Select your language TH EN
เภสัชกรรม การใช้ตัวยาอันตราย  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



การใช้ตัวยาอันตราย

พระอาจารย์กล่าวไว้ว่า   “วัตถุธาตุนานาชนิดในโลกล้วนแต่เป็นยาทั้งสิ้น” คำกล่าวนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นจริงหากใช้วัตถุนั้นได้อย่างถูกต้องตัวยาบางอย่างที่มีฤทธิ์แรง หากใช้เกินขนาดหรือใช้ ไม่ถูกวิธี ก็อาจทำอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เป็นพิเศษ ตัวยาหลายอย่างมีฤทธิ์แรง หากใช้เกินขนาดหรือใช้ไม่ถูกวิธี ก็อาจทำอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

๑. ยาที่มีฤทธิ์แรง

๑) เมล็ดสลอด มีฤทธิ์แรงในทางถ่าย กินมากจะถ่ายมากเป็นอันตราย อ่อนเพลียเสียน้ำในร่างกายอาจถึงตายได้ สรพคุณ ถ่ายเสมหะ และโลหิตถ่ายน้ำเหลืองเสียและถ่ายพยาธิ

๒) ยางตาตุ่ม มีฤทธิ์แรงในทางถ่าย รับประทานมากถ่ายมาก ทำให้หมดกำลังอาจถึงตายได้ สรรพคุณถ่ายพยาธิ ถ่ายโลหิต และเสมหะ ถ่ายอุจจาระธาตุ

๓) ยางสลัดได มีฤทธิ์แรงในทางถ่าย กินมากถ่ายมากทำให้หมดกำลังอ่อนเพลีย อาจตายได้ ประโยชน์ ถ่ายพยาธิน้ำเหลืองสีย ถ่ายอุจจาระธาตุ ถ่ายพิษตาซาง

๔) ลูกแสลงใจ มีฤทธิ์แรงในทางเมาเบื่อ รับประทาน ชักกระตุก ถึงตายได้ สรรพคุณ บำรุงหัวใจ  บำรุงประสาท แก้พยาธิผิวหนัง แก้ลมอันกระเพื่อมในอุทร

๕) ยางฝิ่น มีฤทธิ์แรงในทางเมาเบื่อ ระงับประสาท รับประทานมาก ระงับประสาท ทำให้หมดสติ อาจตายได้ สรพคุณทางยา แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้โรคบิด (เป็นยาเสพติด)

๖) กัญชา มีฤทธิ์แรงในทางเมา ทำให้ประสาทหลอน รับประทานมากทำให้เสียจริต เป็นบ้า สรรพคุณทางยา แก้ประสาทพิการ และเจริญอาหาร

๗) พระขรรค์ไชยศรี (หนาวเดือนห้า) มีฤทธิ์แรงในทางขับเหงื่อทำให้กายเย็นมากรับประทานมากอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต  สรรพคุณทางยา แก้ไข้ ดับพิษร้อน ลดความร้อนในร่างกาย  ขับเหงื่อ

๘) ยางรักดำ มีฤทธิ์แรงในทางเมาเบื่อ และทางถ่าย รับประทานมากทำให้ถ่ายมากหมดกำลัง อาจถึงตายได้ สรรพคุณทางยา ถ่ายน้ำเหลืองเสีย ถ่ายอุจจาระธาตุ ถ่ายพยาธิและถ่ายเสมหะ

๙) ปรอท มีฤทธิ์แรงในทางเมาเบื่อ รับประทานมาก ทำให้เปื่อยพุพองและเบื่อเมา อาจตายได้ สรรพคุณทางยา แก้มะเร็ง คุดทะราด โรคเรื้อน รักษาโรคผิวหนัง และรักษาน้ำเหลืองเสีย

๑๐) สารหนู มีฤทธิ์แรงในทางเมาเบื่อ รับประทานมาก ชักกระตุกทำให้ตายได้ สรรพคุณทางยา แก้มะเร็ง คุดทะราด โรคเรื้อน แก้ประดง รักษาน้ำเหลืองเสีย แก้โรคผิวหนัง และบำรุงโลหิต

๑๑) จุนสี มีฤทธิ์แรงทางกัดทำลาย รับประทานมาก กัดทำลายกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้ฟันโยกหลุด  สรรพคุณทางยา กัดหัวฝี หัวหูด รักษาคุดทะราด รักษาฟัน

๑๒) เมล็ดสบู่แดง มีฤทธิ์แรงในทางถ่าย รับประทานมาก ท้องร่วงอย่างแรง คลื่นไส้อาเจียน ท้องร่วงอย่างแรง กดหัวใจ กดการหายใจ ถึงตายได้ สรรพคุณทางยา เผาให้สุกรับประทานถ่ายอุจจาระธาตุ ทำให้อาเจียน ตำพอกบาดผล แก้โรคผิวหนัง

๑๓) ยางหัวเข้าค่า มีฤทธิ์แรง รับประทานมาก ท้องร่วงอย่างแรง อ่อนเพลีย หมดน้ำถึงตายได้ สรรพคุณทางยา ฆ่าพยาธิภายนอก แก้ฟกบวม แก้คุดทะราด

๑๔) เมล็ดลำโพง มีฤทธิ์แรงในทางเมาเบื่อ หลอนประสาท รับประทานมาก ทำให้เสียสติตาแข็ง หายใจขัด สรรพคุณทางยา บำรุงประสาท แก้กระสับกระส่าย  อนไม่หลับ

๑๕) ยางเทพทาโร มีฤทธิ์แรงในทางถ่าย รับประทานมากถ่ายแรง หมดน้ำ อ่อนเพลียถึงตายได้ สรรพคุณทางยา ถ่ายพยาธิ ถ่ายน้ำเหลืองเสีย

๒. การสะตุ การประสะ การฆ่าฤทธิ์ยา

ในการที่จะนำเอาตัวยาที่มีฤทธิ์แรง มาใช้ประกอบตัวยาเพื่อให้เกิดสรรพคุณทางยานั้น มีวิธีการทำให้ฤทธิ์ของยาอ่อนลง จนสามารถนำมาใช้ ไม่เกิดอันตรายต่อร่างกาย ดังจะได้อธิบายต่อไปนี้

๒.๑ การสะตุ การสะตุ คือ การทำให้ตัวยามีฤทธิ์อ่อนลง  หรือทำให้พิษของตัวยาน้อยลง  หรือ   ทำให้ตัวยานั้นสะอาดขึ้น

๑) การสะตุเหล็ก  เอาเหล็กมาครางด้วยตะไบ และนำผงเหล็กที่ได้มาใส่ในฝาละมีหรือหม้อดิน บีบมะนาวลงไปให้ท่วมผงเหล็ก เอาขึ้นตั้งไฟให้แห้ง ทำให้ได้ ๗ – ๘ ครั้งจงผงเหล็กกรอบดีจึงนำไปใช้ปรุงยาได้

๒) การสะตุสารส้ม เอาสารส้มมาบดให้ละเอียด นำมาใส่หม้อดิน เอาตั้งไฟจนสารส้มละลายฟู ขาวดีแล้ว ยกลงจากไฟ จึงนำไปใช้ปรุงยาได้

๓) การสะตุรงทอง เอารงทองมาบดให้ระเอียด แล้วห่อด้วยใบบัวหรือใบข่า ๗ ชั้น นำไปปิ้งไฟจนสุขกรอบดี จึงนำไปใช้ปรุงยาได้

๔) การสตุมหาหิงคุ์ นำมหาหิงคุ์มาใส่ภาชนะไว้ใช้ใบกระเพราะแดงใส่น้ำต้มจนเดือดเทน้ำกระเพราแดงต้มลงละลายมหาหิงคุ์ แล้วนำมากรองให้สะอาด จึงนำไปใช้ปรุงยาได้

๕) การสะตุดินสอพอง นำดินสอพองใส่หม้อดิน ปิดฝายกขึ้นตั้งไฟให้นานพอสมควรจนเห็นว่าดินสอพองสุขดีแล้ว จึงนำไปใช้ปรุงยาได้

๖) การสะตุน้ำประสานทอง เอาน้ำประสานทองใส่หม้อดิน ตั้งไฟจนละลายฟูขาวทั่วกันดีแล้ว จึงนำไปใช้ปรุงยาได้

๗) การสะตุยาดำ นำเอายาดำใส่ลงในหม้อดิน เติมน้ำเล็กน้อย ยกขึ้นตั้งไฟ จนยาดำน้ำ กรอบดีแล้ว จึงนำไปใช้ปรุงยาได้

๒.๒ การประสะ มีความหมาย คือ การทำให้พิษของตัวยาอ่อนลง เช่น การประสะยางสลัดได หรือ หมายถึงในยาขนานนั้นมีตัวยาตัวหนึ่ง ขนาดเท่าตัวยาตัวอื่น หนักรวมกัน เช่น ยาประสะไพล มีไพล จำนวนเท่าตัวยาอื่นทั้งหมดหนักรวมกัน

การประสะยางสลัดได ยางตาตุ่ม ยางหัวเข้าค่า

มีวิธีการทำเหมือนกันทั้ง ๓ อย่าง คือ นำตัวยาที่จะประสะใส่ลงในถ้วย ใส่น้ำต้มเดือดๆ เทลงไปในถ้วยยานั้น กวนให้ทั่วจนเย็น รินน้ำทิ้งไป แล้วเทน้ำเดือดลงในยา กวนให้ทั่วอีก ทำอย่างนี้ประมาณ๗ ครั้ง จนตัวยาสุกนี้แล้ว จึงนำไปใช้ปรุงยาได้

๒.๓ การฆ่าฤทธิ์ตัวยา คือ การทำให้พิษของยาอ่อนลง เช่น การฆ่าสารหนู จะทำให้สารหนูที่มีพิษมาก มีพิษอ่อนลงสามารถนำมาใช้ทำยาได้

๑) การฆ่าสารหนู เอาสารหนูมาบดให้ละเอียด ใส่ฝาละมีหรือหม้อดินบีบน้ำมะนาวหรือน้ำมะกรูดใส่ไปให้ท่วมตัวยา ตั้งไฟจนแห้ง ทำให้ได้ ๗ -  ๘ ครั้ง จนกว่าสารหนูกรอบดีแล้ว จึงนำไปใช้ปรุงยา

๒) การฆ่าปรอท นำเอาทองแดง ทองเหลือง หรือเงิน ใส่ไว้ในปรอท ให้ปรอทกินจนอิ่ม จึงจึงนำไปใช้ปรุงยาได้

๓) การฆ่าลูกสลอด มีหลายวิธีเช่น

วิธีที่ ๑ เอาลูกสลอดห่อรวมกับข้าวเปลือก ใส่เกลือพอควร  นำไปใส่หม้อดิน ใส่น้ำลงตั้งไฟ  จนข้าวเปลือกบานทั่วกัน  จึงเอาลูกสลอดมาล้างให้สะอาด ตากให้ให้แห้ง จึงนำไปใช้ปรุงยาได้

วิธีที่ ๒ เอาลูกสลอด ต้มกับใบมะขาม ๑ กำมือ ใบส้มป่อย ๑ กำมือ เมื่อสุกดีแล้วจึงเอาเนื้อในลูกสลอด  นำไปใช้ปรุงยาได้

๔) การฆ่าชะมดเช็ด โดยหั่นหัวหอม หรือผิวมะกรูด ให้เป็นฝอยละเอียด ผสมกับชะมดเช็ด .ใส่ลงไปในใบพลูหรือช้อนเงิน นำไปลนไฟเทียน จนชะมดเช็ดละลาย จนหอมดีแล้ว จึงกรองเอาน้ำชะมดเช็ด นำไปใช้ปรุงยาได้



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล