5’-trime thoxy phenyl)-3-en-1-ol และ (E)-4-(3’,4’-dimethoxyphenyl)-3-en-1- methoxy-1-ol สามารถยับยั้ง Interleukin -1 (IL-1) ที่เกี่ยวข้องกับการสลายของกระดูกอ่อน และ compound D ยังมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติโดยกระตุ้นกระบวนการฟาโกไซโทซิส (Tangyuenyongwatana and Gritsanapan, 2014)      

-สารสกัดเหง้าไพลด้วย methanol  นำมาสกัดแยกต่อด้วยวิธี partition ด้วยอีเทอร์ และน้ำ นำสารสกัดอีเทอร์มาสกัดต่อด้วยเฮกเซน แล้วนำสารสกัดเฮกเซนมาแยกสารบริสุทธิ์  3 ชนิด ได้แก่ (E)-1-(3, 4-dimethoxyphenyl)but-1-ene, (E)-1-(3, 4-dimethoxyphenyl) butadiene และ zerumbone ทำการศึกษาฤทธิ์ต้านอักเสบ 2 วิธี คือ การใช้คาราจีนีนกระตุ้นให้เกิดการบวมที่อุ้งเท้าหนูขาว และวิธีให้ acetic acid กระตุ้นให้เกิดการปวดโดยทำให้หนูถีบจักรเกิดการบิดงอลำตัว (writhing) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัด methanol เมื่อป้อนให้หนูในขนาด 3g/kg สามารถลดการบวมที่อุ้งเท้าหนูได้เทียบเท่ากับยามาตรฐาน indomethacin ขนาด 10g/kg และลดการเกิด writhing สารสกัดอีเทอร์มีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่อุ้งเท้าหนู ได้เทียบเท่ากับ indomethacin เช่นเดียวกัน การตรวจสอบองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดเมทานอล และอีเทอร์ พบสาร (E)-1-(3, 4-dimethoxyphenyl) but-1-ene เป็นองค์ประกอบ การทดสอบโดยใช้กรดอะซีติกเหนี่ยวนำให้เกิดการเคลื่อนที่ของของเหลวออกนอกหลอดเลือด (acetic acid induced vascular permeability test) พบว่าสารสกัดอีเทอร์ ขนาด 0.5 g/kg และสารสกัดเฮกเซน ขนาด 0.2 g/kg ลดการเคลื่อนที่ของของเหลวออกนอกหลอดเลือดได้เทียบเท่ากับ indomethacinขนาด 10g/kg แต่สารสกัดเมทานอลขนาด 0.3 g/kg ไม่ออกฤทธิ์ (Ozaki, et al., 1991)

-การประเมินฤทธิ์ระงับอาการอักเสบของสาร 7 ชนิด ที่พบในส่วนสกัดเฮกเซนจากไพล โดยใช้การทดสอบการบวมของอุ้งเท้าหนูขาวที่เกิดจากคาราจีนิน พบว่าสารเหล่านี้เมื่อให้ในขนาดเดียวกับแอสไพริน (300 มก/กก) มีแนวโน้มว่าจะมีฤทธิ์ระงับอาการอักเสบ โดยสามารถยับยั้งการบวมของอุ้งเท้าหนูขาวได้ในช่วง 24.2 ถึง 83.9 เปอร์เซนต์ โดยที่สาร D [ชื่อทางเคมี (E)-4-(3’,4’-dimethoxyphenyl)but-3-en-1-ol]  มีฤทธิ์ยับยั้งการบวมสูงที่สุด ดังนั้นจึงเลือกสาร D เพื่อทำการศึกษาโดยละเอียดต่อไป นอกจากนี้ยังทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างขนาดสารที่ให้ กับการตอบสนองที่เกิดขึ้นของสาร D และอนุพันธ์เอสเทอร์อีก 2 ชนิด คือสาร D-acetate และสาร D-palmitate จากการทดลองโดยทำให้เกิดการอักเสบหลายวิธี พบว่าสาร D มีฤทธิ์ระงับอาการอักเสบในระยะเฉียบพลันได้ดี ดังจะเห็นได้ในการทดลองที่ทำให้เกิดการบวมของอุ้งเท้า และการอักเสบในช่องอกของหนูขาวโดยใช้คาราจีนิน ส่วนฤทธิ์ระงับอาการอักเสบในระยะเกือบจะเรื้อรัง และระยะเรื้อรัง พบว่าสาร D มีฤทธิ์ไม่มากนัก ซึ่งจะเห็นได้จากการที่สาร D มีฤทธิ์ระงับอาการบวมของอุ้งเท้าหนูขาวที่เกิดจาก adjuvant ได้เพียงเล็กน้อย และไม่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเกิด granuloma (การอักเสบเรื้อรัง) ที่กระตุ้นด้วยก้อนสำลี ในขณะที่เพรดนิโซโลนซึ่งเป็นยาในกลุ่มสเตียรอยด์ สามารถระงับอาการอักเสบในการทดลองทั้งสองแบบได้ดี นอกจากนี้ เพรดนิโซโลนยังมีฤทธิ์ลดน้ำหนักของต่อม thymus และการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว เนื่องจากพบว่าสาร D ไม่มีฤทธิ์เหล่านี้ ดังนั้นสาร Dจึงน่าจะมีการออกฤทธิ์ที่ต่างจากยาในกลุ่มสเตียรอยด์ จากการที่สาร D มีฤทธิ์แรงในการยับยั้งการเกิด exudate ในช่องอกของหนูขาว การสะสมของเม็ดเลือดขาว และการสร้างสารที่มีฤทธิ์คล้ายพรอสตาแกลนดินใน exudate ดังนั้นกลไกการออกฤทธิ์ส่วนหนึ่งของสาร D น่าจะเกิดจากการยับยั้งชีวสังเคราะห์ของพรอสตาแกลนดิน และพบว่าสาร D มีฤทธิ์แรงในการลดไข้ในหนูที่ใช้ยีสต์กระตุ้นให้เกิดไข้ ทั้งนี้เพราะการสังเคราะห์พรอสตาแกลนดินในระบบประสาทส่วนกลาง เป็นจุดร่วมของกลไกในการทำให้เกิดไข้ ในการทดสอบฤทธิ์ระงับความเจ็บปวดของสาร D พบว่าสาร D สามารถออกฤทธิ์ระงับความเจ็บปวดได้ดีพอๆ กับแอสไพริน ในการทดลองที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดโดยฉีดกรดอะซีติกเข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักร แต่มีฤทธิ์เพียงเล็กน้อยในการทดลอง tail-flick เมื่อเทียบกับมอร์ฟีน ดังนั้นสาร D จึงน่าจะออกฤทธิ์ระงับความเจ็บปวด โดยผ่านกลไกนอกระบบประสาทส่วนกลาง ส่วนการสังเกตผลของสาร D เมื่อให้เข้าทางช่องท้องของหนูขาวที่ไม่สลบ พบว่า สาร D สามารถลด motor activity ร่วมกับการสูญเสีย righting reflex และ screen grip โดยสองอาการหลังจะเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น เมื่อให้สาร D ในขนาดสูง (500 มก/กก) สัตว์ทดลองจะตายเนื่องจากการหยุดการหายใจ (วิรัตน์, 2532)

-ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดบริสุทธิ์จากไพล [(E)-1-(3,4- dimethoxyphenyl) butadiene, (DMPBD)] โดยใช้รูปแบบการทดลองทั้ง in vivo และ in vitro การศึกษาแบบ in vivo เพื่อดูประสิทธิภาพของ DMPBD ในการลดอาการบวมของใบหูของหนูขาวซึ่งถูกเหนี่ยวนําโดยการทาสาร ethyl phenylpropiolate (EPP), arachidonic acid (AA) หรือ 12-O-tetradecanoylphorbol 13-acetate (TPA) และผลต่ออาการบวมของอุ้งเท้าหนูขาวซึ่งถูกเหนี่ยวนําโดยการฉีดสาร carrageenan หรือ platelet-activating factor (PAF) ผลการทดสอบพบว่า DMPBD ที่ให้โดยวิธีการทาสามารถลดอาการบวมของใบหูที่ถูกกระตุ้นโดย EPP และ AA ได้ดีกว่า oxyphenbutazone และ phenidone ตามลําดับ โดยมีประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์สูงสุดที่เวลา 30 นาที ในทั้งสองกรณีพบว่าประสิทธิภาพในการลดอาการบวมจาก TPA ของ DMPBD ในขนาดต่ำ (0.1-1000 ng/ear) จะเพิ่มขึ้นตามชนิดยาที่ใช้ ในขณะที่ DMPBD ในขนาดสูง (10-1000 µg/ear) กลับมีฤทธิ์ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับ diclofenacสาร DMPBD มีความแรงสูงกว่า โดยมีค่า ID50 ที่เวลา 8 ชั่วโมง เท่ากับ 660 pmole/ear ในขณะที่ ID50 ของ diclofenac สูงถึง 7200 pmole/ear DMPBD และ diclofenac ลดอาการบวมของอุ้งเท้าหนูที่เกิดจากการฉีด carrageenan ได้ดีพอ ๆ กัน โดยออกฤทธิ์สูงสุดที่ชั่วโมงที่ 4-5 หลังทายา ผลการออกฤทธิ์ขึ้นอยู่กับขนาดของยาที่ใช้ สารทั้งสองตัวนี้ไม่สามารถลดอาการบวมที่เกิดจากการฉีด PAF ได้ ในขณะที่ salbutamol ซึ่งเป็น ß2 -agonist สามารถลดอาการบวมได้อย่างเด่นชัด และผลที่ได้แปรผันตามขนาดยาที่ใช้ (รัตติมา, 2537)

-สาร phenylbutenoids 1-6  ซึ่งแยกได้จากสารสกัดคลอโรฟอร์ม และ phenylbutenoids 7 แยกได้จากสารสกัดบิวทานอล จากเหง้าไพล นำมาทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase-2 (COX-2) ที่ทำหน้าที่สร้างสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ ได้แก่ PGE2 จากการทดลองพบว่าการผลิต  prostaglandin E2  ในเซลล์ macrophage RAW 264.7 ของหนู  ที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysaccharide ลดลง โดยสาร phenylbutenoid 1 และ 2 สามารถยับยั้ง COX-2  โดยมีค่า IC50  เท่ากับ 2.71 และ 3.64 µM ตามลำดับ,สาร phenylbutenoid 3 และ 4 ออกฤทธิ์ปานกลาง โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 14.97 และ 20.68 µM ตามลำดับ แต่สาร phenylbutenoids 5-7 ไม่มีฤทธิ์ ชื่อทางเคมีขอสาร phenylbutenoid  1-7 คือ (±)-trans-3-(3,4-dimethoxyphenyl)-4-[(E )-3,4-dimethoxystyryl] cyclohex-1-ene (1)   (±)-trans-3-(4-hydroxy-3-methoxyphenyl)-4-[(E)-3,4-dimethoxystyryl]cyclohex-1-ene (2)  4-(2,4,5-trimethoxyphenyl)-but-1,3-diene (3), 4-(3,4-dimethoxyphenyl)but-1,3-diene(4)  (E)-4-(3,4-dimethoxyphenyl)but-3-en-1-ol (5) (E)-4-(3,4-dimethoxyphenyl)but-3-en-1-yl acetate (6) และ (E)-4-(3,4-dimethoxyphenyl)but-3-en-1-O-ß-D-glucopyranoside (7) (Han, et al, 2005)

-ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และต้านการอักเสบ ฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลองของน้ำมันไพล ทดสอบด้วยวิธี ABTS cation radical decolorization และ DPPH โดยเปรียบเทียบกับน้ำมันจากใบยูคาลิปตัส และเปลือกมะนาว และฤทธิ์ในการทำลายอนุมูลชนิดไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ในเซลล์โมโนซัยต์ โดยใช้สารเรืองแสง DCFH ผลการศึกษาพบว่าน้ำมันไพลมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุด (11.46 ± 0.72 mmol Trolox/ml) ตามด้วยน้ำมันจากใบยูคาลิปตัส (9.30 ± 2.20 mmol Trolox/ml) และน้ำมันจากเปลือกผิวมะนาว (0.00 ± 0.58 mmol Trolox/ml) น้ำมันไพลยังสามารถทำลายอนุมูลชนิด H2O2 ที่เกิดจากการใช้ Ultrasound (3.0 W/cm2, continuous mode, 20 min) โดยพบว่าน้ำมันไพลที่ความเข้มข้น 1:2,000 และ 1:1,000 โดยปริมาตรต่อปริมาตร สามารถลดการเรืองแสงของ DCFH ภายในเซลล์ได้ดีกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับเซลล์ควบคุม     ฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ ทำการศึกษาในเซลล์เพาะเลี้ยงแมคโคฟาจน์ (J774) ที่กระตุ้นการอักเสบด้วยสาร Lipopolysaccharide (LPS) โดยทำการตรวจวัดปริมาณของไนตริกออกไซด์ และปริมาณของเอนไซม์ COX II ซึ่งเป็นสารที่เกิดขึ้นในขบวนการอักเสบ ด้วยวิธี Griess reagent และชุดตรวจวัด COX II ELISA kit ผลการทดสอบพบว่าน้ำมันไพลสามารถยับยั้งการหลั่งสารไนตริกออกไซด์จากเซลล์แมคโคฟาจน์ตามความเข้มที่ 1:100 (24.20 ± 1.42 µmol/l) และ 1:1,000 (28.56 ± 3.8 µmol/l) เมื่อเปรียบเทียบกับเซลล์ควบคุม (35±5.2 µmol/l) นอกจากนี้แล้วยังพบว่าน้ำมันไพลยังสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ COX II ได้ตามความเข้มข้นของน้ำมันไพลที่ 1:1,000 และ 1:2,000 อย่างมีนัยสำคัญ     การตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันไพลด้วยเครื่อง GC-MS พบว่ามีสารสำคัญ 3 ชนิดคือ Sabinene (18.79%), Terpinen-4-ol (48.17%) และ (E)-1-(3,4-dimethyoxyphenyl) butadiene (15.09%)  สำหรับฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูทดลอง โดยนำน้ำมันไพลไปเก็บกักในนีโอโซม แล้วนำมาผสมในเจล สำหรับการรักษาด้วยเครื่อง Ultrasound หรือ Iontophoresis โดยกระตุ้นการอักเสบที่ผิวหนังด้วยสาร LPS ทำการตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิผิว และอัตราการไหลของเลือดที่ผิวหนัง หลังจากได้พัฒนาน้ำมันไพลในรูปแบบของนีโอไพลที่ความเข้มข้น 0.1% แล้วนำมารักษาด้วยเครื่องอัตราซาวน์ (Ultrasoud) ที่ความเข้ม 0.2 w/cm2 ในรูปแบบ 20% นาน 3 นาที ในหนูที่กระตุ้นการอักเสบเฉพาะที่ผิวหนังด้วย LPS (100 ไมโครกรัมต่อ 100 ไมโครลิตรต่อจุด) พบว่าสามารถช่วยทำให้อุณหภูมิ และอัตราการไหลเวียนของเลือดที่อักเสบมีค่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับหนูควบคุม หรือหนูที่รักษาด้วยนีโอโซมควบคุม แต่การรักษาด้วยการผลักสาร (Iontophoresis) โดยใช้นีโอไพล พบว่าประสิทธิผลในการช่วยลดอุณหภูมิหรืออัตราการไหลของเลือดไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม (ดลรวดี, 2552)

-ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลองของสารสกัดเมทานอลจากเหง้าไพล ทดสอบด้วยวิธี DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl) radical scavenging assay พบว่าสารสกัดเหง้าไพลในขนาด 500 µg/mL มีความสามารถในการยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH ได้เท่ากับ 86% เมื่อเปรียบเทียบกับวิตามินซีในขนาด 0.1 mM ยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH ได้เท่ากับ 91% การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระไฮดรอกซี (Hydroxyl radical scavenging assay) โดยการวัดปริมาณ thiobarbituric acid ที่เกิดจากปฏิกิริยาของอนุมูลอิสระไฮดรอกซีกับ deoxyribose ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเหง้าไพลด้วยเมทานอลในขนาดความเข้มข้น 1µg/mL ออกฤทธิ์แรงในการยับยั้งอนุมูลอิสระไฮดรอกซี ได้ร้อยละ 59 การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ superoxide ที่เกิดขึ้นจาก hypoxanthine/xanthine oxidase system อนุมูล superoxide ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็น reducing agents จะไป reduce NBT dye เกิด product สีน้ำเงินวัดผลจากปริมาณ nitroblue tetrazolium (NBT) ที่เกิดขึ้น ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเมทานอลขนาด 50 µg/mL สามารถยับยั้งอนุมูล superoxide ได้มากกว่า 75%  (Sharma, et al., 2007)

-ฤทธิ์ต้านการแพ้ การทดสอบฤทธิ์ต้านการแพ้ในหลอดทดลอง ของสารสกัดเอทานอล สารสกัดน้ำ และน้ำมันหอมระเหยจากเหง้าไพล โดยวัดการยับยั้งการหลั่ง β–hexosaminidase ตัวชี้วัดการเกิดภูมิแพ้ ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่หลั่งมาจาก RBL-2H3 basophilic leukemia cell line ของหนู ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลจากเหง้าไพลสามารถยับยั้งการหลั่งเอนไซม์ β–hexosaminidase ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 12.9 µg/ml ในขณะที่ยามาตรฐาน ketotifen fumalate มีค่า IC50 เท่ากับ 20.2 µg/ml (47.5 μM) สารสกัดน้ำมีค่า IC50 เท่ากับ 44.4 µg/ml ส่วนน้ำมันหอมระเหยไม่ออกฤทธิ์ เมื่อคิดเป็นร้อยละของการยับยั้งพบว่าสารสกัดเอทานอลในขนาดความเข้มข้น 10, 30 และ 100 µg/ml มีค่าในการยับยั้งการเกิดอาการแพ้คิดเป็นร้อยละ 39.1±5.1 (p < 0.05), 73.2±2.0 (p < 0.01)  และ 103.5 ± 0.9 (p < 0.01)  ตามลำดับ จากผลการศึกษาสามารถใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาการใช้ไพลในการรักษาอาการแพ้หรือโรคที่เกี่ยวกับอาการแพ้ได้ (Tewtrakul and Subhadhirasakul, 2007)

-ฤทธิ์คลายตัวของกล้ามเนื้อมดลูก และกล้ามเนื้อเรียบอื่นๆ สาร D 4-(4-hydroxy-1-butenyl) veratrole ที่แยกได้จากเหง้าไพล ทำให้มดลูกคลายตัว เมื่อทดสอบในหนูขาวและในกระต่าย โดยใช้การทดลองกับมดลูกในตัวสัตว์ทดลอง พบว่าสาร D ทำให้เกิดการยับยั้งการหดตัวของมดลูกของหนูขาวที่เกิดขึ้นเอง และของกระต่าย ซึ่งการหดตัวถูกกระตุ้นให้เกิดโดยการใช้ออกซีโทซิน (oxytocin) การคลายตัวของมดลูกขึ้นกับความเข้มข้น โดยค่า ED50 เท่ากับ 95 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม การตรวจสอบหาความแรงของสาร D เทียบกับไอโสโพรเทอรีนอล (Isoproterenol) โดยการใช้วิธี Four point assay ได้ค่าความแรงของสาร D ที่ทำให้มดลูกคลายตัวในหนูขาวไม่ตั้งครรภ์ หนูขาวตั้งครรภ์ และกระต่ายไม่ตั้งครรภ์ เป็น 1/1408, 1/204 และ 1/446 เท่าของไอโสโพรเทอรีนอล ตามลำดับ กลไกการออกฤทธิ์ของสาร D  หาได้โดยการเปรียบเทียบผลการทดลอง และทดสอบค่าทางสถิติกับไอโสโพรเทอรีนอล พาพาเวอรีน (papaverine) และอมิโนฟิลลิน (aminophylline) โดยใช้การทดลองกับมดลูกที่แยกออกมาจากตัวของหนูขาว พบว่า dose-response curve ของสาร D ขนานกับ dose-response curve ของพาพาเวอริน แต่ไม่ขนานกับ dose-response curve ของไอโสโพรเทอรีนอล และของอมิโนฟิลลิน นอกจากนั้นยังพบว่า โพรพราโนลอล (propranolol) ซึ่งเป็นตัวกั้นฤทธิ์โดยเฉพาะของไอโสโพรเทอรีนอล ไม่สามารถยับยั้งฤทธิ์ของพาพาเวอริน อมิโนฟิลลิน และสาร D ได้ จึงคาดว่าสาร D ไม่ได้ออกฤทธิ์ โดยผ่านการกระตุ้นบีต้าอดรีเนอจิกรีเซพเตอร์ และน่าจะมีกลไกการออกฤทธิ์เช่นเดียวกับพาพาเวอริน สาร D ยังมีผลทำให้กล้ามเนื้อเรียบอื่นๆ ที่นอกเหนือจากมดลูกคลายตัวได้ ในการทดลองกับหลอดลมที่แยกออกมานอกตัวของหนูตะเภา พบว่าสาร D สามารถยับยั้งการหดตัวที่ถูกกระตุ้นโดยฮีสตามีน โดยมีค่า ED50 เท่ากับ 0.47 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ส่วนการหดตัวของลำไส้เล็กที่แยกออกมาจากตัวของหนูขาวที่ถูกกระตุ้นโดยอเซทิลโคลีน จะถูกยับยั้งได้โดยสาร D ซึ่งได้ค่า ED50 เท่ากับ 0.9 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร  หนูขาวที่สลบด้วยเพนโตบาบิทาล เมื่อให้สาร D จำนวน 4 ขนาด คือ 10, 20, 40 และ 80 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม มีผลทำให้ความดันโลหิตลดลงในระยะเวลาสั้นๆ (2 นาที) เท่านั้น และมีขนาดของความดันโลหิตที่ลดลงเท่ากับ 35-45% เมื่อทดสอบทางสถิติพบว่า การลดลงของความดันโลหิตมีความสัมพันธ์พอควรกับขนาดของสาร D  ผลของสาร D ต่ออาการทั่วไปของหนูขาว ที่ไม่ได้ทำให้สลบ โดยการทดสอบวิธี Hippocratic screening พบอาการของระบบประสาทส่วนกลางถูกกด มีการคลายตัวของกล้ามเนื้อลาย และการหายใจถูกกด ขนาดต่ำสุดของสาร D ที่เริ่มทำให้หนูขาวตายด้วยระบบทางเดินหายใจล้มเหลวคือ 500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ส่วนการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักร ได้ค่า LD50 เท่ากับ 724 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือ 724 (605.08-825.36) มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% (พูลทรัพย์, 2527)

-ฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหาร การศึกษาฤทธิ์ยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของสารสกัดเมทานอลจากไพล และสารบริสุทธิ์ โดยทำการทดลองในหนูถีบจักร ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเมทานอลจากไพล ในขนาด 200 และ 400 มก./กก. เมื่อนำมาป้อนให้หนูก่อน 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นจึงเหนี่ยวนำให้หนูเกิดแผลในระบบทางเดินอาหารด้วย 1N HCl ปริมาณ 0.2 มล. พบว่าสามารถยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ 61.97% และ 83.10% ตามลำดับ จากนั้นจึงแยกสารองค์ประกอบหลักในส่วนสกัดย่อยที่ออกฤทธิ์ดีที่สุด ได้แก่ สารซีรัมโบน (zerumbone) แล้วนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ที่เหนี่ยวนำด้วยด้วยกรดไฮโครคลอริก, 95% เอทานอล และอินโดเมทาซิน พบว่าเมื่อให้ zerumbone ในขนาด 20 มก./กก. สามารถต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ 45.77%, 29.07% และ 64.76% ตามลำดับ และเมื่อให้ zerumbone ขนาด 40 มก./กก. ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ 92.25%, 45.35% และ 72.38% ตามลำดับ โดยสรุปสาร zerumbone ออกฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ดีเมื่อเหนี่ยนำให้เกิดแผลด้วยกรด HCl และยา indomethacin และออกฤทธิ์ได้ปานกลางเมื่อเหนี่ยวนำด้วยเอทานอล เมื่อเปรียบเทียบกับยาแผนปัจจุบัน omeprazole ขนาด 30 มก./กก. ที่สามารถยับยั้งการเกิดแผลที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยกรดไฮโครคลอริกได้เพียง 38.03% ในขณะที่ยา lansoprazole ขนาด 30 มก./กก. สามารถยับยั้งการเกิดแผลที่ถูกเหนี่ยวนำด้วย 95% เอทานอล ได้เพียง 37.21% และยา sucrafate ขนาด 100 มก./กก. สามารถยับยั้งการเกิดแผลที่เหนี่ยวนำด้วยอินโดเมทาซินได้ 52.38% จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่า สารซีรัมโบน (zerumbone) ในไพลมีฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยกรดไฮโครคลอริก 95% เอทานอล และอินโดเมทาซินได้ ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นยาต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ต่อไป (Al-Amin, et al, 2012)

-ฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด การศึกษาฤทธิ์เกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดในหลอดทดลอง โดยใช้เลือดจากใบหูกระต่าย พบว่าสาร DMPBD, ยา aspirin และ ยา phenidone มีผลยับยั้งการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือดที่ถูกกระตุ้นโดย collagen ได้โดยมีค่า  IC50 เท่ากับ 0.35, 0.43 และ  0.03 mM และค่า IC50 ของการใช้สาร DMPBD, aspirin และ  phenidone เมื่อใช้  ADP, AA และ PAF ในการกระตุ้น มีค่าเท่ากับ 4.85, 3.98 และ 1.30 mM ; 0.94, 0.13 และ 0.04 mM ;  1.14, 6.96  และ 2.40 mM ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า สาร DMPBD มีคุณสมบัติในการยั้บยั้งการอักเสบที่มีประสิทธิภาพดี ออกฤทธิ์โดยการยั้บยั้งเอนไซม์  cyclooxygenase  และ Lipoxygenase โดยการทดลองพบว่ามีการออกฤทธิ์ผ่าน Lipoxygenase pathways เป็นหลัก (Jeenaponga, et al, 2003)

การศึกษาทางพิษวิทยา: 

-การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเหง้าด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 250 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ และพิษระยะยาวเมื่อให้หนูกินสรุปว่า ไพลในขนาดที่ใช้รักษาปกติ ไม่ปรากฏความเป็นพิษทั้งระยะเฉียบพลันและเรื้อรัง (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)         

-การศึกษาพิษเฉียบพลัน และพิษเรื้อรังของไพลในหนูถีบจักร หนูขาว และลิงแสม พบว่าหนูถีบจักรไม่แสดงอาการพิษเฉียบพลันใด ๆ เมื่อป้อนผงไพลขนาด 10 กรัม/กิโลกรัม ค่า LD50  ของสารสกัดไพลที่ให้ทางปาก หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนังมากกว่า 20 กรัม/กิโลกรัม แต่เมื่อฉีดเข้าช่องท้องเท่ากับ 14.8 กรัม/กิโลกรัม  (นาถฤดี และคณะ, 2533)

-การศึกษาพิษเรื้อรังของไพลในหนูขาว 192 ตัว ซึ่งแบ่งเป็น 8 กลุ่ม กลุ่มละ 24 ตัว แต่ละกลุ่มมีทั้งเพศผู้เเละเพศเมียอย่างละ 12 ตัว หนูขาวสี่กลุ่มแรกให้กินอาหารผสมไพล 0.033, 0.5 และ 5.0% เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่กินอาหารปกติ และอีกสี่กลุ่มที่เหลือให้กินอาหารปกติ แต่ป้อนยาไพล 0.02, 0.3 และ 3.0 กรัม/กิโลกรัม/วัน เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ป้อน 1.0% tragacanth เมื่อครบกำหนด 1 ปี ตรวจสอบทางโลหิตวิทยา และชีวเคมี แล้วผ่าซากชันสูตรอวัยวะภายใน และตรวจสอบทางจุลพยาธิวิทยา ผลการศึกษาพบว่า หนูขาวทั้งสองเพศ กลุ่มกินอาหารผสมไพล 5.0%  ตายก่อนเสร็จสิ้นการทดลอง หนูเพศผู้กินอาหารผสมไพลได้น้อยกว่ากลุ่มที่กินอาหารปกติ 5, 10 และ 43% จึงเจริญเติบโตช้าลงตามลำดับ ผลการตรวจสอบทางโลหิตวิทยาอยู่ในเกณฑ์ปกติทุกกลุ่ม การตรวจสอบทางชีวเคมีพบว่าหนูที่กินอาหารผสมไพลมีระดับโปรตีนรวม และโกลบูลินสูง (P<0.05) สำหรับหนูขาวที่ป้อนยาไพล 3 กลุ่ม เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมพบว่า หนูเพศผู้ที่ป้อนยาไพล 3.0 กรัม/กิโลกรัม/วัน กินอาหารได้น้อยกว่ากลุ่มควบคุม 12% จึงเจริญเติบโตช้า ผลการตรวจสอบทางโลหิตวิทยา อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกกลุ่ม การตรวจสอบทางชีวเคมี พบว่าหนูที่กรอกยาไพลมีระดับอัลบูมินต่ำ SGOT และ SGPT สูง (P<0.05)  ผลการชันสูตรซากของหนูขาวทั้งหมด พบว่าหนูขาวที่ได้รับไพลติดต่อกัน 1 ปี มีตับผิดปกติ เช่น ตับแข็ง เนื้อตับเป็นปุ่มปม บางตัวมีเนื้องอกที่ตับ ตับและม้ามของหนูกลุ่มป้อนยาไพลมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นตามขนาดของไพลที่ได้รับ ส่วนผลการศึกษาทางจุลพยาธิวิทยา พบว่าเซลล์ของตับหนูผิดปกติ และเพิ่มจำนวนขึ้นตามขนาดของไพลที่ได้รับ ความผิดปกติที่ตรวจพบได้แก่ ตับแข็ง และเกิดการก่อมะเร็งที่เซลล์ของตับ แต่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่อวัยวะอื่น (นาถฤดี และคณะ, 2533)

-การศึกษาพิษเรื้อรังของไพลในลิงแสม 16 ตัว (เพศผู้ 8 ตัว เพศเมีย 8 ตัว) แบ่งเป็น 4 กลุ่ม แต่ละกลุ่มป้อนยาไพลขนาด 0.02, 0.2 และ 1.0 ก./กก./วัน และกลุ่มควบคุมป้อนด้วย 0.3% sodium carboxy methyl cellulose แล้วเจาะเลือดตรวจสอบทางโลหิตวิทยา และชีวเคมีทุกสองสัปดาห์ ปฏิบัติต่อเนื่องตลอดระยะเวลาสองปี จึงผ่าซากชันสูตรอวัยวะภายในและตรวจสอบทางจุลพยาธิวิทยา ผลการศึกษาพบว่า ลิงกลุ่มได้รับยาไพล 0.02 ก./กก./วัน เจริญเติบโตเร็ว และมีค่าเม็ดเลือดแดงอัดแน่น (Hct) สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ กลุ่มลิงที่ได้รับยาไพล 1.0 ก./กก./วัน ครั้งแรกเกิดการเป็นพิษต่อตับอย่างเฉียบพลัน คือระดับ SGOT และ SGPT สูงขึ้นมาก แล้วลดลงสลับกันไป แต่โดยเฉลี่ยมีระดับสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ หลังจากลิงกลุ่มนี้ได้รับยาไพล 3 เดือน มีการเจริญเติบโตช้าลง สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง ในเดือนที่ 5 และเดือนที่ 9 พบว่าตับเสื่อมสมรรถภาพในการสร้างโปรตีน ผลการชันสูตรซากและตรวจสอบทางจุลพยาธิวิทยาของอวัยวะภายในของลิงทุกกลุ่ม ไม่พบความผิดปกติใด ๆ จากผลการศึกษานี้ สรุปได้ว่าไพลเป็นพิษต่อตับ และยังไม่มีความปลอดภัยที่จะนำมาใช้เป็นยารับประทานติตต่อกันเป็นระยะเวลานาน นอกจากจะมีการขจัดสารที่เป็นพิษต่อตับออกจากไพลเสียก่อน (นาถฤดี และคณะ, 2533)

-การศึกษาพิษของไพลทั้งในระยะปัจจุบันและระยะยาว พิษระยะปัจจุบัน ไพลที่สกัดด้วยแอลกฮอล์และเฮกเซน มี LD50 (lethal dose 50) เท่ากับ 20 กรัม และ 80 กรัมต่อน้ำหนักหนู 1 กิโลกรัม ตามลําดับ (ในขณะที่ขนาดรักษาในคนเป็น 10-20 มก./กก.) พิษของการใช้ระยะยาว ใช้หนูทดสอบทั้งหมด 112 ตัว,  28 ตัว ใช้เป็นกลุ่มเปรียบเทียบ, หนูที่เหลือแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม โดยให้กินอาหารที่ผสมกับไพลทุกวัน ในขนาดร้อยละ 0.5, 3 และ 18 ของน้ำหนักของอาหาร ซึ่งคิดเป็นขนาด 23, 150 และ 1,200 เท่า ของขนาดยาที่ใช้รักษาในคน ถ้าให้ในขนาดร้อยละ 18 พบว่าหนูจะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติอย่างเห็นได้ชัด  กลุ่มอื่นอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทําการตรวจ ปัสสาวะ เลือด ชีวเคมีของเลือด และการตรวจทางพยาธิวิทยาของสัตว์ที่ทดลองทั้งหมด ไม่พบสิ่งผิดปกติที่มีความสําคัญ สรุปว่าในขนาดที่รักษาปกติ ไพลไม่ปรากฏความเป็นพิษทั้งระยะปัจจุบันและระยะยาว (รังสรรค์ และคณะ, 2529)

-น้ำสกัดจากเหง้าไพลในขนาด 100% น้ำหนัก/ปริมาตร ฉีดเข้าหลอดเลือดดําที่หางหนูถีบจักร ในขนาด 2, 3, 4, 5 และ 6 กรัม/กิโลกรัม ของน้ำหนักตัว และสังเกตผลภายในเวลา 72 ชั่วโมง พบว่าภายหลังได้รับน้ำสกัดจากเหง้าไพล 20 นาที หนูมีอาการ ตัวสั่น ขนลุก เดินโซเซ กระวนกระวาย ส่วนหนูถีบจักรที่ได้รับน้ำสกัดจากเหง้าไพลในขนาดสูง มีอาการชักทั้งแบบเกร็ง และชักกระตุก ต่อมาหยุดหายใจ แล้วตายในที่สุด มีค่า LD50 เท่ากับ 4.00 (3.28-4.88) กรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว การใช้ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ (antiarrhythmic agent) 2 ขนาดรวมกัน คือ auinidine และ propranolol จะช่วยลดอัตราการตายของสัตว์ทดลองได้โดยได้ค่า LD50 เพิ่มขึ้นเป็น 6.00 (4.41-8.16) กรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว (ศักดิ์ชัย, 2520)

-ฤทธิ์ก่อมะเร็ง การศึกษาการก่อมะเร็งของสารสกัด และสารบริสุทธิ์จากไพล ได้แก่ สารสกัดด้วยเฮกเซน, steam distillate, สาร D acetate, สาร D palmitate โดยใช้ในหลายรูปแบบการทดลอง และเปรียบเทียบกับสารก่อมะเร็งมาตรฐาน พบว่าสารสกัดด้วยเฮกเซน และ steam distillate มีคุณสมบัติในการก่อกลายพันธุ์อย่างชัดเจน ในขณะที่สารบริสุทธิ์ คือ สาร D, สาร D acetate มีคุณสมบัติในการกลายพันธุ์อย่างอ่อนมาก โดยแปรกับสัดส่วนขนาดที่ใช้ใน Salmonella TA-100 นอกจากนี้พบว่าเป็น indirect mutagens คือต้อง อาศัย metabolic activation จาก S-9 fraction จึงจะสามารถก่อกลายพันธุ์ได้ การทดลองคุณสมบัติในการ transformation ใน 3T3 cell line พบว่าสารสกัดเฮกเซน และสาร D acetate สามารถ transform cell ได้ในลักษณะแปรเป็นสัดส่วนกับขนาดที่ใช้ โดยที่สารสกัดเฮกเซนมีฤทธิ์สูงกว่า เมื่อศึกษาในระบบ medium term assay ในหนูขาว พบว่าสารทั้ง 4 ชนิดคือ สารสกัดเฮกเซน, สาร D, สาร D acetate และสาร D palmitate ไม่ชักนําให้เกิด altered hepatic foci หรือ hyperplastic nodules เลย แม้ว่าสัตว์ทดลองจะได้รับ sublethal dose ถึงสองครั้ง ห่างกัน 1 สัปดาห์ แล้วตามด้วยการทํา partial hepatectomy 1 สัปดาห์ต่อมาก็ตาม (เรณู และคณะ, 2533)

การใช้ประโยชน์:

ไพล thai-herbs.thdata.co | ไพล สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

-โรคหอบหืด ใช้เหง้าแห้ง 5 ส่วน, ดีปลี 2 ส่วน, พริกไทย 2 ส่วน, กานพลู 1/2 ส่วน, พิมเสน 1/2 ส่วน นำมาบดผสมรวมกัน ใช้ผงยา 1 ช้อนชาชงกับน้ำร้อนแล้วรับประทาน หรือจะปั้นเป็นยาลูกกลอนด้วยการใช้น้ำผึ้ง ขนาดเท่าเม็ดพุทรา แล้วรับประทานครั้งละ 2 ลูก โดยต้องรับประทานติดต่อกันเรื่อย ๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้น

-อาการปวดท้องประจำเดือน ใช้เหง้าสดนำมาฝานเป็นชิ้นบาง ๆ แล้วต้มกับน้ำดื่มขณะมีประจำเดือน หรือปวดประจำเดือน ช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน

-อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ท้องขึ้น ท้องเดิน ช่วยขับลมในลำไส้ ใช้เหง้าแห้งนำมาบดเป็นผงแล้วรับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา ด้วยการนำมาชงกับน้ำร้อนและผสมเกลือด้วยเล็กน้อยแล้วนำมาดื่ม 

-อาการปวดท้อง ท้องเสีย แก้บิด บิดเป็นมูกเลือดใช้เหง้าสดประมาณ 4-5 แว่น นำมาตำให้ละเอียด แล้วคั้นเอาแต่น้ำ เติมเกลือครึ่งช้อนชาแล้วนำมารับประทาน หรือจะฝนกับน้ำปูนใสรับประทานก็ได้เช่นกัน 

-อาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำบวม ข้อเท้าแพลง ใช้หัวไพลนำมาฝนแล้วทาบริเวณที่มีอาการฟกช้ำบวมหรือเคล็ดขัดยอก 

-อาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำบวม ข้อเท้าแพลง ใช้เหง้าสด 1 แง่ง นำมาฝานเป็นชิ้นบาง ๆ แล้วต้มรวมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ เนื่องจากไพลจะมีน้ำมันหอมระเหย (เหง้าสด) ช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำบวม ข้อเท้าแพลง ด้วยการใช้เหง้า 1 เหง้า นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำมาทานวดบริเวณที่มีอาการ

-อาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำบวม ข้อเท้าแพลง ใช้เหง้าสด 1 แง่ง นำมาตำให้ละเอียดแล้วผสมกับเกลือเล็กน้อย นำมาห่อเป็นลูกประคบ แล้วอังไอน้ำให้ความร้อน นำมาใช้ประคบบริเวณที่มีอาการฟกช้ำบวมและบริเวณที่ปวดเมื่อย เช้า-เย็น จนกว่าจะหาย

-อาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำบวม ข้อเท้าแพลง ใช้ไพลหนัก 2 กิโลกรัม นำมาทอดในน้ำมันพืชร้อน ๆ 1 กิโลกรัม ให้ทอดจนเหลืองแล้วเอาไพลออก และใส่กานพลูผงประมาณ 4 ช้อนชา และทอดต่อไปด้วยไฟอ่อน ๆ ประมาณ 10 นาที เสร็จแล้วนำมากรองรอจนน้ำมันอุ่น ๆ และใส่การบูรลงไป 4 ช้อนชา ใส่ภาชนะปิดให้มิดชิด รอจนเย็นแล้วจึงเขย่าการบูรให้ละลาย แล้วนำน้ำมันไพลมาทาถูนวดวันละ 2 ครั้งเวลามีอาการปวด เช้า-เย็น 

-อาการผดผื่นคัน ใช้เหง้านำมาบดทำเป็นผงผสมกับน้ำ หรือจะใช้เหง้าสดนำมาล้างให้สะอาด ฝนแล้วทาบริเวณที่มีอาการ

-อาการเล็บถอด ใช้เหง้าสด 1 แง่ง (ขนาดเท่าหัวแม่มือ) นำมาตำให้ละเอียดแล้วผสมกับเกลือและการบูร อย่างละครึ่งช้อนชา แล้วนำมาใช้พอกบริเวณที่เป็นหนอง โดยควรเปลี่ยนยาที่ใช้พอกวันละ 1 ครั้ง

-ช่วยสมานแผล ใช้เหง้าสด 1 แง่ง นำมาฝานเป็นชิ้นบาง ๆ แล้วต้มรวมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ เนื่องจากไพลจะมีน้ำมันหอมระเหย 

-ช่วยทำให้ผิวหนังชุ่มชื่น ใช้เหง้าสด 1 แง่ง นำมาฝานเป็นชิ้นบาง ๆ แล้วต้มรวมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ เนื่องจากไพลจะมีน้ำมันหอมระเหย

-ช่วยกันยุงและไล่ยุง ใช้น้ำมันจากหัวไพลผสมกับแอลกอฮอล์นำมาทาผิวสามารถช่วยกันยุงและไล่ยุง




ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง