Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: กระถินพิมาน

กระถินพิมาน thai-herbs.thdata.co | กระถินพิมาน สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ชื่อท้องถิ่น: กระถินพิมาน(ภาคกลาง)/ คะยา, หนามขาว(ภาคเหนือ)/ กระถินป่า แฉลบขาว แฉลบ วิมานแดง กระถินวิมาน(สุโขทัย)/ กระถินแดง กระถินขาว

ชื่อสามัญ: -

ชื่อวิทยาศาสตร์: Acacia harmandiana (Pierre) Gagnep.

ชื่อวงศ์: FABACEAE-LEGUMINOSAE และอยู่ในวงศ์ย่อย MIMOSOIDEAE-MIMOSACEAE

สกุล: Acacia

สปีชีส์: harmandiana

ชื่อพ้อง: A. siamensis Craib

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นกระถินพิมาน เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ผลัดใบ สูง 10 – 15 เมตร  พุ่มเรือนยอดโปร่งแผ่กว้างคล้ายรูปร่ม กิ่งอ่อนมีขนหนาแน่น เปลือกต้นสีขาวแกมเทา เปลือกด้านในสีแดงอมน้ำตาล ตามกิ่งมีหูใบแปลงรูปเป็นหนามแหลมแข็งและยาว

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ แกนกลางใบประกอบยาว 3-9 เซนติเมตร ก้านใบประกอบยาว 0.6-1 เซนติเมตร มีต่อมขนาดใหญ่ที่ปลายก้านใบประกอบตรงรอยต่อระหว่างแขนงคู่ล่างสุด ใบประกอบแยกแขนง 7-23 คู่ ยาว 0.9-2.5 เซนติเมตร แต่ละแขนงมีใบย่อย 20-50 คู่ เรียงตรงข้ามชิดกัน ใบย่อยรูปขอบขนาน กว้างประมาณ 1 มม. ยาว 2-3 มิลลิเมตร ปลายมน โคนเบี้ยว แผ่นใบมีขนทั้ง 2 ด้าน ไม่มีก้านใบย่อย

ดอก แบบช่อกระจุกแน่น ออกเดี่ยวๆ ตามง่ามใบ 1-4 ช่อ กลิ่นหอมอ่อน ก้านช่อดอกยาว 1-2.5 เซนติเมตร มีขน ดอกเล็ก สีขาว มีจำนวนมาก ออกชิดกันแน่นบนแกนช่อกลมคล้ายช่อดอกกระถิน เมื่อบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลางช่อดอก 0.9-1.3 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงและกลีบดอก 4-5 กลีบ เล็กมาก ติดกันเป็นหลอดสั้นๆ เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก

ฝัก ลักษณะแบนแคบรูปขอบขนาน กว้าง 0.8-1.1 เซนติเมตร ยาว 9-12 เซนติเมตร ฝักแก่สีน้ำตาล โค้งงอ มีหลายเมล็ด   

เมล็ด รูปไข่ กว้าง 5-6 มิลลิเมตร ยาว 7-9 มิลลิเมตร

สภาพนิเวศวิทยา: พบได้ในป่าละเมาะและป่าเบญจพรรณที่แห้งแล้ง บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 400 เมตร

ถิ่นกำเนิด: -

การกระจายพันธุ์: อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน อินโดนีเซีย

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

      *ราก รสฝาดเฝื่อน สรรพคุณ แก้พิษสัตว์กัดต่อย

      *เห็ดที่เกิดขึ้นจากไม้กระถินพิมาน รสเบื่อเมา สรรพคุณ แก้ปวดฝีในหู แก้เริม งูสวัด ผสมกับตัวยาแก้ใช้พิษ ไข้กาฬ

องค์ประกอบทางเคมี: -

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:-

การศึกษาทางพิษวิทยา:-

การใช้ประโยชน์:

-ใบอ่อน ยอดอ่อน รับประทานเป็นผักสดกับน้ำพริก ลาบ รวมกับผักอื่น ๆ รส จืด มัน

-เนื้อไม้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ทำไม้แปรรูปเฟอร์นิเจอร์ ไม้โครงสร้างต่างๆ หรือใช้ในงานก่อสร้างที่ไม่ต้องรับน้ำหนักมากและไม่เป็นชิ้นส่วนที่ฝังลงในดิน นอกจากนี้ยังสามารถนำมาแปรรูปทำไม้อัดหรือเยื่อกระดาษที่มีคุณภาพดีได้อีกด้วย

-ใบสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ในยามขาดแคลน และใช้เป็นแหล่งให้น้ำหวานสำหรับการเลี้ยงผึ้งได้เป็นอย่างดี เนื่องจากบริเวณโคนใบของกระถินเทพามีต่อมน้ำหวาน ซึ่งมักพบแมลงต่างๆ มารุมตอมหาอาหารอยู่เป็นประจำ

-ดอกและเกสรเป็นแหล่งอาหารของผึ้งได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกับใบ

-ใช้เพื่อปรับปรุงสภาพดินเลวเนื่องจากเป็นพืชตระกูลถั่ว สามารถปลูกได้ในสภาพดินเลวและมีการเจริญเติบโตได้ดี และสามารถปลูกเพื่อใช้เป็นร่มเงา เป็นไม้ประดับ เป็นพืชคลุมดิน และแนวกันลมได้อีกด้วย



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง