Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: ฝางเสน

ชื่อท้องถิ่น: ขวาง ฝางแดง หนามโค้ง (แพร่)/ ฝางส้ม (กาญจนบุรี)/ ฝางเสน (ทั่วไป, กรุงเทพฯ ภาคกลาง)/ ง้าย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)/ ลำฝาง (ลั้วะ)/ สะมั่วะ (เมี่ยน)/ โซปั้ก (จีน)/ ซูมู่ ซูฟังมู่ (จีนกลาง)

ชื่อสามัญ: Sappan, Sappan tree[

ชื่อวิทยาศาสตร์: Caesalpinia sappan L.

ชื่อวงศ์: FABACEAE-LEGUMINOSAE และอยู่ในวงศ์ย่อย-CAESALPINIOIDEAE-CAESALPINIACEAE)[1]

สกุล: Caesalpinia 

สปีชีส์: sappan 

ชื่อพ้อง: Caesalpinia sappan L.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ฝางเสน thai-herbs.thdata.co | ฝางเสน สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นฝางเสน เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง หรือเป็นไม้พุ่ม หรือไม้พุ่มกึ่งไม้เถาผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 5-13 เมตร ลำต้นและกิ่งมีหนามแข็งและโค้งสั้น ๆ อยู่ทั่วไป ถ้าเนื้อไม้หรือแก่นเป็นสีแดงเข้มและมีรสขมหวานจะเรียกว่า "ฝางเสน" แต่ถ้าแก่นไม้เป็นสีเหลืองส้มและมีรสฝาดขื่นจะเรียกว่า “ฝางส้ม” 


ฝางเสน thai-herbs.thdata.co | ฝางเสน สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นออกเรียงสลับ แก่นช่อใบยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร มีช่อใบย่อยประมาณ 8-15 คู่ และในแต่ละช่อจะมีใบย่อยประมาณ 5-18 คู่ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน มีขนาดกว้างประมาณ 5-10 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 8-20 มิลลิเมตร ปลายใบย่อยกลมถึงเว้าตื้น โคนใบตัดและเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ แผ่นใบมีลักษณะบางคล้ายกระดาษ ใบเกลี้ยงหรือมีขนบ้างประปรายทั้งสองด้าน ก้านใบมีขนาดสั้นมากหรือไม่มีก้านใบ และมีหูใบยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร หลุดร่วงได้ง่าย


ฝางเสน thai-herbs.thdata.co | ฝางเสน สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง โดยจะออกที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง และจะออกรวมกันเป็นช่อ ๆ ช่อดอกยาวได้ถึง 40 เซนติเมตร มีใบประดับลักษณะเป็นรูปใบหอก ร่วงได้ง่าย ยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ปลายเรียวแหลมและมีขน ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 1.2-1.8 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่ม มีข้อต่อหรือเป็นข้อที่ใกล้ปลายก้าน ดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบเกลี้ยงที่ขอบมีขนครุย ขอบกลีบเกยซ้อนทับกัน โดยกลีบเลี้ยงล่างสุดจะมีขนาดใหญ่สุดและเว้ามากกว่ากลีบอื่น ๆ ส่วนกลีบดอกเป็นสีเหลืองมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ มีขนาดกว้างประมาณ 6-10 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 9-12 มิลลิเมตร ผิวและขอบกลีบย่น โดยกลีบกลางจะมีขนาดเล็กกว่า มีก้าน กลีบด้านในมีขนจากโคนไปถึงกลางกลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 ก้าน แยกจากกันเป็นอิสระ ส่วนก้านชูอับเรณูมีขน รังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ มีขนสั้นนุ่ม มีช่อง 1 ช่องและมีออวุล 3-6 เม็ด


ฝางเสน thai-herbs.thdata.co | ฝางเสน สรรพคุณ สมุนไพร ไทย ฝางเสน thai-herbs.thdata.co | ฝางเสน สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะผลเป็นฝักรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ฝักแบนแข็งเป็นจะงอยแหลม เป็นสีน้ำตาลเข้ม มีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-8.5 เซนติเมตร และส่วนที่ค่อนมาทางโคนฝักจะสอบเอียงเล็กน้อย และด้านปลายฝักจะผายกว้างและมีจะงอยแหลมที่ปลายด้านหนึ่ง ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 2-4 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรี มีขนาดกว้างประมาณ 0.8-1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.5-1.8 เซนติเมตร

สภาพนิเวศวิทยา: มักพบตามป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และตามเขาหินปูน

ถิ่นกำเนิด: อนุทวีปอินเดียไปจนถึงอินโดจีน

การกระจายพันธุ์: อัสสัม, บังกลาเทศ, กัมพูชา, หิมาลัยตะวันออก, ลาว, เมียนมาร์, เนปาล, ศรีลังกา, ไทย, เวียดนาม, หมู่เกาะบิสมาร์ก, เกาะบอร์เนียว, จีนตอนใต้-กลาง, จีนตะวันออกเฉียงใต้, ไหหลำ, อินเดีย, จาวา, ซุนดา, มาลายา, โมลุกกะ, มอริเชียส, โมซัมบิก, นิวกินี, ไนจีเรีย, ฟิลิปปินส์, เปอร์โตริโก, เรอูนียง, สุลาเวสี, สุมาเตรา, ไต้หวัน, แทนซาเนีย, ยูกันดา, เทือกเขาหิมาลัยตะวันตก

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*แก่น รสขมขื่นฝาด สรรพคุณ แก้ท้องร่วง แก้ธาตุพิการ แก้ร้อน แก้โลหิตออกทางทวารหนัก แก้ไข้กำเดา แก้เสมหะ

-ตำราพระโอสถพระนารายณ์ ระบุว่ายาแก้ความผิดปกติของอาโปธาตุหรือธาตุน้ำ ประกอบด้วยเครื่องยาสองสิ่งคือ เปลือกมะขามป้อมและฝางเสน ปริมาณเท่ากัน ต้มน้ำกิน 4 ส่วน ให้เหลือ 1 ส่วน กินแก้ท้องเสียอย่างแรงและบิด

องค์ประกอบทางเคมี: 

-แก่นฝาง พบน้ำมันหอมระเหย ที่ประกอบไปด้วยสาร (a-l-phellandrene) และ (Oeimene) พบสาร brasilein, brazilin (สารที่ให้สีชมพูอมส้มถึงแดง หรือ sappan red), phellandrene, ocimene, sappanin, tannin

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ช่วยให้นอนหลับ เมื่อนำน้ำต้มจากแก่นฝางให้กระต่ายทดลองกิน พบว่าจะทำให้กระต่ายมีอาการหลับได้สนิทขึ้น และหากนำน้ำต้มจากฝางเสนมาฉีดเข้าผิวหนังของหนูหรือกระต่ายทดลอง พบว่าจะทำให้หนูหรือกระต่ายมีการหลับสนิทได้เหมือนกัน และยังพบว่ามีฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดของกบหดตัวได้อีกด้วย

-ฤทธิ์ขับปัสสาวะ น้ำต้มจากแก่น เมื่อนำมาให้หนูขาวทดลองกินหรือฉีดเข้าไปในตัวของหนูขาว พบว่าจะสามารถเพิ่มการขับปัสสาวะของสัตว์ทดลองได้ แต่ถ้าให้ในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้ไม่มีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ

-ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus, Escherichia coli และ Shigella dysenteriae สารสกัดจากเนื้อไม้ฝางด้วยเอทานอล 70% สามารถช่วยยับยั้งการเจริญของเชื้อ Staphylococcus aureus, Shigella flexneri, Vibrio cholerae และ Vibrio parahaemolyticus ที่ความเข้มข้น 5 ม.ก. และสารสกัดจากเนื้อไม้ฝางด้วยเอทานอล 95% สามารถช่วยยับยั้งการเจริญของเชื้อ Escherichia coli และ Shigella dysenteriae ได้ที่ความเข้มข้น 100 ม.ก.

 -ฤทธิ์บำรุงหัวใจ สาร Brazilin มีสรรพคุณในการบำรุงหัวใจ ซึ่งในประเทศฮังการีมีรายงานว่า มีการใช้รักษาโรคหัวใจกบที่ถูกสารพิษเป็นผลสำเร็จ และสารนี้ไม่มีอันตราย แม้จะดื่มเข้าไปมากก็ไม่เกิดการสะสมตกค้างในร่างกาย

-ฤทธิ์ขยายหลอดเลือด สารสกัดจากแก่นฝางด้วยเมทานอลมีฤทธิ์ในการขยายหลอดเลือดของหลอดเลือดใหญ่ที่ตัดมาจากช่องอกของหนูแรท ที่ความเข้มข้นตั้งแต่ 10 ม.ค.ก./ม.ล.

-ฤทธิ์ลดการสะสมของไขมัน สาร Hematein ที่แยกได้จากแก่นฝางสามารถช่วยลดการสะสมของไขมันบริเวณผิวหนังของหลอดเลือดกระต่ายทดลองได้

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-การฉีดสารสกัดจากลำต้นของฝางแดงด้วย 50% เอทานอลเข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักร พบว่าในขนาดที่ทำให้หนูทดลองตาย 50% เท่ากับ 750 มก./กก. ซึ่งถือได้ว่าสารสกัดจากลำต้นของฝางแดงค่อนข้างมีความเป็นพิษ (ไม่แน่ใจว่ารวมไปถึงฝางเสนด้วยหรือไม่)

การใช้ประโยชน์:

-แก่นไม้ เมื่อนำมาต้มกับน้ำดื่มผสมกับใบเตยหรือผลมะตูม จะช่วยให้มีสีสันสวยงาม

-เนื้อไม้ ในการย้อมสีแล้ว ยังนำมาทำเป็นสีทาตัวสำหรับงานเทศกาลในอินเดียอีกด้วย ซึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาเนื้อไม้ของต้นฝางถือเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ เป็นเครื่องบรรณาการอย่างหนึ่ง รวมทั้งเคยเป็นสินค้าผูกขาดของรัฐอย่างหนึ่ง

-ราก ให้สีเหลืองที่ใช้ทำสีย้อมผ้าและไหมได้ หรืออาจใช้เป็นสีผสมอาหารและเครื่องดื่ม

-เนื้อไม้ นำมาใช้ทำเป็นเครื่องเรือนชั้นดี ตกแต่งชักเงาได้ดี โดยสีของเนื้อไม้จะออกแดงหรือสีน้ำตาลเข้ม

-ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับหรือปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงา (เป็นไม้ที่ให้ร่มเงาขนาดเล็ก) แต่ต้องหมั่นตัดกิ่งที่เลื้อยพันออกเพื่อให้เป็นทรงตามต้องการ เมื่อออกดอกจะออกดอกดกสีเหลืองงามอร่ามเด่นชัด และยังนิยมปลูกเป็นแนวรั้วบ้านตามชนบท

-ในปัจจุบันมีการนำมาแปรรูปเป็นน้ำดื่มสมุนไพรฝาง มีทั้งในรูปแบบพร้อมดื่มและแบบชง โดยช่วยบรรเทาอาการร้อนใน แก้เสมหะ บำรุงโลหิต แก้เลือดกำเดา

-น้ำต้มจากแก่นฝางแดงจะให้สีแดงที่เรียกว่า Sappanin นิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมหลักของน้ำยาอุทัย ผสมในน้ำดื่ม สีผสมอาหาร และนิยมนำมาย้อมสีผ้าไหม ผ้าฝ้าย และผ้าขนสัตว์ ส่วนฝางส้มจะนำมาต้มสกัดสาร Haematexylin ใช้ย้อมสีนิวเคลียสของเซลล์

-ภูมิปัญญาชาวบ้านจะใช้แก่นของต้นฝาง (ที่เหลาเป็นไม้จิ้มฟัน) ไปตอกลงบนต้นขนุนจนถึงเนื้อไม้ จะไปกระตุ้นให้ขนุนติดลูกบริเวณที่เราตอกลงไป

-ชาวเมี่ยน จะใช้กิ่งแก่นำไปต้มกินเป็นน้ำชา



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง