Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: บัวน้ำ  (บัวสาย) 

1.บัวขม สายเล็ก พันธุ์ดอกขาว

2.บัวกินสาย สายขนาดกลาง พันธุ์ดอกขาวแกมชมพู

3.บัวสัตตบุษย์ สายใหญ่ พันธุ์ดอกขาวปลอด

4.บัวสัตตบรรณ สายใหญ่ พันธุ์ดอกสีแดงและสีชมพู

5.บัวจงกลนี สายใหญ่ พันธุ์ดอกสีชมพู

6.บัวเผื่อน สายขนาดกลาง พันธุ์ดอกสีซีดขาว

7.บัวผัน สายเห็ด พันธุ์ดอกสีคราม ถ้าดอกสีม่วงหรือสีชมพู สายและดอกจะใหญ่

ชื่อท้องถิ่น: บัวสายกิน, บัวกินสาย, สายบัว, บัวขม, บัวขี้แพะ, บัวแดง, บัวสายสีชมพู, บัวจงกลนี, จงกลนี, สัตตบรรณ, สัตตบุษย์, ปริก, ป้าน, ป้านแดง, รัตอุบล, เศวตอุบล, ลินจง, กมุท, กุมุท, โกมุท, เศวตอุบล, สัตตบรรณ, รัตนอุบล

ชื่อสามัญ: Lotus stem, Water lily, Red indian water lily

ชื่อวิทยาศาสตร์: Nymphaea pubescens Willd.

ชื่อวงศ์: NYMPHAEACEAE

สกุล: Nymphaea 

สปีชีส์: pubescens

ชื่อพ้อง: 

-Castalia pubescens (Willd.) Wood

-Nymphaea devoniensis Hook.

-Nymphaea purpurea Rehnelt & F.Henkel

-Nymphaea semisterilis Lehm.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

บัวสาย thai-herbs.thdata.co | บัวสาย สรรพคุณ สมุนไพร ไทย


ต้นบัวสาย เป็นไม้น้ำอายุหลายปี เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมของไทย มีเหง้าอยู่ใต้ดินรากฝักอยู่ในโคลนเลน ก้านอยู่ใต้น้ำ ส่วนก้านดอกอ่อนมีเปลือกลอกออกได้เป็นสายใย ผิวเกลี้ยงและไม่มีหนาม เจริญเติบโตได้ในดินเหนียวที่มีอินทรียวัตถุสูง และเจริญเติบโตได้ดีในระดับน้ำลึกประมาณ 0.3-1 เมตร 


บัวสาย thai-herbs.thdata.co | บัวสาย สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ แผ่นใบมีลักษณะกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 25-30 เซนติเมตร ขอบใบหยักและแหลม ฐานหยักเว้าลึก หูใบเปิด ผิวใบอ่อนวางอยู่บนผิวน้ำ แผ่นใบด้านบนเรียบเป็นมัน มีสีเขียวเหลือบน้ำตาลอ่อนหรือสีแดงเลือดหมู ผิวใบด้านล่างของใบอ่อนเป็นสีม่วง ใบเมื่อแก่จะเป็นสีเขียว ผิวใบด้านล่างของใบแก่เป็นสีน้ำตาลมีขนนุ่ม ๆ เส้นใบใหญ่นูน ส่วนก้านใบมีสีน้ำตาลอมเขียวอ่อน มีลักษณะค่อนข้างเปราะ ข้างในก้านใบเป็นรูอากาศ


บัวสาย thai-herbs.thdata.co | บัวสาย สรรพคุณ สมุนไพร ไทย  

ดอก ออกดอกเดี่ยว มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ เป็นสีเขียวเหลือบน้ำตาลแดง ส่วนดอกมีลักษณะเป็นรูปครึ่งวงกลมถึงค่อนข้างกลม ดอกมีกลีบดอกจำนวนมากเรียงซ้อนกันอยู่หลายชั้น (19 กลีบ)  มีอยู่ด้วยกันหลายสีแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิด เช่น ชนิดดอกสีชมพู ดอกขาว ดอกแดง ดอกม่วงแดง ดอกเหลือง ดอกเขียว ดอกคราม ดอกน้ำเงิน ฯลฯ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปหอกหลับ เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีความกว้างประมาณ 15-20 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้สีเหลืองเป็นสีตามกลีบดอก มีจำนวนมาก (60 อัน) มีลักษณะเป็นแผ่นแบนและแต่ละเกสรมีความยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ส่วนอับเรณูเป็นร่องขนานตามยาว รังไข่มีขนาดใหญ่ติดกับชั้นของกลีบดอก ส่วนเกสรตัวเมียจะติดกับรังไข่ด้านบนตามแนวรัศมี และก้านดอกมีสีน้ำตาลอวบกลมส่งดอกลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ (สายบัว) โดยดอกบัวสายจะบานในช่วงเวลาใกล้ค่ำถึงตอนสายของวันรุ่งขึ้นและจะหุบในเวลากลางวัน

ผล ผลสดเรียกว่า “โตนด” มีเนื้อและเมล็ดลักษณะกลมจำนวนมาก เมล็ดมีขนาดเล็กสีดำอยู่ในเนื้อหุ้ม มีลักษณะเป็นวุ้นใส

สภาพนิเวศวิทยา: พบตามห้วยคลองบึงที่มีน้ำทั่วไป ขึ้นดีในที่กึ่งร่มกึ่งแดด

ถิ่นกำเนิด: เอเชียเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนไปจนถึงตะวันออกเฉียงเหนือ ออสเตรเลีย

การกระจายพันธุ์: หมู่เกาะอันดามัน, อัสสัม, บังคลาเทศ, กัมพูชา, จีนใต้-กลาง, เทือกเขาหิมาลัยตะวันออก, อินเดีย, ลาว, มาลายา, เมียนมาร์, นิวกินี, เกาะนิโคบาร์, นอร์เทิร์นเทร์ริทอรี, ปากีสถาน, ฟิลิปปินส์, ควีนส์แลนด์, ศรีลังกา, ไต้หวัน, ไทย, เวียดนาม, คิวบา

บัวสาย thai-herbs.thdata.co | บัวสาย สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและเหง้า

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ดอก รส ฝาดหอมเย็น สรรพคุณ บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น บำรุงกำลัง แก้ไข้ตัวร้อน

*เมล็ด (คั่ว) รสขมหอม สรรพคุณ บำรุงกำลัง เจริญอาหาร

*หัว รสหอมมัน สรรพคุณ บำรุงร่างกาย ชูกำลัง บำรุงครรภ์

-พิกัดยา ประกอบด้วย

1.“พิกัดบัวพิเศษ” ได้แก่ บัวขม บัวเผื่อน บัวหลวงขาว บัวหลวงแดง บัวสัตตบงกชขาว และบัวสัตตบงกชแดง สรรพคุณ แก้ไข้อันเกิดเพื่อธาตุทั้งสี่ แก้ไข้ตัวร้อน แก้เสมหะ แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้ลม และโลหิต ช่วยบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ ทำให้สดชื่น

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้บัวขม ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” มีส่วนประกอบของบัวขมร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมกองละเอียด (อาการหน้ามืดตาลาย สวิงสวาย) แก้อาการใจสั่น และช่วยบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ดอก พบสาร 1,2,3,4,6-Pentagalloylglucose, myricetin-3-O-rhamnoside (myricitrin), myricetin-30-O-(600-p-coumaroyl) glucoside, nympholide A, nympholide B เป็นต้น

การศึกษาทางเภสัชวิทยา: -

การศึกษาทางพิษวิทยา: -

การใช้ประโยชน์:

-ก้านดอกและไหล สามารถนพมารับประทานได้ โดยนำก้านดอกหรือใบมาลอกผิวหรือเปลือกที่หุ้มอยู่ออกแล้วเด็ดดอกและใบทิ้ง แล้วนำมาใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก หรือนำไปปรุงเป็นอาหาร เช่น การทำแกง ผัด แกงส้ม แกงกะทิ ฯลฯ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้ทำขนมได้อีกด้วย

-ก้านดอกของบัวสาย สามารถนำมาสกัดย้อมสีเส้นไหมได้ โดยจะให้สีเทา

-เด็ก ๆ ในชนบทมักชอบเด็ดสายบัวเป็นท่อนสั้น ๆ ที่มีใยบัวติดกันอยู่ ใช้เป็นสร้อยคอหรือสร้อยข้อมือได้

-ในประเทศฟิลิปปินส์มีการใช้รักษาโกโนเรีย แต่ไม่ได้ระบุส่วนที่ใช้ไว้ ด้วยการนำมาถูที่หน้าจะช่วยทำให้ง่วงนอน 

-ปลูกเป็นไม้ประดับสระน้ำได้เป็นอย่างดี เนื่องจากบัวสายมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด มีขนาดและสีของดอกที่แตกต่างกันออกไป อีกทั้งยังมีราคาไม่แพงและดูแลรักษาง่าย



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง