Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: เพกา

ชื่อท้องถิ่น: ลิ้นฟ้า (เลย, ภาคอีสาน)/ กาโด้โด้ง (กาญจนบุรี)/ ดุแก ดอก๊ะ ด๊อกก๊ะ (แม่ฮ่องสอน)/ เบโด (จังหวัดนราธิวาส)/ มะลิ้นไม้ มะลิดไม้ ลิดไม้ (ภาคเหนือ)/ โชยเตียจั้ว (จีน)

ชื่อสามัญ: Broken bones tree, Damocles tree, Indian trumpet flower

ชื่อวิทยาศาสตร์: Oroxylum indicum (L.) Kurz

ชื่อวงศ์: BIGNONIACEAE

สกุล: Oroxylum

สปีชีส์:  indicum 

ชื่อพ้อง: 

-Arthrophyllum ceylanicum Miq.

-Arthrophyllum reticulatum Blume ex Miq.

-Bignonia indica L.

-Bignonia lugubris Salisb.

-Bignonia pentandra Lour.

-Bignonia quadripinnata Blanco

-Bignonia tripinnata Noronha

-Bignonia tuberculata Roxb. ex DC.

-Calosanthes indica (L.) Blume

-Hippoxylon indica (L.) Raf.

-Oroxylum flavum Rehder

-Spathodea indica (L.) Pers.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

เพกา thai-herbs.thdata.co | เพกา สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นเพกา เป็นไม้ยืนต้น กึ่งผลัดใบหรือไม่ผลัดใบ สูงประมาณ 5-12 เมตร เรือนยอดเล็ก กิ่งเปราะหักง่าย แตกกิ่งก้านน้อย ต้นที่มีอายุน้อยมีกิ่งใหญ่ตรงกลางกิ่งเดียว เปลือกเรียบ มีใบเป็นกลุ่มตรงกลาง คล้ายกับต้นปาล์ม ภายหลังจากออกดอก ลำต้นจะแยกเป็นกิ่งระเกะระกะ เปลือกต้น สีน้ำตาลครีมอ่อน หรือเทาอ่อน แตกเป็นสะเก็ดสี่เหลี่ยม และแผลของใบยาวถึง 150 เซนติเมตร เกิดจากใบที่ร่วงไปแล้ว ลำต้นและกิ่งก้านมีรูระบายอากาศ กระจายอยู่ทั่วไป เปลือกลำต้นเรียบสีเทา มีรอยแผลเป็น จากการหลุดร่วงของ

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก 3 ชั้น ปลายคี่ ใบขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 60-200 เซนติเมตร เรียงตรงข้ามกันอยู่บริเวณปลายกิ่ง ใบย่อยรูปไข่ หรือรูปไข่แกมวงรี กว้าง 4-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร ปลายยาว ขอบใบเรียบ ฐานใบสอบแคบ ใบเกลี้ยง หรือมีขนสีขาวสั้นๆ ด้านล่าง ท้องใบนวล ก้านใบบนสุดแยกออก 1 ครั้ง ก้านใบกลางแยก 2 ครั้ง และก้านใบล่างแยก 3 ครั้ง ทำให้เห็นใบทั้งหมดเป็นรูปสามเหลี่ยม  ก้านใบย่อยยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ก้านใบข้าง และก้านใบร่วมโค้งพองออกที่ฐานและที่ข้อ ก้านใบยาวประมาณ 0.5-2 เมตร


เพกา thai-herbs.thdata.co | เพกา สรรพคุณ สมุนไพร ไทย เพกา thai-herbs.thdata.co | เพกา สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกช่อขนาดใหญ่แบบกระจะ ออกที่ปลายยอดเป็นกระจุก มีดอกย่อย 20-35 ดอก จะบานพร้อมกันคราวละ 2-3 ดอก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 60-180 เซนติเมตร ยื่นออกมานอกทรงพุ่มของยอด ดอกย่อยมีขนาดใหญ่ประมาณ 8-12 เซนติเมตร กลีบดอกสีนวลแกมเขียวโคนกลีบเป็นหลอดสีม่วงแดง หรือม่วงด้านนอก หลอดกลีบดอกยาว 2-4 เซนติเมตร รูปแตร กลีบดอกหนา ขอบย่น ไม่มีพู หรือพูไม่เท่ากัน มีต่อมกระจายอยู่ด้านนอก ด้านในมีขนหนาแน่น ดอกบานตอนกลางคืน มีกลิ่นสาบฉุน และร่วงตอนเช้า มักจะมีดอกและผลในกิ่งเดียวกัน เกสรตัวผู้ 5 อัน ติดกับหลอดดอก โคนก้านมีขน เกสรตัวเมียมี 1 อัน กลีบเลี้ยงยาว 2-4 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นรูปทรงกระบอก ปลายไม่แยกเป็นกลีบอย่างเด่นชัด เมื่อเป็นผล กลีบเลี้ยงนี้จะเจริญเป็นเนื้อแข็งมาก


เพกา thai-herbs.thdata.co | เพกา สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะผลเป็นฝัก แบน โค้งเล็กน้อยที่ฐาน มีสันเล็กๆที่ด้านข้าง คล้ายรูปลิ้น ห้อยอยู่เหนือเรือนยอด กว้างประมาณ 6-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30-120 เซนติเมตร สีน้ำตาลเข้ม สีแดง ติดฝักยาก ฝักเป็นรูปดาบ เมื่อแก่จะแตกเป็น 2 ซีก เมล็ดแบนสีขาว  ขนาดประมาณ 4-8 เซนติเมตร มีปีกบางโปร่งแสง 

สภาพนิเวศวิทยา: พบบริเวณป่าเต็งรัง ป่าทุ่ง ป่าผสมผลัดใบ บริเวณ ไร่ สวน

ถิ่นกำเนิด: จีนไปจนถึงเอเชียเขตร้อน

การกระจายพันธุ์: เกาะอันดามัน, อัสสัม, บังกลาเทศ, กัมพูชา, จีนตะวันออกเฉียงใต้, หิมาลัยตะวันออก, อินเดีย, จาวา, ลาว, ซุนดาน้อย, มาลายา, เมียนมาร์, เนปาล, ฟิลิปปินส์, ศรีลังกา, สุลาเวสี, สุมาเตรา, ไทย, เวียดนาม

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*เปลือกต้น รสฝาดเย็นขมเล็กน้อย สรรพคุณ ตำกับสุรา ทา พ่นตามตัวสตรีที่ทนการอยู่ไฟไม่ได้ ทำให้หนังชา สมานแผล ทำให้น้ำเหลืองปกติ ดับพิษโลหิต

*ฝักแก่ รสขม สรรพคุณ แก้ร้อนในกระหายน้ำ

*ฝักอ่อน รสขมร้อน สรรพคุณ ขับผายลม

*เมล็ดแก่ รสขม สรรพคุณ ระบายท้อง

*ราก รสฝาดขมน้อย สรรพคุณ บำรุงธาตุ ทำให้เกิดน้ำย่อยอาหาร แก้ท้องร่วง ฝนกับน้ำปูนใส ทาแก้บวมอักเสบ

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ใบ พบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ chrysin, baicalein, baicalein-7-O-glucoside, baicalein-7-O-diglucoside, chrysin-7- O-glucuronide, baicalein-7-O-glucuronide, chrysin-diglucoside (จันทร์เพ็ญ, 2559)

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดเอทิลอะซิเตต และสารสกัดเมทานอลที่ได้จากดอก และใบเพกา ทำการศึกษาในหลอดทดลอง โดยใช้วิธี agar disc diffusion ทดสอบกับเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ ได้แก่ เชื้อแบคทีเรียแกรมบวก 2 ชนิด คือ Bacillus subtilis และ Staphylococus aureus และเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ 2 ชนิด คือ Escherichia coli  และ Pseudomonas aeruginosa  ใช้สารสกัดที่ความเข้มข้น 500 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ปริมาณ 20 ไมโครลิตรต่อ disc ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ สารสกัดเอทิลอะซิเตตจากดอก (FE) และใบ (LE) สารสกัดเมทานอลจากดอก (FM ) และใบ (LM) จำนวน 4 ตัวอย่าง สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก คือ S. aureus และ B. subtilis ได้ โดยสาร FE มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย B. subtilis สูงที่สุด ให้ค่าเฉลี่ยบริเวณโซนใสในการยับยั้งเชื้อ (Inhibition zone) เท่ากับ 13.83 ± 2.88 mm สำหรับเชื้อแบคทีเรีย S. aureus สาร LM มีฤทธิ์ยับยั้งได้สูงที่สุดเท่ากับ 13.33 ± 0.70 mm ส่วนแบคทีเรียแกรมลบ P. aeruginosa พบว่าสาร FE และ FM สามารถยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย โดยมีค่า Inhibition zoneเท่ากับ 11.00 ± 0.50 และ 7.50 ± 0.50 mm ตามลำดับ นอกจากนี้พบว่ามีเพียงสาร FE เท่านั้นที่สามารถยับยั้งการเจริญของ E. coli ได้ ให้ค่า Inhibition zone เท่ากับ 8.50±0.80 mm โดยสรุปสารสกัดเอทิลอะซิเตดจากดอก มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก และแกรมลบ ได้ทุกชนิดเมื่อเทียบกับสารสกัดอื่น และมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย B. subtilis และ P. aeruginosa สูงสุด (จันทร์เพ็ญ, 2559)

-การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดน้ำ และเอทานอล ที่ได้จากผล และเมล็ดเพกา ที่เก็บ หรือซื้อจากจังหวัดนครปฐม และกรุงเทพมหานคร ทำการศึกษาในหลอดทดลอง เชื้อที่ใช้ทำการทดสอบ ได้แก่ Staphylococcus intermedius และ Streptococcus suis  ตรวจสอบโดยใช้วิธี disc diffusionmethod เพื่อหาค่าบริเวณโซนใสในการยับยั้งเชื้อ (zone of inhibition) ใช้ยา amoxicillin/clavulanic acid (AMC) ขนาด 30 µg และยา gentamicin ขนาด10 µg เป็นสารมาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลจากผลเพกา ที่เก็บจาก จ. นครปฐม ในขนาด 1000 mg/ml สามารถยับยั้งเชื้อ S. intermedius และ S. suis ได้ดีที่สุด โดยมีขนาด zone of inhibition เท่ากับ 15.11±2.10 และ 14.39±2.47 mm ตามลำดับ (p<0.05) ยามาตรฐาน AMC มีค่า zone of inhibition ต่อเชื้อ S. intermedius และ S. suis เท่ากับ 24.44±0.73 mm และ 32.56±0.53 mm ตามลำดับ ยามาตรฐาน gentamicin มีค่า zone of inhibition ต่อเชื้อ S. intermedius เท่ากับ 15.00±0.50 mm โดยสรุปสารสกัดเอทานอลจากผลเพกาที่เก็บจาก จ.นครปฐม สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียทั้ง 2 ชนิด ได้ดีที่สุด และสามารถยับยั้งเชื้อ S. intermedius ได้เทียบเท่ากับยามาตรฐาน gentamicin จึงสามารถนำมาพัฒนายารักษาโรคติดเชื้อ S. intermedius ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียเฉียบพลันที่ผิวหนัง และโครงสร้างผิวหนัง (acute bacterial skin and skin structure infections) และเชื้อ Streptococcus suis  ทำให้มีอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสูญเสียการได้ยิน จนถึงขั้นหูหนวกถาวร ผู้ป่วยบางรายมีอาการข้ออักเสบ เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังอักเสบ (cellulitis) ในรายที่มีอาการติดเชื้อในกระแสโลหิตจะมีผลต่ออวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ไต เยื่อบุหัวใจอักเสบ ปอดอักเสบ ลูกตาอักเสบ มีผื่นจํ้าเลือดทั่วตัว และช็อก หลังจากที่หายจากอาการป่วยแล้ว อาจมีความผิดปกติของการทรงตัว และการได้ยิน (Sithisarn, et al., 2016)

-ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดน้ำ และสารสกัดเอทานอล ที่ได้จากผล และเมล็ดเพกา ที่เก็บ หรือซื้อจาก จังหวัดนครปฐม และกรุงเทพมหานคร ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ตรวจสอบโดยใช้วิธี DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl) assay ใช้ ascorbic acid และ baicalein (สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ที่แยกได้จากผลเพกา) เป็นสารมาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลจากเมล็ดเพกา ที่ซื้อมาจากกรุงเทพมหานคร มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงสุด โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งได้ร้อยละ 50 (IC50) เท่ากับ 26.33±0.84 µg/ml (สารมาตรฐาน ascorbic acid และ baicalein มีค่า IC50 เท่ากับ 3.86±0.12 และ 3.17±0.05 µg/ml ตามลำดับ) (Sithisarn, et al., 2016)

-การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเอทิลอะซิเตต และสารสกัดเมทานอล ที่ได้จากดอก และใบเพกา ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ตรวจสอบโดยใช้วิธี TLC DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl) assayโดยใช้ เฮกเซน:เอทิลอะซิเตต:เมทานอล (8:2:1)เป็น mobile phase รายงานผลจากการสังเกตตำแหน่งการฟอกจางสี DPPH ที่ค่า Rf ต่าง ๆ ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดทั้ง 4 ชนิดให้ผลต้านอนุมูลอิสระ DPPH  โดยสารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมากที่สุดคือสารสกัดเอทิลอะซิเตตที่ได้จากใบ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระรวม 5 ตำแหน่ง ที่ค่า Rf เท่ากับ 0.09, 0.38, 0.47, 0.70 และ 0.90ตามลำดับ (จันทร์เพ็ญ, 2559)

การศึกษาทางพิษวิทยา: -

การใช้ประโยชน์:

-อาการปวดฝี ใช้เปลือกต้นนำมาฝนแล้วทาบริเวณรอบ ๆบริเวณที่เป็นฝี

-โรคงูสวัด ใช้เปลือกต้นเพกา เปลือกคูณ รากต้นหมูหนุน นำมาฝนใส่น้ำทาบริเวณที่เป็น จะช่วยให้หายเร็วขึ้น

-ยอดและดอกอ่อนสีเหลืองอ่อนเกสรแดงนั้น มีรสขมอ่อนๆ คล้ายใบยอ นำมาลวก ต้ม หรือเคี่ยวหัวกะทิข้นๆ ราดไปบนยอดดอกอ่อน ใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริก หรือนำมาผัดใส่กุ้งก็อร่อย นำมายำใส่กระเทียมเจียวก็มีรสชาติเยี่ยม 

-ฝักอ่อน ที่อายุไม่เกิน 1 เดือน ขนาดไม่ใหญ่มากนัก ต้องใช้เล็บมือจิกลงไปได้ จิ้มกินกับน้ำพริก นำฝักอ่อนที่ได้มาเผาไฟแรงๆ จนเปลือกพองไหม้ทั่ว ขูดลอกเอาส่วนดำที่ผิวออกให้หมด จะได้ส่วนในที่มีกลิ่นหอม หั่นเป็นชิ้นตามขวางหนา นำมาปรุงเป็นอาหารทั้งนำมาเป็นผักจิ้มน้ำพริก เป็นเครื่องเคียงลาบ ก้อย ใช้ทอดกินกับไข่ ใส่แกง คั่ว ยำ ผัดกับหมู หรือทำแกงอ่อมปลาดุกใส่ฝักเพกาแทนใบยอ 

-ชาวกะเหรี่ยง นำเปลือกต้น สับให้ละเอียดใส่ลาบ ทำให้มีรสขม 

-เปลือกของลำต้น นำมาใช้ทำสีย้อมผ้า ซึ่งให้สีเขียวอ่อน

-เนื้อไม้ มีสีขาวละเอียด มีความเหนียว เหมาะสำหรับนำมาใช้ทำงานแกะสลักต่าง ๆ









ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง