Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: มะเกลือ

ชื่อท้องถิ่น: มักเกลือ (เขมร-ตราด)/ มักเกลือ หมักเกลือ มะเกลือ (ตราด)/ ผีเผา ผีผา (ฉาน-ภาคเหนือ)/ มะเกือ มะเกีย (ภาคเหนือ)/ เกลือ (ภาคใต้)/ มะเกลื้อ (ทั่วไป)

ชื่อสามัญ: Ebony tree

ชื่อวิทยาศาสตร์: Diospyros mollis Griff.

ชื่อวงศ์: EBENACEAE

สกุล: Diospyros 

สปีชีส์: mollis

ชื่อพ้อง: -

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

มะเกลือ thai-herbs.thdata.co | มะเกลือ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย มะเกลือ thai-herbs.thdata.co | มะเกลือ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นมะเกลือ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 10-30 เมตร มีเรือนยอดเป็นพุ่ม ลำต้นเปลา ที่โคนต้นมักขึ้นเป็นพูพอน ที่ผิวเปลือกเป็นรอยแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ตามยาว สีดำ เปลือกด้านในมีสีเหลือง ส่วนกระพี้มีสีขาว แก่นมีสีดำสนิท เนื้อมีความละเอียดเป็นมันสวยงาม ที่กิ่งอ่อนมีขนนุ่มขึ้นอยู่ประปราย 


มะเกลือ thai-herbs.thdata.co | มะเกลือ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยวขนาดเล็ก ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรี เรียงแบบสลับ โคนใบกลมหรือมน ปลายใบสอบเข้าหากัน ผิวใบเกลี้ยง ใบกว้างประมาณ 3.5-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 9-10 เซนติเมตร ใบอ่อนจะมีขนปกคลุมอยู่ทั้งสองด้าน


มะเกลือ thai-herbs.thdata.co | มะเกลือ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศต่างต้นกัน ดอกตัวผู้จะมีขนาดเล็ด สีเหลืองอ่อน ในหนึ่งช่อจะมีอยู่ 3 ดอก ส่วนดอกตัวเมียจะเป็นดอกเดี่ยว ลักษณะของดอกเหมือนกัน คือ กลีบรองดอกจะยาวประมาณ 0.1-0.2 เซนติเมตร ที่โคนกลีบดอกจะเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายกลีบดอกจะแยกเป็น 4 กลีบ มีสีเหลือง เรียงเวียนซ้อนทับกัน ที่กลางดอกจะมีเกสร


มะเกลือ thai-herbs.thdata.co | มะเกลือ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะของผลกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ผิวเรียบเกลี้ยง ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลือง ส่วนผลแก่เป็นสีดำ ผลเมื่อแก่จัดจะแห้ง ที่ผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่บนผล 4 กลีบ ผลจะแก่ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม ในผลมีเมล็ดแบนสีเหลืองประมาณ 4-5 เมล็ด มีขนาดกว้างประมาณ 0.5-0.7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร

สภาพนิเวศวิทยา: พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณแล้งทั่วไป ที่ความสูงประมาณ 500 เมตร จากระดับน้ำทะเล

ถิ่นกำเนิด: เแอฟริกาตะวันออกเขตร้อน

การกระจายพันธุ์: กัมพูชา ลาว พม่า ไทย

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ผล รสเบื่อเมา สรรพคุณ ตำคั้นเอาน้ำประมาณ 2 ช้อนโต๊ะผสมหัวกะทิหรือนมสด รับประทานขับพยาธิตัวตืด พยาธิไส้เดือน ได้ผลดี

องค์ประกอบทางเคมี: 

-พบสาร diospyrol diglucoside ซึ่งเป็นสารฟีนอลิค ในกลุ่ม naphthalene เนื่องจากโครงสร้างของ diospyrol คล้ายคลึงกับสาร napthol ซึ่งเป็นสารมีพิษต่อประสาทตา การกินมะเกลือมากเกินไป หรือหากสารถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดการอักเสบของเรตินาได้

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ขับพยาธิผลมะเกลือมีฤทธิ์ขับพยาธิตัวกลม (Toxicara canis) และ พยาธิปากขอ (Ancyclostomacanium) ในสุนัข แต่สารสกัดไม่ให้ผลต่อพยาธิทั้ง 2 และผลมะเกลือสด ในขนาด 1.9 กรัม/กิโลกรัม ไม่ให้ผลไม่สามารถขับพยาธิใบไม้ในเลือด (Schistosoma masoni) และ ตืดแคระ (Hymenolepus nana) ในหนูเม้าส์ แต่ในการทดลองให้น้ำคั้นผลมะเกลือสดแก่สุนัข จำนวน 80 มิลลิลิตร โดยให้ทางท่อสอดถึงกระเพาะอาหาร พบว่าถ้าใช้มะเกลือชนิดผลแบนใหญ่สีเขียวนวล สามารถขับพยาธิปากขอได้ร้อยละ 61.9 – 100 ถ้าใช้มะเกลือชนิดผลกลมเล็กสีเขียว จะขับพยาธิปากขอได้ร้อยละ 58.2 – 67.5 โดยมีผลขับพยาธิปากขอในสุนัข (Ancylostoma canium) ได้มากกว่าพยาธิปากขอในแมว ( A. ceylanicum) และเมื่อศึกษาประสิทธิภาพของมะเกลือในการทำลายไข่พยาธิ โดยผสมอุจจาระกับมะเกลือนาน 3, 24 และ 48 ชั่วโมง จะทำให้การเจริญของไข่จนเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อลดลง มีผู้ทดลองนำเอาสารสกัดซึ่งเป็นอนุพันธุ์อะซีเตรตไปทดลองในสุนัข พบว่าได้ผลดีกับพยาธิปากขอในสุนัข (Ancyclostoma canium), ตืดปลา (Diphyllobothrium latum), ตืดสุนัข (Dipyridium canium), พยาธิแซ่ม้าในสุนัข (Trichurisvulpis)

-การศึกษาทางคลินิกมีรายงานว่า สารสกัดจากมะเกลือที่ใช้รักษาคนไข้ สามารถฆ่าพยาธิตัวตืด และพยาธิไส้เดือนได้ดี Sadun และ Vajrasthira ได้รวบรวมรายงานการใช้มะเกลือปี พ.ศ. 2477-2478 ซึ่งมีรายงานการรักษาคนไข้โรคพยาธิปากขอ ของโรงพยาบาลศิริราช พบว่าให้ผลดี และยังรายงานผลการรักษาคนไข้ 63 คน โดยใช้น้ำคั้นจากผลสด 4,380 กรัม ผสมกับน้ำมะพร้าว 3,000มิลลิลิตร ซึ่งขนาดที่ใช้ขึ้นกับอายุ ในอัตรา 3 มิลลิตร/อายุ 1 ปี ขนาดที่ใช้สูงสุดคือ 75 มิลลิลิตร พบว่า 6 วัน หลังการให้ยาครั้งแรก พบว่าไข่พยาธิลดลงในคนไข้ 9 คน และพบพยาธิลดลงจากการตรวจด้วยวิธี Willis ในคนไข้ 22 คน นอกจากนี้มีรายงานการรักษาเด็กที่เป็นพยาธิปากขอ ในโรงเรียน 40 แห่ง พบว่าน้ำคั้นผลสดผสมน้ำมะพร้าว สามารถรักษาพยาธิปากขอได้ดีกว่าพยาธิไส้เดือน (Ascaris lumbricodes)และพยาธิแซ่ม้า (Trichuris trichicura) และได้ผลดีกว่ารักษาด้วย hexylresorcinol พบผลข้างเคียงเล็กน้อยกับคนไข้ไม่กี่ราย คือ คลื่นไส้ อาการอาเจียน และท้องเสีย

-การทดลองนำผงที่สกัดมาทดลองให้เด็กและผู้ใหญ่ รับประทานในขนาด 2-4 กรัม พบว่าสามารถฆ่าพยาธิปากขอ พยาธิตัวตืด พยาธิเส้นด้าย และพยาธิตัวกลมได้ (นายแพทย์เวก เนตรวิเศษ, 2481 )

-การทดลองรักษาด้วยตะกอนที่เกิดจากการใส่กรดอะซีติกลงในสารสกัดแอลกอฮอล์ ในคนไข้ 50 คน ซึ่งมีพยาธิชนิดต่าง ๆ ขนาดที่ให้ในผู้ใหญ่คือ 2-4 กรัม และในเด็ก 0.1 กรัม/อายุ 1 ปี พบว่าหลังการรักษาไม่พบไข่พยาธิปากขอทั้งชนิด Ancylostomaduodenale และ Necatoramericanus ในอุจจาระคนไข้ และได้ผลอย่างดีในคนไข้ 6 คน ที่เป็นพยาธิไส้เดือน (Ascarislumbricodes), พยาธิเข็มหมุด (Enterobius vermicularis), พยาธิเส้นด้าย (Strongloides steroralis), พยาธิใบไม้ (Fasciolopis buski) รวมทั้งพยาธิตัวแบน 2 ชนิด คือตือวัว(Taeniasaginata)และตืดหมู(T.solium) (นายแพทย์มงคล โมกขะสมิต)

-การทดลองประสิทธิภาพของสารสกัดจากผลมะเกลือสดด้วยแอลกอฮอล์ ในการรักษาคนไข้โรคพยาธิปากขอ โดยใช้ขนาดรักษา 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หลังอาหารเช้า 10 ชั่วโมง เปรียบเทียบกับการใช้ tetracholrethylene ในขนาดรักษา 0.1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่าสารสกัด สามารถลดจำนวนไข่ได้ร้อยละ 93.9 + 3.3 ส่วน tetracholrethylene ลดได้ร้อยละ 98.8 +1.2อัตราการรักษาคิดเป็นร้อยละ 50.0% และ 77.3 ตามลำดับ และพบผลข้างเคียงในกลุ่มคนไข้ที่ทำการรักษา คือ คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน และปวดท้อง (8) น้ำคั้นจากผลมะเกลือผสมน้ำปูนใสให้ผลการรักษาที่ดีในคนไข้ที่เป็นพยาธิปากขอ ผลอ่อนให้ผลดีกว่าผลแก่ แต่วิธีการนี้ไม่ควรทำแม้สารสกัดจะมีรสหวานขึ้น เนื่องจากด่างจะทำให้สารสำคัญเปลี่ยนแปลงไปอยู่ในรูปที่ดูดซึมง่ายอาจทำให้ตาบอดได้ (แพทย์หญิงเจริญศรี และคณะ)

-กระทรวงสาธารณสุขมีรายงานการใช้สารสกัดผลมะเกลือด้วยแอลกอฮอล์ในขนาด 50มิลลิกรัม/กิโลกรัม รักษาพยาธิปากขอ พยาธิไส้เดือน พยาธิแส้ม้า โดยเปรียบเทียบกับ mebendazole ขนาด 2.0 มิลลิกรัม เป็นเวลา 3 วัน พบว่าสารสกัดให้ผลดีกับพยาธิปากขอ แต่ให้ผลรักษาไม่ดีนักกับพยาธิไส้เดือนและพยาธิแส้ม้า สารสกัดทำให้ไข่ลดลงร้อยละ 57.3 ถึง 85.4 ส่วนอัตราการรักษาร้อยละ 23.6-29.0 ส่วน mebendazole ทำให้จำนวนไข่ลดร้อยละ 86.6 สำหรับพยาธิปากขอร้อยละ 98.1 สำหรับพยาธิไส้เดือน และร้อยละ 77.4 สำหรับพยาธิแส้ม้า อัตราการรักษาร้อยละ 32.4, 92.0 และ 79.6 ตามลำดับ

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-การทดสอบความเป็นพิษ นายแพทย์มนัสวีร์ อุณหนันท์ และคณะ ได้ทดลองศึกษาพิษของมะเกลือ โดยการทดลองในหนูแรท หนูเม้าส์ และ กระต่าย พบว่าเมื่อให้สัตว์ทดลองกินมะเกลือ ในขนาด 16 เท่า ของขนาดที่ได้ผลในคน คิดเป็นน้ำหนักผงมะเกลือที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ 800 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือ น้ำหนักผลมะเกลือสด 40 กรัม /กิโลกรัม ไม่พบพิษเฉียบพลัน ในสัตว์ทดลองทุกชนิดที่ศึกษา การศึกษาขนาดสารสกัดต่าง ๆ ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) พบว่าสารสกัดด้วยน้ำใหม่ ๆ มี LD50น้อยที่สุดคือ 64 เท่าของขนาดในคนในขณะที่สารสกัดซึ่งเปลี่ยนสีไปเป็นสีเหลืองเทาหรือดำจะมีพิษน้อยกว่า ผู้วิจัยกลุ่มนี้ยังได้ทำการทดลองความเป็นพิษกึ่งเรื้อรัง (subchronic toxicity) โดยทดลองในกระต่าย 128 ตัว พบว่าขนาดต่างๆไม่ทำให้สัตว์ทดลองตาย แต่ในขนาดสูงมากๆ อาจตายได้ และพวกที่กรอกด้วยมะเกลือผสมกะทิสัตว์ทดลองตายมากที่สุด

-การศึกษาทางพยาธิวิทยา เมื่อให้มะเกลือ 20 เท่า ของขนาดที่ใช้ในคน ไม่พบอาการผิดปกติของอวัยวะใด โดยเฉพาะที่ตา และสมอง การตรวจนี้ทำหลังจากให้มะเกลือแล้ว 14 วันผู้วิจัยกลุ่มเดียวกันนี้ได้ทำการทดลองต่อไปถึงพิษของน้ำคั้นมะเกลือผสมกะทิ พบว่าเมื่อให้ในขนาด 5 และ 10 เท่าของขนาดที่ใช้ในคน พบว่าสัตว์ทดลองตาย แต่ยาเตรียมแบบอื่นปลอดภัย ไม่พบอันตรายอื่น นอกจากท้องเสีย น้ำหนักลด และปัสสาวะขุ่น การศึกษาต่อไปเพื่อเปรียบเทียบน้ำคั้นมะเกลือกับกะทิ และน้ำคั้นมะเกลือกับน้ำ พบว่าทำให้กระต่ายท้องเสียอยู่ประมาณ 1-3 วัน ผลการตรวจเลือดพบว่า ระดับยูเรีย ไนโตรเจน (BUN) และ โคเลสเตอรอล สูงขึ้น ส่วนระดับครีเอตินิน แอลบูมิน กลอบบิวลิน แอลบูมิน ฟอสฟาเตส และ แทรนซามิเนส เปลี่ยนแปลง การตรวจพยาธิสภาพ พบว่าผนังท่อไต มีสีน้ำตาลติดอยู่ ส่วนตา และประสาทตา ไม่พบอาการผิดปกติ ในช่วงเวลาหลังให้มะเกลือ 3 วัน และ 7 วัน น้ำกะทิ ไม่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์แต่อย่างใด

-การศึกษาพิษของมะเกลือในหนูแรท โดยใช้น้ำคั้นมะเกลือที่เตรียมโดยวิธีต่างๆ เช่น คั้นสดๆ และต้มจนเกิดการอ๊อกซิไดซ์ และใช้มะเกลือที่ถูกอ๊อกซิไดซ์แล้ว พบว่าไม่เกิดพิษต่อประสาทตาในหนูขาว อาการข้างเคียงที่พบ คือ คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว อาการซึม ได้มีผู้ศึกษาผลของยาเตรียม 3 ชนิด คือ น้ำคั้นกับน้ำปูนใส และน้ำคั้นผลสด และน้ำคั้นผลที่เปลี่ยนเป็นสีดำแล้ว เมื่อให้ในหนูถีบจักรกินในขนาด 1, 10, 25 และ 30 เท่าของขนาดที่คนใช้ พบว่า LD50 = 22-22.5 เท่าของขนาดที่คนใช้ ค่า BUN และ Glutamate oxaloacetate transminase (GOT) ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่พบพิษต่อตับ ไต และตา และพบว่ามีคราบสีน้ำตาลในท่อไต และผนังลำไส้ และเซลล์ตับบางเซลล์ เมื่อนำสาร diospyros ที่ได้จากสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากผลมะเกลือสด และสาร mamegakinone ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากการนำ diospyrol มาทำปฏิกิริยาออกซิเดชันด้วยสารละลายเกลือ (Fremy’s salt solution) ไปทดสอบพิษต่อลูกตากระต่าย ไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสภาพในเรตินาและประสาทอ๊อบติค (เส้นประสาทที่เกี่ยวกับการรับภาพ)

นอกจากนี้มีรายงานว่ามี คนไข้รับประทานน้ำคั้นจากผลมะเกลือประมาณ 17 ชม. จะมีอาการทางตาให้เห็นคือ รูม่านตาขยายทั้งสองข้าง ไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นการฝ่อของประสาทอ็อฟติค ทำให้เกิดretrobulbarneuritis และตาบอดทั้งสองข้าง อีกทั้งกองวิจัยทางแพทย์ ได้ทำการศึกษาเรื่องพิษเฉียบพลัน และพยาธิสภาพของตาแล้วพบว่าไม่มีพิษ ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่พยาธิสภาพของตา และประสาทตา แต่เห็นควรให้แจ้งเตือนผู้ใช้มะเกลือ

การใช้ประโยชน์:

-เนื้อไม้ มีความละเอียดและแข็งแรงทนทาน สามารถนำมาใช้ทำเครื่องเรือนได้เป็นอย่างดี หรือจะใช้ทำเป็นเครื่องดนตรี เครื่องประดับมุก เครื่องเขียน เฟอร์นิเจอร์ไม้มะเกลือ ตะเกียบก็ได้เช่นกัน

-เปลือกต้น ไปปิ้งไฟให้เหลือง ใช้ใส่ผสมรวมกับน้ำตาล นำไปหมัก ก็จะได้แอลกอฮอล์หรือที่เรียกว่าน้ำเมานั่นเอง

-เปลือกต้น ใช้ทำเป็นยากันบูดได้

-ผลสุก มีสีดำ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมได้ ซึ่งสามารถนำมาใช้ย้อมผ้าหรือย้อมแห โดยจะให้สีดำ สามารถนำมาใช้ทาไม้ให้มีสีดำเป็นมันในการฝังมุกโต๊ะและเก้าอี้ ช่วยทำให้มีลวดลายสวยงามและเด่นมากขึ้น

-ผลดิบ ขับพยาธิตัวตืดและพยาธิปากขอ ใช้ผลสดเท่าอายุ แต่ไม่เกิน  25 ผล โขลก แล้วคั้นเอาน้ำผสมน้ำนม 1 ถ้วยชา กรองเอาน้ำมาดื่มก่อนอาหาร

 



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง