Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: เทียนเยาวพาณี

ชื่อท้องถิ่น: ว่านเยาวพาณี (ภาคใต้), ขึ้นฉ่ายฝรั่ง เทียนเยาวพาณี (ไทย), ฉินช่าย โอวโจว (จีนกลาง)

ชื่อสามัญ: Parsley

ชื่อวิทยาศาสตร์: Petroselinum crispum (Mill.) Fuss

ชื่อวงศ์: APIACEAE-UMBELLIFERAE

สกุล: Petroselinum 

สปีชีส์: crispum 

ชื่อพ้อง: 

-Apium crispum Mill.

-Apium petroselinum L.

-Carum petroselinum (L.) Benth. & Hook.f.

-Petroselinum hortense Hoffm.

-Petroselinum sativum Hoffm.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

เทียนเยาวพาณี thai-herbs.thdata.co | เทียนเยาวพาณี สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นเทียนเยาวพาณี เป็นพืชขนาดเล็กคล้ายต้นผักชี มีอายุประมาณ 2 ปี ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง แตกกิ่ง สูงได้ประมาณ 50-120 เซนติเมตร


เทียนเยาวพาณี thai-herbs.thdata.co | เทียนเยาวพาณี สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้าม ใบย่อยแตกเป็นแฉกแบบขนนก 2-3 ชั้น ขอบใบหยักคล้ายผักชีใบเล็ก (มีทั้งใบหยิกและใบแบน) ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.2-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-4 เซนติเมตร มีก้านใบย่อยสั้น ก้านมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม แทงขึ้นมาจากเหง้าใต้ดิน ก้านใบยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร


เทียนเยาวพาณี thai-herbs.thdata.co | เทียนเยาวพาณี สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบก้านซี่ร่ม มีดอกย่อยประมาณ 10-12 ดอก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 2.5-7.5 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็ก มีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกเป็นสีขาว สีเหลือง หรือสีเหลืองอมเขียว ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ติดอยู่บนฐานดอก เรียงสลับกับกลีบดอกเทียนเยาวพาณี thai-herbs.thdata.co | เทียนเยาวพาณี สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล (เทียนเยาวพาณี) ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ ตรงกลางป่อง ผลมีสีน้ำตาล ขนาดกว้างประมาณ 0.7-1.4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-2.8 มิลลิเมตร แยกออกเป็น 2 ส่วน แต่ละส่วนจะมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดหรือซีกผลมีลักษณะนูนด้านนอก ส่วนด้านในที่ประกบกันของเมล็ดหรือด้านแนวเชื่อมค่อนข้างแบนหรือนูนเล็กน้อย ด้านที่นูนมีสัน 3 สันตามยาวของเมล็ด ด้านแนวเชื่อม 2 เส้น ปกคลุมไปด้วยขนหรือหนามสั้น ๆ สีขาวหนาแน่น 

สภาพนิเวศวิทยา: -

ถิ่นกำเนิด: แอฟริกา เปอร์เซีย รัสเซีย

การกระจายพันธุ์: ภาคเหนือของทวีปแอฟริกา เปอร์เซีย ไปจนถึงรัสเซีย อินเดีย สหรัฐอเมริกา และทวีปยุโรป 

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*เมล็ด รสหวานกลิ่นหอม สรรพคุณ กระจายเสมหะ กระจายลมที่ลั่นโครกครากอยู่ในท้อง แก้จุกเสียด แก้ลมปั่นป่วนอยู่รอบขอบสะดือ แก้คลื่นเหียน อาเจียน

-พิกัดยา ประกอบด้วย

1.“พิกัดสัตตะเทียน” ได้แก่ เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนสัตตบุษย์ เทียนเยาวพาณี สรรพคุณ แก้ลม เสมหะและดีระคนกัน แก้พิษโลหิต แก้ทางปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้มุตกิด บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ลมในท้อง แก้พรรดึก แก้ลมครรภ์รักษา

2.“พิกัดเนาวเทียน” ได้แก่ เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนสัตตบุษย์ เทียนเยาวพาณี เทียนตากบ เทียนเกล็ดหอย สรรพคุณ แก้ลม เสมหะแบะดีระคนกัน แก้พิษโลหิต แก้ทางปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้มุตกิด บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ลมในท้อ  แก้พรรดึก แก้ลมครรภ์รักษา

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้เทียนเยาวพาณี ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ “ยาหอมทิพโอสถ” มีส่วนประกอบของเทียนเยาวพาณีร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมวิงเวียน “ยาหอมเทพจิตร” มีส่วนประกอบของเทียนเยาวพาณีร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมกองละเอียด ได้แก่ อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย (อาการที่รู้สึกใจหวิววิงเวียน คลื่นไส้ ตาพร่าจะเป็นลม) ใจสั่น และบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น “ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของเทียนเยาวพาณีร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน (ลมจุกแน่นในอก) ในผู้สูงอายุ แก้ลมปลายไข้ (หลังจากฟื้นไข้แล้วยังมีอาการ เช่น คลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร “ยาหอมอินทจักร์” มีส่วนประกอบของเทียนเยาวพาณีร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมบาดทะจิต แก้คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลมจุกเสียด

2.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของเทียนเยาวพาณีร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ “ยามหาจักรใหญ่” มีส่วนประกอบของเทียนเยาวพาณีร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมซาง บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ “ยาอภัยสาลี” มีส่วนประกอบของเทียนเยาวพาณีร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บาบัดโรคลม บรรเทาอาการจุกเสียดแน่น  “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของเทียนเยาวพาณีร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูกหรือมีเลือดปน ท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้ เป็นต้น 

องค์ประกอบทางเคมี: 

-เทียนเยาวพาณี มีน้ำมันระเหยง่ายเป็นองค์ประกอบหลัก โดยมี thymol, gamma-terpinene , p-cymene เป็นองค์ประกอบหลัก สารอื่นๆ ได้แก่ eugenol, beta-pinene, oleic acid, verbenol, beta-terpineol, beta-myrcene, camphene, D-limonene, ocimene, linalool, carveol, apioline, α-thujene, α-selinene  นอกจากนี้ยังมีรายงานพบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์, คูมาริน

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย การศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียของน้ำมันระเหยง่าย และสารสกัดจากผลของเทียนเยาวพาณี ต่อแบคทีเรียก่อโรคอาหารเป็นพิษ และแบคทีเรียที่ทำให้อาหารบูดเสีย การสกัดน้ำมันระเหยง่ายใช้วิธีการกลั่นด้วยน้ำ ผลการทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของน้ำมันระเหยง่าย และสารสกัดเฮกเซน คลอโรฟอร์ม เอทิลอะซิเตต และเมทานอล พบว่าสารทดสอบที่สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้สูงสุดคือ น้ำมันระเหยง่าย และสารสกัดเมทานอล โดยน้ำมันระเหยง่าย ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกได้ 2 ชนิด คือ Staphylococcus aureus ATCC 6538 และ S.aureus KCTC 1916 โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการยับยั้ง (MIC) ของน้ำมันระเหยง่าย เท่ากับ 162.5  และ 175 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สารสกัดเมทานอลมีค่า MIC ต่อเชื้อทั้งสองเท่ากับ 175 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ น้ำมันระเหยง่ายยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ ได้ 6 ชนิด คือ Escherichia coli O157:H7ATCC 43888, Pseudomonas aeruginosa KCTC 2004, Salmonella typhimurium KCTC 2515, E. coli ATCC 8739, Enterobacter aerogenes KCTC 2190, Salmonella enteritidis KCYC 12021 โดยมีค่า MIC เท่ากับ 450, 12.5, 225, 462.5,12.5 และ 250 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ สารสกัดเมทานอล ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกได้ 2 ชนิด คือ S. aureus KCTC 1916 และ B. subtills ATCC 6633 โดยมีค่า MIC เท่ากับ  175 และ 87.5 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ สารสกัดเมทานอลยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมลบได้สูงสุด 1ชนิด คือ E. coli  O157:H7ATCC 43888 โดยมีค่า MIC เท่ากับ  450 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร (Paul, et al., 2011)  

-ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา การศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราของน้ำมันระเหยง่ายของเทียนเยาวพาณีที่ได้จากการกลั่นด้วยน้ำ ต่อเชื้อ Candida albicans ในผู้ป่วย HIV ที่มีการติดเชื้อราในช่องปาก (oropharyngeal candidiasis) ทดสอบความไวของเชื้อต่อสารสกัดด้วยวิธี disk diffusion method การวัดค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อ (MIC) และค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถฆ่าเชื้อราได้ (MFC) ผลการทดสอบด้วยวิธี disk diffusion method พบว่า 67% ของเชื้อ Candida albicans มีความไวต่อสารสกัด, 9% มีความไวโดยขึ้นกับขนาดสารสกัดที่ให้ และ 24% ดื้อต่อยาต้านเชื้อรา fluconazole การทดสอบด้วยวิธี micro dilution method พบว่า 68% ของเชื้อ Candida albicans มีความไวต่อสารสกัด, 5% มีความไวโดยขึ้นกับขนาดสารสกัดที่ให้ และ 27% ดื้อต่อยาต้านเชื้อรา fluconazole (Sharifzadeh, et al., 2015) 

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดผลด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 10,000 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)

การใช้ประโยชน์:

-ใบพาร์สลี่ย์หยิก นิยมนำมาใช้ประดับตกแต่งในจานอาหารให้ดูน่ารับประทาน หรือนำมาสับใส่แต่งอาหารในขั้นสุดท้ายของการปรุง นำมาผสมแต่งกลิ่นและรสในน้ำสลัดและซอส ใช้ผสมในเครื่องหมักเนื้อ ใช้กับอาหารประเภทยำ ชุบแป้งหรือชุบไข่ทอด หรือนำมารับประทานสด ส่วนใบพาร์สลี่ย์ใบแบนจะมีกลิ่นหอมฉุนมากกว่าใบหยิก จึงนิยมใช้เป็นผักปรุงรสและหุงต้มอาหารและนำมาชุบแป้งทอด

-ผลแก่แห้ง ใช้เป็นเครื่องเทศ ใช้โรยหน้าอาหารเพื่อดับกลิ่นคาว เช่น ทำสปาเกตตี พาสต้า ราวิโอลี่ กุ้งย่างเนย กุ้งย่างกับพริกเม็กซิกัน หอยแมลงภู่อบชีส และอื่น ๆ อีกหลากหลายรูปแบบ

-พาร์สลี่ย์ เป็นผักที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ สูงมาก โดยพาร์สลี่ย์ 1 ถ้วย จะมีเบต้าแคโรทีนมากกว่าแคร์รอตหัวใหญ่ 1 หัว มีวิตามินซีมากกว่าส้มลูกหนึ่งเกือบ 2 เท่า มีวิตามินอีเท่ากับน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน 1 ช้อนโต๊ะ มีแคลเซียมมากกว่านม 1 แก้ว มีธาตุเหล็กมากกว่าตับที่มีน้ำหนักเท่ากัน มีโปรตีนมากกว่าเต้าหู้ขาว 1 ชิ้น มีเส้นใยมากกว่าข้าวโพด 1 ฝักถึง 15 เท่า และยังเป็นผักที่มีวิตามินบี 1 วิตามินบี 2 และวิตามินบี 6 สูง และในขณะเดียวกันการรับประทานผักพาร์สลี่ย์สด ๆ เพียง 10 ก้าน จะให้พลังงานเพียง 4 แคลอรีเท่านั้น

-พาร์สลี่ย์ มีสารช่วยต้านอนุมูลอิสระ เนื่องจากประกอบไปด้วยสารฟลาโวนอยด์หลายชนิด รวมทั้งอาพิเจนิน ลูทีโอลิน เคมฟีรอล เควอซิติน ไครโซเออรอล ไอโซแรห์มเนติน ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของสารต้านอนุมูลอิสระของส่วนที่เป็นพลาสมาในเลือด ช่วยทำให้มีการทำงานของเอนไซม์ที่ต้านอนุมูลอิสระเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพาร์สลี่ย์มีผลในการช่วยปกป้องต่อการทำลายกระบวนการออกซิเดชั่น

-ลมหายใจสดชื่น สารคลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) เป็นสีเขียวที่พบได้มากในใบพาร์สลี่ย์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรียในช่องปากที่เป็นสาเหตุของกลิ่นปาก การเคี้ยวใบพาร์สลี่ย์หลังอาหารจึงช่วยลดปัญหากลิ่นปากได้[

-กระตุ้นการทำงานของไต มีสารขับปัสสาวะ มีธาตุเหล็กที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคโลหิตจาง แก้โรคหอบหืด ลดอาการไอ ช่วยทำให้ระบบการย่อยอาหารและแก๊สในทางเดินอาหารเป็นไปด้วยดี ลดอาการปวดเสียด ในสมัยก่อนจะใช้เป็นยาบรรเทาอาการปวดประจำเดือนของสตรี ใบสดนำมาบดใช้เป็นยาพอกแก้ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก และแมลงกัดต่อยได้ ช่วยแก้อาการนมคัดของสตรีมีครรภ์ก็ใช้รักษาได้ดี และใบยังเหมาะกับสตรีที่ให้นมบุตรอีกด้วย เพราะจะได้รับธาตุเหล็กชดเชยในส่วนที่แม่สูญเสียไป

-สิว นำใบพาร์สลี่ย์มาสับให้ละเอียด จากนั้นเรียงลงไปในถาดน้ำแข็งใส่น้ำให้เต็มรอให้เย็นเป็นก้อน ห่อด้วยผ้าบาง ๆ แล้วนำมาประคบบริเวณที่เป็นสิวบวม อักเสบ แดง ประมาณ 20 วินาที ทุกเช้าเย็น ก็จะช่วยลดอาการอักเสบได้อย่างรวดเร็ว ส่วนประโยชน์อีกอย่างหนึ่งก็คือเมื่อเอาใบมาแช่น้ำไว้ข้ามคืนก็จะได้น้ำยาโลชั่นที่ใช้ทำความสะอาดผิวได้เป็นอย่างดี



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง