Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: คนทา

ชื่อท้องถิ่น: ขี้ตำตา (เชียงใหม่)/ หนามกะแท่ง (เลย)/ โกทา หนามโกทา (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)/ จี้ จี้หนาม หนามจี้ สีเตาะ สีเดาะ] (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ)/ คนทา (ภาคกลาง)/ กะลันทา สีฟัน สีฟันคนทา สีฟันคนตาย (ทั่วไป)/ มีซี มีชี (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ชื่อสามัญ: -

ชื่อวิทยาศาสตร์: Harrisonia perforata (Blanco) Merr.

ชื่อวงศ์: RUTACEAE

สกุล: Harrisonia 

สปีชีส์: perforata

ชื่อพ้อง: 

-Anisifolium pubescens (Wall.) Kuntze

-Feroniella puberula Yu.Tanaka

-Feroniella pubescens (Wall. ex Hook.f.) Yu.Tanaka

-Feroniella pubescens (Wall. ex Hook. f.) Tanaka

-Harrisonia citrinaecarpa Elmer

-Lasiolepis multijuga Benn.

-Lasiolepis paucijuga Benn. & R. Br.

-Limonia pubescens Wall. ex Hook.f.

-Paliurus dubius Blanco

-Paliurus perforatus

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

คนทา thai-herbs.thdata.co | คนทา สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นคนทา เป็นไม้พุ่มแกมเถาหรือเป็นไม้พุ่มเลื้อยทอดเกาะเกี่ยวขึ้นไป มีความสูงได้ประมาณ 3-6 เมตร ลำต้นจะมีขนาดโตเท่ากับต้นหมาก เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล และมีหนามแหลมและสั้นตลอดทั้งลำต้นและตามกิ่งก้าน  


คนทา thai-herbs.thdata.co | คนทา สรรพคุณ สมุนไพร ไทย     

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 11-15 ใบ ใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรี ปลายใบมนถึงแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเป็นหยักแบบห่าง ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ใบอ่อนเป็นสีแดง ก้านใบร่วมเป็นปีกแผ่ขยายออกแคบ ๆ และใบมีรสขม


คนทา thai-herbs.thdata.co | คนทา สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อ ดอกย่อยมีขนาดประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ภายในมีแป้นดอก ดอกย่อยด้านนอกเป็นสีแดงแกมม่วง ส่วนด้านในเป็นสีนวล กลีบดอกและกลีบดอกมีกลีบอย่างละ 4-5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน


คนทา thai-herbs.thdata.co | คนทา สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล มีลักษณะค่อนข้างกลม เบี้ยว และฉ่ำน้ำ ผิวผลเรียบเนียนคล้ายแผ่นหนัง ผลอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน เนื้อผลค่อนข้างแข็ง ภายในผลมีเมล็ดเดี่ยว      

เมล็ด เป็นเมล็ดแข็งเป็นสีน้ำตาล มีขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร

สภาพนิเวศวิทยา:  พบได้ตามที่โล่งในป่าผลัดใบ ป่าละเมาะ และป่าเขาหินปูน ที่ระดับความสูงใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึง 900 เมตร สำหรับประเทศไทยพบมากในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทางภาคเหนือ

ถิ่นกำเนิด: ตอนใต้ของจีนและอินโดจีน

การกระจายพันธุ์: จีนตอนใต้ลงไปถึงมาเลเซีย 

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ราก รสขมเฝื่อน แก้ไข้เหนือ ไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้ตักศิลา แก้ไข้เส้น กระทุ้งพิษ ไข้หัว แก้ไข้ทุกชนิดแก้บวม บวมพอง สมานบาดแผล แก้บิด แก้ท้องร่วง แก้ตาเจ็บ แก้ปวดเมื่อย แก้ร้อนในกระหายน้ำ รักษาลำไส้ ขับลม ขับโลหิต แก้น้ำเหลืองสีย 

เปลือกราก แก้ไข้ แก้ท้องร่วง แก้บิด รักษาโรคลำไส้ รากเป็นส่วนประกอบหลักในตำรับยาแก้ไข้เบญจโลกวิเชียร 

*รากอ่อนและต้น แก้ท้องร่วง แก้บิด ต้น แก้บิด แก้ท้องร่วง กระทุ้งไข้ แก้พิษไข้กาฬ แก้ร้อนในกระหายน้ำ 

*ทั้งต้น รสขมเฝื่อน แก้ไข้ได้ทุกชนิด แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ แก้บิด ท้องเสีย 

*กิ่งก้าน รสขมเฝื่อน ทุบกิ่งก้านทำเป็นแปรงใช้สีฟัน รักษาฟัน 

*เปลือกต้น แก้บิด แก้ท้องร่วง รักษาลำไส้ ต้มแล้วเคี่ยวเอาน้ำพ่นตาสัตว์ แก้เจ็บตา

*ใบ มีรสขม แก้ปวด 

*ดอก แก้พิษแตนต่อย  

*ผล รสขมฝาด ทาฟันทำให้ฟันมีสีดำ แก้ปวดฟัน

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้คนทาในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่

1.ยาแก้ไข้ ปรากฎตำรับ “ยาห้าราก” มีส่วนประกอบของรากคนทาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการไข้

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ราก ของต้นคนทามาสกัดด้วยเมทานอล แล้วนำมาสกัดต่อด้วยเฮกเซน และคลอโรฟอร์ม นำสิ่งสกัดในแต่ละส่วนมาทำการแยกโดยวิธีคอลัมน์โครมาโทรกราฟี และควิกคอลัมน์โครมาโทรกราฟี สามารถแยกสารได้ 4 ชนิด คือ heteropeucenin-7-methyl ether, perforaticacid, ของผสมสเตอรอยด์พวก beta-sitosterol, stigmasterol, campesterol และของผสมของ beta–sitosteryl-3-Oglucopyranoside,stigmasteryl-3-O-glucopyranoside, chloresteryl-3-O-glucopyranoside นอกจากนี้ยังได้รายงานการวิเคราะห์สิ่งสกัดในชั้นนํ้า พบพวกเกลือคลอไรด์, นํ้าตาล และกรดแอมิโน (ผกามาศ, 2533)

การแยกและหาสูตรโครงสร้างของสารประกอบจากรากคนทา พบ 2-hydroxymethyl-3-methylalloptaeroxylin และสารประกอบอื่น ๆ อีกแปดชนิด คือ heteropeucenin-7-methylether, perforarotic acid,lupeol, คูมารินที่ไม่มีหมู่แทนที่ 5-hydroxy-6,7-dimethoxycoumarin, ของผสมของแอลกอฮอล์โซ่ตรง (C31-C35), ของผสมสเตียรอยด์ (betasitosterol,campesterol และ stigmasterol) และของผสมของสเตียรอยด์กลัยโคไซด์ (beta-sitosteryl-3-O-glucopyranoside,chloresteryl-3-O-glucopyranoside, stigmasteryl-3-O-glucopyranoside) (มนิดา, 2535)

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดเอทานอลจากรากคนทา แบ่งเป็นการทดสอบในสัตว์ทดลองและทดสอบในหลอดทดลอง การศึกษาในสัตว์ทดลอง ทำการศึกษาฤทธิ์ลดการบวมเฉียบพลันที่อุ้งเท้าหนูขาว หลังจากฉีด carrageenan ที่เวลา 1, 2, 3, 4, 5 และ 6 ชั่วโมง โดยใช้หนูเพศผู้สายพันธุ์วิสตาร์ ให้สารสกัดคนทาในขนาด 5-400 mg/kg เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน indomethacin 5 mg/kg การทดสอบในหลอดทดลอง ดูผลการแสดงออกของ mRNA expression ของสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบ ได้แก่ TNF- α, IL-6 และ IL-1β ศึกษาในเซลล์แมคโครฟาจ J774A.1 ของหนู ที่ถูกเหนี่ยวนำการอักเสบด้วย Lipopolysaccharide (LPS)  โดยให้สารสกัดจากรากคนทาในขนาด12.5-50 μg/ml วิเคราะห์ผลด้วยเครื่อง real-time RT-PCR ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดขนาด 50, 100,200 และ 400 mg/kg สามารถลดการอักเสบได้ที่เวลา 2 ชม. หลังฉีดคาราจีแนน โดยลดการบวมที่อุ้งเท้าหนูได้ 28.49, 31.18, 47.85 และ 65.05% ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน Indomethacin ขนาด 5 mg/kg ลดการบวมได้ 37.10% และผลลดการแสดงออกของ mRNA ของสารในกระบวนการอักเสบ หรือ proinflammatory cytokines พบว่าสารสกัดขนาด 50 μg/ml สามารถยับยั้ง TNF-α และ IL-1β ได้เท่ากับ 49.83±3.77 และ 47.27±3.77% ตามลำดับ แต่การยับยั้ง IL-6 จะใช้สารสกัดขนาด 12.5 และ 25 μg/mlยับยั้งได้ 43.93±5.65% เมื่อเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน dexamethasone ขนาด 10 μM ยับยั้ง TNF-α, IL-1β และ IL-6 mRNA expression ได้เท่ากับ 30.06±4.09%, 77.96±2.09% และ 89.44±0.54% ตามลำดับ จึงสรุปได้ว่าสารสกัดเอทานอลจากรากคนทามีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยลดการแสดงออกของไซโตคายน์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ (Somsil, et al., 2012)

สารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากผลและรากคนทา คือ harperfolide ออกฤทธิ์แรงในการต้านการอักเสบในหลอดทดลอง โดยยับยั้งการสร้าง nitric oxide (NO) เมื่อทดสอบโดยใช้เซลล์แมคโครฟาจของหนูที่ถูกกระตุ้นการอักเสบด้วย LPS โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 6.51±2.10 µM โดยมีผลลดการแสดงออกของ iNOS protein ที่ทำหน้าที่สร้างสารในกระบวนการอักเสบ คือไนตริกออกไซด์ โดยเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน indomethacin  ค่า IC50 เท่ากับ 28.42±3.51 µM (Choodej, et al., 2013)

สารสกัดรากคนทาด้วยเอทานอลมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง nitric oxide (NO)  ในหลอดทดลอง ทำการทดสอบโดยใช้ LPS กระตุ้นให้เกิดการอักเสบในเซลล์แมคโครฟาจของหนู โดยสารสกัดขนาด 50 μg/ml ยับยั้งการสร้าง NO โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 23.14 μg/ml  ออกฤทธิ์ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน dexamethasone ผลการทดสอบสารสกัดจากรากคนทาในการลดการแสดงออกของ mRNA ของเอนไซม์ cyclooxygenase-2 (COX-2) ซึ่ง COX-2 เป็นเอนไซม์ที่ใช้ในการสร้าง  prostaglandin ในกระบวนการอักเสบ พบว่าสารสกัดที่ความเข้มข้น 50 μg/ml  ลดการแสดงออกของ COX-2 ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน dexamethasone (10 µM) และสารสกัดที่ความเข้มข้น 25 และ 50 μg/ml  ลดการแสดงออกของ iNOS ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน dexamethasone (10 µM) โดยสรุปสารสกัดรากคนทาด้วยเอทานอลมีผลลดการอักเสบ และลดไข้ได้ เนื่องจากสามารถยับยั้ง iNOS และ COX-2 ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้ในการสร้างสารที่ทำให้เกิดการอักเสบและเกิดไข้ ได้แก่ NO และ PGE2 ตามลำดับ (Somsill, et al., 2010)

-ฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV-1 ทดสอบฤทธิ์โดยใช้สารสกัดน้ำ และ ethanol ของเนื้อไม้คนทา เพื่อหาฤทธิ์ต้านเอนไซม์ HIV-1 integrase (IN) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เป็นเป้าหมายในการค้นหายาต้านโรคเอดส์ เอนไซม์นี้ทำหน้าที่ในการนำ DNA ของไวรัสเข้าไปยังโครโมโซมของโฮสต์ การทดสอบโดยใช้วิธี multiplate integration พบว่าสารสกัดน้ำให้ผลยับยั้งการทำงานของ HIV-1 integrase ได้ดีมาก โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 2.3 µg/ml ซึ่งยับยั้งได้มากกว่าสารมาตรฐาน suramin ซึ่งมีค่า IC50 เท่ากับ 3.4 µg/ml ส่วนสารสกัด ethanol มีค่า IC50 มากกว่า 100 µg/ml ดังนั้นจึงอาจนำสารสกัดน้ำไปพัฒนาเพื่อเป็นสารจากธรรมชาติในการต้านเชื้อ HIV ได้ต่อไปในอนาคต

การศึกษาทางพิษวิทยา:-

การใช้ประโยชน์:

-ช่วยรักษาฟัน ใช้กิ่งก้าน มีรสเฝื่อนขม ด้วยการนำกิ่งขนาดนิ้วก้อยที่ยาวประมาณ 1 คืบ นำมาลอกเปลือกออกปลายด้านหนึ่งแล้วทุบให้เป็นเส้นฝอย ๆ และอาจช่วยทำให้เส้นดีขึ้นด้วยการใช้มีดผ่าออกเป็นแนวยาว ๆ แล้วนำปลายฝอยนี้ไปถูกับไม้ระแนงที่เตรียมไว้อีกทีหนึ่ง เพื่อทำให้ปลายฝอยฟูเป็นขนแปรงที่นุ่มขึ้น ส่วนปลายของอีกด้านหนึ่งก็เหลาให้แหลม ใช้ทำเป็นไม้จิ้มฟันหรือใช้เขี่ยเศษอาหารได้อีกต่อหนึ่ง ซึ่งตามประเพณีดั้งเดิมของชาวอีสานจะใช้หนามคนทาทำแปรงสีฟัน เพื่อไปถวายให้พระสงฆ์ในช่วงที่มีการถวายพุ่มเทียนพรรษา และพระสงฆ์สายธรรมยุตในวัดป่าของทางภาคอีสาน ยังนิยมใช้แปรงสีฟันจากกิ่งของต้นคนทากันอยู่

-ช่วยป้องกันน้ำกัดเท้าในฤดูทำนา ใช้ผลอ่อน นำไปหมดไฟหรือนำไปต้มแล้วทุบพอแตก นำมาใช้ทาเท้าก่อนทำนา

-สีที่ใช้สำหรับย้อมผ้า ใช้ผลสดนำมาสกัดน้ำ โดยผลคนทา 15 กิโลกรัมจะสามารถย้อมสีเส้นไหมได้ 1 กิโลกรัม โดยสีที่ให้คือสีเทาม่วง

-เนื้อไม้ มีความเหนียว ไม่หักง่าย และมีความยืดหยุ่น จึงนำไปใช้ทำเป็นคานหาบน้ำได้

-เนื้อไม้ ใช้สำหรับทำเป็นฟืนในพิธีกวนข้าวทิพย์

-นิยมปลูกต้นคนทาไว้ในสวนหรือตามวัดบางแห่ง เพื่อใช้ประโยชน์ในการทำยา



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง