Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: อินทนิลน้ำ

ชื่อท้องถิ่น: ตะแบกดำ (กรุงเทพฯ)/ บางอบะซา (มลายู-ยะลา, นราธิวาส)/ บาเย  บาเอ (มลายู-ปัตตานี)/ อินทนิล (ภาคกลาง, ใต้)

ชื่อสามัญ: Queens crape myrtle, Pride of India.

ชื่อวิทยาศาสตร์: Lagerstroemia speciosa (L.) Pers

ชื่อวงศ์: LYTHRACEAE

สกุล: Lagerstroemia

สปีชีส์: speciosa

ชื่อพ้อง: -

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นอินทนิลน้ำ เป็นไม้ยืนต้น ลำต้นสูงประมาณ 6-8 เมตร เส้นรอบวงประมาณ 104-123 เซนติเมตร ลำต้นสีเทาหรือสีน้ำตาลอ่อน ผิวลำต้นเรียบ

ใบ เป็นใบเดี่ยว การเรียงตัวของเส้นใบร่างแหแบบขนนก ใบรูปขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมน ขอบใบเป็นคลื่น เนื้อใบคล้ายกระดาษ ใบเรียงแบบตรงข้าม ด้านบนแผ่นใบเกลี้ยง ใบด้านบนสีเขียวเข้ม ท้องใบสีเขียว ใบอ่อนสีเขียวอ่อน ใบแก่สีเขียวเข้ม ใบกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 11-26 เซนติเมตร

ดอก ออกดอกรวมกันเป็นช่อใหญ่ตามปลายกิ่งหรือตามง่ามใบตอนใกล้ ๆ ปลายกิ่ง ดอกใหญ่มีหลายสี เช่น สีม่วงอมชมพู สีม่วงสด หรือม่วงล้วน มีความยาวถึง 30 เซนติเมตร ที่ส่วนบนสุดของดอกตูมจะมีตุ่มกลม ๆ เล็ก ๆ ตั้งอยู่ตรงกลาง ที่ผิวนอกของกลีบฐานดอกจะติดกันเป็นรูปถ้วยหรือรูปทรงกรวยหงาย จะมีสีสันนูนตามยาวเห็ดชัด และมีเส้นขนสั้น ๆ ปกคลุมอยู่ประปราย ดอกอินทนิลน้ำมีกลีบดอกบาง ลักษณะเป็นรูปช้อนที่มีโคนกลีบเป็นก้านเรียว ผิวกลีบจะเป็นคลื่น ๆ เล็กน้อย เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีรัศมีความกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร และมีรังไข่กลมเกลี้ยง

ผล ลักษณะผลแห้งแก่แตก ผลแตกกลางพู ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกสีน้ำตาลแดง ผลแก่สีน้ำตาล ผลมีขนาดใหญ่ ลักษณะกลมรี กว้างประมาณ 1.5-2.0 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.2-2.6 เซนติเมตร ผิวเรียบ มีเมล็ดขนาดเล็ก ที่มีปีกเป็นครีบบางๆ ทางด้านบน

สภาพนิเวศวิทยา: พบตามที่ราบลุ่มริมน้ำ ในป่าเบญจพรรณชื้นและป่าดิบ ที่ความสูงไม่เกิน 600 เมตร จากระดับน้ำทะเล

ถิ่นกำเนิด: เอเชียเขตร้อน

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ใบ รสขมเย็นเล็กน้อย สรรพคุณ แก้ทางเดินปัสสาวะพิการ แก้เบาหวาน

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ใบ พบสารกลุ่ม triterpene และ steroid เช่น corosolic acid (2,3-dihydroxy-12-ursen-28-oic acid), 31-norlagerenol acetate, 24-methylenecycloartanol acetate, 31-nor 24-methylene cycloartanol acetate, largerenol acetate, tinotufolin C, tinotufolin D, lutein, phytol, sitosterol และ sitosterol acetate , 3β, 23- dihydroxy-1-oxo-olean-12-en-28-oic acid นอกจากนี้ยังพบสารกลุ่ม tannin ได้แก่ 2,3,7-tri-O-methylellagic acid , 2,3,8-tri-O-methylellagic acids

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ลดระดับไขมันในเลือด ในประเทศญี่ปุ่นได้มีการสกัดสารจากใบอินทนิลน้ำด้วยแอลกอฮอล์ นำไปทำให้เข้มข้นจนได้สารสกัด 3 mg./ml. แล้วนำไปทำเป็นยาเม็ดขนาดเม็ดละ 250 mg. ให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานและมีภาวะไขมันในเส้นเลือดสูงรับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง นานติดต่อกัน 4 สัปดาห์ พบว่าผู้ป่วยมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดที่ลดลง

-ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด เมื่อนำสารสกัดใบด้วยน้ำร้อน 5% หรือสารสกัดเมทานอล 2%  ผสมลงในอาหาร และให้หนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 กิน เป็นเวลา 5 สัปดาห์ พบว่าสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของหนูได้ โดยสารสกัดด้วยน้ำร้อนจะไปเร่งให้เกิด glucose uptake ใน 3T3-L1 adipocytes เหมือนอินซูลิน แต่ไม่ได้เสริมฤทธิ์หรือยับยั้งอินซูลินและต่างจากอินซูลินที่ไม่เหนี่ยวนำให้เกิด adipocyte differentiation ในภาวะที่มี 3-isobutyl-1-methylxanthtine (IBMX)  และ Dexamethasone (DEX) และยับยั้งอินซูลินในเรื่อง adipocyte differentiation ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงมีประโยชน์ในการป้องกันและรักษาอาการน้ำตาลในเลือดสูงและโรคอ้วนในผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ยาต้มจากใบเมื่อป้อนให้กระต่ายทางสายยาง ขนาด 2 ก./กก. และ 2-4 ก./กก. สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้และสารสกัดด้วยน้ำร้อน ขนาด 20 ก./ตัว เมื่อป้อนให้กระต่ายทางสายยาง สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดเช่นกัน โดยมีขนาดเทียบเท่ากับอินซูลิน 4.4-5.4 (ใบอ่อน) และ 6-7.7 units (ใบแก่) สารสกัดน้ำและ 95% เอทานอล เมื่อทำการทดลองในกระต่ายที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย alloxan พบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ เมื่อป้อนน้ำต้มจากใบ ขนาด 15,30,50,60 และ 100 ก./กก. ทางปากให้สุนัขที่เหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย alloxan พบว่าตลอดการศึกษา 6 ชั่วโมง ระดับน้ำตาลในเลือดของสุนัข ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นสรุปได้ว่าน้ำต้มจากใบไม่สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของสุนัข เมื่อป้อนสารสกัดด้วยน้ำร้อน ขนาด 0.5,1,2,5,10 ก./กก. ให้แก่หนูที่เหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน พบว่าไม่มีผลในการลดระดับน้ำตาลในเลือด เช่นเดียวกับเมื่อให้กระต่ายกินสารสกัดด้วยน้ำร้อนขนาด 10 ก./กก. หรือฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ ไม่ระบุขนาด นอกจากนี้พบว่าส่วนสกัดอัลคาลอยด์ สารสกัด 95%  เอทานอลสารสกัดน้ำ ไม่ระบุขนาดที่ใช้ และสารสกัดเอทานอล:น้ำ (1:1)  ขนาด 5 ก./กก. มีมีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดของกระต่ายเช่นกัน  สารสกัดด้วยน้ำร้อนและเมทานอล กรด tannic , ellagitannis , lagerstroemin , flosin B และ reginin ที่พบในใบไม่ระบุขนาดที่ใช้ สามารถเพิ่มการดูดซึมกลูโคสในเซลล์ไขมันของหนู นอกจากนี้ยังพบว่าสาร lagerstroemin มีผลเพิ่มการดูดซึมกลูโคส โดยช่วยกระตุ้นการทำงานของ insulin receptor จึงมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง

สารสกัดเมทานอลจากใบอินทนิลน้ำ ยังออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ a-amylase, maltase , glucoamylase , sucrose และ isomaltase เมื่อทดลองป้อนให้หนูขาว ส่วนสารสกัดน้ำไม่มีฤทธิ์ สารสกัดเมทานอล ขนาดที่ออกฤทธิ์ยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) ในการยับยั้งเอนไซม์ a-amylase, maltase , glucoamylase , sucrase และ isomaltase มีค่าเท่ากับ 0.53,0.89,1.24,2.85 และ 4.95 มก./มล. ตามลำดับ และค่า IC50 ของส่วนสกัดเมทานอลที่ได้จากการนำสารสกัดด้วยน้ำ ไปแยกด้วย HP-20 column ในการยับยั้งเอนไซม์ a-amylase และ glucoamylase มีค่าเท่ากับ 0.44 และ 0.83 มก./มล. ตามลำดับ การยับยั้งเอนไซม์เหล่านี้จึงทำให้ปริมาณกลูโคสในเลือดไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งต่อมาพบว่าสารออกฤทธิ์คือ valoneaic acid dilactone ที่สกัดได้จากใบมีฤทธิ์ต้านเอนไซม์ a-amyiase ดีมาก

-การศึกษาทางคลินิคการศึกษาผลของ corosolic acid ต่อการลดน้ำตาลในเลือดในคน นั้น ก็มีรายงานยืนยันว่าสามารถลดน้ำตาลในเลือดได้เช่นกัน โดยในปี 1998, มีการศึกษา corosolic acid โดยวิธี crossover, placebo-controlled clinical study ที่ Tokyo Jikeikai Medical School โดยมีการศึกษาใน 24 คน ที่เป็น mild case of Type II diabetes มีอายุมากกว่า 20 ปี มีปริมาณน้ำตาลที่ระดับ 100 mg per dL (fasting level)  ซึ่งผู้รับการทดลองจะได้รับ ยาหลอก หรือ corosolic acid tablet หลังมื้ออาหารแต่ละมื้อ ผลการศึกษาแสดงว่า corosolic acid มีผลลดน้ำตาลในเลือดใสระยะสั้น (4 สัปดาห์) อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก โดยไม่พบอาการไม่พึงประสงค์

-ในปี 2003, Dr. William V. Judy แห่ง Southwestern Institute of Biomedical Research Florida ได้รายงานผลการศึกษา ยืนยันฤทธิ์ลดน้ำตาลของสารสกัดจากใบอินทนิล ที่เทียบเท่า 1% corosolic acid และ โดยใช้การทดลองทางคลินิกแบบสุ่ม (randomized clinical trial) ในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (non-insulin-dependent diabetes mellitus, NIDDM) โดยกลุ่มทดลองได้รับสารสกัดโดยการรับประทานทุกวันในขนาดต่างๆกัน และ ตรวจวัดระดับกลูโคสพบว่า สารสกัดที่ระดับความเข้มข้น 32 และ 48 mg ต่อวัน เป็นเวลาติดต่อกัน 2 สัปดาห์ สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง รูปแบบของสารสกัดที่เตรียมในรูปแบบ soft gel capsule และ รูปแบบผงแห้งของสารสกัดที่บรรจุใน  hard gelatin capsule พบว่าสามารถลดระดับกลูโคสได้  30% และ 20% ตามลําดับ (P < 0.001), แสดงว่าสูตรตำรับแบบ soft gel capsule มี bioavailability ที่ดีกว่าแบบผงแห้ง (Dr. William V. Judy, et al., 2003)

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-การทดสอบความเป็นพิษ สารสกัด 70% เอทานอล และสารสกัดในที่ไม่มีแทนนิน เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักรในขนาด 2 ก./กก. พบว่าเป็นพิษโดยทำให้หนูเกิดอาการชัก หายใจไม่ออก ตัวเย็น การเคลื่อนไหวและการสั่งการต่างๆ ลดลง

การใช้ประโยชน์:

-โรคความดันโลหิตสูง ใช้ใบแก่เต็มที่ มีรสขมฝาดเย็น ประมาณ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำดื่มในตอนเช้า 

-โรคเบาหวานและช่วยลดความอ้วน ใช้ใบอ่อนนำมาตากแดดใช้ชงเป็นชาไว้ดื่มได้  และมีการนำไปแปรรูปเป็นสมุนไพรอินทนิลน้ำแบบสำเร็จรูปในรูปแบบแคปซูลและแบบชงเป็นชา

-นิยมปลูกไว้เป็นไม้ริมทางและเป็นไม้ประดับ เนื่องจากต้นอินทนิลน้ำมีดอกและใบที่สวยงาม ให้ร่มเงาและเจริญเติบโตเร็ว

-เนื้อไม้ เป็นไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่ง เพราะมีเนื้อไม้ที่แข็งแรง เหนียว และทนทาน ตกแต่งขัดเงาได้ง่าย โดยเนื้อไม้นิยมนำมาใช้ในการก่อสร้างต่าง ๆ ใช้ทำกระดาษ พื้น ฝา รอด ตง กระเบื้องไม้มุงหลังคา คานไม้ ไม้กั้น และส่วนประกอบอื่น ๆ และยังใช้ทำเรือใบ เรือแจว เรือเดินทะเล แจวพายเรือ กรรเชียง ไถ รถ ซี่ล้อ ตัวถังเกวียน ไม้นวดข้าว กระเดื่อง ครกสาก บ่อน้ำ ร่องน้ำ กังหันน้ำ หมอนรางรถไฟ ถังไม้ ลูกหีบ หีบศพ เปียโน ฯลฯ



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง