Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: เทียนสัตบุษย์

ชื่อท้องถิ่น: เสียวหุยเซียง โอวโจวต้าหุยเซียง (จีนกลาง) 

ชื่อสามัญ: Anise, Aniseed

ชื่อวิทยาศาสตร์: Pimpinella anisum L. 

ชื่อวงศ์:  APIACEAE-UMBELLIFERAE

สกุล: Pimpinella 

สปีชีส์: anisum

ชื่อพ้อง: 

-Anisum odoratum Raf.

-Anisum officinale DC.

-Anisum officinarum Moench

-Anisum vulgare Gaertn.

-Apium anisum (L.) Crantz

-Carum anisum (L.) Baill.

-Ptychotis vargasiana DC.

-Selinum anisum (L.) E.H.L. Krause

-Sison anisum (L.) Spreng

-Seseli gilliesii Hook. & Arn.

-Tragium anisum

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นเทียนสัตตบุษย์ เป็นไม้ล้มลุก มีอายุได้ประมาณ 1 ปี ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 50 เซนติเมตร กิ่งและก้านเป็นสีเขียว รูปทรงกลมผิวมีร่องหรือเหลี่ยม

ใบ เป็นใบเดี่ยวแทงขึ้นมาจากรากใต้ดิน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่เหมือนพัด ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ก้านใบยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร ส่วนที่แตกจากกิ่งช่วงยอดต้นเป็นรูปแฉกยาวมีใบประกอบ 3 ใบ แบบขนนก ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย


เทียนสัตตบุษย์ thai-herbs.thdata.co | เทียนสัตตบุษย์ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อคล้ายก้านซี่ร่ม หลายชั้น ดอกย่อยมีขนาดเล็กสีเหลืองหรือสีขาว มีกลีบดอก 5 กลีบ ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวมีขนาดเล็ก ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 ตัว ติดอยู่บนฐานรอบดอก เรียงสลับกับกลีบดอก มีรังไข่ 5 ห้อง อยู่ต่ำกว่า


เทียนสัตตบุษย์ thai-herbs.thdata.co | เทียนสัตตบุษย์ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล (เทียนสัตตบุษย์) ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่ มีร่องยาวตลอดเมล็ด ผิวมีขนสั้นๆ สีน้ำตาลอมเขียวปนเทา ขนาดกว้าง 1.3-1.8 มิลลิเมตร ยาว 3.4-5.0 มิลลิเมตร ด้านนอกนูน ด้านในที่ประกบกันมีลักษณะนูนเล็กน้อย ด้านที่นูนมีสันตามแนวยาวเมล็ด จำนวน 3 เส้น ด้านแนวเชื่อม 2 เส้น ผลมีกลิ่นหอมเผ็ดร้อนเล็กน้อย ผลแก่แห้งแล้วแตกแยกเป็น 2 ส่วน แต่ละส่วนมี 1 เมล็ด เมล็ดมีสีน้ำตาล ขนาดกว้าง 1.3-1.8 มิลลิเมตร ยาว 3.4-5.0 มิลลิเมตร

สภาพนิเวศวิทยา: -

ถิ่นกำเนิด: แถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

การกระจายพันธุ์: ทวีปยุโรป รัสเซีย แอฟริกาเหนือ เม็กซิโก และอินเดีย

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*เมล็ด รสเผ็ดหอมหวานเล็กน้อย แก้ลมครรภ์รักษา แก้พิษระส่ำระสาย แก้อาการหอบ และสะอึก แก้ไข้ แก้ไอ แก้หลอดลมอักเสบ ใช้ผสมร่วมกับชะเอมจีนทำยาอมแก้ไอ  น้ำมันจากเมล็ด ขับเสมหะ ฆ่าเชื้อโรค ขับลม แก้ปวดท้อง แก้ท้องอืดเฟ้อในเด็ก ฆ่าแมลง เช่น หมัด เหา เชื้อรา

-พิกัดยา ประกอบด้วย

1.“พิกัดสัตตะเทียน” ได้แก่ เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนสัตตบุษย์ เทียนเยาวพาณี สรรพคุณ แก้ลม เสมหะและดีระคนกัน แก้พิษโลหิต แก้ทางปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้มุตกิด บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ลมในท้อง แก้พรรดึก แก้ลมครรภ์รักษา

2.“พิกัดเนาวเทียน” ได้แก่ เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนสัตตบุษย์ เทียนเยาวพาณี เทียนตากบ เทียนเกล็ดหอย สรรพคุณ แก้ลม เสมหะแบะดีระคนกัน แก้พิษโลหิต แก้ทางปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้มุตกิด บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ลมในท้อ  แก้พรรดึก แก้ลมครรภ์รักษา

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้เทียนเกล็ดหอย ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ “ยาหอมทิพโอสถ” มีส่วนประกอบของเทียนสัตบุษย์ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมวิงเวียน “ยาหอมเทพจิตร” มีส่วนประกอบของเทียนสัตบุษย์ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมกองละเอียด ได้แก่ อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย (อาการที่รู้สึกใจหวิววิงเวียน คลื่นไส้ ตาพร่าจะเป็นลม) ใจสั่น และบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น “ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของเทียนสัตบุษย์ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน (ลมจุกแน่นในอก) ในผู้สูงอายุ แก้ลมปลายไข้ (หลังจากฟื้นไข้แล้วยังมีอาการ เช่น คลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร 

2.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของเทียนสัตบุษย์ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ “ยามหาจักรใหญ่” มีส่วนประกอบของเทียนสัตบุษย์ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมซาง บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ “ยาอภัยสาลี” มีส่วนประกอบของเทียนสัตบุษย์ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บาบัดโรคลม บรรเทาอาการจุกเสียดแน่น “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของเทียนสัตบุษย์ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูกหรือมีเลือดปน ท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้ เป็นต้น 

3.ยารักษากลุ่มอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก ปรากฏตำรับ “ยาสหัศธารา” มีส่วนประกอบของเทียนสัตบุษย์ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้ขับลมในเส้น แก้โรคลมกองหยาบ

องค์ประกอบทางเคมี: 

-น้ำมันหอมระเหย 1.5-5% เรียกว่า น้ำมันเทียนสัตตบุษย์ (anise oil) มีองค์ประกอบหลักคือ trans-anethole 80-90%, methyl chavicol (estragole) 1-2%

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์รักษาอาการท้องผูก การศึกษาเพื่อประเมินถึงประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ของผลิตภัณฑ์ชาชงที่ประกอบด้วยผงสมุนไพร 4 ชนิด ได้แก่ ผลเทียนสัตตบุษย์ 2 กรัม, ผลเทียนลวด 2 กรัม, ดอกอัลเดอร์เบอร์รี่ 5กรัม และดอกมะขามแขก 5 กรัม ผสมกันในรูปผงแห้ง นำมาศึกษาฤทธิ์ต่อการรักษาอาการท้องผูก โดยทำการทดลองแบบ randomized, crossover, placebo-controlled, single-blinded trial ในผู้ป่วย 20 รายที่มีอาการท้องผูกเรื้อรังตามเกณฑ์การวินิจฉัยของ American Association of Gastroenterology ทำการแบ่งผู้ป่วยออกเป็นสองกลุ่ม และทำการสลับลำดับของการให้ยาเป็นแบบ counterbalanced across subjects คือครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยได้รับสารทดสอบเป็นเวลา  5  วัน ขั้นตอนการเตรียมสารทดสอบ ใช้ผงพืชผสมแล้วจำนวน 15 กรัม ชงกับน้ำจำนวน 1,500 ml และให้ผู้ป่วยดื่ม 150 ml (เทียบเท่ากับ 1 กรัมของผลิตภัณฑ์) ดื่ม 3 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา 5 วัน ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งได้รับยาหลอกในช่วงเวลาเดียวกัน  โดยทั้งสองช่วงของการรักษาจะมีช่วงระยะเวลาการกำจัดยา (washout period) เป็นเวลา 9 วัน หลังจากนั้นจะให้ยาในทั้งสองกลุ่มอีกเป็นเวลา  5 วันเช่นเดียวกัน โดยผลการศึกษาหลักคือการวัดระยะเวลาการเคลื่อนของอุจจาระภายในลำไส้ใหญ่ (colonic transit time, CTT) โดยให้ผู้ป่วยรับประทานวัตถุทึบรังสี (radiopaque markers) ที่สามารถเอ็กซ์เรย์เห็นได้ ผลการศึกษารองคือจำนวนครั้งในการขับถ่ายต่อวัน, การรับรู้การทำงานของระบบทางเดินอาหาร, ผลข้างเคียง และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ผลการทดลองพบว่าค่าเฉลี่ยของเวลาการเคลื่อนของอุจจาระภายในลำไส้ใหญ่ (CTT)  จากการประเมินโดยการวัดทางรังสี มีค่าเท่ากับ 15.7 ชั่วโมง ในผู้ป่วยที่ได้รับสารสกัดพืช และ 42.3 ชั่วโมง ในผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก (p<0.001) และจำนวนครั้งในการขับถ่ายต่อวันมีค่าเพิ่มขึ้น เมื่อวันที่สองของการรักษา (p <0.001) และนอกจากนี้ผู้ป่วยมีการรับรู้ในการเคลื่อนไหวของการทำงานของระบบทางเดินอาหารดีขึ้น (p< 0.01) แต่คุณภาพชีวิตไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ กับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกในช่วงของการรักษา ยกเว้นว่ามีการลดลงเล็กน้อยของระดับโพแทสเซียมในเลือด ในระหว่างที่ได้รับสารสกัดพืช และไม่พบผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นของทั้งสองกลุ่มในช่วงของการรักษา สรุปว่าสารสกัดผสมของพืชดังกล่าวข้างต้นมีประสิทธิภาพในการเป็นยาระบาย และมีความปลอดภัยซึ่งสามารถใช้เป็นทางเลือกในการรักษาอาการท้องผูกได้  (Picon, et al., 2010) 

-ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย H. pyroli การศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย H.Pyroli 15 สายพันธุ์ โดยพบว่าเชื้อ H.Pyroli  มีความสัมพันธ์กับการเกิดกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง แผลในกระเพาะอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นต้น  โดยทำการสกัดสารจากเมล็ดเทียนสัตตบุษย์ ด้วยเมทานอล และทำการทดสอบความไวของเชื้อต่อสารทดสอบโดยใช้เทคนิค agar dilution method ผลการทดลองพบว่าสารสกัดจากเมล็ดเทียนสัตตบุษย์สามารถยับยั้งเชื้อ H.Pyroli โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำที่สุดในการยับยั้งเชื้อ (MIC) เท่ากับ 100 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร (Mahady, et al., 2005)  

การศึกษาทางพิษวิทยา: -

การใช้ประโยชน์:

-ใบสด ใช้รับประทานเป็นผักดิบ หรือใช้ตกแต่งอาหารให้ดูสวยงามน่ารับประทาน

-ผลหรือเมล็ด มีกลิ่นหอมและมีรสหวาน สามารถนำมาใช้แต่งกลิ่นอาหาร ขนมหวาน ขนมปัง ลูกกวาด เครื่องดื่ม เหล้า ใช้เครื่องเทศแต่งกลิ่นอาหารคาวหวาน โดยเฉพาะพวกเข้าเครื่องแกงแบบอินเดีย อีกทั้งเมล็ดยังช่วยเพิ่มรสให้กับพวกซุป ซอสต่าง ๆ ขนมปัง เค้ก บิสกิต ฯลฯ ได้อีกด้วย

-น้ำมันจากเมล็ด เป็นยาฆ่าแมลงต่าง ๆ เช่น หมัด เหา เป็นต้น

-ในประเทศอินเดียจะใช้ใบและรากเทียนสัตตบุษย์ที่มีกลิ่นหอม นำไปเป็นเครื่องเทศในการปรุงอาหาร

-ทางยุโรปและอินเดีย จึงนิยมใช้น้ำมันจากผลเทียนสัตตบุษย์ (Oil of anise) เป็นส่วนผสมในยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปาก ใช้ผสมเครื่องหอม สบู่ และของหอมชนิดอื่น ๆ ใช้แต่งกลิ่นน้ำยาบ้วนปาก แต่งกลิ่นอาหาร ลูกกวาด เครื่องดื่ม เหล้า ใช้แต่งกลิ่นบุหงา และกลบกลิ่นไม่ดีของยา แต่ต้องใช้ในปริมาณที่กำหนด



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง