Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: กลอย

ชื่อท้องถิ่น: มันกลอย กลอยข้าวเหนียว กลอยหัวเหนียว (นครราชสีมา)/ กลอยนก (เหนือ)/ กลอยไข่ (ตะวันออกเฉียงเหนือ)

ชื่อสามัญ: -

ชื่อวิทยาศาสตร์: Dioscorea hispida Dennst.

ชื่อวงศ์: DIOSCOREACEAE

สกุล: Dioscorea 

สปีชีส์: hispida 

ชื่อพ้อง: 

-Dioscorea daemona Roxb.

-Dioscorea daemona var. reticulata Hook.f.

-Dioscorea hirsuta Blume

-Dioscorea hispida var. neoscaphoides Prain & Burkill

-Dioscorea hispida var. reticulata (Hook.f.) Prain & Burkill

-Dioscorea hispida var. scaphoides Prain & Burkill

-Dioscorea lunata Roth

-Dioscorea mollissima Blume

-Dioscorea virosa Wall. ex Klotzsch & Garcke

-Helmia daemona (Roxb.) Kunth

-Helmia hirsuta (Blume) Kunth

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

กลอย thai-herbs.thdata.co | กลอย สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

กลอย thai-herbs.thdata.co | กลอย สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นกลอย เป็นไม้เถาเลื้อยล้มลุก ไม่มีมือเกาะ มีหัวใต้ดิน โดยจะอยู่ลึกจากผิวดินประมาณ 10-15 เซนติเมตร ลำต้นหรือเถากลมขนาดเล็กประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร มีหนามเล็กๆกระจายทั่วไป และมีขนนุ่มๆ สีขาวปกคลุม มักจะพาดพันไปบนต้นไม้อื่นๆ หัวใต้ดินส่วนมากกลมรี บางทีเป็นพู รูปร่างไม่สมมาตร มีรากเล็กๆกระจายทั่วทั้งหัว ในหนึ่งต้น มี 3-5 หัว เปลือกหัวบาง โดยหัวอ่อน เปลือกจะมีสีครีม ส่วนหัวแก่จะเป็นสีเทาอมดำ เนื้อในหัวมี 2 ชนิดคือ สีขาว (กลอยหัวเหนียว) และสีครีม (กลอยไข่ กลอยเหลือง) 


กลอย thai-herbs.thdata.co | กลอย สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบประกอบแบบเรียงสลับ จะมีก้านใบหลัก ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ซึ่งแต่ละก้านใบจะประกอบด้วยใบย่อย 3 ใบ มีก้านใบย่อย สั้นประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร แต่ละใบมีลักษณะคล้ายใบถั่ว โคนใบ และปลายใบสอบแหลม ปลายใบจะมีติ่งแหลม กลางใบกว้าง มีสีเขียว แผ่นใบ และขอบใบเรียบ มีเส้นกลางใบมองเห็นได้ชัดเจน 1 เส้น และเส้นใบขนานกับเส้นกลางใบข้างละ 1 เส้น รวมมีเส้นใบ 3 เส้น โดยใบจะมีความยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร กว้างประมาณ 8-15 เซนติเมตร


กลอย thai-herbs.thdata.co | กลอย สรรพคุณ สมุนไพร ไทย  กลอย thai-herbs.thdata.co | กลอย สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกเป็นช่อแบบแยกแขนง โดยจะแทงออกตามซอกใบ แต่ละช่อจะมี 5-12 ช่อย่อยส่วนดอกย่อยมีขนาดเล็ก จำนวน 30-50 ดอกสีเขียว ห้อยลง ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อแยกแขนง 2-3 ชั้น ดอกตั้งขึ้น ยาวได้ถึง 40 เซนติเมตร ดอกเพศเมียออกเป็นช่อชั้นเดียว ดอกชี้ลงดิน กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 6 กลีบ

ผล ลักษณะเป็นแผ่น 3 แผ่น เชื่อมติดกันเป็น 3 เหลี่ยม แต่ละแผ่น กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร ในแต่ละแผ่นจะมีเมล็ด 1 เมล็ด โดยเป็นเมล็ด มีลักษณะกลมแบนผิวเกลี้ยง และมีปีกบางใส สำหรับช่วยในการลอยตามแรงลม

สภาพนิเวศวิทยา: พบตามที่ลุ่มต่ำ ที่รกร้างทั่วไป ป่าเต็งรัง ป่าผสม และป่าดงดิบ

ถิ่นกำเนิด: เอเชียเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนถึงออสเตรเลียตอนเหนือ

การกระจายพันธุ์: หมู่เกาะอันดามัน, อัสสัม, บังคลาเทศ, หมู่เกาะบิสมาร์ก, บอร์เนียว, กัมพูชา, จีนตะวันออกเฉียงใต้, เทือกเขาหิมาลัยตะวันออก, ไหหลำ, อินเดีย, จาวา, หมู่เกาะซุนดา, มาลายา, มาลูกู, เมียนมาร์, เนปาล, นิวกินี, ฟิลิปปินส์ล ควีนส์แลนด์, สุลาเวสี, สุมาตรา, ไต้หวัน, ไทย, ทิเบต, เวียดนาม, เทือกเขาหิมาลัยตะวันตก

กลอย thai-herbs.thdata.co | กลอย สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและการแยกเหง้าหรือหัว

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*หัว รสขื่นคัน สรรพคุณ กัดเถาดานเป็นก้อนแข็งอยู่ในท้อง หุงกับน้ำมัน ทาแผล กัดหนองและฝ้า

องค์ประกอบทางเคมี: 

-เหง้า พบสาร dioscin , steroid sapogenin , diosgenin และยังพบสารที่มีความเป็นพิษจากน้ำยา เช่นสาร dioscorine , steroid sapogenin , calcium oxalate เป็นต้น

*สาร dioscorine (ไดออสคอรีน) ซึ่งมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางซึ่งอาจทำให้ถึงตายได้ ทำให้เมา คันคอ อาเจียน เหงื่อออก ตาพร่า ใจสั่น วิงเวียน ต้องนำมาทำให้หมดพิษ โดยปอกเปลือกทิ้ง แล้วหั่นเป็นแผ่นบางๆ ใส่ชะลอมหรือตะกร้าแล้วนำไปแช่ทิ้งไว้ให้น้ำไหลผ่าน เช่นน้ำทะเล น้ำตก น้ำห้วย สัก 2-3 วัน ล้างให้สะอาด จึงจะรับประทานได้

การศึกษาทางเภสัชวิทยา: 

-ฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งตับ สารไดออสซิน (Dioscin) เป็นสานในกลุ่มสเตียรอยด์ ซาโปนิน ที่พบได้ในพืชหลายชนิดโดยเฉพาะในพืชสกุลกลอย การศึกษาฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งตับ (hepatocellular carcinoma) ในหลอดทดลองพบว่า สารไดออสซินสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของ เซลล์มะเร็งตับชนิด Bel-7402 และ HepG2 ได้ โดยประสิทธิภาพจะขึ้นกับขนาดที่ให้ และเมื่อศึกษากลไกการออกฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งตับชนิด Bel-7402 ก็พบว่าสารไดออสซินทำให้เซลล์เกิดการตายแบบอะพอพโตซิส (apoptosis) และทำให้สารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) ของเซลล์ดังกล่าวถูกทำลายด้วย 

-การศึกษากลไกการออกฤทธิ์พบว่า สารไดออสซินมีฤทธิ์ต้านมะเร็งโดยการเพิ่มการแสดงออกของโปรตีนที่กระตุ้นกระบวนการตายของเซลล์แบบอะพอพโตซิส เช่น tumor protein p53 (TP53), BCL2-associated X protein (BAX) และ Caspase 3 (CASP3) และลดการแสดงออกของโปรตีนที่ต้านกระบวนการตายของเซลล์แบบอะพอพโตซิส เช่น B-Cell CLL/Lymphoma 2 (BCL2) 

-การศึกษาประสิทธิภาพของสารไดออสซินเปรียบเทียบกับยาต้านมะเร็ง 5-Fluorouracil (5-FU) ในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นมะเร็งตับชนิด Bel-7402 พบว่า สารไดออสซินที่ขนาด 24 มก./กก./วัน มีประสิทธิภาพในการต้านมะเร็งดีกว่ายา 5-FU ที่ขนาด 10 มก./กก./วัน จากผลการทดลองดังกล่าวทำให้สามารถสรุปได้ว่า สารไดออสซินมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งตับ ผ่านกระบวนการอะพอพโตซิส ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงการแสดงออกของโปรตีนที่ควบคุมกระบวนการอะพอพโตซิส เช่น TP53, BAX, BCL2 และ CASP3 ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวิธีรักษาโรคมะเร็งตับต่อไป

-ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Staphylococcus epidermidis การศึกษาวิจัย พบว่าสารสกัดน้ำจากหัวกลอยสามารถยับยั้งเชื้อ Staphylococcus epidermidis  ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดสิวได้

การศึกษาทางพิษวิทยา: 

-การศึกษาทางพิษวิทยาในหนูทดลองพบว่า เมื่อสกัดหัวกลอยด้วยแอลกอฮอล์ 95 เปอร์เซ็นต์ แล้วนำสารสกัดนั้นไปทดสอบในหนูถีบจักรและหนูขาว พบว่ามีฤทธิ์สำคัญดังนี้

-ฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง มีฤทธิ์กระตุ้นให้กระวนกระวาย หายใจหอบ ชัก และตายถ้าใช้ขนาดสูงเนื่องจากการชักรุนแรงขึ้น และกดการหายใจ

-ฤทธิ์ต่อระบบไหลเวียนเลือด ทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น

-ฤทธิ์ต่อระบบกล้ามเนื้อ ทำให้มีการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ทั้งกล้ามเนื้อทางเดินอาหารและกล้ามเนื้อหลอดเลือด

-การศึกษาความเป็นพิษในหัวกลอยพบว่า สารกลุ่มแอลคาลอยด์ (dioscorine) ทำให้เกิดอาการใจสั่น วิงเวียน คันคอ คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก ซีด ตาพร่า ชีพจรเบา เร็ว อึดอัด เป็นลม และตัวเย็น บางคนมีอาการประสาทหลอนคล้ายกับอาการของคนบ้าลำโพง อาจมีการกระตุกของกล้ามเนื้อ ชัก ต่อมากดประสาทส่วนกลาง และสารกลุ่มซาโปนิน (steroidal sapnin) มีผลทำให้เลือดแดงแตก เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ถ้าสูดดมเข้าไปจะทำให้เกิดความระคายเคืองต่อเยื่อบุจมูก ทำให้จามน้ำมูกไหล ถ้าได้รับเข้าไปมากจนผนังลำไส้เป็นแผลจะดูดซึมเข้าไปได้มากก็จะเกิดเป็นพิษมาก แต่ตามปกติมีการดูดซึมได้น้อย

การใช้ประโยชน์:

-อาการแผลมีหนอง ใช้หัวกลอยไปคั่วแล้วผสมกับน้ำมันพืช นำไปทาจะช่วยปิดแผลที่มีหนองได้

-อาการแผลบวมอักเสบ ใช้หัวนำมาหั่นเป็นแผ่นบางๆ แล้วนำไปใช้ในบริเวณที่มีการอักเสบบวมของแผลได้

-อาการแผลในสัตว์เลี้ยง จะช่วยฆ่าหนอนได้ โดยการนำรากกลอยมาบดแล้วนำไปผสมกับน้ำมันมะพร้าว พร้อมด้วยใบยาสูบและพริก หลังจากนั้นไปทาแผลในสัตว์ จะช่วยฆ่ากนอนในแผลของสัตว์ได้

-ช่วยรลดรอยฝ้า ให้หน้าขาว ใช้เนื้อกลอยดิบๆฝนและผสมกับน้ำมะนาว แล้วนำไปพอกหน้าไว้ก่อนนอน และให้ล้างออกในตอนเช้า ขะช่วยรักษาฝ้าและทำให้หน้าขาวได้

-ช่วยทำให้ฝีสุกเร็ว ใช้หัวที่แห้งแล้วฝนกับที่ฝนพร้มกับน้ำซาวข้าว ถ้านำไปทาจะทำให้ฝีสุกเร็วขึ้น

-หัว สามารถนำมาประกอบอาหารหลายอย่าง ทั้งอาหารคาว-หวาน เช่น มันแกวมันกลอยใส่ไก่ , กลอยทอด , ข้าวเหนียวหน้ากลอย , ข้าวเกรียบกลอย เป็นต้นแต่ในการนำกลอยมาทำเป็นอาหารนั้นต้องมีขั้นตอนในการกำจัดพิษของหัวกลอยหลายขั้นตอนและต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

-ชาวซาไกใช้น้ำแช่หัวกลอยผสมกับยางของยางน่องใช้เป็นยาทาลูกธนู 

-ในอินเดียใช้หัวกลอยเป็นยาฆ่าเหา และเบื่อปลา 



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง