Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: ตะเคียนทอง

ชื่อท้องถิ่น: ตะเคียน ตะเคียนทอง ตะเคียนใหญ่ (ภาคกลาง)/ จะเคียน (ภาคเหนือ)/ แคน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)/ ไพร (ละว้า เชียงใหม่)/ กะกี้ โกกี้ (กะเหรี่ยง เชียงใหม่)/ จูเค้ โซเก (กะเหรี่ยง กาญจนบุรี)/ จืองา (มลายู-นราธิวาส)

ชื่อสามัญ: Iron wood, Malabar iron wood, Takian, Thingan, Sace, Takian

ชื่อวิทยาศาสตร์: Hopea odorata Roxb.

ชื่อวงศ์: DIPTEROCARPACEAE

สกุล:  Hopea 

สปีชีส์: odorata

ชื่อพ้อง: -

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ตะเคียนทอง thai-herbs.thdata.co | ตะเคียนทอง สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นตะเคียนทอง จัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดใหญ่ ลำต้นเปลาตรง มีความสูงของต้นประมาณ 20-40 เมตร วัดรอบได้ถึงหรือกว่า 300 เซนติเมตร ลักษณะของเรือนยอดเป็นทรงพุ่มทึบ กลม หรือเป็นรูปเจดีย์แบบต่ำ ๆ กิ่งแผ่กว้าง กิ่งแขนงเรียวเล็กลู่ลง ส่วนที่ยังอ่อนอยู่มีขน เปลือกต้นหนาเป็นสีน้ำตาลดำแตกเป็นร่องลึกตามยาว มักมียางสีเหลืองซึมออกมา เมื่ออายุมากขึ้นเปลือกจะเป็นเกล็ดๆ  เปลือกชั้นในสีเหลืองหม่นทกะพื้เป็นสีน้ำตาลอ่อน ส่วนแก่นไม้ตะเคียนเป็นสีน้ำตาลแดง ลักษณะของไม้ตะเคียน เนื้อไม้เป็นสีเหลืองหม่นหรือสีน้ำตาลอมสีเหลือง มักมีเส้นสีขาวหรือเทาขาวผ่านเสมอ ซึ่งเป็นท่อน้ำมันหรือยาง เนื้อไม้มีความละเอียดปานกลาง เสี้ยนมักสน ไม้แข็ง เหนียว ทนทาน และเด้งตัวได้มาก 


ตะเคียนทอง thai-herbs.thdata.co | ตะเคียนทอง สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปไข่แคบหรือขอบขนาน กว้างประมาณ 3-7 เซนติเมตร ยาว 8-16 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างหนา ปลายใบเรียวแหลม มีหาง โคนใบสอบ แผ่นใบบิดเป็นลอนเล็กน้อย แผ่นใบเรียบทั้งสองด้าน ใบอ่อนมีขนรูปดาวสีเทา ก้านใบสั้นเรียวเล็ก ยาว 1-1.8 เซนติเมตร หูใบเป็นรูปสามเหลี่ยม เส้นใบข้างประมาณ  11-12 คู่ และเส้นใบย่อยเชื่อมเป็นขั้นบันได หลังใบมีต่อมอยู่ตามง่ามแขนงเส้นใบ แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียว 


ตะเคียนทอง thai-herbs.thdata.co | ตะเคียนทอง สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงที่ซอกใบและปลายกิ่ง มีดอกย่อยช่อละประมาณ 40-50 ดอก ช่อยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ดอกสีเหลืองแกมน้ำตาล มีกลิ่นหอม มีขนนุ่ม กลีบดอกมี 5 กลีบ ดอกบานเต็มที่กลีบดอกจะบิดคล้ายกงจักร ขนาดดอกประมาณ  0.8-1 เซนติเมตร กลีบดอกประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ปลายกลีบหยักส่วนล่างบิดและเชื่อมติดกัน เกสรตัวผู้มี 15 อัน อับเรณูมียอดแหลม เกสรตัวเมียมีรังไข่เหนือวงกลีบ เรียวเล็ก ความยาวเท่ากับรังไข่ เมื่อหลุดจะร่วงทั้งชั้นรวมทั้งเกสรตัวผู้ติดไปด้วย กลีบเลี้ยงเล็กมากมี 5 กลีบ 


ตะเคียนทอง thai-herbs.thdata.co | ตะเคียนทอง สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะเป็นผลแห้งไม่แตก รูปกลมหรือรูปไข่เกลี้ยง ปลายมนเป็นติ่ง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.6 เซนติเมตร มีปีกรูปใบพาย ยาวประมาณ 1 คู่ ยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร ปลายปีกกว้าง 1 เซนติเมตร ส่วนโคนเรียว มีเส้นตามยาวประมาณ 9-11 เส้น ปีกสั้น 3 ปีก ซ้อนกัน ยาวน้อยกว่า 0.5 เซนติเมตร ปีกซ้อนกัน แต่หุ้มส่วนกลางผลไม่มิด ผลสีเขียวอ่อน เมื่อสุกสีน้ำตาลเข้ม เมล็ดค่อนข้างกลมสีน้ำตาล 1 เมล็ดต่อผล

สภาพนิเวศวิทยา: พบขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ใกล้ลำธาร ที่ความสูง 100-800 เมตร จากระดับน้ำทะเล 

ถิ่นกำเนิด: -

การกระจายพันธุ์: ทางตอนใต้และทางตอนตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชียในแถบประเทศไทย ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*เนื้อไม้และแก่น รสขมหวาน สรรพคุณ แก้คุดทะราด แก้เสมหะ แก้โลหิต แก้กำเดา แก้ไข้ สัมประชวร (ไข้ที่มีอาการแสดงที่ดวงตา ให้เป็นสี แดง เหลือง เขียว)

*เปลือก เนื้อไม้ มีรสฝาด ใช้ฆ่าเชื้อโรค แก้อักเสบ ห้ามเลือด 

*เปลือก รสฝาดเมา ใช้สมานแผล แก้บิดมูกเลือด แก้เหงือกอักเสบ และฆ่าเชื้อโรคในปาก แก้ลงแดง

*ยาง บดเป็นผงรักษาบาดแผล ชันใช้ผสมน้ำมันยางทาไม้ ทำน้ำมันชักเงา ยาแนวเรือ

-ตำรับยาพระโอสถพระนารายณ์ ปรากฎตำรับ “สีผึ้งบี้พระเส้น” จำนวน 2 ขนาน ที่มีการใช้ชันย้อย ร่วมกับสมุนไพรอื่นอีกหลายชนิดในตำรับ กวนให้เข้ากันในน้ำมัน ใช้ทาผ้า หรือแพรสำหรับปิดตามพระเส้นที่แข็งทำให้หย่อนได้

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้ “ชันย้อย” ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาเหลืองปิดสมุทร” มีส่วนประกอบของชันย้อยร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปน และท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ชัน พบสารกลุ่มไตรเทอร์ปีนอยด์ ได้แก่ dammaradienol, dammarenediol-II, hydroxydammarenone-I, ursonic acid, hydroxyhopanone, dammarenolic acid, shoreic acid, eichlerianic acid และ hydroxyoleanonic lactone

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ยับยั้งสารส่งเสริมการเกิดเนื้องอก การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งสารส่งเสริมการเกิดเนื้องอก ของสารไตรเทอร์พีนอยด์ 19 ชนิด, สารเซสควิเทอร์ปีนอยด์ 1 ชนิด และอนุพันธ์อีก 14 ชนิด ที่แยกได้จากชันย้อย ทำการศึกษาในหลอดทดลอง โดยตรวจสอบฤทธิ์ยับยั้งการเหนี่ยวนำการสร้างแอนติเจนเริ่มต้นของเชื้อไวรัส Epstein-Barr (EBV-EA) เมื่อใช้ 12-O-tetradecanoylphorbol 13-acetate (TPA) เป็นสารส่งเสริมการเกิดเนื้องอก ทดสอบในเซลล์ราจี (Raji cells) ผลการทดสอบพบว่า สารทดสอบส่วนมากมีฤทธิ์ยับยั้งการกระตุ้นแอนติเจนของ EBV-EA โดยมีศักยภาพเทียบเท่าหรือมากกว่าสาร β-carotene ซึ่งเป็นสารยับยั้งสารส่งเสริมการเกิดเนื้องอกที่ได้จากธรรมชาติ นอกจากนี้ยังพบว่า สาร (20S)-20-hydroxy-3,4-secodammara-4(28),24-dien-3-al สามารถยับยั้งสารส่งเสริมการเกิดเนื้องอกที่ผิวหนัง เมื่อทดสอบที่ผิวหนังหนูถีบจักร โดยใช้ 7,12-dimethylbenz[a]anthracene (DMBA) เป็นสารริเริ่ม (initiator) และใช้ TPA เป็นสารส่งเสริม หรือโปรโมเตอร์ (Ukiya, et al., 2010)

-ฤทธิ์ต้านเชื้อ Herpes simplex virus types I และ II การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อ Herpes simplex virus types I and II (เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อเริมที่ผิวหนัง ริมฝีปาก และอวัยวะเพศ) ของสารไตรเทอร์พีน 9 ชนิด ที่ได้จากชันย้อย ทำการศึกษาในหลอดทดลอง  ทดสอบโดยการให้สารไตรเทอร์พีนขนาด 1-10 µg/m lสัมผัสกับ vero cells เป็นเวลานานต่อเนื่อง 48 ชั่วโมง ภายหลังจากทำให้เซลล์ติดเชื้อไวรัสแล้ว ผลการทดสอบพบว่า สารไตรเทอร์พีนทั้ง 9 ชนิด มีผลทำให้เชื้อไวรัสเกิด cytopathic effect (CPE) คือเซลล์มีรูปร่างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมภายหลังการติดเชื้อ เช่น มีขนาดใหญ่ขึ้น สารไตรเทอร์พีนที่พบ ได้แก่ dammaradienol, dammarenediol-II, hydroxydammarenone-I, ursonic acid, hydroxyhopanone, dammarenolic acid, shoreic acid, eichlerianic acid และ hydroxyoleanonic lactone (Poehland, et al., 1987)

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-การทดสอบความเป็นพิษต่อยีน การทดสอบความเป็นพิษต่อยีนของชันย้อย โดยใช้หนูถีบจักรที่มีการดัดแปลงพันธุกรรมยีน (gpt delta transgenic mouse) โดยการให้ชันย้อยขนาด 2% เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าชันย้อยไม่ทำให้เนื้อเยื่อตับเปลี่ยนแปลง และไม่เหนี่ยวนำให้เกิดการก่อกลายพันธุ์ในตับ แต่ทำให้ระดับของสารที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกของยีน ซึ่งเป็นดัชนีบ่งชี้การแบ่งตัวเพิ่มขึ้นของเซลล์ ได้แก่  8-OHdG, bax, bcl-2, p53, cyp1a2, cyp2e1, gpx1 และ gstm2 มีค่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (p<0.05)  จากการวัดค่าน้ำหนักตัว น้ำหนักตับ ปริมาณน้ำ และปริมาณอาหารที่หนูกิน ผลการทดสอบพบว่า หนูยังคงกินน้ำ และอาหารได้ตามปกติ แต่มีน้ำหนักตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) เท่ากับ 28.76±0.09 กรัม เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (เท่ากับ 34.67±1.87กรัม) แต่ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักตับ โดยสรุปชันย้อยไม่ก่อให้การพยาธิสภาพในตับ และไม่มีความเป็นพิษต่อยีน แต่อย่างไรก็ตามควรระมัดระวังเมื่อนำมาใช้เพื่อการบริโภคเนื่องจากทำให้ดัชนีบ่งชี้การแบ่งตัวของเซลล์ตับเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป (Xie, et al., 2012)

การใช้ประโยชน์:

-เปลือกต้น ให้น้ำฝาดชนิด Catechol และ Pyrogallo

-ชัน ใช้ทำน้ำมันชักเงาตบแต่งเครื่องใช้ในร่ม ใช้ผสมกับน้ำมันทาไม้ยาแนวเรือ หรือใช้ผสมกับวัสดุอื่น ๆ เพื่อใช้ในงานต่าง ๆ เช่น ใช้สำหรับทาเคลือบเรือเพื่อช่วยรักษาเนื้อไม้และป้องกันเพรียงทำลาย เป็นต้น

-ใบ มีสารแทนนินอยู่ประมาณ 10% โดยน้ำหนักแห้ง ส่วนในเปลือกต้นก็มีสารประกอบนี้อยู่ด้วยเช่นกัน โดยคุณสมบัติของแทนนินที่ได้จากไม้ตะเคียนทองนี้ เมื่อนำมาใช้ฟอกหนังจะช่วยทำให้แผ่นหนังแข็งขึ้นกว่าเดิม จึงเหมาะกับการนำมาใช้เฉพาะงานได้เป็นอย่างดี

-ไม้ตะเคียน จัดเป็นไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศ เพราะเนื้อไม้มีความทนทาน ทนปลวกดี เลื่อย ไสกบ ตกแต่งและชักเงาได้ดีมาก นิยมใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน เครื่องเรือน หน้าต่าง วงกบประตู ทำพื้นกระดาน ฝ้าหลังคา รั้วไม้ หีบใส่ของ ด้ามเครื่องมือกสิกรรมต่าง ๆ พานท้ายและรางปืน หรือใช้ทำสะพาน ต่อเรือ ทำเรือมาด เรือขุด เรือแคนู เสาโป๊ะ กระโดงเรือ ทำรถลาก ทำหมอนรองรางรถไฟ ตัวถังรถ กังหัน เกวียน หูกทอผ้า ทำไม้ฟืน ฯลฯ ไม้ชนิดนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในงานไม้ได้ทุกอย่างที่ต้องการความแข็งแรงทนทาน เหนียวและเด้ง

-นิยมปลูกตามป่าหรือตามสวนสมุนไพรเพื่อเป็นไม้บังลม เพื่อให้ร่มเงา และช่วยรักษาสมดุลทางธรรมชาติ เพราะไม้เป็นไม้ไม่ผลัดใบพร้อมกัน จึงเป็นไม้ที่ช่วยรักษาความเขียวได้ตลอดปี ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เป็นอย่างดี





ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง