Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: พิมเสนต้น

ชื่อท้องถิ่น: ใบพิมเสน ผักชีช้าง ใบหลม ใบอีหรม (ภาคใต้)/ ฮั่วเซียง ก่วงฮั่วเซียง (จีนกลาง)

ชื่อสามัญ: Patchouli, Patchoulli, Patchouly

ชื่อวิทยาศาสตร์: Pogostemon cablin (Blanco) Benth.

ชื่อวงศ์: LAMIACEAE-LABIATAE

สกุล: Pogostemon 

สปีชีส์: cablin 

ชื่อพ้อง: 

-Mentha auricularia Blanco

-Mentha cablin Blanco

-Pogostemon battakianus Ridl.

-Pogostemon comosus Miq.

-Pogostemon javanicus Backer ex Adelb.

-Pogostemon mollis Hassk.

-Pogostemon patchouly Pellet.

-Pogostemon tomentosus

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

พิมเสนต้น thai-herbs.thdata.co | พิมเสนต้น สรรพคุณ สมุนไพร ไทย พิมเสนต้น thai-herbs.thdata.co | พิมเสนต้น สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นพิมเสน เป็นไม้ล้มลุก มีความสูงของต้นประมาณ 30-100 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรงกิ่งก้านเป็นสี่เหลี่ยม โดยจะแตกกิ่งก้านสาขาบริเวณยอดต้น ทั้งต้นเมื่อนำมาขยี้ดมจะมีกลิ่นหอมฉุน และมีขนสีเหลืองปกคลุมอยู่ทั้งต้น 


พิมเสนต้น thai-herbs.thdata.co | พิมเสนต้น สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ใบที่โคนต้นจะมีขนาดเล็กกว่าที่บริเวณยอดต้น แผ่นใบมีขนสีเทาอ่อนปกคลุมทั้งหน้าใบและหลังใบ โดยเฉพาะตรงส่วนของเส้นใบจะมีขนปกคลุมอยู่มาก ส่วนก้านใบยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร


พิมเสนต้น thai-herbs.thdata.co | พิมเสนต้น สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งและตามซอกใบ ช่อดอกยาวประมาณ 2-8 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร ดอกเป็นสีขาวอมสีม่วง ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกยาวได้ประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ดอกมีกลีบเลี้ยงห่อหุ้มอยู่ 4 ใบ ยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร มีกลีบดอก 5 กลีบ มีเกสรเพศผู้ 4 ก้าน

ผล ลักษณะผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก มีขนาดเล็ก ลักษณะเป็นรูปไข่ยาว

สภาพนิเวศวิทยา: -

ถิ่นกำเนิด: ฟิลิปปินส์ อินเดีย ศรีลังกา อินโดนีเซีย และในประเทศมาเลเซีย

การกระจายพันธุ์: จาวา, เกาะซุนดา, มาลายา, นิวกินี, ฟิลิปปินส์, ศรีลังกา, สุลาเวสี, สุมาเตรา, จีนตะวันออกเฉียงใต้, ฟิจิ, ไหหลำ, ซามัว, ไต้หวัน, ไทย, ตองกา, ตรินิแดด- โตเบโก, เวียดนาม

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการตัดลำต้นปักชำ

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ใบ รสเย็นหอม สรรพคุณ แก้ลม บำรุงหัวใจ แก้ไข้ตัวร้อน ถอนพิษไข้

-พิกัดยา ประกอบด้วย

1.“พิกัดตรีสุคนธ์” ได้แก่ ใบกระวาน รากอบเชยเทศ รากพิมเสนต้น สรรพคุณ แก้ไข้สันนิบาต แก้ไข้เซื่องซึม แก้ไข้จุกเสียด แก้ริดสีดวง

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้พิมเสนต้น ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของพิมเสนต้นร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของงพิมเสนต้นร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูกหรือมีเลือดปน ท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้ เป็นต้น

องค์ประกอบทางเคมี: 

-สารที่พบ ได้แก่ น้ำมันระเหย 15% ในน้ำมันระเหยพบสาร Patchouli alcohol, Patchoulipyridine, Eugenol, Pinene, Cinnamic aldehyde, Pogostol, Methychavicol, Anethole, p-Methoxycinnamaldehyde เป็นต้น

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์นิวรามินิเดส ของเชื้อไข้หวัดใหญ่ การศึกษาฤทธิ์ของสารกลุ่ม polyphenolic glycosides ที่แยกได้จากส่วนเหนือดินของพิมเสนต้น ในการยับยั้งเอนไซม์ neuraminidase (NA) ของเชื้อไวรัส influenza A ที่เป็นสาเหตุในการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ เอ็นไซม์นิวรามินิเดส เป็นเอ็นไซม์ย่อยไกลโคโปรตีนบนผิวเซลล์ทำให้ไวรัสเป็นอิสระจากเซลล์ และไปจับกับเซลล์อื่น และแพร่เชื้อต่อไป ดังนั้นการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ชนิดนี้จะทำให้ไวรัสไข้หวัดใหญ่หยุดการแพร่กระจายไปยังเซลล์ข้างเคียง ผลการทดสอบโดยใช้ NA inhibitory screening kit พบว่าสาร octaketide ได้แก่ compound 2 (5, 7-dihydroxy-8-(2R)-2-methylbutan-1-onyl)-phenylacetic acid 7-O-β-D-glucopyranoside) แสดงฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์นิวรามินิเดสได้ โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 3.87 ±0.19 ไมโครโมล/มิลลิลิตร  ส่วน compound 4-[(2E)-3-(3,4-dihydroxyphenyl)-2-propenoate –D-glucopyranoside) (11), cistanoside F (12), crenatoside (14), isocrenatoside (15), isopedicularioside (19) และ pedicularioside G (20) มีค่า IC50 อยู่ในช่วง 2.12 ถึง 3.87  ไมโครโมล/มิลลิลิตร ซึ่งแสดงการออกฤทธิ์ในการยับยั้งได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่มีความแรงน้อยกว่ายามาตรฐาน zanamivir  2-4 เท่า  จึงสามารถนำไปออกแบบยาที่ใช้ในการต้านเอนไซม์ neuraminidase ได้ในอนาคต (Liu, et al., 2016)

-ฤทธิ์ยับยั้งการสร้างกรดยูริก ศึกษาผลของสารสกัดน้ำจากส่วนเหนือดินของพิมเสนต้นในการยับยั้งเอนไซม์ xanthine oxidase (XO) ซึ่งเป็นเอนไซม์สำคัญที่ใช้ในการสร้างกรดยูริก ถ้ามีปริมาณมากเกินไปกรดยูริกจะไปสะสมที่ข้อ ทำให้เกิดการอักเสบและเกิดโรคเกาต์ โดยเอนไซม์ XO จะเร่งปฏิกิริยาในการเกิดออกซิเดชันของ hypoxanthine ไปเป็น xanthine และทำให้เกิดกรดยูริกตามมา ผลการศึกษาพบว่าส่วนสกัดย่อย A3(100 µg/ml) ที่ได้จากสารสกัดน้ำของพิมเสนต้น มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ XO ในหลอดทดลองด้วยวิธีทางเคมี ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยยับยั้งได้ 58.16±0.88%  ค่า IC50 เท่ากับ 85.42±1.71 µg/ml และพบว่าสาร rosmarinic acid ที่แยกได้จากส่วนสกัดย่อย A3 ออกฤทธิ์แรงในการยับยั้งเอนไซม์ XO โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 8.53±0.91 µg/ml ซึ่งออกฤทธิ์ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน allopurinol (IC50เท่ากับ 10.26±1.10µg/ml) จากผลการศึกษาสารสกัดจากส่วนเหนือดินของพิมเสนต้นสามารถนำมาพัฒนาเพื่อใช้เป็นยาชนิดใหม่ในการรักษาโรคเกาต์ได้ (Liu, et al., 2017)

-ฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน การศึกษาฤทธิ์ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของสารบริสุทธิ์ patchouli alcohol (PA) ที่แยกได้จากสารสกัดเอทานอลจากส่วนเหนือดินพิมเสนต้นทดสอบโดยป้อนสารสกัดให้หนูถีบจักร (Kunming mice) ในขนาด 20, 40 และ 80 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จากนั้นติดตามการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในหนู  ผลการทดลองพบว่าการให้ PA ในขนาด 40 หรือ 80 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของขบวนการจับกินเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม (phagocytosis) ของแมคโครฟาจอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) การให้ PA  ขนาด  80  มิลลิกรัม/กิโลกรัม จะกระตุ้นการสร้าง IgM และ IgG ในกระแสเลือด (0.081 ± 0.010) และ (1.296 ± 0.120) ตามลำดับ  ในขณะที่กลุ่มควบคุม มีค่าเท่ากับ  0.069 ± 0.011 (p < 0.01) และ 1.180 ± 0.070 (p< 0.01) ตามลำดับ ซึ่ง IgM และ IgG จัดเป็น immunoglobulins ตัวหลัก ที่หลั่งออกมาเมื่อถูกกระตุ้นด้วยแอนติเจน ที่มีผลทำลายสิ่งแปลกปลอม เชื้อโรค สารพิษต่างๆในระบบภูมิคุ้มกัน การให้ PA  ขนาด  20  มิลลิกรัม/กิโลกรัม สามารถลดการเกิดภาวะภูมิไวเกิน ภายหลังได้รับแอนติเจนแล้ว 24-72 ชั่วโมง หรือ delayed type hypersensitivity (DTH) ที่เหนี่ยวนำให้หนูเกิดปฏิริยาการแพ้ด้วย 2, 4-dinitro-chlorobenzene (DNCB) ผลลดการเกิดภาวะภูมิไวเกิน (1.03±0.40 (p < 0.05) (เมื่อเปรียบเทียบกับหนูกลุ่มที่ได้รับเฉพาะ DNCB (1.67±0.84) ดังนั้นจึงสรุปว่าสาร PA ที่สกัดได้จากพิมเสนต้นมีฤทธิ์ในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ที่ออกฤทธิ์โดยกระตุ้นระบบฟาโกไซโตซิส, กระตุ้นระบบการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน (humoral immune response) และกดการตอบสนองต่อภาวะภูมิไวเกิน (Liao, et al., 2013)

-ฤทธิ์แก้ปวด และต้านการอักเสบ ศึกษาฤทธิ์แก้ปวด และต้านการอักเสบของสารสกัดจากส่วนเหนือดินของพิมเสนต้นด้วยเมทานอล ทดสอบฤทธิ์ต้านความเจ็บปวดในหนูถีบจักรด้วยการทดสอบ 2 วิธี ได้แก่ Writhing Test โดยการฉีดกรดอะซิติก เข้าทางช่องท้องหนู เพื่อเหนี่ยวนำให้หนูเกิดอาการเจ็บปวด และการทดสอบการปวดด้วยการฉีดสารฟอร์มาลิน (formalin-induced paw licking) ฤทธิ์ระงับการอักเสบทดสอบด้วยวิธี การฉีด λ-carrageenan (Carr) เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดการบวมที่อุ้งเท้าหนู โดยในทุกการทดสอบใช้ indomethacin ขนาด 10mg/kg ที่ให้โดยวิธีการป้อนทางปากแก่หนูเป็นสารมาตรฐาน ผลการทดสอบด้วยวิธี writhing พบว่าสารสกัดขนาด 1.0 g/kg ลดอาการปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.01) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม การทดสอบฤทธิ์ระงับอาการปวดด้วยวิธี Formalin Test พบว่าสารสกัดขนาด 0.5 และ 1.0 g/kg สามารถลดอาการปวดในระยะ late phase ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.001) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่ไม่มีผลระงับการปวดในระยะ early phase จากการทดสอบฤทธิ์ระงับปวดที่สัมพันธ์กับการอักเสบจากการฉีด λ-carrageenan (Carr) พบว่าสารสกัดเมทานอลทั้งสองขนาด สามารถลดการบวมที่อุ้งเท้าได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0 .05) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม และสารสกัดทั้งสองขนาด สามารถลดระดับของ malondialdehyde (ผลผลิตจากการเกิดลิปิดเปอร์ออกซิเดชัน) ในอุ้งเท้าที่มีการบวมได้ (P<0.001) และสามารถเพิ่มเอนไซม์ต้านออกซิเดชัน ได้แก่ superoxide dismutase(SOD), glutathione peroxidase(GPx) และ glutathione reductase(GRx) ในตับ (P <0.001) โดยสามารถเพิ่มระดับ GRx ได้มากกว่าสารมาตรฐาน และลดการทำงานของสารที่เกี่ยวข้องกับการเกิดการอักเสบได้แก่  cyclooxygenase 2(COX-2)  และ tumor necrosis factor-α(TNF-α) ในอุ้งเท้าที่มีการบวมได้ (P<0.05) โดยลดระดับ COX-2 ได้มากกว่าสารมาตรฐาน จากการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าสารสกัดเมทานอลจากส่วนเหนือดินของพิมเสนต้นสามารถลดอาการปวด และต้านการอักเสบได้ ผ่าน 2 กลไก ได้แก่ การลดปริมาณพรอสตาแกลนดิน โดยยับยั้งการทำงานของ COX-2และ TNF-α ทำให้การอักเสบ และการปวดลดลง และผ่านกลไกเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระได้แก่ SOD, GPx และ GRx จึงสามารถกำจัดอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นในระหว่างการอักเสบ ทำให้การบวมลดลง  (Lu, et al., 2011)

-ฤทธิ์ต้านการแพ้ การศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดน้ำจากพิมเสนต้น ต่อการต้านการแพ้ (anti-allergic) และต้านการอักเสบ (anti-inflammation) ในหนูถีบจักร โดยทำการฉีดสารสกัด (compound 48/80) ที่กระตุ้นให้เกิดการแพ้แบบ systemic anaphylaxis และฉีด IgE เข้าใต้ผิวหนังหนู  พบว่าสารสกัดน้ำจากพิมเสนต้น สามารถยับยั้งการหลั่งฮิสตามีนจาก mast cell ได้ กลไกเกี่ยวข้องกับการควบคุม Calcium influx นอกจากนี้สารสกัดยังสามารถยับยั้งการอักเสบที่เกิดจาก phorbol 12-myristate 13-acetate ร่วมกับ calcium ionophore A23187 (PMACI) กระตุ้นการอักเสบใน mast cell ได้ โดยผ่านกลไกการกระตุ้น NF-κB และ p38 mitogen-activated protein kinase (MAPK) ดังนั้นจากการศึกษานี้จึงแสดงว่าสารสกัดของพิมเสนต้นมีฤทธิ์ต่อการต้านการแพ้ และต้านการอักเสบได้ (Yoon, et al., 2016)

-ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเอทานอล และสารสกัดน้ำจากใบพิมเสนต้น พบว่าสารสกัดน้ำจากใบพิมเสนต้น มีปริมาณสารฟีนอลิคเทียบเท่ากับกรดแกลลิค เท่ากับ 116.88±0.48 mg GAE/g สูงกว่าสารสกัดเอทานอล ส่วนปริมาณสารฟลาโวนอยด์พบในสารสกัดเอทานอลมากกว่าสารสกัดน้ำ เท่ากับ 280.12±2.04 mg QE/g (คิดเป็นปริมาณเทียบเท่าสาร quercetin) ทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธีทางเคมีในหลอดทดลอง ด้วยวิธี 1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl (DPPH) scavenging assays และ 2,2-azino-bis[3-ethylbenz-thiazoline-6-sulphonate] (ABTS) scavenging assays พบว่าสารสกัดเอทานอลออกฤทธิ์ดีในการต้านอนุมูลอิสระ DPPH และ ABTS โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 18±0.90 และ 20±0.24 µg/mLตามลำดับ (สารมาตรฐาน BHT (butylated hydroxytoluene) มีค่า IC50 เท่ากับ 14±0.90 และ 4 ± 0.90 µg/mL ตามลำดับ สารมาตรฐาน trolox มีค่า IC50 เท่ากับ 5±0.90 และ 3±0.90 µg/mL ตามลำดับ) นอกจากนี้ สารสกัดเอทานอลยังสามารถยับยั้งไนตริกออกไซด์ และซูเปอร์ออกไซด์ ในการทดสอบในหลอดทดลองได้ ด้วยการทดสอบกับเซลล์แมคโครฟาจของหนู และวิธี Nitroblue Tetrazolium (NBT) Dye Reduction Assay ตามลำดับ ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลออกฤทธิ์ได้ในระดับปานกลาง โดยมีค่า IC50 ในการยับยั้งไนตริกออกไซด์ และซูเปอร์ออกไซด์ได้ เท่ากับ 144±4.90  และ 108±1.10µg/mL ตามลำดับ  (ความเข้มข้นที่ใช้ทดสอบ ไม่มีพิษต่อเซลล์ปกติ โดยเซลล์รอดชีวิตมากกว่า 70%) (Dechayont, et al., 2017)

-ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อจุลชีพ การทดสอบฤทธิ์ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อจุลชีพของสารสกัดน้ำ และสารสกัดเอทานอลจากใบพิมเสนต้น ทดสอบด้วยวิธี disc diffusion หาค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อ (MIC) และค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถฆ่าเชื้อ (MBC) พบว่าสารสกัดเอทานอล ในขนาด 5mg/disc มีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อ Staphylococcus aureus ที่ดื้อยา methicillin, เชื้อ Staphylococcus aureus ที่ไวต่อยา methicillin และ เชื้อ Streptococcus pyogenes ได้ดีที่สุด โดยมีขนาดของโซนใสในการยับยั้งเชื้อได้เท่ากับ 11.67±1.53, 10.33±2.52 และ 10.33±1.15 mm ตามลำดับ ค่า MIC เท่ากับ 5, 0.625 และ 0.039 mg/mL ตามลำดับ และค่า MBC ของเชื้อแต่ละชนิดมีค่าเท่ากับค่า MIC  เชื้อ S. aureus เป็นสาเหตุหลักของการติดเชื้อที่บาดแผล ฝี หนอง เป็นต้น เชื้อ S. pyogenes เป็นสาเหตุของโรคต่อมทอนซิลอักเสบ โรคไข้อีดำอีแดง การติดเชื้อที่ผิวหนังพุพอง การเกิดโรคไข้รูมาติก เป็นต้น จากผลการศึกษาสรุปได้ว่าสารสกัดจากใบพิมเสนต้นด้วยเอทานอลมีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อจุลชีพได้ (Dechayont, et al., 2017)

-ฤทธิ์รักษาสมดุลของเหลวในลำไส้ สารสกัดน้ำจากพิมเสนต้นมีผลในการรักษาสมดุลของสารน้ำและของเหลว ในเซลล์ของลำไส้เล็ก โดยการควบคุมระดับของ nitric oxide และ tumor necrosis factor ในเลือด จึงมีผลต่อกระเพาะอาหารและลำไส้ ในการป้องกันการบาดเจ็บ หรือการผ่าตัด (Swamy, et al., 2015)

-ฤทธิ์กระตุ้นการขับถ่าย การทดสอบฤทธิ์กระตุ้นการขับถ่าย และลดอาการท้องผูก โดยใช้น้ำมันหอมระเหยจากพิมเสนต้น ให้หนูถีบจักรสูดดม พบว่ากลิ่นหอมระเหยของพิมเสนต้น สามารถกระตุ้น olfactory neurotransmission systems ทำให้เกิดการกระตุ้นการขับถ่ายในหนูได้ โดยทำให้หนูมีการขับถ่ายเพิ่มขึ้น และน้ำหนักอุจจาระมากขึ้น (Swamy, et al., 2015)

-ฤทธิ์ต้านอาเจียน การทดสอบฤทธิ์ต้านอาเจียน ของสารสกัดพิมเสนต้น ที่สกัดด้วยเฮกเซน คลอโรฟอร์ม และเมทานอล โดยการป้อนให้ไก่ เพศผู้ อายุ 4 วัน ในขนาด 300 mg/kg ไก่ถูกกระตุ้นให้อาเจียนด้วย  copper sulfate ทำการป้อนสารสกัด หลังจากนั้น 10 นาที จึงให้สารกระตุ้นให้อาเจียน พบว่าสารสกัดเฮกเซน คลอโรฟอร์ม และเมทานอล มีฤทธิ์ต้านอาเจียนได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยมีค่าการยับยั้งเท่ากับ 58.6, 34.4  และ 31.5% ตามลำดับ สารสกัดเฮกเซนออกฤทธิ์ได้ดีที่สุด จึงทำการแยกสารบริสุทธิ์จากสารสกัดเฮกเซน ได้สารบริสุทธิ์จำนวน 5 ชนิด ได้แก่ patchouli alcohol(1), pogostol (2), stigmast-4-en-3-one (3), retusin (4) และ pachypodol (5) ผลทดสอบฤทธิ์ต้านอาเจียนพบว่า สารที่มีฤทธิ์ต้านอาเจียนได้อย่างมีนัยสำคัญได้แก่ สาร (1) ในขนาด 50 และ 70 mg/kg ยับยั้งได้ 40.0 และ 57.7% สาร (2) ในขนาด 10, 20 และ 50 mg/kg ยับยั้งได้ 39.3, 42.3 และ 43.2% สาร (3) และ (5) ขนาด 50 mg/kg ยับยั้งได้ 55.7 และ 50.5%  สาร (4) ในขนาด 20 และ 50 mg/kg ยับยั้งได้ 28.9 และ 45.6% ตามลำดับ (Yang, et al., 1999)

การศึกษาทางพิษวิทยา: -

การใช้ประโยชน์:

-ใบสด นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดประจำเดือน เป็นยาขับประจำเดือน หรือประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ

-กิ่งและใบแห้ง เมื่อนำมาใส่ไว้ในตู้เสื้อผ้าจะช่วยทำให้มีกลิ่นหอมและช่วยป้องกันแมลงมากัดเสื้อผ้าได้

-ใบ มีกลิ่นหอมใช้กลั่นทำน้ำหอมได้ และยังใช้เป็นสารช่วยให้น้ำหอมมีกลิ่นติดทนดีและนาน

-ยาชงจากยอดแห้งและรากแห้ง ใช้ดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะติดขัด

-น้ำพิมเสน ที่ได้จากการกลั่นกิ่งและใบจากต้นพิมเสนต้นหรือที่เรียกว่า น้ำมันแพทชูลี (Patchouli oil) นิยมนำมาใช้ปรุงเป็นน้ำหอม ใช้แต่งกลิ่นสบู่ ใช้ผสมกับน้ำอาบเพื่อช่วยระงับกลิ่นตัว โบราณใช้ในการแต่งกลิ่นขี้ผึ้งสีปาก







ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง