Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: ชุมเห็ดเทศ

ชื่อท้องถิ่น: ชุมเห็ด ชุมเห็ดใหญ่ ชุมเห็ดเทศ (ภาคกลาง)/ ส้มเห็ด (เชียงราย)/ จุมเห็ด (มหาสารคาม)/ ขี้คาก ลับมืนหลวง ลับหมื่นหลวง ลับมืนหลาว หญ้าเล็บมือหลวง หมากกะลิงเทศ (ภาคเหนือ)/ ตะสีพอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)/ ตุ๊ยเฮียะเต่า ฮุยจิวบักทง (จีน)/ ตุ้ยเย่โต้ว (จีนกลาง)

ชื่อสามัญ: Acapulo, Candelabra bush, Candle bush, Candlestick senna, Christmas candle, Empress candle plant, Impetigo bush, Ringworm bush, Ringworm senna, Ringworm shru, Seven golden candlestick

ชื่อวิทยาศาสตร์: Senna alata (L.) Roxb.

ชื่อวงศ์: FABACEAE-LEGUMINOSAE และอยู่ในวงศ์ย่อย CAESALPINIOIDEAE-CAESALPINIACEAE

สกุล: Senna 

สปีชีส์: alata 

ชื่อพ้อง: 

-Cassia alata L.

-Cassia bracteata L.f.

-Herpetica alata (L.) Raf.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ชุมเห็ดเทศ thai-herbs.thdata.co | ชุมเห็ดเทศ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นชุมเห็ดเทศ เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ความสูงของต้นประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นแนวขนานกับพื้นดิน กิ่งจะแผ่ออกทางด้านข้าง มีขนสั้นนุ่ม เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล 


ชุมเห็ดเทศ thai-herbs.thdata.co | ชุมเห็ดเทศ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ออกเรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 8-20 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานแกมรูปรี ปลายใบโค้งมนหรือหยัก โคนใบมนเว้าเข้าหากันเล็กน้อย โคนใบทั้งสองด้านไม่เท่ากัน ส่วนขอบใบเรียบเป็นสีแดง ใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างหนา หยาบและเหนียว แก่นกลางใบหนา ก้านใบรวมยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร ส่วนก้านใบประกอบยาวประมาณ 2 เซนติเมตร มีหูใบลักษณะเป็นรูปติ่งหู สามเหลี่ยม ยาวประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ติดทน[3],[5] เมื่อนำใบมาอบให้แห้งแล้วจะเป็นสีน้ำตาลอมเขียวถึงสีน้ำตาล ส่วนผงที่ได้เป็นสีน้ำตาลอมเขียว มีกลิ่นอ่อน ๆ รสเบื่อเอียนและขมเล็กน้อย


ชุมเห็ดเทศ thai-herbs.thdata.co | ชุมเห็ดเทศ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อใหญ่ตั้ง โดยจะออกตามซอกใบและตามปลายกิ่ง ช่อดอกเป็นแบบช่อกระจะแคบ ๆ ยาวประมาณ 20-50 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเหลืองทอง มีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่เกือบกลมหรือเป็นรูปช้อน ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร มีก้านกลีบสั้น ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 9-10 ก้าน โดยมีเกสรอันยาว 2 ก้าน (ก้านเกสรหนา ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร อับเรณูยาวประมาณ 1.2-1.3 เซนติเมตร) เกสรอันสั้น 4 ก้าน (ก้านเกสรจะยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร อับเรณูยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร) และเกสรเพศผู้ที่ลดรูปอีก 4 ก้าน อับเรณูเปิดที่ปลาย รังไข่เกลี้ยง มีออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรมีขนาดเล็ก มีใบประดับเป็นสีน้ำตาลแกมสีเหลืองหุ้มดอกที่ยังไม่บาน ใบประดับมีลักษณะเป็นรูปรี ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร หลุดร่วงได้ง่าย ก้านดอกสั้น ยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร ดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบเรียงซ้อนเหลื่อมในตาดอก ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน มีความยาวไม่เท่ากัน โดยจะยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร


ชุมเห็ดเทศ thai-herbs.thdata.co | ชุมเห็ดเทศ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะเป็นฝักรูปแถบ ยาว แบน และเกลี้ยงไม่มีขน ฝักมีขนาดยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร มีสันหรือปีกกว้าง 4 ปีก ปีกกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตรตามความยาวของฝัก ฝักมีผนังกั้น ฝักเมื่อแก่จะเป็นสีดำและแตกตามยาว ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 50-60 เมล็ด

เมล็ด ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมสีดำ มีผิวขรุขระ เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 7-10 มิลลิเมตร

สภาพนิเวศวิทยา: สำหรับในประเทศไทย พบขึ้นได้ทั่วไปทั้งบนที่ราบหรือบนภูเขาสูงจนถึง 1,500 เมตร

ถิ่นกำเนิด: -

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ใบ รสเบื่อเอียน สรรพคุณ ตำหรือขยี้ทาแก้กลากเกลื้อน โรคผิวหนังชนิดมีตัว

*ต้น รสเบื่อเอียน สรรพคุณ ขับพยาธิไส้เดือน

*ดอก รสเบื่อเอียน สรรพคุณ ระบายอ่อนๆ

*ต้น ราก ใบ รสเบื่อเอียน สรรพคุณ แก้กระษัยเส้น แก้ท้องผูก ขับปัสสาวะ

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้ชุมเห็ดเทศ ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยารักษากลุ่มอาการของระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตัวยาสมุนไพร “ยาชุมเห็ดเทศ” ใช้บรรเทาอาการท้องผูก

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ใบ พบสารจำพวก Hydroxyanthracene derivatives เช่น aloe-emodin, chrysophanol, chrysophanic acid, emodin, flavonoids, glycoside, kaempferol, isochrysophanol, physcion glycoside, terpenoids, sennoside, sitosterols, lectin, rhein[ โดยสารในกลุ่มแทนนิน ฟลาโวนอยด์ อย่างเช่น kaemferol มีฤทธิ์เป็นยาฝาดสมาน อีกทั้งยังมีสารแอนทราควิโนนที่มีฤทธิ์เป็นยาระบาย จึงมีฤทธิ์รวมเป็นยาระบายที่มีสรรพคุณสมานธาตุไปด้วยในตัว

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์เป็นยาระบาย สารสกัดด้วยน้ำมีผลเพิ่มการบีบตัวของลำไส้ของหนูถีบจักร และหากให้ในขนาดเทียบเท่าผงใบ 5-20 กรัมต่อกิโลกรัม มีผลทำให้หนูทุกตัวถ่ายเหลว

จากการทดลองให้หนูกินสารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศด้วยสารสกัดน้ำร้อนขนาด 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม พบว่ามีฤทธิ์เป็นยาระบาย และยังมีการทดลองด้วยการฉีดสารสกัดจากชุมเห็ดเทศด้วยน้ำร้อนในขนาด 800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม พบว่าให้ผลเช่นเดียวกัน

ได้มีการทดลองเปรียบเทียบผลของใบชุมเห็ดเทศ โดยนำยาชงถุงละ 3-4 กรัมมาชงน้ำเดือด 120 ซี.ซี. ทิ้งไว้ 10 นาที โดยทำการเปรียบเทียบระหว่าง placebo จำนวน 23 ราย, Mist alba จำนวน 7 ราย และชุมเห็ดเทศอีก 12 ราย พบว่าใบชุมเห็ดเทศให้ผลดีกว่า placebo และให้ผลเท่ากับมิสท์ แอลบา (Mist alba) และอาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย แต่ผู้ป่วยพอใจผลของใบชุมเห็ดเทศมากกว่า Mist alba

ฝัก ใบ และดอก มีสารในกลุ่มจำพวกแอนทราควิโนน เช่น aloe-emodin, emodin และ rhein มีฤทธิ์เป็นยาระบายและฆ่าเชื้อโรคได้ โดยไปกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก ช่วยระบาย

-ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อเชื้อ E. coli สารสกัดน้ำจากใบเมื่อนำมาทดสอบกับเชื้อ E. coli ที่เป็นสาเหตุให้ลูกหมูท้องเสียในจานเพาะเลี้ยงเชื้อ พบว่าสามารถช่วยยับยั้งเชื้อดังกล่าวได้ที่ระดับความเข้มข้นมากกว่า 21.8 มก./มล.

-ฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของหัวใจ สาร Glycoside ที่สกัดได้จากใบชุมเห็ดเทศมีฤทธิ์ในการกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้การบีบตัวของหัวใจแรงขึ้น แต่ไม่เปลี่ยนอัตราการเต้นของหัวใจ แต่หากใช้สารนี้ฉีดเพิ่มขึ้นอีก พบว่าจะทำให้หัวใจเต้นช้ามาก ๆ และอาจเกิดอาการหัวใจหยุดเต้นในท่าบีบตัว (Systolic Arrest) และสาร Glycoside ยังมีฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบในลำไส้อีกด้วย

-ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อปี ค.ศ.2002 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศในหนูถีบจักรที่เป็นเบาหวาน โดยทดลองใช้สารสกัดหลายตัวด้วยกัน ได้แก่ hexane, chloroform, ethyl acetate ในความเข้มข้น 5 mg/20 g. ของน้ำหนักตัวหนู ผลการทดลองพบว่าสารสกัดใน ethyl acetate สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ 58.3%

-ฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตขอเนื้องอก สารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตขอเนื้องอก (Sarcoma) ในหนูเล็ก โดยการฉีดสารเข้าที่ขาก็จะมีอาการระคายเคืองบริเวณที่ฉีดเข้าไป

-ฤทธิ์ต้านสารก่อกลายพันธุ์ สารสกัดใบด้วยเอทานอลมีผลก่อกลายพันธุ์ Salmonella typhimurium strain TA98 และพบว่าสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ Salmonella typhimurium strain TA98 และ TA100 ในแบบที่ต้องการเอนไซม์จากตับหนูกระตุ้นการออกฤทธิ์ สารสกัดที่ได้จากการต้มชุมเห็ดเทศไม่มีฤทธิ์ต้านสารก่อกลายพันธุ์ที่ทดสอบกับเชื้อ Salmonella typhimurium strain TA98 แต่ส่วนสกัดดอกที่ไม่ละลายในเมทานอล (ไม่ระบุขนาด) สารสกัดใบด้วยคลอโรฟอร์มหรือเอทานอล ขนาด 100 มก./กก. และสารสกัดด้วยเฮกเซน ขนาด 50 มก./กก. เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักรพบว่ามีฤทธิ์ต้านสารก่อกลายพันธุ์

-ฤทธิ์รักษากลากเกลื้อน สารสกัดจากแอลกอฮอล์และครีมที่มีความเข้มข้น 20% สามารถใช้รักษากลากเกลื้อนให้หายได้ 100% แต่ไม่สามารถใช้รักษาเชื้อราที่เล็บและที่บริเวณหนังศีรษะได้ นอกจากนี้ยังได้มีการศึกษาในผู้ที่เป็นโรคเกลื้อนชนิด (Pityraisis versicolor) ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อรา Malassezia furfur จำนวน 200 คน ทั้งเพศชายและหญิง (อายุ 16-60 ปี) เมื่อใช้สารสกัดน้ำใบชุมเห็ดเทศ ความเข้มข้น 80% ทาบริเวณหน้า ความเข้มข้น 90% ทาบริเวณคอและมือ ความเข้มข้น 100% ทาบริเวณแขนและขา โดยให้ทาในช่วง 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอนวันละ 1 ครั้ง และล้างออกในตอนเช้าโดยไม่ต้องฟอกสบู่ พบว่าภายใน 2-3 สัปดาห์ บริเวณที่เป็นผื่นจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ยังมีรอยโรคปรากฏอยู่ และสีผิวจะปรับเข้าสู่สภาพปกติจะต้องใช้เวลาในการรักษาประมาณ 10-12 เดือน

สารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศแก่สดที่ความเข้มข้นมากกว่า 70 % ให้ผลดีในการรักษาโรคเกลื้อน (Pityriasis versicolor) และยังช่วยป้องกันการกลับมาเป็นใหม่ได้นานถึง 1 ปี ถ้าต้องการให้หายขาดจะต้องใช้ทุก 4 เดือน ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี หลังจากการรักษาครั้งแรกได้ผลดีและไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงทางผิวหนัง

น้ำมันที่ได้จากใบหรือเมล็ดชุมเห็ดเทศมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลากเกลื้อนได้ โดยสารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศด้วยแอลกอฮอล์ประมาณ 95% สามารถฆ่าเชื้อ Bacillus subtilis, Staphylococcus aureus, Serratia marcescens ได้ ส่วนสารสกัดจากน้ำของใบจะมีความเข้มข้นประมาณ 5% และสามารถฆ่าเชื้อ Trichophyton mentagrophytes ซึ่งเป็นเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคกลาก

น้ำมันหอมระเหยจากใบและสารสกัดเปลือกต้นด้วยเมทานอล เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์การต้านเชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis ด้วยวิธี disc diffusion พบว่าสามารถช่วยยับยั้งเชื้อดังกล่าวได้ในระดับปานกลาง

ใบชุมเห็ดเทศมีสาร chrysophanol ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อรา โดยมีผู้ศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดชนิดต่าง ๆ ของใบชุมเห็ดเทศ ในการต้านเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลาก คือ Trichophyton mentagrophytes โดยใช้สารสกัดด้วยน้ำของใบชุมเห็ดเทศ พบว่าสามารถช่วยต้านเชื้อราที่เป็นต้นเหตุของโรคผิวหนังได้ และสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ 50% จากทุกส่วนของชุมเห็ดเทศ สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์, คลอโรฟอร์ม, อีเทอร์ และน้ำ ก็พบว่าสามารถต้านเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลากได้เช่นกัน[8]

สารสกัดเอทานอล aloe-emodin, chrysophanol และ rhein จากใบชุมเห็ดเทศสามารถต้านเชื้อรา Epidermophyton floccosum, Microsporium gypseum, Trichophyton rubrum, Trichophyton mentagrophytes และ M. canis ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคกลากเกลื้อนได้ และพบว่า rhein จะให้ผลในการยับยั้งเชื้อรา Epidermophyton floccosum, Trichophyton rubrum, Trichophyton mentagrophytes ได้ดีที่สุด

สารสกัดน้ำจากเปลือกต้น เมื่อนำมาทดสอบด้วยวิธี disc diffusion พบว่าสามารถช่วยยับยั้งเชื้อยีสต์ Candida albicans ได้ โดยระดับความเข้มข้นของสารสกัดที่ 30 มคก./มคล. จะให้ผลดีที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับยามาตรฐานอย่าง Ticonazole ที่ความเข้มข้น 30 มคก./มคล. เท่ากัน แต่สารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศด้วยเอทานอลจะไม่มีฤทธิ์ยับยั้งยีสต์

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดใบด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 3,333 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ

-การศึกษาพิษของใบชุมเห็ดเทศ พบว่าเป็นพิษต่อหนูขาว โดยสารสกัดเอทานอลและสารที่แยกได้เป็นพิษต่อตับ ไตโดย anthraquinone ที่มีอยู่หลายชนิดที่เสริมฤทธิ์กัน เมื่อให้หนูขาวกินสารสกัดใบชุมเห็ดเทศด้วยน้ำในขนาด 10, 50, 100, 150 มก./กก. เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ พบว่ามีผลลดปริมาณ Haemoglobin และเม็ดเลือดแดง เพิ่ม packed cell volume(PCV), mean corpuscular haemoglobin concentration (MCHC) และ mean corpuscular volume (MCV) แต่ mean corpuscular haemoglobin (MCH) ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซึ่งอาจเนื่องมาจากซาโปนิน (Saponin) (Yagi และคณะ)

การทดสอบพิษกึ่งเรื้อรังของผงใบชุมเห็ดเทศในหนูขาววิสตาร์ 4 กลุ่ม กลุ่มละ 24 ตัว (เพศผู้ 12 ตัว เพศเมีย 12 ตัว) เป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มที่ได้รับยาทางปากขนาด 0.03 , 0.15 และ0.75 กรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน (ซึ่งเปรียบเทียบได้กับได้รับ 1 5 และ 25 เท่า ของขนาดที่รักษาในคน) ผลคือ ไม่พบพิษทุกกลุ่ม มีการเจริญเติบโตปกติการตรวจทางโลหิตวิทยาและชีวเคมีปกติ ไม่พบพยาธิสภาพและจุลพยาธิวิทยาของอวัยวะภายในที่ผิดปกติ

-การทดสอบความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ เมื่อฉีดสารสกัดใบชุมเห็ดเทศด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 50 เข้าช่องท้องหนูแรทในขนาด 125 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ไม่มีผลทำให้แท้งและไม่พบพิษต่อตัวอ่อน แต่ผลต่อการเปลี่ยนแปลงของรอบเดือนไม่ชัดเจน ส่วนสารสกัดจากใบด้วยน้ำขนาด 300ไมโครกรัม/มิลลิลิตร มีฤทธิ์ทำให้มดลูกหนูแรทหดตัวในหลอดทดลอง และมีฤทธิ์เสริม oxytocin

-การทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์โดยใช้ brine shrimp พบว่าสารสกัดใบชุมเห็ดเทศด้วยน้ำในขนาด 7.74 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ทำให้ brine shrimp ตายไปครึ่งหนึ่ง และสารสกัดนี้มีความเป็นพิษต่อเซลล์ Vero โดยความเข้มข้น 1,414 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ทำให้เซลล์ Vero ตายไปครึ่งหนึ่ง

-จากการทดสอบความเป็นพิษ ไม่พบพิษของสารสกัดจากใบด้วย 85% แอลกอฮอล์ เมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักรในขนาด 2 ก./กก. หรือสารสกัดใบด้วย 50% แอลกอฮอล์

การใช้ประโยชน์:

-ดอกสด ยอดอ่อน สามารถนำมาต้มหรือลวกรับประทานเป็นผักจิ้มได้ โดยยอดอ่อนจะมีรสชาติขม

-การดื่มชาชงจากชุมเห็ดเทศเป็นประจำจะช่วยลดสิว ฝ้า กระ และทำให้ผิวพรรณผ่องใสได้

-นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากต้นชุมเห็ดเทศมีดอกสวยและมีสีสัน ดูแลได้ง่าย สามารถนำมาใช้ปลูกเป็นฉากหลังทางเดินในสวน บริเวณศาลา หรือตามริมน้ำได้

-ชาวแอฟริกาจะปลูกต้นชุมเห็ดเทศไว้รอบ ๆ บ้าน เพื่อใช้ไล่มด

-ในอินเดียและศรีลังกาจะใช้ทั้งต้นอ่อนเป็นยาเบื่อปลา



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง