Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: สบู่ขาว

ชื่อท้องถิ่น: สบู่หัวเทศ สลอดดำ สลอดป่า สบู่ดำ สลอดใหญ่ สี่หลอด (ภาคกลาง)/ หมักเยา มะเยา มะหัว มะหุ่งฮั้ว มะโห่ง หงเทก (ภาคเหนือ)/ มั่วฮวงชิ่ว (แต้จิ๋ว)/ หมาเฟิงสู้ (จีนกลาง)

ชื่อสามัญ: Purge Nut, Curcas Bean, Physic Nut, Barbados Nut

ชื่อวิทยาศาสตร์: Jatropha curcas L.

ชื่อวงศ์:  EUPHORBIACEAE

สกุล: Jatropha 

สปีชีส์: curcas

ชื่อพ้อง: 

-Curcas adansonii Endl.

-Curcas curcas (L.) Britton & Millsp.

-Curcas drastica Mart.

-Curcas indica A.Rich.

-Curcas lobata Splitg. ex Lanj.

-Curcas purgans Medik.

-Jatropha acerifolia Salisb.

-Jatropha afrocurcas Pax

-Jatropha edulis Sessé

-Jatropha yucatanensis Briq.

-Manihot curcas (L.) Crantz

-Ricinoides americana Garsault

-Ricinus americanus Mill.

-Ricinus jarak Thunb.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นสบู่ขาว เป็นไม้พุ่ม สูงประมาณ 2-5 เมตร ลำต้นแผ่กิ่งก้านออกไป มียางสีขาวปนเทา เปลือกต้นเรียบลื่น

ใบ เป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบคล้ายฝ่ามือ มีเว้าลึกประมาณ 2-3 เว้า ยาวประมาณ 7-16 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ ฐานใบเป็นรูปหัวใจ เส้นใบมีลักษณะคล้ายนิ้วมือ 5-7 เส้น ตรงเส้นใบ  ก้านใบยาว 6-18 เซนติเมตร ก้านใบ ใบอ่อน และเส้นใบมีสีเขียว ส่วนใบแก่จะมีสีเขียวเข้มและมีขนอ่อนปกคลุม 

ดอก  ออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกมีขนาดเล็ก เป็นช่อดอกแบบ Cyathium กลีบดอกมีสีเขียวอ่อน ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่บนต้นเดียวกัน กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ แต่ละช่อย่อยจะมีดอกตัวเมียอยู่ 1 ดอก ที่เหลือเป็นดอกตัวผู้ ดอกยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร

ผล ลักษณะของผลเป็นรูปรียาว มี 3 พู และมีขนอ่อนปกคลุม ผลอ่อนมีสีเขียว ส่วนผลแก่มีสีเหลือง เมื่อแก่เต็มที่จะแตก ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาล 3 เมล็ด ลักษณะกลมรี สีดำ ผิวเรียบลื่น

สภาพนิเวศวิทยา: -

ถิ่นกำเนิด: เม็กซิโกถึงอเมริกาเขตร้อน

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด และการปักชำ

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*เนื้อไม้และใบ รสเบื่อเย็น สรรพคุณ แช่น้ำให้เด็กอาบ แก้พิษตานซาง  ถอนพิษ  แก้ตัวร้อน

*ยาง รสฝาด สรรพคุณ กวาดแก้เด็กลิ้นเปื่อย ลิ้นเป็นฝ้าละออง

*น้ำมันจากเมล็ด ถ่ายอย่างแรง เป็นยาอันตราย

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ทั้งต้น โดยเฉพาะเมล็ด รวมทั้งน้ำยาง พบสาร curcine (โปรตีนที่เป็นพิษ), phytosterols และ resin

-ใบและเปลือกต้น พบสาร steroidal saponin

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ยับยั้งอาการท้องเดิน จากการทดลองในหนูขาว ที่ทำให้เกิดอาการท้องเดินด้วยน้ำมันละหุ่ง พบว่าสารสกัด methanol จากรากของสบู่ดำ แสดงฤทธิ์ยับยั้งอาการท้องเดิน โดยขนาดของสารสกัดที่ให้ผลอย่างมีนัย สำคัญคือ 100-400 mg/kg คาดว่ากลไกการออกฤทธิ์เกิดจากการยับยั้งการสร้าง prostaglandin และฤทธิ์ลดการเคลื่อนไหวของลำไส้เล็ก ซึ่งฤทธิ์นี้ตรงข้ามกับส่วนเมล็ดที่ทำให้เกิดอาการท้องเดิน

-ฤทธิ์การยับยั้งเชื้อบิด เมื่อนำสารสกัด butanol จากใบ สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ Entamoeba histolytica ในหลอดทดลอง โดยมีค่า MAC (minimal amoebic concentration) 21 ug/ml โดยออกฤทธิ์ได้ปานกลางเมื่อเทียบกับสารมาตรฐาน metronidazole และสารสกัดนี้ยังสามารถมีฤทธิ์ยับยั้งการหดตัวของลำไส้หนู ที่ถูกกระตุ้นด้วย acetylcholine โดยมีค่าเปอร์เซ็นการยับยั้ง 90.45% โดยเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน papaverine และ atropine sulfate ที่มีค่ายับยั้ง 100%

-ฤทธิ์การต้านเชื้อ HIV สารสกัด methanol จากใบ และสารสกัดน้ำจากกิ่ง ออกฤทธิ์ดีในการปกป้องเซลล์จากเชื้อ HIV virus โดยมีฤทธ์ยับยั้งการเกิด cytopathic effect (การเปลี่ยนแปลงของ host cell เนื่องจากติดเชื้อไวรัส) มีค่า IC50 = 9 และ 24 ug/ml ตามลำดับ, ค่าSl (selectivity index; CC50= 5.8 และ 41.7 ug/ml ตามลำดับ) ดังนั้นสารสกัดน้ำจากส่วนกิ่ง จึงมีความเป็นพิษต่อเซลล์ปกติต่ำกว่า และออกฤทธิ์ดี จากการแยกสารสำคัญจากส่วนกิ่งพบว่าสารที่ออกฤทธิ์คือ 5,7-dimethoxy coumarin และ6,7-dimethoxy coumarin แต่สารทั้งสองมีฤทธิ์น้อยกว่าสารสกัดเริ่มต้น

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-จากการศึกษาความเป็นพิษในคน พบว่าอาการพิษในเด็กจะเกิดขึ้นเมื่อรับประทานเพียง 1-5 เมล็ดเท่านั้น ส่วนในผู้ใหญ่มีรายงานว่าอาการพิษอาจเกิดขึ้นเมื่อรับประทาน 1-20 เมล็ด อาการพิษอาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน โดยจะเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ปวดท้อง อ่อนเพลีย จุกเสียด กระหายน้ำ ปวดศีรษะ อาจถ่ายเป็นเลือด ความดันโลหิตต่ำ การเต้นของหัวใจผิดปกติ ม่านตาขยาย ตัวสั่น ผิวหนังแดง มีอากรเคลิ้มฝันในเด็ก เลือดออกในจอรับภาพในลูกตา (retina) อาการเกิดภายใน 1 ชั่วโมง ยางทำให้ตาอักเสบ ระคายเคืองต่อผิวหนังและทำให้เกิดอาการแพ้

การใช้ประโยชน์:

-กระดูกหัก ใช้เปลือกต้นหรือใบสดร่วมกับต้นส้มกบ (Oxalis corymbosa DC.) และพริกไทย (Piper nigrum L.) 4-5 เมล็ด ตำใหละเอียด นำไปผัดกับเหล้าแล้วพอกรอบๆ บริเวณที่หัก

-เคล็ดขัดยอก ปวดบวม ฟกช้ำ ใช้ใบสดจำนวนพอควรตำให้ละเอียดพอกบริเวณที่มีอาการ

-โรคผิวหนังผื่นคัน ใช้ใบสดลนไฟจนใบอ่อนแล้วขยี้ให้แหลก ทาบริเวณที่มีอาการ หรือใช้เมล็ดโขลกกับน้ำมันพืชทาบริเวณที่มีอาการ




ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง