Select your language TH EN
สรรพคุณเภสัช รสของตัวยา  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



รสของตัวยา ๔ , ๖ , ๘ , ๙ รส

๑.  รสยา ๔ รส

ในคัมภีร์ธาตุวิภังค์  ได้กล่าวถึงรสยา ๔ รส แก้โรคดังนี้

๑) รสยาฝาด                 ซาบไปในผิวเนื้อ และเส้นเอ็น

๒) รสยาเผ็ด                 ซาบไปในผิวหนังทุกเส้นขน

๓) รสยาเค็ม                 ซาบไปในที่เส้นเอ็นและกระดูกทั่วสรรพางค์กาย

๔) รสยาเปรี้ยว              ซาบไปในเอ็นทั่วสรรพางค์กาย

๒.  รสยา  ๖  รส

ในคัมภีร์วรโยคสาร ได้กล่าวถึงรสยา ๖ รส แก้โรคดังนี้

๑) มธุระ คือ  รสหวาน ชอบกับยาให้เจริญรสธาตุ

๒) อัมพิระ คือ รสเปรี้ยว ทำให้ดี ลม เสลดอนุโลมตามซึ่งตนและเจริญรสอาหาร บำรุงไฟธาตุกระทำสารพัดที่ดิบให้สุก ถ้าใช้เป็นเกิดคุณ ใช้ไม่เป็นเกิดโทษ

๓) ลวณะ คือ รสเค็ม เผาโทษเผาเขฬะ ให้เจริญไฟธาตุ

๔) กฏุกะ คือ รสเผ็ด กระทำให้กำลังน้อย ระงับความเกียจคร้าน ระงับพิษ ไม่ให้เจริญบำรุงไฟธาตุและให้อาหารสุก

๕) ติตติกะ คือ รสขม เจริญไฟธาตุ แก้ร้อน แก้ระหายน้ำ กระทำให้มูตรและ คูถบริสุทธิ์เจริญรสอาหาร

๖) กะสาวะ คือ รสฝาด เจริญไฟธาตุ แก้กระหายน้ำ ให้เจริญผิวกายและเนื้อ

คุณสมบัติของยาแต่ละรส  ให้แสลงกับโรคต่างๆ  มีรายละเอียดดังนี้  คือ

รสเผ็ด รสขม และรสฝาด                                    ทั้ง ๓ รสนี้ ทำให้ ลมกำเริบ

รสเผ็ด รสเปรี้ยว และรสเค็ม                             ทั้ง ๓ รสนี้ ทำให้ ดีกำเริบ

รสหวาน รสเปรี้ยว และรสเค็ม                          ทั้ง ๓ รสนี้ ทำให้เสลดกำเริบ

๓. รสยา  ๘  รส

ในคัมภีร์ธาตุวิวรณ์  กล่าวถึงยา ๘ รส แก้โรคดังนี้คือ

๑) รสขม                           ย่อมซาบไปตามผิวหนัง

๒) รสฝาด                         ย่อมซาบมังสัง (ซาบเนื้อ)

๓) รสเค็ม                          ซาบเส้นเอ็น

๔) รสเผ็ดและรสร้อน            ซาบกระดูกมิได้เว้น

๕) รสหวาน                       ย่อมซึมซาบลำไส้ใหญ่

๖) รสเปรี้ยว                      ซาบลำไส้น้อย

๗) รสเย็นหอม                   ซาบหัวใจ

๘) รสมัน                           ซาบที่ข้อต่อทั้งปวง

๔. รสยา ๙ รส

ในการศึกษาเรื่องสรรพคุณเภสัช ได้สรุปรสชองวัตถุธาตุได้ ๙ รส จำแนกให้ละเอียดออกไปดังนี้

๑) รสฝาด สรรพคุณ มีฤทธิ์ทางสมาน เช่น สมานบาดแผลทั้งภายในและภายนอก แผลสด แผลเปื่อย กัดเนื้อร้าย แก้โรคบิด ท้องร่วง แก้อุจจาระธาตุพิการ คุมธาตุ แสลงกับโรคไอ ท้องผูก โรคลม โรคพรรดึก ท้องผูก เตโชธาตุพิการ (ธาตุไฟ)

๒) รสหวาน สรรพคุณ มีฤทธิ์ซึมซาบไปตามเนื้อ เช่น ทำให้เนื้อในร่างกายชุ่มชื้น บำรุงกล้ามเนื้อ บำรุงหัวใจ เจริญอาหาร แก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง แก้ไอ แก้เสมหะแห้ง แก้หอบ แสลงกับโรค ฟันผุ เสมหะเฟื่อง อาเจียน โรคเบาหวาน น้ำเหลืองเสีย บาดแผล

๓) รสเมาเบื่อ สรรพคุณ แก้พิษ เช่น พิษดี พิษเสมหะ พิษโลหิต พิษไข้ พิษสัตว์กัดต่อย แก้โรคทางอาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) แก้พยาธิ ผื่นคัน แสลงกับโรค หัวใจพิการ ไอ

๔) รสขม สรรพคุณ แก้ในทางโลหิตและดี แก้กำเดา แก้ไข้ต่างๆ เช่น ไข้ตัวร้อน ไข้จับสั่น บำรุงน้ำดี เจริญอาหาร ช่วยย่อยอาหาร แสลงกับโรค หัวใจพิการ โรคลม จุกเสียด แน่นเฟ้อ

๕) รสเผ็ดร้อน สรรพคุณ แก้โรคลมจุกเสียด ขับลมให้ผายหรือเรอ บำรุงเตโชธาตุ (ธาตุไฟ) ขับเหงื่อ ช่วยย่อยอาหาร แสลงกับโรค ไข้ตัวร้อน เพ้อคลั่ง

๖) รสมัน สรรพคุณ มีฤทธิ์ซึมซาบไปตามเส้นเอ็น แก้เส้นเอ็นพิการ บำรุงเส้นเอ็น แก้ปวดเมื่อย บำรุงไขข้อ บำรุงเยื่อกระดูก เป็นยาอายุวัฒนะ ให้ความอบอุ่นแก่ ร่างกาย แสลงกับโรค เสมหะพิการ  เช่น ไอ หอบ บิด และไข้ต่างๆ ร้อนในกระหายน้ำ

๗)  รสหอมเย็น สรรพคุณ บำรุงหัวใจ ตับ ปอด บำรุงครรภ์ แก้อ่อนเพลีย ชูกำลัง แก้กระหายน้ำดับพิษร้อน แสลงกับโรค ลมจุกเสียดแน่น  ลมป่วง

๘) รสเค็ม สรรพคุณ  มีฤทธิ์ซึมซาบไปตามผิวหนัง แก้โรคผิวหนัง โรคพรรดึก ถ่ายชำระน้ำเหลือง ชำระเมือกมันในลำไส้ ฟอกโลหิต แก้เสมหะเหนียว แสลงกับโรค อุจจาระธาตุพิการ โรคบิดมูกเลือด กระเพาะอาหารเป็นแผล

๙) รสเปรี้ยว สรรพคุณ แก้เสมหะพิการ แก้เสมหะเหนียว แก้ไอ แก้ท้องผูก ระบายอุจจาระ ฟอกโลหิต แก้กระหายน้ำ แสลงกับโรค น้ำเหลืองเสีย ท้องเสีย และไข้ต่างๆ

นอกจากนี้ในตำราเวชศึกษายังเพิ่ม รสจืด อีกหนึ่งรส สรรพคุณ แก้เสมหะ ขับปัสสาวะ ดับพิษไข้ ดับพิษปวดร้อน แก้ทางเตโชธาตุ ไม่แสลงกับโรคใด



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง