Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: โกฐสอ

โกฐสอ thai-herbs.thdata.co | โกฐสอ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย


ชื่อท้องถิ่น: แปะจี้ แป๊ะลี้ (จีนแต้จิ๋ว)/ ไป๋จื่อ (จีนกลาง)

ชื่อสามัญ: Dahurian angelica

ชื่อวิทยาศาสตร์:

- Angelica dahurica (Hoffm.) Benth. & Hook.f. ex Franch. & Sav. (มีถิ่นกำเนิดในมณฑลเหอหนาน)

- Angelica dahurica var. formosana (Boissieu) Yen (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Angelica dahurica var. formosana (H. Boissieu) Shan & Yuan) (มีถิ่นกำเนิดในมณฑลเจ้อเจียง)

- Angelica anomala Avé-Lall. (มีถิ่นกำเนิดในมณฑลเสฉวน)

ชื่อวงศ์: APIACEAE-UMBELLIFERAE

สกุล: Angelica

สปีชีส์: dahurica

ชื่อพ้อง:

-Angelica macrocarpa H.Wolff (พันธุ์จีน)

-Angelica porphyrocaulis Nakai & Kitag. (พันธุ์จีน)

-Callisace dahurica Hoffm.) (พันธุ์จีน)

-Angelica sylvestris L. (พันธุ์อินเดีย)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

โกฐสอ thai-herbs.thdata.co | โกฐสอ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นโกฐสอ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นค่อนข้างสูงประมาณ 1-2.5 เมตร ลำต้นตั้งตรงอวบสั้น โคนต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-5 เซนติเมตร มีสีม่วงแต้มเล็กน้อย ส่วนรากมีลักษณะอวบใหญ่เป็นรูปกรวยยาว ไล่ลำดับจากใหญ่ไปหาเล็ก เนื้อแน่นแข็ง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร หรือมากกว่านั้น อาจมีแยกแขนงที่ปลาย มีกลิ่นหอมฉุน

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก 2-3 ชั้น ออกเรียงเวียน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม มีขนาดกว้าง 40 เซนติเมตร และยาวได้ถึง 50 เซนติเมตร ก้านใบนั้นยาว โคนใบแผ่เป็นกาบ ส่วนใบย่อยไม่มีก้าน มีลักษณะเป็นรูปรีแคบถึงรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบเป็นครีบเล็กน้อย ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยห่าง ๆ ใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 1-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-10 เซนติเมตร ใบตอนบนจะลดรูปเป็นกาบ

โกฐสอ thai-herbs.thdata.co | โกฐสอ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่มเชิงประกอบ โดยจะออกตามง่ามใบและที่ปลายกิ่ง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10-30 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีขาว ใบประดับไม่เกิน 2 ใบ คล้ายกาบหุ้มช่อดอกเมื่อยังอ่อนอยู่ โดยทั่วไปมักมีช่อประมาณ 18-40 ช่อ มีขนสั้น ๆ กลีบดอกมี 5 กลีบ

ผล เป็นแบบผลแห้งแยก ลักษณะของผลเป็นรูปรีกว้าง ด้านล่างแบนราบ สันด้านล่างหนากว่าร่อง ส่วนสันด้านข้างจะแผ่เป็นปีกกว้าง ตามร่องจะมีท่อน้ำมัน

ราก (โกฐสอ) มีลักษณะกลมยาวคล้ายหัวผักกาด แต่จะมีขนาดเล็กกว่าและแข็งกว่ามาก โดยจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร มีขนาดต่าง ๆ ผิวสีน้ำตาล มีรอยย่นและมีสัน ที่เปลือกมีประที่มีชันอยู่ เนื้อด้านในเป็นสีขาวนวล มีจุดเล็ก ๆ ซึ่งเป็นชันหรือน้ำมันระเหยง่าย จึงทำให้มีกลิ่นหอม ส่วนรสชาติจะเผ็ดร้อนและขม ซึ่งส่วนของรากแห้งนี้เองจะถูกนำมาใช้ทำยาที่เรียกว่า "โกฐสอ" (คำว่า "สอ" ในภาษาเขมรแปลว่า ขาว)

สภาพนิเวศวิทยา: พบขึ้นตามภูเขาสูงและชื้น ในหุบเขา ริมน้ำ และตามชายป่า

ถิ่นกำเนิด: จีน (มณฑลเหอหนาน มณฑลเจ้อเจียง มณฑลเสฉวน)

การกระจายพันธุ์: จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และรัสเซีย

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด  

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย ใช้แก้ไข้ แก้หืด แก้ไอ ทำหัวใจให้ชุ่มชื่น แก้เสมหะเป็นพิษ แก้สะอึก แก้หลอดลมอักเสบ แก้ไข้จับสั่น

-พิกัดยา ประกอบด้วย

1.“พิกัดโกฐทั้ง 5” ได้แก่ โกฐหัวบัว โกฐสอ โกฐเขมา โกฐเชียง โกฐจุฬาลำพา มีสรรพคุณแก้ไข้เพื่อเสมหะ หืดไอ แก้โรคปอด โรคในปากคอ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต

2.“พิกัดโกฐทั้ง 7” (มีโกฐกระดูก และโกฐก้านพร้าว เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณ แก้ไข้จับสั่น แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืดไอ แก้โรคในปอด แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต แก้ไข้เรื้อรัง แก้หอบ แก้สะอึก

3.“พิกัดโกฐทั้ง 9”  (มีโกฐพุงปลา และโกฐชฎามังษี เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณแก้ไข้จับ แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืดไอ แก้โรคปอด แก้โรคในปากคอ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต แก้ไข้เรื้อรัง แก้หอบ แก้สะอึก บำรุงกระดูก แก้ไข้ในกองธาตุอติสาร แก้ไส้ด้วนไส้ลาม ขับระดูร้าย

-ตำรับยาพระโอสถพระนารายณ์ ปรากฎตำรับ “ยาจิตรการิยพิจรูญ” ระบุว่าใช้แก้ริดสีดวงผอมเหลือง ท้องรุ้งพุงมาน จุกกระผามม้ามเรื้อย (อาการม้ามโต) มองคร่อ หืด ไอ ลมอัมพาต และลมอื่นๆ ทั้งหลาย มีองค์ประกอบของสมุนไพรรวม 25 อย่าง รวมทั้งโกฐสอด้วย

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้โกฐสอในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของโกฐสออยู่ในพิกัดโกฐทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง

2.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของโกฐสอร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ อาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ ตำรับ “ยาประสะกานพลู” มีส่วนประกอบของโกฐสอร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ

3.ยาแก้ไข้ ปรากฏตำรับ “ยาจันทน์ลีลา” มีส่วนประกอบของโกฐสอร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู

-ตำรับยาสมุนไพรล้านนา ปรากฏตำรับ “ยาเม็ดขี้กระต่าย” มีรสขม ใช้รักษาโรคเลือดเป็นพิษ หัด สุกใส และร้อนใน ประกอบด้วยสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ได้แก่ โกฐสอ บอระเพ็ด บัวบก เกสรบัว เทียนดำ เทียนแดง อย่างละเท่ากัน

-จีนนิยมใช้ยานี้มานานแล้ว โดยมักใช้เป็นยาแก้ไข้หวัด แก้ปวดหัว โพรงจมูกอักเสบ แก้ปวดฟัน แก้ริดสีดวงทวารหนัก  แก้อาการทางผิวหนังต่างๆ เช่น แผลไฟไหม้  น้ำร้อนลวก บวม แก้ริดสีดวงจมูกโดยเตรียมเป็นยานัตถุ์  จีนถือว่ายานี้เป็นยาเฉพาะสตรี  จึงใช้ยานี้เป็นยาเกี่ยวกับระดู เช่น ใช้แก้ตกขาว อาการปวด บวมแดง นอกจากนั้นยังใช้ผสมในเครื่องสำอางบำรุงผิวหน้าหลายชนิด

องค์ประกอบทางเคมี: -

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:-

การศึกษาทางพิษวิทยา:-

การใช้ประโยชน์: -



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง