Select your language TH EN
ศาสตร์การเผ้าจื้อ วิธีการเผ้าจื้อ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



วิธีการเผ้าจื้อ

วิธีการเผ้าจื้อหรือวิธีเตรียมตัวยาพร้อมใช้ แบ่งเป็นหลายประเภท ทุกประเภทมีการศึกษาวิจัยและถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้ต่อคนรุ่นถัดไป วิธีการเผ้าจื้อสามารถอธิบายได้ในเชิงวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบมีความสมบูรณ์สะดวกต่อการศึกษาและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง

ตำราเปิ๋นเฉ่าจิงจี๋จู้ของถ่าวหงจิ่ง  ค.ศ. 2452 ถึง 536 ได้จัดหมวดหมู่ยาตามความแรงของสรรพคุณยา ริเริ่มหลัก “ยาต่างกลุ่มอาจใช้รักษาโรคเดียวกันได้” และกล่าวถึงวิธีการเก็บสมุนไพร รวมถึงได้บันทึกวิธีการเผ้าจื้อสมุนไพรชนิดต่างๆไว้ด้วย สมุนไพรบางชนิดอาจจะนำมาต้มต้องทุบหรือบุบให้แตกก่อน เช่น ชะเอมเทศ ลูกพุด เป็นต้น ซึ่งในยุคนั้นถือว่าเป็นพื้นฐานของการเผ้าจื้อ การเผ้าจื้อแบ่งเป็น 5 ประเภทดังนี้

1. การเผ้าจื้อแบบเหลย์กง  17 วิธี

ในสมัยราชวงศ์หมิงมีแพทย์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งคือ เมี่ยวซรยง ได้บันทึกวิธีเผ้าจื้อแบบเหลย์กงไว้ในตำราเผ้าจื้อต้าฝ่า จำนวน 17 วิธีดังนี้

1.1 การปิ้งไฟ (เผ้า) หมายถึงการนำตัวยาใส่ในไฟที่คุุณอยู่จนกระทั่งตัวยาดำเกรียม ปัจจุบันหมายถึงการใช้วิธีการผัดตัวยาจนดำเกรียมเล็กน้อย เช่น การคั่วหรือปิ้งขิงหรืออาจใช้ทรายมาผัดรวมกับตัวยาด้วยความร้อนสูงจนพองออก

1.2 การลนไฟ (เจียน) หมายถึงการใช้ไฟร้อนย่างตัวยา เช่น กู่เซวบปู่  ใช้วิธีการลนไฟเพื่อกำจัดขน

1.3 การเผาไฟ (ปั๋ว) หมายถึงการใช้ไฟเผาตัวยาเพื่อให้เปลือกแตกหรือระเบิดออก มักใช้กับตัวยาจำพวกที่มีเปลือกแข็ง

1.4 การผัดโดยใช้สารปรุงแต่ง (จื้อ) หมายถึงการใช้ยาหรือสารปรุงแต่งคลุกเคล้ากับตัวยาแล้วผัดจนแห้ง หรือค่อยๆเติมสารปรุงแต่งเวลาผัดแล้วผัดจนแห้งก็ได้

1.5 การหมกด้วยเถ้าไฟ (ว่ย์) หมายถึงการนำตัวยาฝังในเถ้าถ่านที่ยังมีไฟลุกโชนจนกระทั่งตัวยาสุก ปัจจุบันอาจใช้กระดาษชื้นๆมาห่อตัวยาก่อนแล้วฝังในเถ้าถ่าน

1.6 การผัด (เฉ่า) หมายถึงการนำตัวยาใส่ในภาชนะตั้งบนเตาไฟแล้วผัด โดยมีการกำหนดระดับการผัดตัวยา เช่น ผัดพอให้มีสีเหลือง ผัดให้เกรียม เป็นต้น หรืออาจใช้ฝู้เลี่ยวมาร่วมผัดกันก็ได้ เช่น ใช้รำข้าวสาลี ข้าวเจ้า หรือเหล้า เป็นต้น ปัจจุบันวิธีการนี้จัดเป็นวิธีพื้นฐานที่ใช้บ่อยในการเผ้าจื้อ

1.7 การสะตุ (ต้วน) หมายถึงการใช้ไฟมาย่าง ใช้กับตัวยาที่มีเปลือกแข็ง เช่น เปลือกหอยหรือแร่ธาตุ ในบางครั้งเมื่อสะตุเสร็จแล้วจะพรมฝู่เลี่ยวลงไป การสะตุจะทำให้คุณสมบัติของตัวยาเกิดการเปลี่ยนแปลง

1.8 การเคี่ยว (เลี่ยน) หมายถึงการใช้ไฟในการเคี่ยวตัวยาเป็นเวลานานๆเช่นการเคี่ยวน้ำผึ้งให้เข้มข้น 

1.9 การประสะ (จื้อ) หมายถึงการฆ่าฤทธิ์ยาเพื่อกำหนดให้ฤทธิ์ของตัวยาค่อนไปทางใดทางหนึ่งในสมัยราชวงศ์ฮั่นมีการประสะโหราเดือยไก่ด้วยน้ำผึ้ง การประสะโฮ่วพั่วด้วยน้ำขิง การประสะโกฐน้ำเต้าด้วยเหล้า ปัจจุบันการประสานมีหลายวิธีมีทั้งการใช้ ฝู่เลี่ยวชนิดต่างๆกันการใช้ปริมาณฝู่เลี่ยวและอุณหภูมิที่หลากหลายทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของตัวยาเป็นหลัก

1.10 ขนาด (ตู้) หมายถึงการกำหนดขนาดเล็กใหญ่ยาวสั้นบางหนาของตัวยาเช่น หวงฉิน ต้องมีขนาดยาว 3 นิ้ว หรือ ตี้กู่ผี ยาว 1 ฟุต ปัจจุบันการเผ้าจื้อได้มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมโดยมีการกำหนดอัตราส่วนของตัวยาและฝู่เลี่ยวให้เหมาะกับขนาดของตัวยาต่างๆที่ใช้อย่างชัดเจนและมีวิธีปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน

1.11 การบดด้วยวิธีหมุนว่อน (เฟย์) หมายถึงการบดตัวยาให้เป็นผงละเอียดมี 2 แบบคือการบดแห้งและการบดร่วมกับการใช้น้ำ การบดแห้งคือการนำตัวยามาบดเป็นผงละเอียด หรืออีกวิธีหนึ่งคือการบดให้ละเอียดมากจนผงแห้งส่วนที่เบากว่าจะหมุนและลอยมาติดที่ฝาครอบและรอบรอบภาชนะที่บดหลังจากนั้นจึงขูดออกมาใช้ เช่น เลี่ยนจื้อเซินตัน ส่วนการบดร่วมกับการใช้น้ำจะนำตัวยามาบดให้ละเอียดพอสมควรแล้วเติมน้ำลงไปบดหมุนวนพร้อมกันไปเรื่อยๆตั้งทิ้งไว้ให้ตกตะกอน สารที่ไม่ต้องการหรือสิ่งแปลกปลอมจะลอยขึ้นมาอยู่บนผิวน้ำและค่อยๆช้อนออกแล้วริมน้ำทิ้งแล้วเติมน้ำลงไปบดหมุนวนใหม่ทำซ้ำๆหลายครั้งจนเหลือแต่ตัวยาที่สะอาดและนอนก้น จึงนำมาตากแห้งเพื่อพร้อมใช้ เช่น การบดชาด

1.12 การสุมไฟ (ฝู) หมายถึงการใช้ไฟมาเผาหรือย่างตัวยาตามระยะเวลาที่กำหนดโดยขึ้นว่าเป็นยาชนิดใด เช่น ฝูหลงกาน คือดินที่อยู่ในเตาไฟเป็นระยะเวลานานมากมักมีฤทธิ์เป็นด่างอ่อน

1.13 การสไลด์เป็นแผ่นบางมาก (ป้าง) หมายถึงการใช้คมมีดมาขู่ตัวยาให้เป็นแผ่นบางมากหรือให้เป็นเส้นบางมาก เพื่อสะดวกในการปรุงยา

1.14 การทุบให้แตก (ซ่า) หมายถึงการทุบหรือการตัดหั่นตัวยาโดยต้องการให้ตัวยาแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย

1.15 การตากแดด (ซ่า) หมายถึงกานำตัวยามาตากแดดให้แห้ง

1.16 การอาบแดด (พู่) หมายถึงกานำตัวยามาตากแดดจัดๆให้แห้ง

1.17 การกลั่่นเป็นหยดน้ำค้าง (ลู่) หมายถึงการนำตัวยามาผึ่งแดด ผึ่งลม หรือตากน้ำค้างบางครั้งจะไม่ให้โดนแดดโดยตรง จนกระทั่งตกผลึกแยกออกมา หรือขจัดสารแปลกปลอมอื่นที่เป็นพิษออกไป เช่น ลู่จื้อชีกวาซวง

การเผ้าจื้อแบบเหลย์กง 17 วิธีดังกล่าวที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น บางวิธีอธิบายไม่ชัดเจนหรือบรรยายได้ยาก เนื่องจากกาลเวลาที่ผ่านมานาน บางวิธีเลิกใช้แล้วและมีจำนวนวิธีเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการเผ้าจื้อแบบเหลย์กง 17 วิธี นับเป็นแบบแผนเพื่อให้เห็นภาพรวมของพัฒนาการของการเผ้าจื้อในยุคปัจจุบัน

2. การเผ้าจื้อแบบ 3 กลุ่ม 

ในสมัยราชวงศ์หมิง เฉินเจียมัวได้เขียนตำราเกี่ยกับการเผ้าจื้อโดยแบ่งวิธีเผ้าจื้อเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ การเผ้าจื้อโดยใช้น้ำ ใช้ไฟ และการใช้น้ำร่วมกับไฟ การแบ่งลักษณะนี้แสดงถึงจุดเด่นของการเผ้าจื้อ แต่มีข้อเสียคือไม่ได้รวมความถึงการทำความสะอาด การหั่น ปัจจุบันตำรายาจีนส่วนใหญ่แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ การทำความสะอาดตัวยา การหั่นตัวยา และการเผ้าจื้อ ตัวอย่างการทำความสะอาดตัวยา เช่น การคัด การร่อน การล้าง การขจัดสิ่งแปลกปลอม ตัวอย่างการหั่น เช่น แช่น้ำ หรือพรมน้ำ หรือผ่านน้ำก่อน แล้วจึงนำมาหั่นหรือบดเป็นชิ้นเล็หๆ ส่วนการเผ้าจื้อ เช่น การผัด การผัดโดยใช้ฝู่เลี่ยว การสะตุ การนึ่ง การต้ม การทำให้เกิดผลึก การหมัก เป็นต้น

3. การเผ้าจื้อแบบ 5 กลุ่ม

การเผ้าจื้อ 5 กลุ่มนี้ จะทำให้การเผ้าจื้อแบบ 3 กลุ่มมีความครบถ้วนทุกด้าน โดกยการเพิ่มการตกแต่งตัวยา และการแปรรูปตัวยาโดยวิธีอื่นๆ นอกเหนือการใช้น้ำ ใช้ไฟ และใช้น้ำร่วมกับไฟ

4. การเผ้าจื้อโดยแบ่งตามส่วนของสมุนไพรที่ใช้

สมัยราชวงศ์ซ่ง ตำราจหวีฟาง ได้กำหนดแหล่งที่มาของตัวยาโดยแบ่งเป็นตัวยา จำพวกโลหะ หิน หญ้า ไม้ น้ำ ใบ ผล และปัจจุบันสาธารณรัฐประชาชนจีนได้กำหนดได้แบ่งตามส่วนที่ใช้ทำยา เช่น ตัวยาจำพวกกิ่งก้าน ผล เมล็ด ทั้งต้น ใบ ดอก เปลือก สัตว์ แร่ธาตุต่างๆ วิธีการแบ่งแบบนี้เป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบแต่ไม่แสดงถึงทักษะและเทคนิคการเผ้าจื้อ

5. การเผ้าจื้อโดยเทคนิคและการใช่ฝู่เลี่ยว

จุดเด่นของการแบ่งลักษณะนี้มี 2 ด้านคือ 1) เน้นการใช้ฝู่เลี่ยวในการเผ้าจื้อ เช่น การใช้เหล้า น้ำส้ม น้ำผึ้ง เกลือ ขิง และน้ำกระสายยา การใช้ฝู่เลี่ยวแต่ละชนิดมีวัตถุประสงค์แตกต่างกันและยังมีการแบ่งย่อยลงไปอีก เช่น การใช้เหล้ามาเผ้าจื้อ จะแบ่งย่อยออกเป็น ผัดด้วยเหล้า นึ่งพร้อมเหล้า ต้มพร้อมเหล้า ตุ๋นพร้อมเหล้า เป็นต้น 2)เน้นเทคนิคการเผ้าจื้อ เช่นการผัด การสะตุ การนึ่ง การต้ม และในกระบวนการดังกล่าวยังกล่าวถึงการใช้ฝู่เลี่ยว เช่น เหล้า น้ำส้ม น้ำขิง น้ำผึ้ง เป็นต้น การแบ่งประเภทนี้แสดงห็เห็นเทคนิคและวัตถุประสงค์ของการเผ้าจื้อที่แท้จริง จึงมีการนำมาใช้ในหลักสูตรการเรียนการสอน

6. การเผ้าจื้อตามเภสัชตำรับของจีน

เภสัชตำรับของจีน (Pharmacopeia of the People’s Republic of China) ได้กำหนดมาตรฐานการเผ้าจื้อ โดยกำหนดคำนิยามของิธีการเตรียมต่างๆที่เป็นมาตรฐานระดับชาติ ดังนี้

6.1 การทำความสะอาด นำสมุนไพรมาคัดแยกเอาส่วนที่ไม่ต้องการออก เช่น ตำยาบางชนิด ใช้เฉพาะเนื้อผล ไม่ใช้ส่วนผิว บางชนิดใช้เฉพาะราก ไม่ใช้ลำต้น แล้วนำมาทำความสะอาด หลังจากนั้นจึงนำไปหั่น แปรรูปโดยวิธีพิเศษ จำหน่าย หรือใช้ปรุงยา

การทำความสะอาดสมุนไพรทำได้โดย การคัดเลือก การฝัดหรือการร่อน การล้าง การหั่น การแช่ การปัดด้วยแปรง การถู การบด ตามมาตรฐานคุณภาพที่กำหนด

6.2 การหั่น นอกจากกำหนดไว้ว่าการหั่นสมุนไพรสดหรือแห้งแล้ว โดยทั่วไปก่อนการหั่นสมุนไพรจะต้องนำสมุนไพรไปล้างน้ำให้สะอาด แช่น้ำสักครู่ในภาชนะที่มีฝาปิด เพื่อให้สมุนไพรอ่อนนุ่มและทำให้หั่นง่าย แต่ปริมาณน้ำและระยะเวลาที่ใช้ในการแช่มีความสำคัญมาก เพราะหากใช้น้ำในปริมาณมากหรือแช่น้ำนานเกินไปจะทำให้ฤทธิ์ของตัวยาลดลง ต้องหั่นสมุนไพรให้มีขนาดพอเหมาะ หากหั่นชิ้นใหญ่หรือหนาเกินไปเวลาต้มจะทำให้ตัวยาไม่ละลายออกมาหรือละลายออกมาไม่หมด สมุนไพรที่ใช้หั่นแล้วควรทำให้แห้งทันที

การหั่นสมุนไพรอาจหั่นเป็นแว่น เป็นท่อน เป็นชิ้น หรือซอยเป็นชิ้นเล็กๆ โดยทั่วไปเภสัชตำรับของจีนได้กำหนดขนาดและความหนาของวัตถุดิบสมุนไพรไว้ดังนี้

6.2.1 การหั่นเป็นแว่น แว่นบางมากจะมีความหนาน้อยกว่า 0.5 มิลลิเมตร แว่นบางจะมีความหนาประมาณ 1-2 มิลลิเมตรและแว่นหนาจะมีความหนาประมาณ 2-4 มิลลิเมตร

6.2.2 การหั่นเป็นท่อน เป็นข้อ หรือเป็นปล้อง ความปะมาณ 10-15 มิลลิเมตร

6.2.3 การหั่นเป็นชิ้น รูปสี่เหลี่ยมต่างๆ ขนาดความยาวประมาณ 8-12 มิลลิเมตร

6.2.4 การหั่นหรือซอยเป็นชิ้นเล็กๆ สำหรับสมุนไพรประเภทเปลือก ขนาดความหนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และสมุนไพรประเภทใบ ขนาดความหนาประมาณ 5-10 มิลลิเมตร

นอกจากวิธีหั่นดังกล่าวแล้ว สมุนไพรบางชนิดอาจใช้วิธีบด หรือ ตำ หรือทุบ

6.3 การทำให้แห้ง การเตรียมเหย้าไฉแห้งนั้นควรทำให้มีปริมาณความชื้นต่ำสุด เพื่อลดการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งจะทำให้สารออกฤทธิ์ถูกทำลาย ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณความชื้นที่เหมาะสมของเหย้าไฉแต่ละชนิดอาจหาได้จากเภสัชตำรับหรือจากมอโนกราฟที่เป็นทางการ

พืชสมุนไพรสามารถทำให้แห้งได้หลายวิธี ได้แก่  การผึ่งในที่ร่มที่อากาศถ่ายเทดี  มีร่มเงาบังไม่ให้รับแสงอาทิตย์โดยตรง การวางเป็นชั้นบางๆ บนแผงตากในห้องหรือในอาคารที่กรุด้วยมุ้งลวด การตากโดยตรง การทำแห้งในเตาอบ ห้องอบ หรือเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ การทำให้แห้งด้วยความเย็น ถ้าเป็นไปได้ให้ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นเพื่อหลีกเลี่ยงการสลายตัวของสารสำคัญที่เป็นสารออกฤทธิ์ วิธีการและอุณหภูมิที่ใช้ในการทำแห้งอาจมีผลอย่างมากต่อคุณภาพของเหย้าไฉ ดังนั้น การตากในที่ร่มจะเป็นวิธีที่ดีกว่า เพื่อรักษาหรือลดการจางของสีของใบและดอกให้น้อยที่สุด และควรใช้อุณหภูมิต่ำในกรณีที่เหย้าไฉมีสารระเหยได้ นอกจากนั้นควรมีการบันทึกสภาวะที่ใช้ในการทำแห้งด้วย

ในกรณีการผึ่งให้แห้งในที่โล่ง ควรแผ่เหย้าไฉเป็นชั้นบางๆบนแผงตาก และมันคนหรือกลับบ่อยๆเพื่อให้อากาศถ่ายเททั่วถึง แทงตาควรจะอยู่ห่างจากพื้นมากพอและควรทำให้เหย้าไฉแท่งอย่างสม่ำเสมอเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดเชื้อรา ไม่ควรตากเหย้าไฉบนพื้นโดยตรง ถ้าเป็นพื้นปูนซีเมนต์หรือคอนกรีตควรวางเหย้าไฉบนผืนผ้าใบหรือผ้าชนิดอื่นที่เหมาะสม สถานที่ต่างวัตถุดิบป้องกันไม่ให้มีแมลง หนู นก สัตว์เลี้ยงเข้าถึงได้ สำหรับการทำให้แห้งภายในอาคารควรกำหนดระยะเวลาการทำให้แห้ง อุณหภูมิ ความชื้น และสภาวะอื่นๆโดยคำนึงถึงส่วนของพืชที่ใช้เป็นยา(ราก ใบ ลำต้น เปลือกหรือดอก) และสารธรรมชาติที่ระเหยง่าย เช่น น้ำมันหอมระเหย

6.4 การแปรรูปโดยวิธีเฉพาะ กระบวนการแปรรูปโดยวิธีเฉพาะของสมุนไพร โดยทั่วไปจะมีการใช้ไฟเข้ามาเกี่ยวข้องและเป็นวิธีที่ใช้กันมากไม่ว่าจะผัดหรือสะตุต้องเลือกใช้ระดับไฟ (ไฟอ่อน ไฟแรง) ที่เหมาะสม(ผัดให้มีกลิ่นหอมหรือผัดให้เกรียม) ซึ่งจะมีผลต่อการรักษาตัวอย่างผลของการแปรรูปโดยวิธีเฉพาะที่มีต่อผลการรักษา เช่น ข้าว ข้าวบาร์เลย์ถ้าใช้กระตุ้นการทำงานของม้าม ช่วยทำให้เจริญอาหารดีจะต้องนำไปผัดก่อนใช้ ไป๋จู๋ หากใช้ดิบจะมีสรรพคุณเสริมชี่ บำรุงม้าม แต่ฤทธิ์ค่อนข้างแรงเมื่อรับประทานแล้วจะทำให้ท้องอืด จึงต้องนำมาผัดให้เกรียมก่อนใช้นอกจากจะช่วยเสริมชี่และบำรุงม้ามแล้วยังทำให้ไม่เกิดอาการท้องอืด สำหรับตัวยาประเภทเม็ดเล็กหรือผลเล็กๆต้องนำมาผัดก่อนใช้เพื่อให้มีกลิ่นหอมและเมื่อนำมาต้มจะทำให้สารสำคัญละลายน้ำออกมาง่าย ตัวยาที่เป็นยาเย็นเมื่อนำมาผัดจะทำให้ฤทธิ์ของยาไม่แรงเกินไป เป็นต้น

การแพทย์แผนจีนได้กำหนดกระบวนการแปรรูปโดยเฉพาะของสมุนไพรดังนี้

6.4.1 การผัด (เฉ่าจื้อฝ่า) แบ่งเป็น 2 ประเภทคือการผัดธรรมดาและการผัดโดยใช้รำข้าวสาลี

ก) การผัดธรรมดา (ชิงเฉ่า) หมายถึงการนำเหย้าไฉที่สะอาดใส่ภาชนะที่เหมาะสม ผัดโดยใช้ระดับไฟอ่อนๆจนกระทั่งได้ตัวยาที่มีลักษณะตรงตามข้อกำหนด นำออกจากเตาและตั้งทิ้งไว้ให้เย็น หากต้องการผัดจนกระทั่งไหม้เกรียมให้ผัดโดยใช้ระดับไฟแรงผัดจนกระทั่งผิวนอกเป็นสีน้ำตาลและรอยแตกเป็นสีเข้ม นำออกจากเตาแล้วตั้งทิ้งไว้ให้เย็น สำหรับสมุนไพรที่ติดไฟในระหว่างการผัดพรมน้ำเล็กน้อยแล้วผัดจนกระทั่งตัวยาแห้ง

ข) การผัดโดยใช้รำข้าวสาลี (ฝูเฉ่า) หมายถึงการนำรำข้าวสาลีใส่ลงในภาชนะที่เหมาะสมแล้วใช้ความร้อนจนกระทั่งมีควันออกมา เติมเหย้าไฉที่สะอาดลงไปคนอย่างรวดเร็วจนกระทั่งผิวของตัวยาเป็นสีเหลืองเข้ม นำออกจากเตาและร่อนเอารำข้าวสาลีออกโดยทั่วไปใช้รำข้าวสาลี 10 กิโลกรัมต่อสมุนไพร  100 กิโลกรัม

6.4.2 การคั่ว (ทั่งจื้อฝ่า) หมายถึง การนำทรายที่สะอาดหรือเปลือกหอยที่บดเป็นผงใส่ในภาชนะที่เหมาะสมแล้วให้ความร้อนที่อุณหภูมิสูงเติมวัตถุดิบสมุนไพรที่สะอาดลงไป คนอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งตัวอย่างกรอบ นำออกจากเตาร่อนเอาทรายออกตั้งทิ้งไว้ให้เย็น

6.4.3 การสะตุ (ต้วนจื้อฝ่า) แบ่งเป็น 2 ประเภทคือการสุ่มแบบเปิดและการสะตุแล้วจุ่มในของเหลวที่กำหนด

ก) การสะตุแบบเปิด หมายถึงการนำเหย้าไฉพี่สะอาดมาทุบให้แตกเป็นชิ้นเล็กๆแล้วนำไปวางบนเปลวไฟที่มีควันหรือใส่ในภาชนะที่เหมาะสมสะตุจนกระทั่งตัวอย่างกรอบเปราะหรือร้อนแดง จากนั้นนำออกจากเตาตั้งทิ้งไว้ให้เย็นแล้วบดเป็นผงละเอียดสำหรับตัวยาประเภทเกลืออินทรีย์ที่มีน้ำผลึกไม่จำเป็นต้องสะตุจนร้อนแดงแค่ทำให้ผลึกระเหยออกอย่างสมบูรณ์ก็พอ

ข) การสะตุแล้วจุ่มในของเหลวที่กำหนดหมายถึงการนำเหย้าไที่สะอาดมาสะตุจนกระทั่งตัวยาร้อนแดงแล้วนำไปจุ่มในของเหลวที่กำหนดเพื่อลดอุณหภูมิจนกระทั่งตัวยากรอบเปราะ(ทำซ้ำถ้าจำเป็น)นำตัวยาไปทำให้แห้งบดเป็นผงละเอียด

6.4.4 การเผาให้เป็นถ่าน (จื้อทั่นฝ่า) หมายถึงการเผาสมุนไพร แต่ต้องระวังไม่ให้เป็นขี้เถ้าหากเป็นการเผาโดยวิธีผัดให้ใส่เหย้าไฉ สะอาดลงในภาชนะที่ร้อนแล้วผัดโดยใช้ระดับไฟแรงจนกระทั่งผิวนอกของตัวยามีสีเข้มและเนื้อในเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม พรมน้ำเล็กน้อยเอาออกจากเตาแล้วนำไปตากแห้ง หากเป็นการเผาโดยวิธีสะตุให้ใส่เหย้าไฉที่สะอาดลงในภาชนะ สำหรับสะตุที่มีฝาปิดมิดชิดอบตัวยาให้ทั่วตั้งทิ้งไว้ให้เย็นแล้วเอาตัวยาออกมาใช้

6.4.5 การนึ่ง (เจิงจื้อฝ่า) หมายถึงการนำเหย้าไฉที่สะอาดมาคลุกเคล้ากับฝู่เลี่ยวชนิดของเหลวให้เข้ากันนำไปใส่ในภาชนะนึ่งที่มีฝาปิดมิดชิดหนึ่งจนกระทั่งฝู่เลี่ยวแทรกซึมเข้าในเนื้อตัวยาแล้วนำไปตากแห้ง

6.4.6 การต้ม (จู่จื้อฝ่า) หมายถึงการนำเหย้าไฉที่สะอาดมาคลุกเคล้ากับฝู่เลี่ยวชนิดของเหลวจนกระทั่งน้ำหรือฝู่เลี่ยวแทรกซึมเข้าเนื้อในตัวยาแล้วนำไปตากแห้ง

6.4.7 การตุ๋น (เว่ย์จื้อฝ่า) หมายถึงการนำวัตถุดิบสมุนไพรที่สะอาดมาตุ๋นกับฝู่เลี่ยวชนิดของเหลวในภาชนะตุ๋นที่มีฝาปิดมิดชิด ตุ๋นจนกระทั่งฝู่เลี่ยวซึมเข้าไปในตัวยาอย่างทั่วถึงนำออกมาทำให้แห้ง

6.4.8 การลวกด้วยน้ำเดือด (ตันฝ่า) หมายถึงการใส่เหย้าไฉที่สะอาดลงในน้ำเดือดคุณสักครู่แล้วน้ำสมุนไพรขึ้นจากน้ำ เช่นสมุนไพรบางชนิดที่มีเปลือกเมล็ดชั้นนอกมีลักษณะย่นและแห้งจะต้องใส่น้ำเดือดคนจนกระทั่งเปลือกเมล็ดพองตัวและมีผิวเรียบจนสามารถแยกออกมาได้ จากนั้นนำไปแช่ในน้ำเย็นเพื่อลอกเอาเปลือกเมล็ดชั้นนอกออกแล้วนำไปตาก

6.4.9 การแปรรูปโดยใช้เหล้า (จิ่วจื้อฝ่า) หมายถึงกระบวนการแปรรูปโดยใช้เหล้าเป็นฝู่เลี่ยว ปกติจะใช้เหล้าเหลือง วิธีการแปรรูป เช่น การผัด การตุ๋น การนึ่ง เป็นต้น

6.4.10 การแปรรูปโดยใช้น้ำส้ม (ชู่จื้อฝ่า) หมายถึงกระบวนการแปรรูปโดยใช้น้ำส้มเป็นฝู่เลี่ยว) ปกติน้ำส้มที่ใช้มักทำมาจากการกลั่นข้าวเจ้า ข้าวสาลี ข้าวเกาหลียง หรือหัวเหล้า วิธีแปรรูป เช่น การผัด การต้ม การนึ่ง เป็นต้น

6.4.11 การแปรรูปโดยใช้น้ำเกลือ (เอี๋ยนจื้อฝ่า) หมายถึงกระบวนการแปรรูปโดยใช้น้ำเกลือเป็นฝู่เลี่ยว วิธีการแปรรูป เช่น การผัด การนึ่ง เป็นต้น

6.4.12 การผัดด้วยน้ำขิง (เจียงจื้อฝ่า) หมายถึงการฝัดเหย้าไฉที่สะอาดโดยใช้น้ำขิงเป็นฝู่เลี่ยว ซึ่งอาจใช้น้ำขิงคั้นสดหรือน้ำต้มจากขิงแห้งซึ่งเตรียมจากการต้มขิงแห้งบดในน้ำ ทำซ้ำ 2 ครั้ง รวมน้ำต้มจะได้น้ำขิง การผัดด้วยน้ำขิงทำโดยเติมน้ำขิงลงบนวัตถุดิบสมุนไพรที่สะอาดคลุกเคล้าให้เข้ากันนำไปผัดในภาชนะที่เหมาะสมด้วยไฟอ่อนๆจนกระทั่งน้ำขิงซึมเข้าในตัวยา นำยาออกมาตากแห้ง ปกติใช้ขิงสด 10 กิโลกรัมหรือขิงแห้ง 3 กิโลกรัมต่อสมุนไพร 100 กิโลกรัม

6.4.13 การผัดด้วยน้ำผึ้ง (มี่จื้อฝ่า) หมายถึงการผัดเหย้าไฉที่สะอาดโดยใช้น้ำผึ้งเป็นฝู่เลี่ยว โดยนำน้ำผึ้งบริสุทธิ์มาเจือจางด้วยน้ำต้มในปริมาณที่เหมาะสม ใส่เหย้า”แที่สะอาดแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากันหมักไว้สักครู่เพื่อให้น้ำผึ้งซึมเข้าในตัวยาจากนั้นนำไปผัดในภาชนะที่เหมาะสมโดยใช้ไฟอ่อนๆผัดจนกระทั่งมีสีเหลืองเข้มไม่เหนียวติดมือ นำออกจากเตาแล้วตั้งทิ้งไว้ให้เย็น ปกติใช้น้ำผึ้งบริสุทธิ์ 25 กิโลกรัมต่อสมุนไพร 100 กิโลกรัม

6.4.14 การเตรียมผงสีขาวเหมือนน้ำค้างแข็ง (จื้อซวงฝ่า) หมายถึงการขจัดน้ำมันออกจากสมุนไพรโดยการบดเหย้าไฉที่สะอาดจนมีลักษณะเหมือนแป้งเปียก แล้วให้ความร้อนโดยใช้ไฟอ่อนๆจากนั้นบีบน้ำมันในสมุนไพรออกส่วนหนึ่งจนกระทั่งได้ตัวยาที่มีลักษณะเป็นผงสีขาวละเอียด

6.4.15 การบดร่วมกับการใช้น้ำโดยวิธีหมุนว่อน (สุ่ยเฟย์ฝ่า) หมายถึงการบดสมุนไพรให้เป็นผงละเอียดพอควรแล้วเติมน้ำลงไปบดหมุนวนพร้อมกันไปเรื่อยๆตั้งทิ้งไว้ให้ตกตะกอน สารที่ไม่ต้องการหรือสิ่งแปลกปลอมจะลอยขึ้นมาอยู่บนผิวน้ำค่อยๆช้อนออกแล้วเทน้ำทิ้ง จากนั้นเติมน้ำลงไปกวนใหม่ทำซ้ำหลายๆครั้งจนเหลือแต่ตัวยาที่สะอาดนอนก้น จึงนำมาตากแห้งพร้อมใช้




ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง