Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: มะนาว

ชื่อท้องถิ่น: -

ชื่อสามัญ: Lime, Common Lime

ชื่อวิทยาศาสตร์: Citrus aurantiifolia (Christm.) Swingle

ชื่อวงศ์: RUTACEAE

สกุล:  Citrus  

สปีชีส์: aurantiifolia

ชื่อพ้อง: 

-Citrus × acida Pers.

-Citrus × davaoensis (Wester) Yu.Tanaka

-Citrus depressa var. voangasay Bory

-Citrus × excelsa Wester

-Citrushystrix subsp. acida Engl.

-Citrus × javanica Blume

-Citrus × lima Macfad.

-Citrus× limettioides Yu.Tanaka

-Citrus × limonellus Hassk.

-Citrus × macrophylla Wester

-Citrus medica var. acida Brandis

-Citrus medica f. aurantiifolium (Christm.) M.Hiroe

-Citrus × montana (Wester) Yu.Tanaka

-Citrus × nipis Michel

-Citrus × notissima Blanco

-Citrus × papaya Hassk.

-Citrus × pseudolimonum Wester

-Citrus × spinosissima G.Mey.

-Citrus × voangasay (Bory) Bojer

-Citrus × webberi var. montana Wester

-Limonia × aurantiifolia

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นมะนาว เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 2-4 เมตร เปลือกลำต้นเรียบสีขาวปนน้ำตาล แผ่กิ่งก้านสาขากว้าง และมีหนามแหลมแข็งตามกิ่งก้านบริเวณซอกใบ 

ใบ เป็นใบประกอบ ออกเรียงสลับกัน มีใบย่อยใบเดียว ลักษณะใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตรปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบหยักมน แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน และมีต่อมน้ำมัมกระจายอยู่ตามผิว ใบอ่อนสีเขียวอมแดง ก้านใบสั้นและมีปีกแคบหรืออาจจะไม่มีปีก ฃ


มะนาว thai-herbs.thdata.co | มะนาว สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อสั้นๆ ประมาณ 5-7 ดอก หรือเป็นดอกเดี่ยวตามซอกใบที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว ด้านท้องมีสีม่วงปน เกสรตัวผู้เชื่อมติดกันเป็นกลุ่มๆ ละ 4-8 อัน ดอกมีกลิ่นหอม 


มะนาว thai-herbs.thdata.co | มะนาว สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะเป็นรูปทรงกลม ผิวเรียบเกลี้ยงสีเขียวเข้ม ส่วนผลแก่จะมีสีเหลือง เนื้อในแบ่งเป็นซีกหรือห้องแบบรัศมีประมาณ 5-40 ห้อง มีรสเปรี้ยว  มีเมล็ดภายใน ในเนื้อผลแต่ละซีกหรือห้อง เมล็ดลักษณะกลมรีหรือรูปไข่ มีขาวนวลหรือเหลืองอ่อน ประมาณ 10 -15 เมล็ด

สภาพนิเวศวิทยา: -

ถิ่นกำเนิด: -

การกระจายพันธุ์: แองโกลา, อัสสัม, บังกลาเทศ, เบลีซ, เบนิน, โบลิเวีย, กัมพูชา, เกาะเคย์แมน, อเมริกากลาง, ชาด, เกาะคริสต์มาส, เกาะคุก, คอสตาริกา, คิวบา, สาธารณรัฐโดมินิกัน, เทือกเขาหิมาลัยตะวันออก, เอลซัลวาดอร์, เอธิโอเปีย, ฟิจิ, กาลาปากอส, แกมเบีย, กินี-บิสเซา, อ่าวกินี, เฮติ, อินเดีย, ลาว, มาลายา, นิวแคลิโดเนีย, ไนเจอร์, นีอูเอ, ปากีสถาน, เปอร์โตริโก, ศรีลังกา, ตรินิแดด-โตเบโก, ไทย,  เวเนซุเอลา, เวียดนาม, หมู่เกาะวินด์เวิร์ด

มะนาว thai-herbs.thdata.co | มะนาว สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ใบ รสปร่าซ่า สรรพคุณ กัดฟอกเสมหะและระดู ใช้ในพิกัด 108 ใบ

*ราก  รสขื่นจืด สรรพคุณ  ถอดพิษไข้กลับซ้ำ ฝนกับสุกราทาฝี แก้อักเสบ แก้ปวด

*น้ำในลูก  รสเปรี้ยว สรรพคุณ กัดเสมหะ แก้ไอ ฟอกโลหิตทำให้ผิวงาม แก้เลือดออกตามไรฟัน

*เมล็ด (คั่วไฟ) รสขมหอม สรรพคุณ ขับเสมหะ แก้ซางเด็ก

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้มะนาว ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” มีส่วนประกอบของมะนาวร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง

องค์ประกอบทางเคมี: 

-น้ำจากผล มีกรด citric acid, malic acid, ascorbic acid,  ผิวมะนาวมีน้ำมันหอมระเหยที่มาจากการกลั่นผิวผล ร้อยละ 0.3-0.4 ประกอบด้วยสารต่าง ๆ ได้แก่  d-limonene (42-64%), alpha-berpineol (6.81%), bergamotene ผสมกับ terpinen-4-ol (3%),  alpha-pinene (1.69%), geraniol (0.31%), linalool, terpineol, camphene, bergapten (furanocoumarin)

-เมล็ด พบองค์ประกอบทางเคมี ได้แก่ limonin, limonexic acid, isolimonexic acid, β-sitosterol glucoside, limonin glucoside

การศึกษาทางเภสัชวิทยา: 

-ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเมทานอลจากผิวผล และใบมะนาว ใช้การทดสอบในหลอดทดลองด้วยวิธีทางเคมี ในการต้านอนุมูลอิสระ DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl) radical scavenging assay และ ABTS•+ ( 2,2-azino-bis(3-ethylbenzothiazoline-6-sulfonic acid) radical cation, วิธี β-carotene bleaching test (เพื่อดูการปกป้อง β-carotene จากอนุมูล linoleate ของสารทดสอบซึ่งแสดงถึงการยับยั้งการเกิดออกซิเดชันของไขมันได้) และ วิธี ferric reducing ability power assay (FRAP) เพื่อศึกษาสมบัติในการรีดิวส์ของสารต้านอนุมูลอิสระ ผลการทดสอบด้วยวิธี DPPH พบว่าสารสกัดเมทานอลจากใบมะนาว และผิวผลมะนาวจาก 3 แหล่งในประเทศอิตาลี สามารถยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH โดยมีค่า IC50 ของสารสกัดใบ และผิวผลอยู่ระหว่าง 75.4±1.5 ถึง 89.7±2.7 และ 78.3±1.8 ถึง 93.8±2.5 µg/mL ตามลำดับ การทดสอบด้วยวิธี ABTS assay พบว่าการสกัดใบ และผิวผลมะนาวด้วยเมทานอล มีค่าการยับยั้งอนุมูลอิสระ ABTS โดยมีค่า IC50 อยู่ระหว่าง 21.9±1.8 ถึง 28.8±2.5 และ 18.7±1.1 ถึง 41.4±1.5 µg/mL ตามลำดับ (สารมาตรฐาน ascorbic acid มีค่า IC50 ในการยับยั้ง DPPH และ ABTS เท่ากับ 5.0±0.8 และ 0.96±0.03 µg/mL ตามลำดับ)  การทดสอบด้วยวิธี β-carotene bleaching test พบว่าสารสกัดที่ออกฤทธิ์ดีคือ สารสกัดใบด้วยเฮกเซน และสารสกัดผิวผลด้วยเฮกเซน โดยสามารถยับยั้งการการฟอกจางสี β-carotene  ที่เวลา 30 นาที (แสดงถึงการมีฤทธิ์ปกป้อง β-carotene จากการทำลายของอนุมูลอิสระได้) มีค่า IC50 อยู่ระหว่าง 8.5±0.5 ถึง 15.4±0.9 และ 9.7±0.7 ถึง 12.7±0.4 µg/mLตามลำดับ (สารมาตรฐาน propyl gallate มีค่า IC50 เท่ากับ 1.0±0.04µg/mL)  

การทดสอบด้วยวิธี FRAP (การ reduce Fe3+เป็น Fe2+)  พบว่าสารสกัดเฮกเซนออกฤทธิ์ได้ดีกว่า โดยสารสกัดเฮกเซนจากผิวผลและใบ, สารสกัดเมทานอลจากผิวผลและใบ และสารมาตรฐาน BHT มีปริมาณของ Fe2+ ที่เกิดจากการรีดิวส์อยู่ในช่วง 159.2±3.8 ถึง 205.4±4.0, 112.1±2.2 ถึง 146.0±3.5 และ 63.2±4.5 µg/mL ตามลำดับ (Loizzo, et al., 2012)  โดยสรุปสารสกัดเมทานอลจากใบ และผิวผลมะนาวมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในทุกการทดสอบ

-ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรส ศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรส (ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำลายสารสื่อประสาท acethylcholine ในสมอง ที่เกี่ยวข้องกับความจำ เอนไซม์นี้ มี 2 ชนิดหลัก คือ AChE และ BChE  โดย BChE จะพบมากในระยะท้ายของโรคอัลไซเมอร์ การยับยั้งเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรส  จะทำให้ระบบที่เกี่ยวข้องกับความจำในสมองดีขึ้น และเป็นเป้าหมายในการรักษาโรคความจำเสื่อมอัลไซเมอร์) ทำการทดสอบในหลอดทดลองด้วยวิธีทางเคมี คือ Ellman’s method ผลการทดสอบการยับยั้ง AChE พบว่าสารสกัดเฮกเซนจากผิวผลออกฤทธิ์ได้ดีที่สุดโดยมีค่า IC50 เท่ากับ 91.4±1.4 µg/mL การยับยั้ง BChE พบว่าสารสกัดเฮกเซนจากใบออกฤทธิ์ได้ดีที่สุดโดยมีค่า IC50 เท่ากับ 84.0±2.9 µg/mL (สารมาตรฐาน physostigmine มีค่า IC50ในการยับยั้ง AChE และ BChE เท่ากับ 0.2±0.02 และ 2.4±0.04 µg/mLตามลำดับ) (Loizzo, et al., 2012)   

-ฤทธิ์ยับยั้งมะเร็งลำไส้ใหญ่ รายงานการศึกษาองค์ประกอบทางเคมี จากผิวผลมะนาวพบว่ามีน้ำมันหอมระเหยอย่างน้อย 22 ชนิด โดยมีองค์ประกอบหลัก คือ limonene (30%) และ dihydrocarvone (31%)  ทดสอบสารสกัดจากมะนาวขนาด 100 µg/ml พบว่าสามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ SW-480 ได้ร้อยละ 78 ภายหลังจาก 48 ชั่วโมง ที่สัมผัสกับสารทดสอบ และทำให้ DNA แตกหักเสียหาย จากการศึกษาต่อเนื่องได้ค้นพบสารกลุ่มคูมาริน จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ 5-geranyloxy-7-methoxycoumarin, limettin และ isopimpinellin เมื่อทดสอบในขนาด 25 μM พบว่าสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ SW-480 ได้ร้อยละ 67 ภายหลังจาก 72 ชั่วโมง ที่สัมผัสกับสารทดสอบ (Narang and Jiraungkoorskul, 2016)

-ฤทธิ์ยับยั้งมะเร็งตับอ่อน รายงานการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีในน้ำมะนาว พบว่ามี rutin, neohesperidin, hesperidin, hesperetin และสารกลุ่ม limonoid ได้แก่ limonexic acid, isolimonexic acid และ limonin การทดสอบน้ำมะนาวในขนาด 100 µg/ml พบว่าสามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งตับอ่อน Panc-28 cancer ได้ร้อยละ 73-89 ภายหลังจาก 96 ชั่วโมงที่สัมผัสกับสารทดสอบ  จากการศึกษาต่อเนื่องได้ค้นพบองค์ประกอบทางเคมีจากเมล็ดมะนาว ได้แก่ limonin, limonexic acid, isolimonexic acid, β-sitosterol glucoside และ limonin glucoside การทดสอบสารที่แยกได้จากมะนาวพบว่าสามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งตับอ่อน Panc-28 โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 18–42µMภายหลังจาก 72 ชั่วโมง ที่สัมผัสกับสารทดสอบ (Narang and Jiraungkoorskul, 2016)

-ฤทธิ์ยับยั้งมะเร็งเต้านม รายงานการศึกษาน้ำมะนาวในขนาดความเข้มข้น 125–500 µg/ml พบว่าสามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งเต้านม MDA-MB-453 ได้ ภายหลังจาก 24 ชั่วโมง ที่สัมผัสกับสารทดสอบ  การศึกษาสารสกัดจากผิวมะนาว ขนาด 6 และ 15 µg/ml พบว่าสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านม MCF-7 ในระยะ G1 และ G2/M ได้ภายหลังจาก 48 ชั่วโมงที่สัมผัสกับสารทดสอบ (Narang and Jiraungkoorskul, 2016)

-ฤทธิ์ต้านมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มีรายงานว่าสาร limonin ที่แยกได้จากเมล็ดมะนาวสามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลือง L5178Y lymphoma cells ได้ โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 8.5–9.0 µg/ml (Narang and Jiraungkoorskul, 2016)

-ฤทธิ์ต้านเชื้อกลุ่มสแตปฟิโลคอคไคที่แยกได้จากสุนัข การศึกษาฤทธิ์ของน้ำมะนาว และน้ำมะกรูด ต่อเชื้อกลุ่มสแตปฟิโลคอคไค ที่ให้ผลบวกต่อการทดสอบ โคแอคกุเลสที่เป็นสาเหตุสำคัญในการก่อโรคผิวหนังอักเสบในสุนัข จำนวน 15 ไอโซเลต (isolates) โดยมี S. aureus ATCC 25923 สายพันธุ์มาตรฐานเป็นเชื้อควบคุม ทำการทดสอบควบคู่ไปด้วยโดยวิธีเจือจางในอาหารเหลว ใน 96 wellU-shape plate ผลการทดสอบพบว่าน้ำมะนาว และน้ำมะกรูด มีค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการยับยั้งเชื้อในกลุ่มนี้ อยู่ที่1.60 % (v/v) และ 1.34-1.74 % (v/v) ตามลำดับ ส่วนความเข้มข้นต่ำสุดในการฆ่าเชื้อนี้ อยู่ที่ 1.87-3.33 % (v/v) และ 3.10 % (v/v) ตามลำดับ จากการศึกษาสรุปได้ว่าน้ำมะนาว และน้ำมะกรูดมีฤทธิ์ในการยับยั้ง และฆ่าเชื้อสแตปฟิโลคอคไค ที่ให้ผลบวกต่อการทดสอบโคแอคกุเลสจากการทดสอบในหลอดทดลอง  (โคแอคกุเลส เป็นน้ำย่อยที่เชื้อกลุ่มสแตปฟิโลคอคไคสร้างขึ้น ทำให้พลาสมาของคนหรือสัตว์ เกิดการตกตะกอน ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ใช้กำหนดว่าเชื้อสเตรนใดที่เป็นตัวก่อโรค) ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปพิจารณาเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ทางการค้า ที่ใช้สำหรับสัตว์ต่อไป เพื่อลดการติดเชื้อทางผิวหนัง อย่างไรก็ตาม ควรมีการทดลองในการใช้กับสัตว์โดยตรงก่อน เพื่อศึกษาผลข้างเคียงอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อการยับยั้งเชื้อ และผลต่อตัวสัตว์ (พิทยา และคณะ, 2551)

การศึกษาทางพิษวิทยา: 

-การใช้น้ำมันหอมระเหยกับผิวหนังในปริมาณที่มากกว่า 0.7% ต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสง เนื่องจากน้ำมันที่ได้จากการบีบผิวผล อาจทำให้เกิดพิษเมื่อสัมผัสกับแสงได้ และเกิดมีสารสีเกินที่ผิวหนัง บริเวณใบหน้า และลำคอ เพราะมีสาร furanocoumarin แต่น้ำมันจากผิวผลที่ได้จากการกลั่นไม่มีสารนี้

การใช้ประโยชน์:

-โรคลักปิดลักเปิดหรือเลือดออกตามไรฟันได้ ให้รับประทานมะนาวเป็นประจำ เพราะในมะนาวมีวิตามินซีสูงมาก

-โรคสังคัง  ใช้มะนาวผ่าซีกแล้วนำมาทาบริเวณดังกล่าวเป็นประจำก่อนเข้านอนและหลังตื่นนอน

-โรคกลาก เกลื้อน หิด  ใช้กำมะถันนำมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำมะนาว แล้วนำมาทาบริเวณที่มีอาการหลังอาบน้ำ

-โรคหูด ใช้เปลือกมะนาวนำมาหมักกับน้ำส้มสายชูประมาณ 2 วันแล้วนำเปลือกมาปิดทับบริเวณที่มีอาการ

-โรคน้ำกัดเท้าหรือปูนซีเมนต์กัดเท้า ใช้น้ำมะนาวทาบริเวณดังกล่าว ทิ้งไว้ให้แห้งแล้วล้างออก

-อาการไอ ใช้ใบนำมาหั่นเป็นฝอย ๆ แล้วนำมาชงในน้ำเดือด ดื่มเป็นน้ำชาหรือใช้อมกลั้วคอเพื่อช่วยฆ่าเชื้อโรค

-อาการไข้ทับระดู ใช้ใบมะนาวประมาณ 100 ใบมาต้มกิน

-อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง แน่นท้อง ใช้น้ำมะนาวมาผสมกับน้ำตาล หรือ เปลือกผลตากแห้ง นำมาต้มดื่ม จะช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง แน่นท้อง

-อาการท้องผูก ดื่มน้ำมะนาวผสมเกลือเล็กน้อย จะช่วยให้ระบายท้อง ลดอาการท้องผูก

-อาการระดูขาว ดื่มน้ำมะนาวผสมเกลือกับน้ำตาลเล็กน้อย  จะช่วยลดการเกิดระดูขาว

-อาการคันหนังศีรษะ ด้วยการใช้น้ำมะนาวนวดศีรษะให้ทั่วแล้วค่อยสระผม

-ช่วยฟอกโลหิต ใช้ใบมะนาวต้มผสมกับน้ำแล้วนำมาดื่มเป็นประจำ

-ช่วยบำรุงโลหิต รักษาโรคโลหิตจาง ใช้น้ำมะนาวผสมกับน้ำหวานและปรุงด้วยเกลือทะเลพอสมควร ใส่น้ำแข็งนำมาดื่ม

-ช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยและช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด ใช้น้ำมะนาวททาถูบริเวณที่มีอาการ จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด

-ช่วยลดเลือนรอยแผลเป็นด้วยการใช้น้ำมะนาวผสมดินสอพองให้เข้ากัน แล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นรอยแผล จะช่วยให้รอยแผลจางลง

-ช่วยดับกลิ่นเต่าหรือกลิ่นกาย ใช้นำน้ำมะนาวมาทาบริเวณรักแร้เป็นประจำ จะช่วยให้รักแร้ขาวและลดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์

-ช่วยให้ข้าวที่หุงขาวและอร่อยขึ้น ใช้น้ำมะนาวประมาณ 2-3 ช้อนนำไปซาวข้าว

-ช่วยให้ทอดไข่ให้ฟูและนิ่ม ใช้มะนาว 4-5 หยดจะช่วยได้

-ช่วยลดกลิ่นคาวจากปลาเมื่อทำอาหารและทำให้ปลาคงรูปไม่เละ ใช้น้ำมะนาวคั้นกับเนื้อปลาแล้วล้างออก จะช่วยให้กลิ่นคาวหายไป และช่วยให้เนื้อปลาคงรูปไม่เปื่อย

-ช่วยป้องกันมอดในถังข้าวสาร ใช้มะนาว 2-3 ลูกใส่ไว้ในถังข้าวสารช่วยป้องกันมอดได้

-ช่วยขจัดคราบดำจากยางผัก สำหรับแม่ครัวที่หั่นหรือเด็ดผักเป็นประจำ จะทำให้เล็บมือเป็นสีดำ นำมะนาวมาถูจะช่วยปัญหาดังกล่าวได้

-ช่วยขจัดคราบยางกล้ววย หากใช้มีดผ่าปลีกล้วย มีดจะมีสีม่วงคล่ำ ล้างออกลำบาก นำมานาวที่ผ่าแล้วมาถูตามใบมีด จะช่วยให้มีดของคุณสะอาดดังเดิม

-ช่วยลดยางดำในกล้วย การเชื่อมกล้วยหักมุกให้น่ารับประทาน เมื่อน้ำตาลเดือดเป็นยางมะตูมแล้ว ให้บีบมะนาวครึ่งซีกลงไป จะช่วยให้กล้วยใส น่ารับประทานมากยิ่งขึ้น

-ช่วยให้ภาชนะเงางามขึ้นได้ เช่น เครื่องเงิน ทองเหลือง ทองแดง ใช้เปลือกมะนาวนำมาเช็ดขัดโลหะให้ขึ้นเงา




ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง