Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: บัวหลวง

1.บัวหลวงแดง พันธุ์ดอกสีแดง

2.บัวหลวงขาว พันธุ์ดอกสีขาว

3.บัวสัตตบงกชแดง พันธุ์ดอกสีแดงซ้อน

4.บัวสัตตบงกชขาว พันธุ์ดอกขาวสีซ้อน

รวมทั้ง 4 ชนิดคือมีคุณสมบัติเหมือนกันคือ

ชื่อท้องถิ่น: โกกระณต, บัว, บัวอุบล, บัวฉัตรขาว, บัวฉัตรชมพู, บัวฉัตรสีชมพู, บุณฑริก, ปุณฑริก, ปทุม, ปัทมา, สัตตบงกช, สัตตบุษย์

ชื่อสามัญ: Lotus, Sacred lotus, Egyptian lotus

ชื่อวิทยาศาสตร์: Nelumbo nucifera Gaertn.

ชื่อวงศ์: NELUMBONACEAE

สกุล: Nelumbo 

สปีชีส์: nucifera

ชื่อพ้อง: 

-Nelumbium album Bercht. & J.Presl

-Nelumbium asiaticum Rich.

-Nelumbium caspicum Fisch. ex DC.

-Nelumbium caspium Eichw.

-Nelumbium discolor Steud.

-Nelumbium indicum Poir.

-Nelumbium javanicum Poir.

-Nelumbium marginatum Steud.

-Nelumbium nelumbo (L.) Druce

-Nelumbium rheedii C.Presl

-Nelumbium speciosum Willd.

-Nelumbium tamara (DC.) Sweet

-Nelumbium transversum C.Presl

-Nelumbium turbinatum Blanco

-Nelumbium venosum C.Presl

-Nelumbo caspica (Fisch.) Schipcz.

-Nelumbo indica Pers.

-Nelumbo komarovii Grossh.

-Nelumbo nelumbo (L.) H.Karst.

-Nelumbo speciosa G.Lawson

-Nelumbo speciosa var. alba F.M.Bailey

-Tamara alba Roxb. ex Steud.

-Tamara hemisphaerica Buch.-Ham. ex Pritz.

-Tamara rubra Roxb. ex Steud.

-Nymphaea nelumbo L.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

บัวหลวง thai-herbs.thdata.co | บัวหลวง สรรพคุณ สมุนไพร ไทย


บัวหลวง thai-herbs.thdata.co | บัวหลวง สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นบัวหลวง เป็นไม้ล้มลุก มีอายุหลายปี ลำต้นมีทั้งเป็นเหง้าอยู่ใต้ดินและเป็นไหลอยู่เหนือดินใต้น้ำ ลักษณะของเหง้าเป็นท่อนยาว มีปล้องสีเหลืองอ่อนจนถึงสีเหลือง มีความแข็งเล็กน้อย หากตัดตามขวางจะเห็นเป็นรูปกลม ๆ อยู่หลายรู โดยส่วนของไหลจะเป็นส่วนเจริญไปเป็นต้นใหม่ 


บัวหลวง thai-herbs.thdata.co | บัวหลวง สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบอ่อนจะลอยปริ่มน้ำ ส่วนใบแก่แผ่นใบจะชูขึ้นเหนือน้ำ ลักษณะของใบเป็นรูปเกือบกลมและมีขนาดใหญ่ โดยมีขนาดประมาณ 50 เซนติเมตร ขอบใบเรียบและเป็นคลื่น ผิวใบด้านบนเป็นนวลเคลือบอยู่ ก้านใบจะติดอยู่ตรงกลางของแผ่นใบ ก้านใบมีลักษณะแข็งและเป็นหนาม หากตัดตามขวางจะเห็นรูอยู่ภายใน และก้านใบจะมีน้ำยางสีขาว เมื่อหักก้านจะมีสายใยสีขาว ๆ สำหรับใบอ่อนจะเป็นสีเทานวล ปลายจะม้วนงอขึ้นเข้าหากันทั้งสองด้าน


บัวหลวง thai-herbs.thdata.co | บัวหลวง สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นดอกเดี่ยว มีสีขาว สีชมพู มีกลิ่นหอม มีกลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ กลีบเลี้ยงมีขนาดเล็กและสีขาวอมเขียวหรือเป็นสีเทาอมชมพู ร่วงได้ง่าย ส่วนกลีบดอกจะมีจำนวนมากและเรียงซ้อนกันอยู่หลายชั้น ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่กว้างประมาณ 5-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7-9 เซนติเมตร เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดประมาณ 20-25 เซนติเมตร ในดอกจะมีเกสรตัวผู้สีเหลืองอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีความยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร และล้อมรอบอยู่บริเวณฐานรองดอกซึ่งมีลักษณะเป็นรูปกรวยหงาย หรือที่เรียกว่า "ฝักบัว" ที่ปลายอับเรณูจะมีระยางคล้ายกระบองเล็ก ๆ สีขาว ส่วนเกสรตัวเมียจะมีรังไข่ฝังอยู่ในฐานรองดอก เมื่ออ่อนเป็นสีเหลือง หากแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว ช่องรังไข่จะเรียงเป็นวงบนผิวหน้าตัด มีจำนวน 5-15 อัน ส่วนก้านดอกมีสีเขียว ลักษณะยาวและมีหนามเหมือนก้านใบ โดยก้านดอกจะชูขึ้นเหนือน้ำและชูขึ้นสูงกว่าก้านใบเล็กน้อย ดอกบัวหลวงจะเริ่มบานในตอนเช้า


บัวหลวง thai-herbs.thdata.co | บัวหลวง สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะออกผลเป็นฝัก แต่ละฝักมีผลอ่อนสีเขียวนวลจำนวนมาก ผลจะฝังอยู่ในส่วนที่เป็นฝักรูปกรวยในดอก ในรูปกรวยของดอกนั้นเมื่ออ่อนจะเป็นสีเหลือง เมื่อแก่แล้วจะขยายใหญ่ขึ้นและเปลี่ยนเป็นสีเทาอมเขียว โดยจะมีผลสีเขียวอ่อนฝังอยู่ในฝักรูปกรวยเป็นจำนวนมาก ลักษณะผลเป็นรูปกลมรี ผลอ่อนมีสีเขียวนวลและมีจำนวนมาก เมล็ดมีความกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ในเมล็ดมีดีบัวหรือต้นอ่อนที่ฝังอยู่กลางเมล็ดมีสีเขียว ดีบัวมีลักษณะคล้ายสาก มีความยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตร มีใบอ่อน 2 ใบ ใบหนึ่งสั้น ส่วนอีกใบยาว ใบมีสีเขียวเข้มหรือสีเขียวอมเหลือง ปลายใบมีลักษณะม้วนเป็นรูปคล้ายลูกศร มีต้นอ่อนตรง ขนาดเล็กมากอยู่ระหว่างใบอ่อนทั้งสอง มีความยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร โคนต้นมีสีเหลืองอ่อนหรือเป็นสีเหลืองอมเขียว ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร เนื้อหนาเปราะ ร้อนหน้าตัดจะมีรูเล็ก ๆ จำนวนมาก ดีบัวมีรสขมจัด แต่ไม่มีกลิ่น

สภาพนิเวศวิทยา: พบในระดับน้ำลึก 30-50 เซนติเมตร

ถิ่นกำเนิด: จีน และญี่ปุ่น

การกระจายพันธุ์: อามูร์, อัสสัม, บังกลาเทศ, กัมพูชา, จีนเหนือ-กลาง, จีนใต้-กลาง, จีนตะวันออกเฉียงใต้, เทือกเขาหิมาลัยตะวันออก, ไหหลำ, อินเดีย, อิหร่าน, ญี่ปุ่น, จาวา, คาบารอฟสค์, เกาหลี, ลาว, หมู่เกาะซุนดา, มาลายา, แมนจูเรีย, เมียนมาร์ , เนปาล, นิวกินี, คอเคซัสเหนือ, ดินแดนทางเหนือ, ปากีสถาน, ฟิลิปปินส์, พรีมอรี, ควีนส์แลนด์, รัสเซียใต้ของยุโรป, ศรีลังกา, ไทย, ทรานส์คอเคซัส, ยูเครน, เวียดนาม, เทือกเขาหิมาลัยตะวันตก, ออสเตรเลียตะวันตก, แอละแบมา, อาร์คันซอ, เบนิน, หมู่เกาะคุก., คิวบา, ฟลอริดา, จอร์เจีย, อิตาลี, เคนตักกี้, หมู่เกาะลีเวิร์ด ลุยเซียนา, แมริแลนด์, แมสซาชูเซตส์, มิสซิสซิปปี้, มิสซูรี, นิวเจอร์ซีย์, นอร์ทแคโรไลนา, เปอร์โตริโก, โรมาเนีย, เซาท์แคโรไลนา, เทนเนสซี, เท็กซัส, ตรินิแดด-โตเบโก, เวสต์เวอร์จิเนีย, หมูเกาะวินวาร์ด

บัวหลวง thai-herbs.thdata.co | บัวหลวง สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือวิธีการแยกไหล

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*เหง้า รสหวานมันเล็กน้อย สรรพคุณ บำรุงกำลัง แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้เสมหะ แก้ไข้เพื่อดี แก้อาเจียน แก้ไข้ตัวร้อน

*ดอก  รสฝาดหอม สรรพคุณ บำรุงครรภ์ แก้ไข้ ทำให้เกิดลมแบ่งคลอดบุตรได้ง่าย

*เกสร รสฝาดหอม สรรพคุณ แก้ไข้ รากสาด หรือไข้ท้องเสีย ชูกำลังทำให้ชื่นใจ บำรุงครรภ์ รักษา

*ฝัก รสฝาด สรรพคุณ แก้ท้องเสีย แก้พิษเห็ดเมา ขับรกให้ออกเร็วเวลาคลอดบุตร

*เปลือกเมล็ด รสฝาด สรรพคุณ แก้ท้องร่วง สมานแผล

*เมล็ด รสหวานมัน สรรพคุณ บำรุงกำลัง บำรุงไขข้อ ทำให้กระชุ่มกระชวย

*ดีบัว รสขม สรรพคุณ ขยายหลอดเลือดในหัวใจ แก้กกระหายหลังจากอาเจียนเป็นโลหิต แก้น้ำกามเคลื่อนขณะหลับ

*ใบอ่อน มีวิตามินซี รสฝาดเปรี้ยว สรรพคุณ บำรุงร่างกายให้ชุ่มชื่น

*ใบแก่ รสฝาดเปรี้ยวเล็กน้อย สรรพคุณ แก้ไขบำรุงเลือด

องค์ประกอบทางเคมี: 

-เกสร พบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์หลายชนิด เช่น quercetin, luteolin, isoquercitrin, luteolin glucoside  และมีรายงานพบสารกลุ่มแอลคอลอยด์อีกด้วย

-ดอก พบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์หลายชนิด เช่น quercetin, luteolin, isoquercitrin, luteolin glucoside, kaempferol, kaempferol 3- galactoglucoside, kaempferol 3- diglucoside เป็นต้น

-ดีบัว พบสาร methylcorypalline และแอลคาลอยด์ชนิดอื่นๆ เช่น  liensinine, isoliensinine, neferine, lotusine, nuciferine, pronuciferine, demethylcoclaurine และสารจำพวกฟลาโวนอยด์ เช่น  galuteolin, hyperin, rutin เป็นต้น

-ใบ พบสารกลุ่มแอลคอลอยด์ เช่น dehydroroemerine , dehydronuciferine, dehydroanonaine, Nmethylisococlaurine, roemerine, nuciferine, anonaine, pronuciferine, Nnornuciferine , nornuciferine, amepavine, N-methylcoclaurine และพบสารประกอบพวกฟลาโวนอยด์ เช่น  quercetin, isoquercetin, nelumboside เป็นต้น

-ก้าน พบสารกลุ่มแอลคาลอยด์ หลายชนิด เช่น roemerine, nornuciferine, nornuciverine, nuciferine, armepavine resin, tannin8  asparagine เป็นต้น

-เหง้า พบสาร quercetin และสารกลุ่มแอลคาลอยด์หลายชนิด เช่น nelumbine, nuciferine, Nnornuciferine, oxoushinsunine, N-noramepavine เป็นต้น

การศึกษาทางเภสัชวิทยา: 

-ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ที่พบในเกสรมีฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน โดยเกสรตัวผู้เมื่อทดสอบด้วยวิธีทางเคมี มีฤทธิ์จับอนุมูลอิสระ DPPH โดยมีค่า EC50 เท่ากับ 42.05 ug/ml (คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา, 2551)

-การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเมทานอล และสารสกัดด้วยตัวทำละลายผสมของเฮกเซน:อะซิโตน:เมทานอล:โทลูอีน (10:7:6:7) ที่ได้จากเกสรบัวหลวง  4 ชนิด ได้แก่ บัวหลวงปทุม (ดอกตูมสีชมพูทรงแหลม รูปไข่ ปลายเรียว), บัวหลวงสัตตบงกช (ดอกตูมทรงป้อมสีชมพู), บัวหลวงบุณฑริก (ดอกตูมสีขาวทรงแหลม รูปไข่ ปลายเรียว) และบัวหลวงสัตตบุตย์ (ดอกตูมทรงป้อมสีขาว) ศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลองด้วยวิธีทางเคมี โดยใช้อนุมูลอิสระ DPPH (2,2-diphenyl-1-picrylhdrazyl)  ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเมทานอลของเกสรบัวหลวง 4 ชนิด คือ สัตตบงกช, สัตตบุษย์, บุณฑริก และปทุม สามารถยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH ได้ โดยมีค่าความเข้มข้นในการยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) เท่ากับ 31.60±3.40, 40.90±1.50, 62.22±4.00 และ 68.30±6.30 g/mL ตามลำดับ สารสกัดด้วยตัวทำละลายผสมของเกสรบัวหลวง 4 ชนิด มีค่า IC50 เท่ากับ 1.29±0.02, 1.83±0.07, 2.23±0.05 และ 2.21±0.06 mg/mL ตามลำดับ สรุปได้ว่าบัวหลวงสัตตบงกชมีความสามารถในการกำจัดอนุมูลอิสระสูงที่สุด โดยสารสกัดเมทานอลออกฤทธิ์แรงกว่าสารสกัดผสม 40 เท่า (p<0.05, ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%) (Phonkot, et al., 2008)

-ฤทธิ์ต้านเบาหวาน  เกสรตัวผู้ยังมีฤทธิ์ยับยั้ง rat lens aldose reductase (RLAR) และ advance glycation end products (AGE) โดยมีค่า IC50 48.30 และ 125.48 ug/ml ตามลำดับ ซึ่งการยับยั้ง RLAR และ AGE มีผลต่อการลดการเกิดภาวะเบาหวาน (Jung, 2008)

-ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แอลโดสรีดักเตสที่เลนส์ตา สารสกัดเมทานอลของเกสรตัวผู้บัวหลวงพบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ชนิดนี้ที่เลนส์ตาของหนูแรทได้ จึงอาจช่วยลดอาการแทรกซ้อนที่ตาในผู้ป่วยเบาหวานได้ (เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานที่มีปริมาณกลูโคสในกระแสเลือดสูง   มักพบอาการแทรกซ้อนโดยเฉพาะที่ตา เป็นบริเวณที่มีปริมาณกลูโคสสะสมมาก ทําให้เอนไซมอัลโดสรีดักเทส เปลี่ยนกลูโคสเป็นสารซอร์บิทอลที่บริเวณเลนส์ตา และเรตินา ซึ่งซอร์บิทอลเป็นสารที่ไม่สามารถแพร่ผ่านเซลเมมเบรนได้จึงสะสมอยู่ภายในเลนส์ตาทำให้เกิดต้อกระจกได้) การทดสอบใช้สารสกัดด้วยตัวทำละลาย 3 ชนิด ได้แก่ ไดคลอโรมีเทน, เอทิลอะซีเตต และบิวทานอล ซึ่งสามารถแยกฟลาโวนอยด์จากสารสกัดเอทิลอะซิเตตได้ 13 ชนิด ได้แก่ kaempferol (1), glycosides (2-9), myricetin 3’,5’-dimethylether 3-O-beta-d-glucopyranoside (10), quercetin 3-O-beta-d-glucopyranoside (11) และ isorhamnetin glycosides (12, 13) สารที่ไม่ใช่ฟลาโวนอยด์ 4 ชนิด ได้แก่ adenine (14), myo-inositol (15), arbutin (16) และ beta-sitosterol glucopyranoside (17) นำมาทดสอบฤทธิ์การยับยั้งเอนไซม์แอลโดสรีดักเตส พบว่าโครงสร้าง 3-O-alpha-l-rhamnopyranosyl-(1-->6)-beta-d-glucopyranoside ในring C ของฟลาโวนอยด์, kaempferol 3-O-alpha-l-rhamnopyranosyl-(1-->6)-beta-d-glucopyranoside (5) และ isorhamnetin 3-O-alpha-l-rhamnopyranosyl-(1-->6)-beta-d-glucopyranoside (13) มีค่า IC50  เท่ากับ 5.6 และ 9.0 ไมโครโมล่าร์ ตามลำดับ(Lim, et al., 2006)

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-สารสกัดแอลกอฮอล์ของเกสรบัวหลวงขนาด 10 กรัม/กิโลกรัม  โดยการป้อน  หรือฉีดใต้ผิวหนังหนูถีบจักร  ไม่ก่อเกิดความเป็นพิษ (นพมาศ และนงลักษณ์, 2551)

-การศึกษาความเป็นพิษในหนูทดลองโดยให้สารสกัดเอทานอลจากเกสรบัวหลวงโดยป้อนให้แก่หนูทดลอง การทดสอบพิษเฉียบพลัน ป้อนสารสกัด ในขนาด 5000 mg/kg ครั้งเดียว สังเกตผลภายใน 24 ชั่วโมง และติดตามอีก 14 วัน ผลการทดสอบ ไม่พบอาการพิษ ไม่พบการตายของหนู  และ การทดสอบพิษกึ่งเรื้อรัง ป้อนสารสกัด ขนาด  50, 100 และ 200 mg/kg/day เป็นเวลา 90 วัน ไม่พบพิษที่เกิดขึ้นกับหนูทดลอง น้ำหนักตัวไม่เปลี่ยนแปลง ยกเว้นเมื่อให้ยาในขนาด 200 mg/kg/day แก่หนูเพศเมีย ในวันที่ 90 พบว่าน้ำหนักหนูน้อยกว่ากลุ่มควบคุม แต่ไม่มีความผิดปกติของอวัยวะภายใน (Kunanusorna, et al., 2011)

การใช้ประโยชน์:

-อาการหวัดคัดจมูก ลดเสมหะ ใช้ใบบัวมาหั่นเป็นฝอยแล้วผึ่งแดดให้แห้ง ใช้ทำเป็นมวนสูบเพื่อช่วยบรรเทาอาการหวัดคัดจมูก

-อาการติดเชื้อในช่องปาก ใช้ดีบัวประมาณ 1.5-6 กรัม นำมาต้มเอาน้ำดื่ม 

-อาการร้อนในกระหายน้ำ ใช้เมล็ดหรือรากนนำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือใช้ใบนำมาหั่นเป็นฝอยชงดื่มแทนน้ำชา ก็ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำได้เช่นกันหรือจะใช้ดีบัวนำมาต้มเอาน้ำดื่มก็ช่วยแก้กระหายน้ำด้วยเช่นกัน และยังช่วยอาการกระหายหลังอาเจียนเป็นเลือดได้ด้วย 

-ช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง ใช้เมล็ดบัวแก่ทำซุปดื่ม หรือรับประทานสด เนื่องเม็ดบัวมีคุณค่าทางอาหารสูง ช่วยเพิ่มพลังงานและไขมันในร่างกาย จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เพิ่งหายป่วยใหม่ ๆ ที่ยังมีอาการอ่อนเพลียอยู่ หรือใช้เป็นอาหารบำรุงกำลังของหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการแพ้ท้อง มีอาการอ่อนเพลีย หรืออาเจียน 

-ช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง ใช้รากต้มเป็นน้ำกระสายดื่มแก้อาการอ่อนเพลีย ทำให้ร่างกายกระชุ่มกระชวย

-ช่วยบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ ทำให้ชุ่มชื่นใจ แก้อาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ เป็นยาสงบประสาท และช่วยขับเสมหะ ใช้เกสรแห้งนำมาบดเป็นผงครั้งละ 0.5-1 ช้อนชา ใช้ชงกับน้ำร้อนดื่ม หากเป็นเกสรสด ให้ใช้ประมาณ 1 หยิบมือ นำมาชงกับร้อน 1 แก้ว (ขนาดประมาณ 240 มิลลิลิตร) ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที แล้วนำมาดื่มในขณะที่ยังอุ่นครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 รอบ

-ช่วยบรรเทาอาการอ่อนเพลีย บำรุงร่างาย ใช้ดอกบัวสดสีขาวต้มกับน้ำดื่มติดต่อกัน จะมีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการอ่อนเพลีย ทำให้สดชื่นขึ้น และช่วยลดอาการใจสั่น

-ช่วยผ่อนคลายความเครียด อาการหงุดหงิดนอนไม่หลับ ช่วยทำให้นอนหลับสบาย ใช้ดีบัวประมาณ 1.5-6 กรัม นำมาต้มเอาน้ำดื่ม

-ช่วยลดความดันโลหิตสูงและลดไขมันในเส้นเลือด ใช้ใบสดหรือแห้งนำมาหั่นเป็นฝอยต้มกับน้ำพอท่วมจนเดือดประมาณ 10-15 นาที ใช้ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 ครั้ง โดยให้ดื่มติดต่อกันอย่างน้อย 20 วัน และตรวจวัดความดันเป็นระยะพร้อมทั้งสังเกตอาการ ได้แก่ อาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มึนงง ปวดท้ายทอย หากดื่มแล้วความดันโลหิตลดลงก็ต้องหมั่นตรวจวัดความดันอย่างน้อยเดือนละ 2-3 ครั้ง พร้อมทั้งสังเกตอาการดังกล่าวไปด้วย ถ้าหากพบว่ามีอาการผิดปกควรรีบไปพบแพทย์ 

-ช่วยลดความดันโลหิตสูงและลดไขมันในเส้นเลือด ใช้ดีบัวประมาณ 1.5-6 กรัม นำมาต้มเอาน้ำดื่ม ก็มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิตได้เช่นกัน อีกทั้งยังช่วยขยายเส้นเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจในกรณีที่เส้นเลือดตีบ

-ใบบัวหลวงนำมาใช้สำหรับห่อข้าว ห่ออาหาร ห่อขนม ซึ่งจะช่วยเพิ่มความหอมน่ารับประทานยิ่งขึ้น หรือจะนำมาห่อผักสดเก็บในตู้เย็น หรือใช้ในงานประดิษฐ์ต่าง ๆ เป็นต้น

-ใบอ่อน ใช้รับประทานเป็นผักสดแกล้มกับน้ำพริกได้

-ใบบัวแก่ เมื่อนำมาตากแห้ง ใช้เป็นส่วนผสมของยากันยุง

-ดอก นำมาบูชาพระหรือนำมาใช้ในทางศาสนา เนื่องจากดอกบัวหลวงเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงามทางพระพุทธศาสนา มีความเกี่ยวข้องโดยตรงสำหรับการบูชาพระรัตนตรัย อันได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

-กลีบดอก นิยมนำไปทำเมี่ยงดอกบัว ยำดอกไม้ หรือทำเมนูกลีบัวชุบแป้งทอด เป็นต้น

-เกสรตัวผู้ เมื่อนำมาตากแห้ง สามารถใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องยาไทยและจีนได้หลายชนิด เช่น ยาลม ยาหอม ยานัตถุ์ เป็นต้น

-สารสกัดจากเกสร สามารถนำมาใช้ทำเป็นเครื่องสำอางที่เป็นตัวช่วยชะลอการสร้างเม็ดสีผิว ทำให้ผิวหนังเต่งตึงและอ่อนนุ่ม เช่น ครีมกันแดด ครีมบำรุงผิวทั้งกลางวันกลางคืน

-ก้านดอก (สายบัว) นำมาปรุงเป็นอาหารหรือใช้แทนผักได้หลายชนิด เช่น แกงส้มสายบัวกับปลาทู แกงส้มสายบัว ต้มกะทิปลาทู เป็นต้น

-ก้านใบและก้านดอก สามารถนำมาใช้ทำเป็นกระดาษ และเส้นใยใช้ทำไส้ตะเกียง

-เม็ดบัวทั้งอ่อนและแก่ สามารถนำมารับประทานหรือใช้ประกอบอาหารได้หลากหลาย ที่รู้จักกันดีก็คือ น้ำอาร์ซี ข้าวอบใบบัว เม็ดบัวต้มน้ำตาลทรายแดงผสมในเต้าฮวยหรือเต้าทึง สังขยาเม็ดบัว เม็ดบัวเชื่อม สาคูเม็ดบัว ขนมหม้อแกงเม็ดบัว เป็นต้น

-ราก (เหง้าบัว) สามารถนำมาใช้ปรุงเป็นอาหารได้ทั้งคาวหวาน เช่น เหง้าบัวผัดน้ำมัน เหง้าบัวอ่อนต้มหรือตุ๋นกระดูกหมูกับเครื่องยาจีน นำมาเชื่อมแห้งรับประทานเป็นของหวาน ทำเป็นน้ำรากบัว หรือนำมาต้มเป็นน้ำสมุนไพรรากบัว เป็นต้น

-ไหล (หลดบัว) สามารถนำมาประกอบอาหารได้ทั้งสดและแห้ง เช่น การนำมาทำแกงเลียง แกงส้ม ต้มกะทิ ผัดเผ็ดต่าง ๆ เป็นต้น

 -นิยมปลูกไว้ประดับในสระน้ำหรือปลูกไว้ในกระถางทรงสูง

-ชาวอินเดียจะให้เด็กดื่มน้ำรากบัว เพื่อช่วยระงับอาการท้องร่วง



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง