Select your language TH EN
คณาเภสัช ความหมายและหลักในการตั้งพิกัดยา  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



คณาเภสัช

        คณาเภสัช คือ การจัดหมวดหมู่ตัวยาหลายสิ่งหลายอย่าง เป็นการศึกษาให้รู้จักพิกัดยา เพราะตัวยาตั้งแต่ ๒ สิ่งขึ้นไปนำมารวมกัน สามารถเรียกเป็นชื่อเดียว เรียกเป็นคำตรงตัวยา และเรียกเป็นคำศัพท์ได้ การจัดคณาเภสัชนี้ หากได้รับการรับรองให้เป็นตำรา เพื่อการศึกษาองคนรุ่นหลังจะต้องมีการประชุมเพื่อตั้งชื่อใหม่ ใช้เรียกชื่อหมู่ยานั้นๆ เป็นอย่างเดียวกัน ตามคำศัพท์หรือคำตรงต่อไป

        การจัดหมวดหมู่ตัวยา เป็นกลุ่ม เป็นพวก ก็เพื่อความสะดวกแก่การจดจำ หรือเขียนตำรา ที่เรียกว่า “พิกัดยา” คือ การจำกัด หมายถึง “จำกัดจำนวน” ซึ่งจะเป็นจำนวนของสิ่งใดก็ตาม ที่ได้จำกัดจำนวนไว้แล้วจะเพิ่มหรือจะลดจำนวนที่จำกัดของสิ่งของนั้นไม่ได้ ในจำนวนที่จำกัดไว้ดังนี้ จึงสมมุตินามเรียกว่า พิกัด ถ้าจะนำไปใช้จำกัดสิ่งใด ก็เติมนามของสิ่งนั้นเข้าข้างท้ายคำว่าพิกัด เช่น พิกัดยา พิกัดอายุ พิกัดเดือน และพิกัดสมุฏฐาน เป็นต้น

        สำหรับในพิกัดยาต่างๆ นั้น ตัวยาแต่ละสิ่งในพิกัดเดียวกัน ยังได้จำกัดส่วนหรือน้ำหนักของตัวยาไว้เท่า ๆ กัน เว้นแต่ในหมวดมหาพิกัด ซึ่งจำกัดส่วนของตัวยาไว้ไม่เท่ากัน แต่ก็อยู่ในขอบเขตของจำนวนที่ได้จำกัดไว้ และในการที่จะใช้น้ำหนักของยาที่คิดเป็นส่วนนี้ ถ้าจะทำเป็นยาต้มใช้น้ำหนักส่วนละ ๑ บาท ถ้าจะทำเป็นผงใช้น้ำหนักส่วนละ ๑ สลึง ถ้าจะทำเป็นยาดองใช้น้ำหนัก ส่วนละ ๑ เฟื้อง และถ้าจะทำเป็นยาแทรกก็ให้แทรกกึ่งส่วน

        การจัดตั้งพิกัดยาขึ้นมานั้น ก็เพื่อสะดวกในการจดจำและเขียนตำรา ตลอดถึงความสะดวกในการปรุงยาและการที่จัดตั้งเป็นพิกัดแต่ละอย่างนั้น ก็มิได้ตั้งขึ้นตามความพอใจ แต่ผู้ที่จัดตั้งยาแต่แรกนั้น จะต้องมีหลักในการพิจารณา โดยอาศัยหลักดังนี้

        ๑. รสยาจะต้องไม่ขัดกัน

        ๒. สรรพคุณจะต้องเสมอหรือคล้ายคลึงกัน

ด้วยสาเหตุสองประการดังกล่าวมานี้ จึงจะรวมตัวยาเข้าเป็นพิกัดเดียวกันได้ พิกัดยาต่างๆ   ที่จัดตั้งขึ้นมานั้น มีเป็นจำนวนมาก เพื่อที่จะให้สะดวก จึงได้ตั้งนามขึ้นมาใช้เรียกพิกัดยาแต่ละอย่าง เป็นชื่อตรงบ้าง เรียกชื่อเป็นศัพท์บาลีบ้าง ในคำศัพท์บาลีนั้น ถ้าแปลออกเป็นภาษาไทยแล้ว ก็จะได้ใจความไปตามจำนวนและสรรพคุณของพิกัดยานั้น

 

พิกัดยา ได้กำหนดแบ่งออกเป็น ๓ หมวด คือ

๑. จุลพิกัด หมายถึง การจำกัดจำนวนตัวยาน้อยชนิด โดยมากเป็นตัวยาที่มีชื่อเรียกอย่างเดียวกัน แต่จะมีข้อแตกต่างจากถิ่นที่เกิด ต่างกันที่สี ต่างกันที่ชนิด ต่างกันที่ขนาด ต่างกันที่รส เป็นต้น

๒. พิกัด หมายถึง การจำกัดจำนวนตัวยาตั้งแต่สองสิ่งขึ้นไป รวมเรียกเป็นชื่อเดียวกันจะเป็นคำตรงหรือคำศัพท์ โดยที่ตัวยาที่นำมารวมกัน ต้องใช้น้ำหนักเสมอภาค คือ ขนาดน้ำหนักเท่ากัน

๓. มหาพิกัด หมายถึง การจำกัดจำนวนตัวยาหลายสิ่ง รวมเรียกเป็นชื่อเดียวกัน แต่ตัวยาแต่ละอย่างในมหาพิกัดมีน้ำหนักไม่เท่ากันเพราะเหตุว่ามหาพิกัดนี้ ท่านสงเคราะห์เอาไปแก้ตามสมุฏฐานต่างๆ คือ ใช้แก้ในกองฤดู กองธาตุกำเริบ หย่อน และพิการ โรคแทรกโรคตาม




ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง