Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: กระบือเจ็ดตัว

กระบือเจ็ดตัว thai-herbs.thdata.co | กระบือเจ็ดตัว สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ชื่อท้องถิ่น: บัวลา บัว กระทู้ (ภาคเหนือ)/ ลิ้นกระบือขาว ลิ้นควาย ตาตุ่มนม (ภาคกลาง)/ ใบท้องแดง (จันทบุรี)/ กระเบือ (ราชบุรี)

ชื่อสามัญ: Jungle fire plant/ Picara

ชื่อวิทยาศาสตร์: Excoecaria cochinchinensis Lour. Var.cochinchinensis.

ชื่อวงศ์: EUPHORBIACEAE

สกุล: Excoecaria

สปีชีส์: cochinchinensis

ชื่อพ้อง:

-Antidesma bicolor Hassk.

-Excoecaria bicolor (Hassk.) Zoll. ex Hassk.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นกระบือเจ็ดตัว เป็นไม้พุ่มขนาดย่อม ไม่ผลัดใบ มีความสูงได้ประมาณ 0.5-1.5 เมตร แตกกิ่งก้านมาก และมีลักษณะเกลี้ยง มีรูอากาศตามผิวกิ่ง ตามกิ่งก้านมีน้ำยางสีขาวข้นคล้ายน้ำนม

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบกิ่งหรือออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ รูปใบหอก หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ ปลายใบเป็นติ่งแหลมยาว โคนใบสอบ ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยตื้น ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-13 เซนติเมตร หลังใบเรียบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบเป็นสีม่วงหรือแดงเข้ม เส้นแขนงใบมีข้างละ 7-12 เส้น ก้านใบยาวได้ประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร หูใบมีลักษณะเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร

ดอก ดอกแยกเพศอยู่ในซอกหรือปลายช่อดอก ช่อดอกเพศผู้มีขนาด 1-2 ซม. ดอกเพศเมียสั้นกว่าดอกเพศผู้เล็กน้อย ออกดอกเป็นช่อกระจะ โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีเหลืองอมเขียว ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่คนละต้นกัน ช่อดอกเพศเมียจะอยู่ส่วนล่าง ส่วนปลายด้านบนจะเป็นดอกเพศผู้ โดยช่อดอกเพศผู้จะเป็นแบบช่อกระจะ ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร มีดอกย่อยอยู่จำนวนมาก โคนก้านดอกมีใบประดับขนาดเล็กลักษณะเป็นรูปไข่เรียงซ้อนกัน มีขนาดกว้างและยาวประมาณ 1.7 มิลลิเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงดอกมี 3 กลีบ ลักษณะกลีบเลี้ยงเป็นรูปหอก ปลายจักเป็นฟันเลื่อยถี่ มีขนาดกว้างประมาณ 0.3-0.4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 0.6-1 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้มีขนาดเล็กมาก มี 3 อัน อับเรณูเป็นรูปกลม สั้นกว่าก้านชูอับเรณูเล็กน้อย ส่วนช่อดอกเพศเมียจะสั้นกว่าดอกเพศผู้ มีดอกประมาณ 2-3 ดอก ขนาดประมาณ 1.2-1.5 ถึง 1-1.3 มิลลิเมตร ก้านดอกแข็ง ยาวประมาณ 2-5 มิลลิเมตร โคนก้านดอกมีใบประดับขนาดเล็ก ๆ และมีต่อมเล็ก ๆ สีเหลือง กลีบเลี้ยงมีขนาดเล็กเป็นรูปไข่ มี 3 กลีบ ติดกันที่ฐานเล็กน้อย มีขนาดกว้างประมาณ 1.2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.8 มิลลิเมตร รังไข่เล็กเป็นสีเขียวอมชมพู กลม เกลี้ยง มีช่อง 3 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียมี 3 อัน ยาวประมาณ 2.2 มิลลิเมตร

ผล มีขนาดเล็กลักษณะเป็นรูปค่อนข้างกลม มีขนาดกว้างประมาณ 8 มิลลิเมตร ฐานตัด ปลายผลเว้าเข้า ผลมีพู 3 พู เป็นผลแห้ง เมื่อแก่จะแตกออกได้เป็น 3 ส่วน ภายในมีเมล็ดลักษณะเกือบกลม เมล็ดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5 มิลลิเมตร

สภาพนิเวศวิทยา: พบในป่าไม้ผลัดใบ หรือไม่ผลัดใบก็ได้ พบที่ความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 1500 ม.

ถิ่นกำเนิด: เอเชียเขตร้อน และจีน

การกระจายพันธุ์: ลาว มาเลเซีย พม่า ไทย เวียดนาม

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการปักชำ

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ใบ รสร้อนเฝื่อนขื่น ขับเลือดเน่าเสีย ขับน้ำคาวปลาให้สะดวกหลังคลอด แก้อักเสบบริเวณปากมดลูก ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ไข้ แก้บวมฟกช้ำ ดำเขียว แก้พิษบาดทะยัก 

*ใบ ตำผสมเหล้าขาว คั้นเอาน้ำกิน แก้สันนิบาตหน้าเพลิง (บาดทะยักในปากมดลูก) ขับโลหิตร้าย แก้สัตนิบาตเลือด แก้ประจำเดือนขัดข้อง ทำให้เลือดกระจาย ใบตำพอกห้ามเลือด

*กระพี้และเนื้อไม้ ถอนพิษไข้ ถอนพิษผิดสำแดง แก้ร้อนภายใน

-ในฮ่องกง ทั้งต้น แก้หัด แก้คางทูม ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้ปวดตึงกล้ามเนื้อหลัง

-ในชวาจะใช้ใบสดตำพอกห้ามเลือด

องค์ประกอบทางเคมี: -

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:-

การศึกษาทางพิษวิทยา:-

การใช้ประโยชน์:

-ยางจากต้นเป็นพิษ ในประเทศอินโดนีเซียจะนำมาใช้เป็นยาเบื่อปลา

-นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป โดยนำมาปลูกลงในกระถางประดับตามมุมบ้าน หรือปลูกเป็นกลุ่ม ๆ ปลูกลงในแปลงประดับสวนทั่วไป ทั้งในสภาพแสงมากและแสงน้อย เป็นไม้พุ่มที่นิยมใช้กันมาก สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี

-ใช้ทำเป็นลูกประคบเพื่อรักษาก้อนไขมันที่บริเวณข้อมือ ด้วยการใช้ใบกระบือเจ็ดตัว 1 กำมือ นำมาผสมกับหญ้าตีนกาและใบกะเพราแดง (อย่างละเท่ากัน) ผสมเกลือและการบูรอีกเล็กน้อย ห่อเป็นลูกประคบและพรมด้วยสุรา จากนั้นนำไปนึ่งและใช้ประคบบริเวณที่มีอาการ



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง