Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: ชุมเห็ดไทย (ชุมเห็ดเล็ก)

ชื่อท้องถิ่น: ชุมเห็ดควาย ชุมเห็ดเขาควาย ชุมเห็ดนา ชุมเห็ดเล็ก เล็บมื่นน้อย เล็บมื้น (ภาคกลาง)/ พรมดาน พราดาน (สุโขทัย)/ หญ้าลึกลืน หญ้าลักลืน (ปราจีนบุรี)/ เล็นเค็ด (มหาสารคาม)/ เล็บหมื่นน้อย ลับมืนน้อย เล็บมื่นน้อย (ภาคเหนือ)/ กิเกีย หน่อปะหน่าเหน่อ หน่อปะหน่ำเหน่อ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)/ ก๊วกเม้ง เอียฮวยแซ (จีน)/ เจี๋ยหมิงจื่อ (จีนกลาง)

ชื่อสามัญ: Foetid cassia, Sickle senna

ชื่อวิทยาศาสตร์: Senna tora (L.) Roxb.

ชื่อวงศ์: FABACEAE-LEGUMINOSAE และอยู่ในวงศ์ย่อย CAESALPINIOIDEAE-CAESALPINIACEAE 

สกุล: Senna 

สปีชีส์: tora

ชื่อพ้อง: -

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ชุมเห็ดไทย thai-herbs.thdata.co | ชุมเห็ดไทย สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นชุมเห็ดไทย จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีอายุราว 1 ปี ต้นมีความสูงประมาณ 0.3-1.3 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นประมาณ 12.3-17.4 มิลลิเมตร ลำต้นเป็นสีเขียวอมสีน้ำตาลแดง ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามาก เป็นทรงพุ่ม ตามลำต้นและกิ่งก้านมีขนอ่อนปกคลุมอยู่เต็มไปหมด 


ชุมเห็ดไทย thai-herbs.thdata.co | ชุมเห็ดไทย สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 คู่ ตรงกลางใบย่อยที่ติดเชื่อมกันนั้นจะพบว่ามีตุ่มตารองน้ำ 1 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบมนและมีติ่งหนาม โคนใบแหลม ส่วนขอบใบมีรอยหยักแบบขนครุย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.19-2.69 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4.27-5.17 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบเรียบเนียนไม่มีขน ท้องใบมีขนละเอียดอ่อนนุ่มปกคลุมอยู่หนาแน่น ใบมีกลิ่นฉุนเล็กน้อย ก้านใบมีร่องลึก ก้านใบยาวประมาณ 2.71-3.99 เซนติเมตร ไม่มีขน มีหูใบแบบเข็มแหลมสีเขียว 2 อัน ยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร


ชุมเห็ดไทย thai-herbs.thdata.co | ชุมเห็ดไทย สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 2.71-4.03 เซนติเมตร ในช่อหนึ่งจะมีดอกประมาณ 2-4 ดอก ดอกเป็นสีเหลืองสด มีกลีบดอก 5 ดอก และมีกลีบเลี้ยงสีเขียวอีก 5 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 10 ก้าน และมีรังไข่เป็นเส้นยาวงอโค้งเล็กน้อยและมีขนปกคลุม ส่วนปลายเกสรเพศเมียจะเป็นตุ่มสั้น ๆ ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 1 เซนติเมตร มีขนปกคลุม

ผล ลักษณะเป็นฝักยาวโค้งเล็กน้อย ฝักจะแบนทั้งสองด้าน ฝักมีความยาวประมาณ 15-24 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-6 มิลลิเมตร และปกคลุมไปด้วยขนอ่อนนุ่มสั้น ๆ ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 20-30 เมล็ด 


ชุมเห็ดไทย thai-herbs.thdata.co | ชุมเห็ดไทย สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

เมล็ด ลักษณะแข็งและแบน หน้าตัดเฉียงเป็นรูปสีเหลี่ยมขนมเปียกปูน มองเห็นเหมือนเป็นจะงอยอีกด้านหนึ่งของเมล็ด เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 3-6 มิลลิเมตร เป็นสีน้ำตาลเหลือง สีน้ำตาล หรือสีเขียวอมเทา ผิวเมล็ดเรียบ เงาเป็นมัน เมล็ดมีรสชาติขมเมา มีกลิ่นเฉพาะตัว หอมเล็กน้อย

สภาพนิเวศวิทยา: พบขึ้นเองตามริมคลอง ตามที่รกร้าง หรือตามริมทางทั่วไป

ถิ่นกำเนิด: -

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*เมล็ด คั่วให้เกรียม ตำผง ชงน้ำร้อนเหมือนกาแฟ รสขมหอมเล็กน้อย     สรรพคุณ บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น ทำให้นอนหลับ แก้กระษัย ขับปัสสาวะ

*ใช้ทั้ง 5 รสขมเบื่อ สรรพคุณ แก้ไข้ ขับพยาธิในท้องเด็ก

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ทั้งต้น พบสาร glucose, Myricyl alcohol, -mannitol, -sitosterol, tannins และมีเถ้าทั้งหมดประมาณ 10.5%

-ราก พบสาร leucopelargonidin-3-O-α-l-rhamonpyranoside 1,3,5-trihydroxy-6,7- dimethoxy-2-methyanthrauinone, -sitosterol และ myricyl alcohol

-ใบ พบสาร Sennosides รวมทั้งหมด 0.14%, chrysophanic acid, emodin, kaenpferol-3-diglucoside, rhein caboxylic derivatives 0.11%, 1, 68, -trihydroxy-3 methyl anthraquinone

-ดอก พบสาร Kaempferol glycoside

-เมล็ด พบสารในกลุ่ม anthraquinone glycoside เช่น alaternin, aloe-emodin, aloe-emodin monoglucoside, aurantio-obtusin, cassiaside, chrysophanol, chrysophanol anthrone, chruysophanol anthrone, chryso-obrusin, chryso-obtusin 1-desmethylchryso-obtusin, chrysophanic acid-9-anthrone, emodin, emodin anthronophanol-l-l-β-gentionbioside aurantio-obtusinnorrubrofusarin glucoaerantion-obrusin, emodin chrysarobin, emodin glycoside chrysophanic acid-9-anthrone chryhydroxyanthracene derivatives, gluco-obtusifolin, obtusin 1-desmethylaurantio-obtusin, obtusin rubrofusarin, nor-Rubaofurasin, physcion diglucoside, physicone, toralactone, toralactone β-sitosterol, torachryson, torachrysone, rhein, rubrofusarin-gentiobioside, rubrofusarin-6-β-gentiobioside, วิตามินเอ, โปรตีน, ไขมัน และน้ำมัน 

-น้ำมันจากเมล็ด พบสาร linoleic acid, oleic acid, palmitic acid, stearic acid

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ สารสกัดใบชุมเห็ดไทยด้วยเมทานอลเมื่อนำมาทดสอบกับการบีบตัวของลำไส้เล็กพบว่า มีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบลำไส้เล็กส่วนปลาย (ileum) ของหนูตะเภา และลำไส้เล็กส่วนกลาง (jejunum) ของกระต่าย

-ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย สารสกัดใบและเมล็ดชุมเห็ดไทย ด้วยไดเอทิลอีเทอร์ อะซิโตน เอทิลแอลกอฮอล์ และน้ำ เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Escherichia coli, Bacillus subtilis พบว่าสารสกัดใบชุมเห็ดไทยไม่สามารถต้านเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวได้ ในขณะที่สารสกัดเมล็ดชุมเห็ดไทยสามารถต้านเชื้อ B. Subtilis ได้ปานกลาง แต่ไม่มีผลต่อเชื้อ E. Coli (10) สารสกัดน้ำของใบชุมเห็ดไทยความเข้มข้น 200 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย E. Coli พบว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อดังกล่าวได้เล็กน้อย เมื่อเทียบกับยาปฏิชีวนะ gentimicin 200 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร สารสกัดน้ำเมล็ดชุมเห็ดไทย เมื่อนำมาทดสอบกับเชื้อ E. coli ที่เป็นสาเหตุให้ลูกหมูท้องเสีย ในจานเพาะเลี้ยงเชื้อ พบว่าสามารถยับยั้งเชื้อดังกล่าวได้โดยใช้ความเข้มข้นมากกว่า 20.8 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร สาร quinizarin จากเมล็ดชุมเห็ดไทย ความเข้มข้น 1 มิลลิกรัม/แผ่น มีฤทธิ์ยับยั้งอย่างแรงต่อเชื้อแบคทีเรีย Clostridium perfringens ที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียเนื่องจากอาหารเป็นพิษ แต่ไม่มีผลต่อเชื้อแบคทีเรีย Bifidobacterium adolescentis, B. bifidum, B. longum และ Lactobacillus casei ที่อยู่ในลำไส้ของคน

-ฤทธิ์ต้านเชื้อรา สารสกัดหยาบของใบชุมเห็ดไทยด้วยเมทานอล เมื่อนำมาทดสอบ ฤทธิ์ต้านเชื้อรา 3 ชนิด ที่ก่อให้เกิดโรคผิวหนัง Microsporum gypseum, Trichophyton rubrum และ Penicillium marneffei พบว่าความเข้มข้นที่ยับยั้งการเจริญของเส้นใยราได้ 50% (IC50) เท่ากับ 1.8, 1.2, 1.8 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ และค่า IC50 ต่อการงอกของ macrocondia ของเชื้อ M. gypseum มีค่าเท่ากับ 4.1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ซึ่งจากการศึกษาด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิดส่องกราด พบว่าสารสกัดใบชุมเห็ดไทยทำให้เส้นใยรา และ macrocondia มีลักษณะผิดปกติ หดตัว และเหี่ยวย่น สารสกัดใบชุมเห็ดไทยด้วย 90% เมทานอล ความเข้มข้น 100, 200, 300 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร พบว่าสารสกัดดังกล่าวสามารถต้านเชื้อรา T.mentagophytes ที่ทำให้เกิดโรคกลาก เกลื้อน โดยยับยั้งการสร้างสปอร์ของเชื้อดังกล่าวได้ เท่ากับ 68.40 ± 9.4, 73.90 ± 9.8, 88.50 ± 9.7 % เมื่อเทียบกับยามาตรฐาน griseofulvin 1,000 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ที่สามารถยับยั้งการสร้างสปอร์ของเชื้อราได้ 87.55 ± 10.5 % ซึ่งจะเห็นได้ว่าสารสกัดใบชุมเห็ดไทยที่ความเข้มข้น 300 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ให้ผลดีที่สุด

สารสกัดชุมเห็ดไทยด้วยคลอโรฟอร์ม ความเข้มข้น 100 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สารแอนทราควิโนนกลัยโคไซด์ สามารถต้านเชื้อรา T. Mentagophytes, T. granulosum , T.rubrum และ M. gypseum ได้ แต่ไม่มีผลต่อเชื้อ Epidermophyton floccosum

-ฤทธิ์ต้านยีสต์ สารสกัดใบชุมเห็ดไทยด้วย 90% เมทานอล ความเข้มข้น 100, 200, 300 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร พบว่าสารสกัดดังกล่าวสามารถต้านยีสต์ Candida albicans ได้ เท่ากับ 78.23 ± 10.5, 87.52 ± 9.4, 95.30 ± 11.2 % เมื่อเทียบกับยามาตรฐาน griseofulvin 1,000 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ที่สามารถยับยั้งการสร้างสปอร์ได้ 96.70 ± 8.9 % ซึ่งจะเห็นได้ว่าสารสกัดใบชุมเห็ดไทยที่ความเข้มข้น 300 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ให้ผลดีที่สุด (15) แต่สารสกัดชุมเห็ดไทยด้วยคลอโรฟอร์ม ความเข้มข้น 100 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ไม่สามารถต้านเชื้อ C. albicans ได้

-ฤทธิ์ลดความดันเลือด เมล็ดสกัดด้วยน้ำหรือแอลกอฮอล์ สารที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ลดความดันเลือดสุนัข แมว และกระต่ายที่ทำให้สลบสารสกัดด้วยน้ำ มีฤทธิ์ลดความดันเลือดกระต่ายทดลองที่ทำให้สลบไม่เด่นชัดนัก ถ้าใช้ทิงเจอร์จากเมล็ดนี้ 5 มล.จะเห็นผลเด่นชัด และออกฤทธิ์ได้นานกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้สารสกัดด้วยแอลกกอฮอล์ 5 มล.ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ความดันเลือดจะลดลงเร็วกว่า แต่มีฤทธิ์สั้น ในเวลาไม่นานนักความดันเลือดก็จะกลับคืนสู่ระดับเดิม นอกจากนี้ยังทำให้หลอดเลือดของสัตว์ทดลองหดตัวและกดหัวใจคางคกที่แยกออกจากตัว ถ้าใช้เมล็ดจำนวนน้อย( 2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กก.)ต้มน้ำให้กินทุกวัน จะไม่มีผลลดความดันเลือด

ในประเทศจีนมีการศึกษาทางคลินิกของชุมเห็ดไทย โดยใช้ลดความดันเลือดและระดับคลอเรสเตอรอลในเลือด จากคนไข้ 100 คนก่อนการรักษามีระดับ sterol ในซีรั่มอยู่ระหว่าง 482-210 มก.% (เฉลี่ย 246.91 มก.%)หลังการรักษาระดับ sterol ในซีรั่มอยู่ระหว่าง 110-208 มก.% ( โดยเฉลี่ยระดับ sterol ลดลง 87.9 มก.%) คนไข้ส่วนใหญ่หลังจากใช้ยานี้แล้ว 2 อาทิตย์ จำนวน 85 % ของคนไข้มีความดันเลือดลดลงเป็นปกติ และหลังจากใช้ยานี้ต่อไปอีก 2 อาทิตย์จำนวนคนไข้ที่มีความดันเลือดลดลงเป็นปกติเพิ่มขึ้น รวมทั้งหมดเป็น 96 % ของจำนวนคนไข้ หากใช้ยานี้เป็นประจำ สามารถลดความดันเลือดของคนไข้ลงสู่ระดับปกติได้ผลถึง 98% ของจำนวนคนไข้ จากการติดตามผลของคนไข้ที่ใช้ยานี้เป็นประจำ 5 ราย แต่มีเหตุต้องหยุดยา ระดับ sterol ในซีรั่มของถุงน้ำดีค่อยๆ เพิ่มขึ้น เมื่อให้กินยานี้ต่อไป ระดับ sterol ในซีรั่มของถุงน้ำดีจะลดลง แสดงว่ายานี้สามารถลดระดับ sterol ในซีรั่มของถุงน้ำดีเป็นการชั่วคราวเท่านั้น ถ้าจะให้สรุปผลของยานี้ให้แน่นอน ควรรักษาติดต่อไปนานกว่านี้ และอาการข้างเคียงที่ปรากฏคือ จำนวน 85 % ของคนไข้ หลังจากการกินยานี้แล้ว มีอาการวิงเวียน ปวดหัว และอ่อนเพลีย จำนวน 9 % ของคนไข้มีอาการท้องอืดแน่น ท้องเสีย และใจคอไม่สบาย แต่เมื่อใช้ต่อไปอาการต่างๆก็จะหายไปเอง สารสกัดเอทานอลจากเมล็ด ลดระดับ total cholesterol ได้ 42.07% และเพิ่มระดับ HDL ได้ 6.72% ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ได้ 26.84% และลดระดับ LDL ได้ 69.25%

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-การทดสอบความเป็นพิษ สารสกัดใบชุมเห็ดไทย ขนาด 10, 100, 1,000, 1,500 และ 2,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เมื่อป้อนหรือฉีดเข้าทางช่องท้องหนูเม้าส์ ไม่พบอาการผิดปกติใดๆภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อฉีดสารสกัดเมล็ดด้วยแอลกอฮอล์ 50% เข้าช่องท้องของหนูเม้าส์ พบว่ามีพิษสูงมาก เมื่อผสมสารสกัดจากเมล็ดแห้งในอาหารให้หนูกิน พบว่าทำให้น้ำหนักตัวลด ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ สารสกัดจากเมล็ดด้วยน้ำและเมทานอล (100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร) ไม่มีผลต่อการก่อกลายพันธุ์ของ Bacillus subtilis และ S. typphimurium สาย TA 98 และTA 100

การใช้ประโยชน์:

-ใบอ่อนสามารถนำมาต้มจิ้มรับประทานกับน้ำพริก หรือใช้ทำแกงเลียง แกงไตปลาได้ โดยส่วนของใบรวมก้านใบจะมี โปรตีน 13.29%, เส้นใยอาหาร 22.2%, ไขมัน 1.69%, คาร์โบไฮเดรต 48.54%, เถ้า 14.28%, เส้นใย ADF 24.51%, NDF 36.41% และลิกนิน 4.45%

-ยอดอ่อนและใบ เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ตามธรรมชาติ สำหรับสัตว์แทะเล็มอย่างโคหรือกระบือ

-เมล็ด ให้สีน้ำเงินที่ใช้สำหรับการย้อมผ้า

-ใช้เมล็ดแห้งร่วมกับดอกเบญจมาศสวนแห้งอย่างละ 90 กรัม รักษาอาการเยื่อตาอักเสบเรื้อรัง ถ้าเป็นสัตว์ใหญ่ให้กินครั้งเดียวหมด หากเป็นสัตว์เล็กให้กินลดลงไปตามสัดส่วน

-ใช้เมล็ดแห้ง 180 กรัมนำมาบดเป็นผงผสมกับน้ำ รักษาอาการท้องผูกถ้าเป็นสัตว์ใหญ่ให้กินครั้งเดียวหมด หากเป็นสัตว์เล็กให้กินลดลงไปตามสัดส่วน



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง