Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: คนทีสอ

ชื่อท้องถิ่น: คนทีสอขาว (ชลบุรี)/ ทีสอ เทียนขาว (เพชรบุรี)/ สีสอ (ประจวบคีรีขันธ์)/ คุนตีสอ (สตูล)/ มูดเพิ่ง (ตาก)/ ผีเสื้อ (เลย)/ สีเสื้อน้อย ดอกสมุทร (เชียงใหม่)/ ผีเสื้อน้อย (ภาคเหนือ)/ โคนดินสอ (จันทบุรี ภาคกลาง)/ ดินสอ (ภาคกลาง)

ชื่อสามัญ: -

ชื่อวิทยาศาสตร์: Vitex trifolia L.

ชื่อวงศ์: LAMIACEAE-LABIATAE

สกุล: Vitex 

สปีชีส์: trifolia

ชื่อพ้อง:

-Vitex indica Mill.

-Vitex integerrima Mill.

-Vitex variifolia Salisb.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

คนทีสอ thai-herbs.thdata.co | คนทีสอ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นคนทีสอ เป็นไม้พุ่มไม่พลัดใบขนาดกลาง ลำต้นสูงประมาณ 3-6 เมตร ลำต้นแตกกิ่งสาขามาก และดูเป็นพุ่มหนา กว้าง 2 – 3 เมตร เปลือกลำต้นมีสีเทาอมดำ และแตกเป็นร่องตื้นตามแนวตั้งตามความสูงของลำต้น เปลือกลำต้นด้านในมีสีเหลือง แก่นไม้มีความแข็งปานกลาง    

ใบ เป็นใบประกอบ ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆตามปลายกิ่ง มีก้านใบหลักยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ปลายก้านใบแตกใบย่อย จำนวน 3 ใบ ใบย่อยตรงกลางมีรูปหอกยาว ยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร และอีก 2 ใบ ด้านข้าง มีรูปหอกสั้น ยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร ใบตรงกลางยาวมากกว่า 2 ใบด้านข้าง ทำให้แลดูคล้ายนิ้วมือ ใบย่อยแต่ละใบ มีก้านใบสั้นติดปลายก้านใบหลัก แผ่นใบกว้าง 2.5-3 เซนติเมตร มีโคนใบสอบแคบ ปลายใบแหลม แผ่นใบ และขอบใบเรียบ มีสีเขียวสด ท้องใบด้านล่างมีนวลขาว และมีขน


คนทีสอ thai-herbs.thdata.co | คนทีสอ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ช่ออกดอกเป็นช่อแขนง มีก้านช่อหลักยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ช่อแขนงมีดอกย่อย 2-5 ดอก ดอกย่อยขณะตูมมีลักษณะทรงกระบอก มีกลีบเลี้ยงเป็นหลอดสีเขียว ปลายกลีบแยกเป็น 5 แฉก ส่วนปลายกลีบดอกมีสีม่วงอมขาวห่อรวมกัน เมื่อดอกบานจะแผ่กลีบดอกออก ขนาดดอกเมื่อบานประมาณ 2-3 เซนติเมตร ประกอบด้วยกลีบดอก จำนวน 5 กลีบ แบ่งเป็นกลีบล่างขนาดเล็ก 2 กลีบ และกลีบบน 3 กลีบ ขนาดใหญ่กว่า กลีบดอกมีโคนกลีบเชื่อติดกันเป็นกรวย ปลายกลีบแผ่ แผ่นกลีบมีสีม่วงอ่อน ถัดมาตรงกลางมีเกสรตัวผู้ 4 อัน ตรงกลางเป็นเกสรตัวเมีย ปลายเกสรแยกเป็น 2 แฉก และมีรังไข่เป็นฐานอยู่ด้านล่าง

ผล มีลักษณะกลม ขนาดเล็ก 3-6 มิลลิเมตร ประมาณเท่าผลพริกไทย ผิวผลเรียบ ผลดิบมีสีเขียว และเป็นมัน ผลสุกมีสีดำ เปลือกผลคนทีสอค่อนข้างบาง ภายในมีเมล็ดทรงกลม 1 เมล็ด เปลือกเมล็ดผลแก่มีสีน้ำตาล เมื่อผลสุกเปลี่ยนเป็นสีดำ

สภาพนิเวศวิทยา: พบตามป่าดงดิบเขา ป่าเบญจพรรณ 

ถิ่นกำเนิด: แอฟริกาตะวันออกไปจนถึงตาฮิติในมหาสมุทรแปซิฟิก

การกระจายพันธุ์: อัฟกานิสถาน, หมู่เกาะอันดามัน, อัสสัม, บังกลาเทศ, หมู่เกาะบิสมาร์ก, เกาะบอร์เนียว, กัมพูชา, เกาะแคโรไลน์, จีนตอนเหนือ-กลาง, จีนตอนใต้-กลาง, จีนตะวันออกเฉียงใต้, คอโมโรส, เกาะคุก, ฟิจิ, กิลเบิร์ตไอส์, ไห่หนาน, ฮาวาย, อินเดีย, อิหร่าน, จาวา, เคนยา, ควาซูลู - นาตาล, ลาว, เกาะซุนดา, เกาะไลน์, มาดากัสการ์, มาลายา, มาลูกุ, มาเรียนา, มาร์เกซัส, มอริเชียส, โมซัมบิก, เมียนมาร์, นันเซอิ - โชโต, นาอูรู, เนปาล, นิวแคลิโดเนีย, นิวกินี, นิวเซาท์เวลส์, นีอูเอ, ดินแดนทางเหนือ, ฟิลิปปินส์, ควีนส์แลนด์, ซามัว, เกาะซิตี, เกาะโซโลมอน, โซมาเลีย, ศรีลังกา, สุลาเวสี, สุมาตรา, ไต้หวัน, แทนซาเนีย, ไทย, ตองกา, ทูอาโมตู, เกาะทูบูอิ, วานูอาตู, เวียดนาม, เกาะวาลลิส-ฟุตูนา, ออสเตรเลียตะวันตก

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ใบ รสร้อนสุขุมหอม บำรุงน้ำดี ขับเสมหะ บำรุงธาตุ รักษาโรคตับ ขับลม แก้ไอ แก้หืด ฆ่าพยาธิ แก้ริดสีดวงจมูก แก้ลำไส้พิการ ขับเหงื่อ แช่น้ำอาบแก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน รักษาอาการสาบคายในกาย แก้พิษฝีใหญ่ แก้พิษสำแลง และพิษต่างๆ ผสมกับเทียน ขมิ้น พริกไทย รับประทานแก้วัณโรค รักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้ แช่น้ำอาบแก้ผื่นคันโรคผิวหนัง โรคปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ และเป็นยาไล่แมลง 

*ดอก รสหอมฝาด แก้ไข้ แก้หืดไอ ฆ่าพยาธิ บำรุงครรภ์มารดา บำรุงน้ำนม 

*ผล รสร้อนสุขุม แก้คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลม ฆ่าพยาธิ แก้หืดไอ แก้ไข้ แก้ริดสีดวงจมูก แก้ปวดตามเนื้อตามข้อ แก้ท้องมาน ขับเหงื่อ 

*เมล็ด รสร้อนสุขุม ระงับปวด เจริญอาหาร ราก รสร้อนสุขุม แก้ไข้ แก้โรคตับ โรคตา ถ่ายน้ำเหลือง ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ 

*รากและใบ ต้มกินแก้ไข้ ให้หญิงหลังคลอดบุตรใหม่ๆรับประทานเป็นยาขับปัสสาวะและขับเหงื่อ ต้น ขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียดท้องอืด 

*กระพี้ รักษาอาการคลื่นเหียนอาเจียน  รักษาระดูสตรี 

*เปลือก ใช้รักษาอาการไข้ซึ่งมีอาการกระทำให้เย็น รักษาอาการคลื่นเหียน รักษาหญิงระดูพิการ

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ใบ ใบมีน้ำมันหอมระเหย เป็นของเหลวใส สีเหลือง มีกลิ่นเฉพาะตัว ประกอบด้วย beta-caryophyllene, alpha terpinene l-d-pinene, camphene, terpinyl acetate, diterpene alcohol และพวกชัน เมล็ดมีสารพวก acetic acid, malic acid, acid resin และนํ้ามันหอมระเหย ประกอบด้วย 55% camphene 20%, limonene และ pinene

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ในการป้องกันการกัดของยุงก้นปล่อง ​จากผลการศึกษาพบว่า น้ำมันหอมระเหยจากใบ เมื่อเตรียมเป็นโลชัน พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันการกัดของยุงก้นปล่อง ได้นาน 8 ชั่วโมง, ยุงรำคาญ 7.5 ชั่วโมง, ยุงลายสวน  8 ชั่วโมง

การศึกษาทางพิษวิทยา:-

การใช้ประโยชน์: 

-ช่วยป้องกันยุง ใช้น้ำมันหอมระเหยจากใบและดอกผสมในครีมทาผิวหรือทาร่วมกับครีมทาผิว

-ช่วยไล่ยุง ใช้ใบนำมามัดรวมกันสุมบนกองไฟให้เกิดควัน

-ช่วยทำให้ฟันแข็งแรงขึ้น และช่วยระงับกลิ่นปาก ใช้ใบและดอก นำมาเคี้ยวทำความสะอาดฟันแทนยาสีฟัน

-ช่วยระงับอาการปวดฟัน แก้โรคเหงือกอักเสบ ใช้แก่นนำมาเหลาขนาดเท่านิ้วชี้ ก่อนใช้ถูหรือแปรงฟัน รวมถึงใบ และดอก นำมาเคี้ยวทำความสะอาดฟันแทนยาสีฟัน

-ช่ววป้องกันหนอน และแมลงกัดกินให้แก่พืชผัก ใช้น้ำมันที่สกัดได้จากใบและผลเป็นส่วนผสมของยาฆ่าแมลงหรือนำมาต้มน้ำสกัด ก่อนใช้ฉีดพ่น

-ประเทศอินโดนีเซีย ใช้ใบ เป็นยาขับลม และผสมในตำรับไล่แมลง

-ประเทศมาเลเซีย ใช้ราก หรือใบต้มแก้ไข้ ใบแก้ปวดศีรษะ 

-ประเทศจีน ใช้เมล็ดระงับปวด ทำให้สงบ, น้ำมันหอมระเหยจากใบ และดอก ช่วยให้สดชื่น ผ่อนคลายความตึงเครียด 



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง