Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: เทียนขาว (ยี่หร่า)

ชื่อท้องถิ่น: ยี่หร่า

ชื่อสามัญ: Cumin, Cummin 

ชื่อวิทยาศาสตร์: Cuminum cyminum L. 

ชื่อวงศ์:  APIACEAE-UMBELLIFERAE

สกุล: Cuminum 

สปีชีส์: cyminum

ชื่อพ้อง: 

-Cuminia cyminum J.F.Gmel.

-Cuminum aegyptiacum Mérat ex DC.

-Cuminum hispanicum Mérat ex DC.

-Cuminum odorum Salisb.

-Cuminum sativum J.Sm.

-Cyminon longeinvolucellatum

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นเทียนขาว เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุปีเดียว มีกลิ่นหอม ลักษณะของลำต้นตรง ไม่มีขน มีความสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร 

ใบ เป็นใบเดี่ยวออกสลับกัน ใบที่โคนต้นเป็นรูปไข่เมื่อดูแนวรูปใบ โดยรวมยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ขอบใบหยักลึกถึงเส้นกลาง มีลักษณะเป็นแฉก 2-3 แฉก แต่ละแฉกจะคล้ายเส้นด้าย มีความยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร โดนก้านใบแผ่เป็นกาบ


เทียนขาว thai-herbs.thdata.co | เทียนขาว สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่มหลายชั้น ดอกย่อยมีขนาดเล็ก มีกลีบเลี้ยงเล็กมากถึงไม่มี มีกลีบดอก 5 กลีบ สีขาวหรือสีชมพู มีเกสรตัวผู้ 5 อันติดอยู่กับฐานดอก เรียงสลับกับกลีบดอก ส่วนเกสรตัวเมียจะสั้น รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มีอยู่ 2 ห้อง แต่ละห้องจะมี 1 เมล็ดเทียนขาว thai-herbs.thdata.co | เทียนขาว สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล (เทียนขาว) ลักษณะเป็นผลแห้ง รูปยาวรีสีน้ำตาล มีขนาดกว้างประมาณ 1.3-2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 4.5-6.7 มิลลิเมตร เปลือกมีขนสั้นแข็งปกคลุม เมื่อผลแก่จะแตกเป็น 2 ซึก โดยแต่ละซีกจะมีเมล็ด 1 เมล็ด ซีกผลจะมีลักษณะด้านนอกนูน ส่วนด้านในที่ประกบกันหรือด้านแนวเชื่อมจะมีลักษณะเว้า ด้านที่นูนจะมีสันตามแนวของผล ลักษณะจะคล้ายกับเส้นด้ายจำนวน 3 เส้น ด้านแนวเชื่อม 2 เส้น สันนูน มีขนแข็งสั้น ๆ หักง่ายปกคลุมอยู่ที่สัน ระหว่างสันจะมีลักษณะเป็นเนินเล็ก ๆ มีขนแข็ง เมล็ดจะมีกลิ่นหอม น้ำมันจากเมล็ดจะมีรสชาติเผ็ดร้อนและมีรสขม

สภาพนิเวศวิทยา: -

ถิ่นกำเนิด: แถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ประเทศอินเดีย และประเทศจีน

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*เมล็ด รสเผ็ดร้อนขม สรรพคุณ บำรุงกำลัง ขับผายลม แก้เส้นศูนย์กลางท้องพิการ แก้ชีพจรอ่อนหรือพิการ นอนสะดุ้งผวา (โทษน้ำดี) แก้คลั่งเพ้อ

-พิกัดยา ประกอบด้วย

1.“พิกัดตรีสินธุรส ” ได้แก่  รากมะตูม เทียนขาว น้ำตาลกรวด สรรพคุณ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษไข้พิษฝี แก้ดีพิการ แก้นิ่ว ขับปัสสาวะ

2.“พิกัดเบญจเทียน” ได้แก่ เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน สรรพคุณ แก้ลม เสมหะ และดีระคนกัน แก้พิษโลหิต แก้ทางปัสสาวะ แก้นิ่ว  แก้มุตกิด  บำรุงธาตุ  บำรุงกำลัง

3.“พิกัดสัตตะเทียน” ได้แก่ เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนสัตตบุษย์ เทียนเยาวพาณี สรรพคุณ แก้ลม เสมหะและดีระคนกัน แก้พิษโลหิต แก้ทางปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้มุตกิด บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ลมในท้อง แก้พรรดึก แก้ลมครรภ์รักษา

4.“พิกัดเนาวเทียน” ได้แก่ เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนสัตตบุษย์ เทียนเยาวพาณี เทียนตากบ เทียนเกล็ดหอย สรรพคุณ แก้ลม เสมหะแบะดีระคนกัน แก้พิษโลหิต แก้ทางปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้มุตกิด บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ลมในท้อ  แก้พรรดึก แก้ลมครรภ์รักษา

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้เทียนขาวในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ “ยาหอมทิพโอสถ” มีส่วนประกอบของเทียนขาวร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมวิงเวียน “ยาหอมเทพจิตร” มีส่วนประกอบของเทียนขาวร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมกองละเอียด ได้แก่ อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย (อาการที่รู้สึกใจหวิววิงเวียน คลื่นไส้ ตาพร่าจะเป็นลม) ใจสั่น และบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น “ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของเทียนขาวร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน (ลมจุกแน่นในอก) ในผู้สูงอายุ แก้ลมปลายไข้ (หลังจากฟื้นไข้แล้วยังมีอาการ เช่น คลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร “ยาหอมอินทจักร์” มีส่วนประกอบของเทียนขาวร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมบาดทะจิต แก้คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลมจุกเสียด 

2.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของเทียนขาวร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ “ยาประสะกานพลู” มีส่วนประกอบของเทียนขาวร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ “ยามันทธาตุ” มีส่วนประกอบของเทียนขาวร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ธาตุไม่ปกติ  “ยามหาจักรใหญ่” มีส่วนประกอบของเทียนขาวร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมซาง บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ “ยาอภัยสาลี” มีส่วนประกอบของเทียนขาวร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บาบัดโรคลม บรรเทาอาการจุกเสียดแน่น “ยาธรณีสันฑะฆาต” มีส่วนประกอบของเทียนขาวร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บำบัดโรคลม บรรเทาอาการจุกเสียดแน่น  “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของเทียนขาวร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูกหรือมีเลือดปน ท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้ เป็นต้น “ยาริดสีดวงมหากาฬ” มีส่วนประกอบของเทียนขาวร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการริดสีดวงทวารหนัก

3.ยาแก้ไข้  ปรากฏตำรับ “ยาประสะเปราะใหญ่” มีส่วนประกอบของเทียนขาวร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการหวัดในระยะแรก และอาการที่เกิดจากการแพ้อากาศ 

5.ยารักษากลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจ  ปรากฏตำรับ “ยาอามฤควาที” มีส่วนประกอบของเทียนขาวร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ 

6. ยาบำรุงโลหิต ปรากฏตำรับ “ยาบำรุงโลหิต” มีส่วนประกอบของเทียนขาวร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บำรุงโลหิต 

7.ยารักษากลุ่มอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก ปรากฏตำรับ “ยาธรณีสันฑะฆาต” มีส่วนประกอบของเทียนขาวร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้กษัยเส้น “ยาสหัศธารา” มีส่วนประกอบของเทียนขาวร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้ขับลมในเส้น แก้โรคลมกองหยาบ

องค์ประกอบทางเคมี: 

-น้ำมันยี่หร่า (cumin oil) ประกอบด้วยน้ำมันระเหยง่าย ซึ่งมี cuminaldehyde 25-35% เป็นองค์ประกอบหลัก นอกจากนี้ยังพบสารเทอร์ปีนชนิดอื่น ๆ ได้แก่ pinene dipentine cumene cuminic-alcohol cuminic aldehyde, cuminal, safranal, p-cymene, dipentine, cumene, cuminic alcohol, alpha-phellandrene, beta-phellandrene, alpha และ beta-pinene, delta-3-carene, 1,8-cineole, limonene, alpha และ gamma-terpinene, alpha-terpineol, terpinene-4-ol cuminyl alcohol, trans-dihydrocarvone, myrcene, linalool, beta-caryophyllene, beta-farnesene, beta-elemene

สารกลุ่ม glycosides: monoterpenoid glucosides (p-menthane glucoside, hydroxycuminyl glucoside), sesquiterpenoid glucosides (cuminosides A และ B), alkyl glycosides (1S,5S,6S,10S)-10-hydroxyguaia-3,7(11)-dien-12,6-olide beta-D-glucopyranoside, (1R,5R,6S,7S,9S,10R,11R)-1,9-dihydroxyeudesm-3-en-12,6-olide  9-O-beta-D-glucopyranoside, methyl beta-D-apiofuranosyl-(1 to 6) -beta-D- glucopyranoside, ethane-1,2-diol 1-O-beta-D-apiofuranosyl-(1 to 6)-beta-D-glucopyranoside และสาร 2-C-methyl-D-erythritol glycosides

สารกลุ่ม flavonoids: (อนุพันธ์ 7-O-beta-D-glucopyranosides ของ apigenin และ luteolin), flavonoid glycoside (3’-5,dihydroxyflavone 7-O-beta-D-galacturonide 4’-O-beta-D-glucopyranoside)

สารสกัดเมทานอลจากผล พบ Sesquiterpenoid glucoside คือ Cuminoside A, B

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์เพิ่มการทำงานของเอนไซม์ในกระเพาะอาหาร การศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดชนิดต่างๆจากเมล็ดเทียนขาว ในการเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ที่ช่วยย่อยอาหาร โดยการสกัดสารสำคัญจากเทียนขาว ได้สารสกัดทั้งสิ้น 4 ชนิด ได้แก่ saline extract (0.5N HCl), hot aqueous extract (สารสกัดด้วยน้ำร้อน), oleoresin (สกัดด้วยอะซิโตน) และ น้ำมันหอมระเหยทำการทดสอบฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ amylase, protease, lipase และ phytase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้ในการย่อยแป้ง, โปรตีน, ไขมัน และไฟเตต ตามลำดับ (ไฟเตตพบในพืชผัก ร่างกายต้องใช้ไฟเตสย่อยให้กลายเป็นฟอสเฟตก่อนดูดซึม) ผลการทดลองพบว่าสารสกัดในส่วน saline extractsและ hot aqueous extracts แสดงฤทธิ์สูงสุดในการเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ทั้ง 4 ชนิด โดย hot aqueous extracts สามารถเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ amylase, protease, lipase และ phytase ได้เท่ากับ 300± 63, 7250±331, 37.15±5,196± 20 U/mg protein/g cumin/min ตามลำดับ saline extracts สามารถเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ amylase, protease, lipase และ phytase ได้เท่ากับ 269±32, 8450± 380, 36.98 ±5, 150±15U/mg protein/g cumin/min ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ ได้เท่ากับ 4.0±0.1,  183.6±1.2, 2.94±0.5, 1.66± 0.5U/mg protein/g cumin/min ตามลำดับ ดังนั้นสารสกัดเทียนขาวอาจนำมาใช้ในสูตรอาหารต่างๆ เพื่อเพิ่มการย่อยอาหารได้ (Milan, et al., 2008)

-ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย การศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori  ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่พบที่กระเพาะอาหาร เป็นเชื้อที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการท้องอืดเฟ้อ แผลในกระเพาะอาหาร ทดสอบโดยใช้สารสกัดเอทานอล หรือสารสกัดน้ำของเทียนขาว ใช้เทคนิค disc diffusion test และวัดค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อ (MIC) ผลการทดลองพบว่าสารสกัดเอทานอลของเทียนขาวมีค่า MIC90เท่ากับ 0.075 mg/mLซึ่งแสดงว่าสารสกัดมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อ H. pylori ในหลอดทดลอง (Nostro, et al., 2005) 

การศึกษาฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย Vibrio sp. ซึ่งเป็นแบคทีเรียแกรมลบ ที่ก่อโรคอาหารเป็นพิษ หรือทางเดินอาหารอักเสบ ทดสอบน้ำมันระเหยง่ายจากเมล็ดเทียนขาว และทำการศึกษาปริมาณสารสำคัญโดยใช้เทคนิค GC-MS พบองค์ประกอบหลักคือ cuminlaldehyde (39.48%), gamma-terpinene (15.21%), O-cymene (11.82%), beta-pinene (11.13%), 2-caren-10-al (7.93%), trans-carveol (4.49%) และ myrtenal (3.5%) และทำการทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียโดยใช้ เทคนิค micro-well พบว่าน้ำมันระเหยง่ายจากเมล็ดเทียนขาวมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียกลุ่มVibrio spp.โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการยับยั้งเชื้อ (MIC) เท่ากับ 0.078–0.31 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร และค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถฆ่าเชื้อ (MBC)  เท่ากับ 0.31–1.25 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร (Hajlaoui, et al., 2010)  

-ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลองของน้ำมันระเหยง่ายจากเมล็ดเทียนขาว ในการจับอนุมูลอิสระด้วยวิธีทางเคมี โดยใช้อนุมูลอิสระ DPPH เปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน BHT ซึ่งเป็นสารกันเสียสังเคราะห์ ผลการทดลองพบว่าน้ำมันระเหยง่ายจากเทียนขาว และ BHT สามารถยับยั้งอนุมูลอิสระ โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 31และ 11.5 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ ความสามารถในการจับอนุมูล superoxide (อนุมูลอิสระของออกซิเจน ที่เกิดจากขบวนการต่างๆ ในร่างกาย) ของเทียนขาว และ BHT มีค่า IC50 เท่ากับ 16 และ 1.5 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ ความสามารถในการรีดิวส์ (Reducing power) ซึ่งเป็นคุณสมบัติของสารต้านอนุมูลอิสระ ของเทียนขาว และ BHT มีค่า EC50 เท่ากับ 11 และ 75 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ นอกจากนี้ยังทำการทดสอบฤทธิ์ป้องกันการเกิดออกซิเดชันของไขมัน โดยใช้เทคนิค beta-carotene bleaching พบว่าน้ำมันระเหยง่ายจากเมล็ดเทียนขาว และสารมาตรฐาน BHT สามารถยับยั้งการเกิดออกซิเดชันของกรดไขมัน  โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 20 และ 75 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร (Hajlaoui, et al., 2010) 

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-การทดสอบพิษของผลเทียนขาว จากรายงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าการให้หนูถีบจักรกิน หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ในขนาด 10 กรัม/กิโลกรัม ซึ่งคิดเป็น 5,000 เท่า เมื่อเทียบกับขนาดการรักษาในคน ไม่พบอาการเป็นพิษ (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)

-การให้เทียนขาว 2% ในอาหารไม่ก่อให้เกิดพิษในหนู แต่ในปริมาณ 10% จะทำให้การเจริญเติบโตผิดปกติ และมีผลต่อตับและไต

-การทดลองในหลอดทดลองพบว่าเทียนขาวไม่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์

-น้ำมันหอมระเหยเทียนขาวอาจทำให้ผิวหนังเกิดการไวต่อแสง

การใช้ประโยชน์:

-ผงเมล็ด ใช้เป็นเครื่องเทศที่สำคัญในแกงกะหรี่และมัสมั่น อาหารไทยใช้ใบยี่หร่าในการปรุงแต่งกลิ่นอาหาร โดยคั่วเมล็ดโขลกผสมกับเครื่องแกง เช่นแกงกะหรี่ แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน 

-ผงเมล็ด มีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ชายที่ต้องการฟิตร่างกาย เพราะจะช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญ ทำให้ร่างกายสามารถรับสารอาหารได้ง่ายขึ้น (ผงยี่หร่า)

-ผงเมล็ด มีธาตุเหล็กอยู่ปริมาณมาก จะช่วยเพิ่ม Hemoglobin ในเลือด ซึ่งจะทำให้ร่างกายมีความอดทนในการออกกำลังกายมากยิ่งขึ้น 

-ส่วนต้นและราก ตากให้แห้ง ช่วยย่อย ยาขับลม แก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ 

-น้ำมันระเหยง่าย เรียกน้ำมันยี่หร่า (cumin oil) ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอม น้ำหอม เครื่องดื่มและยาขับลม 

-สารสกัดด้วยเอทานอลจากผลและเมล็ด ยับยั้งการเจริญและการงอกของถั่วเขียวผิวดำได้

-ชาวโรมันโบราณจะใช้เทียนขาวแทนพริกไทย และยังมีการบดผลเทียนขาวเพื่อนำมาใช้ทำเป็นครีมข้นไว้สำหรับทาขนมปัง



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง