Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: หมีเหม็น

ชื่อท้องถิ่น:  อีเหม็น (กาญจนบุรี, ราชบุรี)/ หมูทะลวง (จันทบุรี)/ มะเน้อ ยุบเหยา (ภาคเหนือ, ชลบุรี)/ ทังบวน (ปัตตานี)/ มัน (ตรัง)/ หมูเหม็น (แพร่)/ ดอกจุ๋ม (ลำปาง)/ หมี (อุดรธานี, ลำปาง)/ ตังสีไพร (พิษณุโลก)/มะเย้ย ไม้หมี่ (คนเมือง)/ ไม้ต๊องช้าง (ไทยใหญ่)/ ลำหญุบหญอ (ลั้วะ)/ มือเบาะ (มลายู-ยะลา)/ ส่ปึยขู้ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ชื่อสามัญ: -

ชื่อวิทยาศาสตร์: Litsea glutinosa (Lour.) C.B.Rob.

ชื่อวงศ์: LAURACEAE

สกุล: Litsea 

สปีชีส์: glutinosa

ชื่อพ้อง: 

-Litsea chinensis Lam.,

-Litsea sebifera Pers.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นหมีเหม็น เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ มีความสูงได้ประมาณ 5-15 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลมทึบ เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาล ลำต้นแก่แตกเป็นร่องตื้น ๆ ตามยาว ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนละเอียด 


หมีเหม็น thai-herbs.thdata.co | หมีเหม็น สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ-เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ มักออกเป็นกลุ่มหนาแน่นที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปรีแกมขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ หรือค่อนข้างกลม ปลายใบมนหรือเรียวแหลม โคนใบมนหรือสอบเป็นครีบ ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-9 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างหนา หลังใบเกลี้ยง สีเขียวเข้มเป็นมัน ท้องใบมีขน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ตามก้านใบมีขน ก้านใบยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร


หมีเหม็น thai-herbs.thdata.co | หมีเหม็น สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกแยกเพศอยู่คนละต้น ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่ม โดยจะออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกย่อยเป็นสีเหลือง ไม่มีกลีบดอก ช่อดอกเพศผู้มีดอกย่อยประมาณ 8-10 ดอก กลีบรวมลดรูปเหลือ 1-2 กลีบ หรือไม่มีเลย ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ขอบกลีบมีขน ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 9-20 อัน เรียงเป็นชั้น ๆ ก้านเกสรมีขน ชั้นในมีต่อมกลม ๆ อับเรณูเป็นรูปรี มี 4 ช่อง เกสรเพศเมียเป็นหมันอยู่ตรงกลาง อับเรณูเป็นแบบฝาเปิด กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ ลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปกลม ส่วนช่อดอกเพศเมียกลีบรวมลดรูปเหลือเพียงเล็กน้อยหรือไม่มี ก้านช่อดอกยาวประมาณ 2-6 เซนติเมตร เกสรเพศผู้เป็นหมัน ลักษณะเป็นรูปช้อน ส่วนเกสรเพศเมียไม่มีขน รังไข่เป็นรูปไข่ ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ปลายเกสรเพศเมียเป็นรูปจาน มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ แยกจากกัน


หมีเหม็น thai-herbs.thdata.co | หมีเหม็น สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล  ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม กลิ่นเหม็น มีขนาดประมาณ 5-7 มิลลิเมตร ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนสีม่วงเข้มเกือบดำ ก้านผลมีขน ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดแข็ง ช่อหนึ่งมีผลประมาณ 3-5 ผล

สภาพนิเวศวิทยา: พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และตามป่าดงดิบ

ถิ่นกำเนิด: -

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*เปลือกต้น รสฝาด สรรพคุณ แก้บิดมูกเลือด แก้ปวดมดลูก แก้พิษฝี ผื่นคัน 

*ยาง รสฝาดขม สรรพคุณ แก้แผลฟกช้ำ

*ราก รสขมเบื่อ สรรพคุณ แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือกล้ามเนื้ออักเสบ

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ใบ พบสาร actinodaphnine, boldine, iso-boldine, laurelliptine, N-acetyl- laurelliptine, laruotetanine, N-acetyl-laurotetanine, N-methyl-laurotetanine, liriodenine, Litsea arabinoxylan PPS, litseferine, polysaccharide, reticuline, sebiferine

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย การศึกษาด้วยการประเมินฤทธิ์ประสิทธิภาพการป้องกันความผิดปกติของลิ่มเลือด โดยใช้สารสกัดจากจากใบหมี่ พบว่า สารสกัดจากรากของต้นหมี่สามารถออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย S. aureus และสารสกัดจากเปลือกต้นหมี่สามารถออกฤทธิ์ต้านเชื้อ P. aeruginosa (Hosamath,2011)

-การศึกษาประสิทธิภาพการต้านเชื้อแบคทีเรีย ของใบหมี่ พบว่า สารสกัดจากใบหมี่สามารถออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด ได้แก่ E.coli, Salmonella spp., S. aureus และ S. epidermis (Ahmina,2014)

-การศึกษาประสิทธิภาพฤทธิ์สารสกัดจากเปลือกต้นใบหมี่ที่มีต่อต่อการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Vibrio Cholera, Pseudomonas aeruginosa และ Salmonella โดยพบว่าสารสกัดมีประสิทธิภาพสามารถยับยั้งแบคทีเรียทั้ง 3 ชนิดได้ โดยมีค่า MIC ในการยับยั้งเชื้อที่ 0.15 ± 0.15 x 102 มิลลิกรัม/มิลลิลิต (Aronodaya, et al. (2016)

-น้ำมันหอมระเหยจากใบมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Staphylococcus aureus (gram positive bacteria) ส่วนน้ำมันจากผลมีฤทธิ์ยับยั้ง Candida albicans (yeast)

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-จากการทดสอบความเป็นพิษ โดยฉีดสารสกัดจากพืชส่วนที่อยู่เหนือดินด้วย 50% เอทานอลเข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักรทดลอง พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งมีค่ามากกว่า 1 กรัมต่อกิโลกรัม

การใช้ประโยชน์:

-โรคเหา ใช้ใบนำมาตำแล้วพอกศีรษะเพื่อฆ่าเหา

-อาการปวดบิด ท้องเสีย ใช้เปลือกต้นมีรสฝาดเฝื่อน ใช้ต้มกับน้ำดื่ม

-อาการพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย ใช้เปลือกต้นฝนทาบริเวณที่มีอาการ 

-ช่วยห้ามเลือด บาดแผล แผลอักเสบ และ ใช้ใบ, ราก, เปลือกต้น ตำพอกรักษาบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือนำมาบดให้เป็นผงใช้ผสมกับน้ำหรือน้ำนมทาบริเวณที่มีอาการ

-ผลสุก สีม่วงเข้มเกือบดำ มีรสหวาน ใช้รับประทานได้

-ดอก นำมาตากแห้งอบน้ำหอม ประดิษฐ์เป็นของชำร่วย

-ใบ ใช้บ่มกล้วยให้สุกเร็ว หรือใช้รองปิดปากไหปลาร้ากันหนอน

-ใบ นำมาขยี้ผสมกับน้ำซาวข้าว ใช้เป็นยาสระผม ช่วยป้องกันรังแค และทำให้ผมนุ่ม หรือจะนำใบและยอดอ่อนมาผสมกับเปลือกต้นเถารางแดง ส้มป่อยหรือมะนาวหรือมะกรูด และน้ำด่าง (น้ำขี้เถ้า) นำมาผสมแล้วต้มรวมกัน แล้วนำน้ำที่ได้ไปสระผมก็ได้

-ใบ, ใช้ย้อมผ้าได้ โดยจะให้สีเขียว

-เปลือกต้น ใช้ย้อมสีผ้า ย้อมแหให้ติดสี, ผงจากเปลือก ใช้ทำธูปจุดไล่แมลง

-ยางของต้น ใช้ทาเครื่องจักสานให้หนาและทนทาน และใช้ดักแมลงตัวเล็ก

-เนื้อไม้ สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน เฟอร์นิเจอร์ 

-ในด้านประเพณี บางท้องถิ่นจะใช้ใบนำมาห่อข้าวต้มประกอบในพิธีบายศรีสู่ขวัญ ใช้แก่นทำช่อฟ้าอุโบสถ

-ในด้านความเชื่อ เช่น การขูดเปลือกเพื่อขอหวย ใช้ใบไล่ผี เวลาเดินทางไกลจะนำใบมาเหน็บบั้นเอวไว้ โดยเชื่อว่าจะทำให้หายจากอาการจุกเสียด นอกจากนี้ยังเชื่อว่าคนท้องที่สระผมด้วยใบหมี่กับน้ำซาวข้าวแล้วจะช่วยให้คลอดบุตรได้ง่ายขึ้น



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง