Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: กำจาย (หนามจาย)

ชื่อท้องถิ่น:  ขี้แรด (ภาคกลาง)/หนามหัน (จันทบุรี)/ หนามแดง (ตราด)/ จิงจ่าย งาย ฮายปูน (นครศรีธรรมราช), ฮาย (สงขลา)/ งาย (ปัตตานี)/ ฮาย ฮายปูน (ภาคใต้)/กระจาย ขี้คาก (แพร่)/ มะหนามจาย (ตาก)/ มะเบ๋น (เงี้ยว-ภาคเหนือ)/ ตาฉู่แม สื่อกีพอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ชื่อสามัญ: -

ชื่อวิทยาศาสตร์: Caesalpinia digyna Rottler

ชื่อวงศ์: FABACEAE-LEGUMINOSAE และอยู่ในวงศ์ย่อย CAESALPINIOIDEAE-CAESALPINIACEAE

สกุล: Caesalpinia 

สปีชีส์: digyna

ชื่อพ้อง: 

-Caesalpinia gracilis Miq.

-Caesalpinia oleosperma Roxb.

-Caesalpinia olesperma Roxb.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

กำจาย thai-herbs.thdata.co | กำจาย สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นกำจาย เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย มีความสูงได้ประมาณ 2.5-10 เมตร ลำต้นและก้านใบมีหนามแหลมแข็งและโค้งคล้ายหนามกุหลาบ ตามกิ่งอ่อนมีขนสั้นขึ้นปกคลุม

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงสลับ ก้านใบประกอบยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร มีใบย่อยประมาณ 8-12 คู่ ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบเบี้ยว ใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 8-12 มิลลิเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวสด ก้านใบย่อยมีขนาดสั้นมาก ใบอ่อนมีขนนุ่ม แต่พอใบแก่จะร่วงหมด หูใบเรียวแคบ ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ร่วงได้ง่าย

ดอก ออกดอกเป็นช่อกระจะ โดยจะออกตามง่ามใบและที่ปลายกิ่ง ยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก กลีบดอกมี 5 กลีบ เป็นสีเหลืองสด มีขนาดไม่เท่ากัน แต่ละกลีบค่อนข้างกลม ปลายหยักเว้า เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-7 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ แต่ละกลีบมีขนาดไม่เท่ากัน กลีบด้านนอกจะมีขนาดใหญ่กว่ากลีบชั้นอื่น โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน ก้านชูอับเรณูมีขนเป็นปุย รังไข่เกลี้ยงหรือมีขนขึ้นประปราย มีออวุล 3-4 เม็ด


กำจาย thai-herbs.thdata.co | กำจาย สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะเป็นฝักแบน ลักษณะของฝักเป็นรูปรีแกมขอบขนาน ตรงกลางป่องเล็กน้อย ปลายเป็นจะงอย ขอบเป็นสัน ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร ก้านสั้น ฝักดิบเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ และไม่แตกอ้า เมล็ดมีประมาณ 2-3 เมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาลมีลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดกว้างประมาณ 9 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 12 มิลลิเมตร

สภาพนิเวศวิทยา: พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณและตามชายป่าทั่วไป

ถิ่นกำเนิด: -

การกระจายพันธุ์: จีนตอนใต้ อินเดีย เนปาล ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และในมาเลเซีย

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ราก รสเบื่อเย็นเล็กน้อย สรรพคุณ ขับระดูสตรี แก้พิษงู ถอนพิษแมลงกัดต่อย แก้พิษฝี แก้แผลเรื้อรัง

องค์ประกอบทางเคมี: -

การศึกษาทางเภสัชวิทยา: -

การศึกษาทางพิษวิทยา: -

การใช้ประโยชน์:

-พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย ปวดฝี ใช้รากตำพอกเป็นยาถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย ขับพิษงู ช่วยดับพิษ แก้ปวดฝีทุกชนิด และช่วยดับพิษฝี 

-แผลสด แผลเรื้อรัง และแผลเปื่อย ใช้รากตำพอกเป็นยารักษาแผลสด แผลเรื้อรัง และแผลเปื่อยได้เด็ดขาดนัก 

-ชะล้างแผลสด ห้ามเลือด สมานแผล ใช้ฝักสด รสฝาด นำมาตำให้ละเอียดห่อด้วยผ้าขาวบางคั้นเอาน้ำมาใช้ชะล้างแผลสด ห้ามเลือด สมานแผล ทำให้แผลหายเร็ว และรอยแผลเป็นไม่มี 

-นิยมปลูกไว้เพื่อใช้ประโยชน์ทางยาตามสวนยาแผนไทย และปลูกไว้ตามหัวไร่ปลายนาในชนบททั่วไป 

-น้ำฝาดที่ได้จากผลหรือฝักสามารถนำมาใช้ในการย้อมผ้า แห และอวนได้



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง