Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: เสนียด

ชื่อท้องถิ่น: Adhatoda, Vassica, Malabar Nut Tree

ชื่อสามัญ: โบราขาว (เชียงใหม่)/ หูหา (เลย)/ หูรา (นครปฐม, นครพนม)/ กุลาขาว บัวลาขาว บัวฮาขาว (ภาคเหนือ)/ โมรา เสนียดโมรา (ภาคกลาง)/ กระเหนียด (ภาคใต้)/ กระเนียด (ทั่วไป)/ ชิตาโหระ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่)/ จะลึ้ม (ปะหล่อง)/ เจี่ยกู่เฉ่า ต้าปั๋วกู่ ยาจุ่ยฮวา (จีนกลาง)

ชื่อวิทยาศาสตร์: Justicia adhatoda L.

ชื่อวงศ์: ACANTHACEAE

สกุล: Justicia 

สปีชีส์: adhatoda

ชื่อพ้อง: 

-Adhatoda adhatoda (L.) Huth

-Adhatoda vasica Nees

-Adhatoda zeylanica Medik.

-Ecbolium adhatoda (L.) Kuntze

-Gendarussa adhadota Steud.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นเสนียด เป็นไม้พุ่ม ที่มีความสูงของต้นประมาณ 1.4-3 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามากมายรอบ ๆ ต้นเป็นพุ่มทึบ ยอดกิ่งอ่อนมีขนเล็กน้อย 

ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปรีใหญ่ หรือเป็นรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบแหลมสอบหรือเรียวมนรี ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร พื้นใบเป็นสีเขียวและมีขนอ่อน ๆ ปกคลุมอยู่ทั้งสองด้าน หลังใบและท้องใบเรียบ ก้านใบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร

ดอก ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกตามง่ามใบใกล้กับปลายยอด ช่อดอกจะรวมกันเป็นแท่ง ก้านช่อดอกยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ดอกมีใบประดับสีเขียวหุ้มดอกเรียงซ้อนกันเป็นชั้นเดียว ดอกย่อยของเสนียดกลีบดอกเป็นสีเขียว ดอกย่อยมีกลีบยาวประมาณ 1.2-1.4 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร กลีบดอกเป็นสีขาว มีเส้นสีม่วง ยาวได้ประมาณ 3 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายปากแยกแบ่งเป็นกลีบล่างและกลีบบน มี 2 กลีบ ส่วนบนมีรอยแยก 2 แฉกสีขาว ส่วนล่างมีรอยแยกเป็นแฉก 3 แฉกสีขาวปะม่วง ดอกมีเกสรเพศผู้ 2 อัน ยื่นออกมา ก้านเกสรเพศเมียจะสั้นกว่า เกสรเพศผู้เป็นเส้นกลมยาว ที่ปลายแยกเป็นแฉก 2 แฉก

ผล ลักษณะออกผลเป็นฝัก ยาวได้ประมาณ 2 เซนติเมตร และมีขน ภายในพบเมล็ด 4 เมล็ด ผลเป็นผลแห้ง และแตกออกได้ แต่ไม่ติดผล

สภาพนิเวศวิทยา: พบได้มากในแถบป่าเต็งรัง

ถิ่นกำเนิด: -

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด และการปักชำ

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ใบ ดอก รสขม สรรพคุณ แก้ไข้ แก้หืด

*ราก รสเย็น สรรพคุณ แก้ฝีในท้อง (วัณโรค) บำรุงโลหิต

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้ต้นเสนียด ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยารักษากลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจ ปรากฏตำรับ “ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม” มีส่วนประกอบของเสนียดร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ราก พบสาร Alkaloids อยู่หลายชนิด เช่น Vasicinol เป็นต้น

-ใบและดอก พบสาร Vasicine, Vasicinone ในใบพบ Vasakin, วิตามินซี  เป็นต้น

-ดอก พบสาร Adhatodine, Anisoine, Betaine, Vasicinine เป็นต้น

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ขยายหลอดลม ใบและดอก มีสารอัลคาลอยด์ Vasicine และ Vasicinone ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ขยายหลอดลมและละลายเสมหะ โดยยาละลายเสมหะที่มีจำหน่ายกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันคือยา Bromhexine ซึ่งเป็นสารที่ได้จากการสังเคราะห์ขึ้นโดยเลียนแบบโครงสร้างของอัลคาลอยด์จากใบเสนียด

-ฤทธิ์ลดความดันโลหิต การศึกษาวิจัยพบว่า สาร Vasicine มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตของสุนัขทดลองได้เล็กน้อย และยังมีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจที่อยู่นอกร่างของหนูและกระต่ายทดลองให้มีการบีบตัวและมีการสูบฉีดหัวใจแรงขึ้น

-ฤทธิ์ทำให้แท้ง การศึกษาวิจัยพบว่า สาร Vasicine จากเสนียดมีฤทธิ์ทำให้หนูตะเภาแท้งได้ โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาการตั้งท้อง และก่อนเกิด estradiol priming แต่ไม่มีฤทธิ์ทำให้หนูขาวแท้ง และได้มีการศึกษาในผู้ป่วยหลังคลอดปกติ ในวันที่ 2-8 ในโรงพยาบาล โดยได้รับสาร Vasicine ในขนาด 16 มิลลิกรัม พบว่าผู้ป่วยสามารถทนต่อสารได้ดี ไม่มีผลข้างเคียง และมดลูกมีการบีบตัวดี 

-การศึกษาวิจัยพบว่า สาร Vasicine จากเสนียดมีฤทธิ์ทำให้หนูขาวแท้งได้ การทดลองให้สารสกัดด้วยน้ำจากใบเสนียดในขนาด 175 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทางปากแก่หนูขาวที่ตั้งท้องได้ 10 วัน พบว่าทำให้หนูแท้งได้ 100% แต่เมื่อให้สารสกัดจากใบเสนียด (ไม่ระบุตัวทำละลาย) ในขนาด 325 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ทางสายยางแก่หนูขาวที่ตั้งท้องในระหว่างวันที่ 1-9 และเมื่อให้ใบเสนียดละลายน้ำ 0.25 และ 2.5% แก่หนูขาวที่ตั้งท้องระหว่างวันที่ 1-9 พบว่าไม่ทำให้แท้ง

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-จากการทดสอบความเป็นพิษ ไม่พบว่าเป็นพิษในคนที่กินสารสกัดจากใบเสนียดในขนาด 20 มิลลิลิตรต่อคน ไม่พบว่าเป็นพิษกับหนูถีบจักรที่รับสารสกัดด้วยเอทานอลและน้ำ ในอัตรา 1:1 จากใบเสนียดทางสายยางหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ในขนาด 10 กรัมต่อกิโลกรัม และไม่พบพิษ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและอาการทางระบบประสาทในหนูขาวเพศผู้ที่กินสมุนไพรตำรับ Antiasthma Kada (ตำรับสมุนไพรที่ประกอบด้วยสมุนไพร 5 ชนิด รวมถึงเสนียดด้วย) ในขนาด 100-1,600 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และเมื่อให้สาร Vasicine แก่หนูขาวและลิงเป็นระยะเวลา 6 เดือน ก็ไม่พบพิษเช่นกัน

-จาการทดสอบพิษ ให้สารสกัดด้วยเอทานอลและน้ำ ในอัตรา 1:1 จากใบเสนียดทางหลอดเลือดดำสุนัข ไม่พบว่าเป็นพิษต่อหัวใจ แต่ในกบที่ได้รับสมุนไพรตำรับ Antiasthma Kada ในขนาด 2.5 และ 25 มก. พบว่ามีฤทธิ์กดหัวใจ และลดแรงบีบตัวของหัวใจ

-จากการทดสอบพิษ ให้สารสกัดด้วยเอทานอลและน้ำ ในอัตรา 1:1 จากใบเสนียด ไม่เป็นพิษต่อเซลล์เพาะเลี้ยง CA-9KB ขนาดของสารสกัดที่ทำให้เป็นพิษต่อเซลล์ 50% มากกว่า 20 ไมโครกรัมต่อมิลลิกรัม

การใช้ประโยชน์:

-โรคหืดหอบ ใช้ใบแห้งนำมาหั่นมวนเป็นบุหรี่สูบ ช่วยแก้หอบหืด 

-อาการไอและขับเสมหะ ใช้น้ำคั้นจากใบสดประมาณ 15 มิลลิลิตร นำมาผสมกับน้ำผึ้งหรือน้ำขิงสดดื่มกินเป็นยา

-อาการปวดบวม ฟกช้ำดำเขียว แก้กระดูกร้าว แก้ปวดบวม หรือปวดตามข้อ รวมถึงเหน็บชาอันเนื่องมาจากลมชื้น ใช้ต้นเสนียดสด 60 กรัม, เถ้ากุเสียว 30 กรัม, เจ็กลั้ง 30 กรัม, เจตพังคี 20 กรัม และหญ้าผีเสื้อบิน 20 กรัม นำมารวมกันแล้วคั่วกับเหล้าให้ร้อน ใช้เป็นยาประคบบริเวณที่เป็น

-เนื้อไม้ สามารถนำมาใช้ทำรั้วได้

-นิยมใช้ปลูกต้นเสนียดไว้ตามริมตลิ่ง เพื่อช่วยป้องกันการกัดเซาะ

-ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่จะใช้รากมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคหอบหืด



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง