Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: สีเสียด

ชื่อท้องถิ่น: ขี้เสียด (เหนือ)/ สะเจ (ฉาน แม่ฮ่องสอน)/ สีเสียดแก่น (ราชบุรี)/ สีเสียดเหนือ (กลาง)/ สีเสียดเหลือง (เชียงใหม่)/ สีเสียดหลวง สีเสียดลาว

ชื่อสามัญ: Catechu tree, Cutch tree

ชื่อวิทยาศาสตร์: Acacia catechu (L.f.) Willd

ชื่อวงศ์: LEGUMINOSAE-MIMOSOIDEAE

สกุล: Acacia 

สปีชีส์: catechu

ชื่อพ้อง: 

-Acacia catechuoides (Roxb.) Benth.

-Acacia sundra (Roxb.) Bedd.

-Acacia wallichiana DC.

-Mimosa catechu L.f.

-Mimosa catechuoides

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นสีเสียด เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงของต้นได้ประมาณ 10-15 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีเทาอมดำหรือสีเทาเข้ม แตกเป็นสะเก็ดตามยาว ผิวเปลือกค่อนข้างขรุขระ และสามารถลอกเปลือกผิวออกมาได้เป็นแผ่น ๆ เปลือกข้างในเป็นสีแดง ตามกิ่งก้านมีหนามเล็ก ๆ เป็นคู่ขึ้นอยู่ทั่วไป

ใบ เป็นใบประกอบขนนสองชั้น ประกอบด้วยใบประกอบย่อย 9-30 คู่ และต่อม 1 ต่อมที่แกนกลาง ใบประกอบย่อยมใบ 16-50 คู่ ลักษณะใบย่อยรูปขอบขนานแกมรูปไข่ขนาดยาวประมาณ 2-6 มิลลิเมตร ผิวใบเกลี้ยงหรืออาจมีขนละเอียดประปราย

ดอก ออกดอกเป็นช่อคล้ายหางกระรอกบริเวณยอดหรือปลายกิ่ง ยาวประมาณ 5-10 ซม. ดอกย่อยมีวงกลีบเลี้ยงรูประฆัง ขนาดยาวประมาณ 1.0-1.5 มิลลิเมตร และกลีบดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อน 1 กลีบ ยาวประมาณ 2.5-3.0 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้มีเป็นจำนวนมากยื่นยาวออกเหนือกลีบดอกสีขาวหรือขาวอมเหลือง

ผล ลักษณะผลเป็นฝักแบบ โคนกลีบปลายบานออกและค่อนข้างโค้ง กว้างประมาณ 1.0 -1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5.0 8.5 เซนติเมตร เมื่อแก่มีผิวสีน้ำตาลเป็นมันแตกออกได้ ภายในมีเมล็ดรูปไข่กว้าง 3-10 เมล็ดต่อฝักเมล็ด

สภาพนิเวศวิทยา: พบตามป่าเบญจพรรณและป่าโปร่งทางภาคเหนือ ป่าละเมาะบนพื้นที่ราบและแห้งแล้งทั่วไป

ถิ่นกำเนิด: อินเดียไปจนถึงจีน (ยูนนาน)

การกระจายพันธุ์: อัสสัม, บังกลาเทศ, จีนตอนกลางตอนใต้, เทือกเขาหิมาลัยตะวันออก, อินเดีย, เมียนมาร์, เนปาล, ปากีสถาน, ไทย, หิมาลัยตะวันตก, จีนตะวันออกเฉียงใต้, จาวาดินแดนทางเหนือ

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด และการปักชำกิ่ง

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*เปลือกต้นและยาง รสฝาดจัด สรรพคุณ คุมธาตุ แก้บิดมูกเลือด แก้ท้องร่วง แก้ลงแดง แก้อติสาร ชะล้างบาดแผล ทำให้แผลหายเร็ว

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้สีเสียด ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาเหลืองปิดสมุทร” มีส่วนประกอบของสีเสียดร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูกหรือมีเลือดปน ท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้ เป็นต้น

องค์ประกอบทางเคมี: 

-พบสารกลุ่ม tannins ได้แก่ catechutannic acid 20-35%, catechin, catechu red, acacatechin 2-10%, epicatechin , phlobatannin, protocatechu tannins, pyrogallic tannins, epicatechin-3-O-gallate, epigallocatechin-3-O-gallate สารกลุ่ม flavonoids ได้แก่ quercetin, quercetagetin, fisetin flavanol dimers

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด การทดสอบฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของสารสกัดปิโตรเลียมอีเธอร์, คลอโรฟอร์ม, อะซิโตน, เอทานอล, น้ำ, ส่วนสกัดย่อยที่ละลายน้ำ และไม่ละลายน้ำของสารสกัดเอทานอล ที่ได้จากเปลือกสีเสียดไทย ทำการศึกษาในหนูขาวสายพันธุ์วิสตาร์  ทดสอบโดยป้อนสารสกัดชนิดต่าง ๆ ในขนาด 400 mg/kg แก่หนูแต่ละกลุ่ม หลังจากนั้น 30 นาที ให้หนูได้รับสารละลายกลูโคส ขนาด 4 g/kg เพื่อทำให้เกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูง แล้วตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดที่เวลา 1/2, 1, 2 และ 3 ชั่วโมง ภายหลังจากได้รับกลูโคส  ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่าสารมาตรฐาน ตั้งแต่ชั่วโมงที่ 1 โดยระดับน้ำตาลในเลือดของกลุ่มควบคุม, กลุ่มที่ได้รับยามาตรฐาน glibenclamide, กลุ่มที่ได้รับสารสกัดเอทานอล และกลุ่มที่ได้รับส่วนสกัดย่อยที่ไม่ละลายน้ำของสารสกัดเอทานอล มีค่าระดับน้ำตาลในเลือดเท่ากับ 150.60±4.01, 92.20±4.60, 87.20±5.09 และ 83.40±5.20 mg/dl (P<0.01)    ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดในหนูขาวปกติ แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม, กลุ่มที่ได้รับยามาตรฐาน glibenclamide 5mg/kg, กลุ่มที่ได้รับสารสกัดเอทานอลขนาด 200 และ 400 mg/kg จากนั้นเก็บเลือดที่บริเวณหาง ในชั่วโมงที่  1/2, 1, 2 และ 3 หลังได้รับสารทดสอบเพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือด ผลการทดสอบพบว่า ในชั่วโมงที่  2  ค่าระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด เท่ากับ  82.20±1.70,  33.20±1.39**, 71.20±2.28* และ 68.60±3.37** mg/dl ตามลำดับ (*P<0.05 และ **P<0.01 เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม) แสดงว่าสารสกัดเอทานอลสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดหนูได้ต่ำกว่ากลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับยาในการตรวจวัดค่าพารามิเตอร์ทางชีวเคมี ทำการศึกษาในหนูขาวปกติ และหนูขาวที่ได้รับ alloxan เพื่อกระตุ้นให้เป็นเบาหวาน จากนั้นให้สารทดสอบเป็นเวลา 7 วันต่อเนื่องกัน ในวันที่ 7 หลังอดอาหาร 16 ชั่วโมง จึงวัดค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ ผลการทดสอบพบว่าระดับน้ำตาลในเลือด, serum urea, serum creatinine, serum cholesterol, serum triglyceride, LDL, haemoglobin และ glylosylated haemoglobin ของหนูที่ได้รับสารสกัดเอทานอลมีค่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับหนูที่เป็นเบาหวาน (ไม่ได้รับสารสกัด และยามาตรฐาน) และระดับของ HDL ของหนูที่ได้รับสารสกัดเอทานอลมีค่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับหนูที่เป็นเบาหวาน ค่าระดับน้ำตาลในเลือดของหนูกลุ่มควบคุม (หนูปกติ), กลุ่มเบาหวาน (ไม่ได้รับสารสกัด และยามาตรฐาน), กลุ่มที่ได้รับสารสกัดเอทานอล 400 mg/kg และกลุ่มที่ได้รับยา glibenclamide 5mg/kg เท่ากับ 81.4±3.2**, 512.0±15.3, 192.0±10.4** และ 124.4±7.8** ตามลำดับ  ระดับของ glylosylated haemoglobin เท่ากับ 1.9±0.2**, 5.7±0.4, 3.0±0.2**  และ 2.0±0.2**ตามลำดับ (glylosylated haemoglobin คือฮีโมโกลบิน หรือโปรตีนในเลือดที่มีน้ำตาลไปเกาะอยู่ จะบ่งบอกถึงระดับน้ำตาลในเลือดที่แท้จริง ไม่ขึ้นลงเร็วตามปริมาณอาหารที่พึ่งรับประทานเข้าไป) สรุปได้ว่สารสกัดเอทานอลจากเปลือกสีเสียดไทยสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดในหนูที่เป็นเบาหวานได้ และทำให้ค่าพารามิเตอร์ทางชีวเคมีต่าง ๆ กลับสู่ระดับปกติได้ (Jarald, et al., 2009)

-ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเอทานอลที่ได้จากเปลือกสีเสียดไทย ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ด้วยวิธีทางเคมี ตรวจสอบโดยใช้วิธี DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl) assay ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลจากเปลือกสีเสียดไทยสามารถยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH ได้ โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งได้ร้อยละ 50 (EC50) เท่ากับ 0.05±0.00 µg/µg DPPH ซึ่งเป็นผลจากการที่เปลือกสีเสียดไทยมีค่าปริมาณฟีโนลิครวม และสารสกัดฟลาโวนอยด์สูง ทำให้มีความสามารถในการกำจัดอนุมูลอิสระที่ดี  การทดสอบหาปริมาณสารฟีนอลรวม และปริมาณสารฟลาโวนอยด์รวม ของสารสกัดเอทานอลที่ได้จากเปลือกสีเสียดไทย ทำการศึกษาในหลอดทดลอง โดยใช้วิธี Folin-Ciocalteu reagent ในการหาปริมาณทั้งหมดของสารฟีโนลิค รายงานผลในหน่วยมิลลิกรัมของกรดแกลลิคต่อกรัมของน้ำหนักพืชแห้ง (mg GAE/g dw) ใช้กรดแกลลิคเป็นตัวแทนของสารโพลีฟีนอลมาตรฐาน และใช้วิธี colorimetric assay ในการหาปริมาณทั้งหมดของสารฟลาโวนอยด์ รายงานผลในหน่วยมิลลิกรัมของรูตินต่อกรัมของน้ำหนักพืชแห้ง (mg RE/g dw) ใช้รูตินเป็นตัวแทนของสารฟลาโวนอยด์มาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่าเปลือกสีเสียดไทยมีปริมาณสารฟีโนลิครวม และสารฟลาโวนอยด์รวม เท่ากับ 177.7±0.2 mg GAE/g dw และ 41.8±0.2 mg RE/g dw ตามลำดับ จากผลการทดสอบแสดงว่าเปลือกสีเสียดไทยมีปริมาณสารแทนนิน ซึ่งเป็นสารกลุ่มฟีโนลิคอยู่สูงซึ่งทำให้มีฤทธิ์ฝาดสมาน (astringent) (Maisuthisakul, et al., 2007)

-ฤทธิ์ต้านจุลชีพ มีรายงานการวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านจุลชีพ พบว่าสารสกัดน้ำ เมทานอล และเฮกเซน จากสีเสียดไทยมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Escherichia coli O157:H7, Pseudomonas aeruginosa, Salmonella typhi, Bacillus subtilis, Bacillus cereus, Staphylococcus aureus และ methicillinresistant S. aureus ได้ นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดเฮกเซนจากเปลือกต้นสีเสียดไทยมีฤทธิ์ต้านเชื้อรา Candida albicans และ Aspergillus niger ได้

-ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีการทดสอบสีเสียด พบว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ทดสอบสารสกัดเอทานอล (80%) จากลำต้นแห้ง ความเข้มข้น 6.25 มก./มล. กับเชื้อแบคทีเรีย S. aureus ในจานเพาะเชื้อ พบว่ามีฤทธิ์อ่อนๆ เมื่อเปลี่ยนมาใช้สารสกัดเอทานอล (95%) จากเรซินของสีเสียด พบว่ามีฤทธิ์ มีการทดสอบน้ำสกัด สารสกัดเฮกเซน และสารสกัดเอทานอล ความเข้มข้น 200 มก./มล. ของพืชหลายชนิดในการต้านเชื้อแบคทีเรียชนิดต่างๆ โดยวิธี agar well diffusion จากผลการทดสอบพบว่า สารสกัดเอทานอลจากเปลือกของสีเสียด มีฤทธิ์ต้าน S. aureus ส่วนน้ำสกัดมีฤทธิ์อ่อนๆ และสารสกัดเฮกเซนไม่มีฤทธิ์

-ฤทธิ์ต้านอาการท้องเสีย สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์น้ำจากเปลือกต้นสีเสียด (Acacia catechu Willd.) ซึ่งประกอบด้วยสารกลุ่ม catechins เช่น (-)-epicatechin และ (+)-catechin มีฤทธิ์ลดความถี่และความแรงในการหดเกร็งตัวของลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็กส่วนปลายที่แยกได้จากหนูตะเภา โดยฤทธิ์การยับยั้งจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณสารสกัดที่ให้ สารสกัดจากต้นสีเสียดสามารถเสริมฤทธิ์ของ calcium antagonist ในการต้านการหดเกร็งบริเวณลำไส้ใหญ่มากกว่าส่วนของลำไส้เล็กส่วนปลาย และสามารถออกฤทธิ์คลายการหดเกร็งของลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็กส่วนปลายจากการเหนี่ยวนำด้วยสาร carbachol ซึ่งเป็นการยืนยันว่าเปลือกต้นสีเสียดมีฤทธิ์ต้านการหดเกร็งของลำไส้ผ่านการยับยั้ง muscarinic receptors และ Ca2+ channels ของเซลล์ จากการทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสีย พบว่าสารสกัดจากต้นสีเสียดสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ Campylobacter jejuni, Escherichia coli และ Salmonella spp โดยไม่มีผลต่อเชื้อจุลินทรีย์ชนิด Bifido และ Lactobacillus ในลำไส้เมื่อให้ที่ความเข้มข้น 5 เท่าของฤทธิ์ต้านการหดเกร็ง จึงสามารถสรุปได้ว่าสารสกัดจากต้นสีเสียดออกฤทธิ์บรรเทาอาการท้องเสีย โดยการต้านการหดเกร็งในลำไส้มากกว่าฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาอาการท้องเสียที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

-ฤทธิ์ต้านอักเสบ การทดลองนำสารสกัดผสมระหว่าง baicalin จาก Scutellaria baicalensis และ (+)- Catechin จาก A. catechu มาทดสอบฤทธิ์ลดการอักเสบ พบว่าสารผสมดังกล่าวสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ cyclooxygenase (COX) และ 5-lipoxygenase (5-LOX) ได้ โดยมีค่า IC50 (50% inhibitory concentration) ต่อ ovine COX-1 and COX-2 peroxidase enzyme และ potato 5-LOX enzyme เท่ากับ 15 g/mL และ 25 g/mL ตามลำดับ

-ฤทธิ์ต้านการออกซิเดชั่น การศึกษาฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นของส่วนสกัดเอธานอลจาก  A. catechu (L.f.) Willd. ด้วยวิธี 1,1-Diphenyl-2-picrylhydrazyl (DPPH)assay โดยเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน  Buthylated Hydroxyl toluene (BHT) และ Quercetin ได้ค่าความเข้มข้นของสารสกัดที่ยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระได้ร้อยละ 50 (IC50) เท่ากับ 10.45μg/ml และ 2.73 μg/ml ตามลำดับ

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-การทดสอบพิษเฉียบพลัน ทดสอบในหนูขาวเพศเมีย สายพันธุ์วิสตาร์ ป้อนสารสกัดปิโตรเลียมอีเธอร์, คลอโรฟอร์ม, อะซิโตน, เอทานอล, น้ำ, ส่วนสกัดย่อยที่ละลายน้ำ และไม่ละลายน้ำของสารสกัดเอทานอล ที่ได้จากเปลือกสีเสียดไทย ขนาด 2,000 mg/kg เพียงครั้งเดียว แก่หนูแต่ละกลุ่ม แล้วสังเกตพฤติกรรม และอัตราการตายเป็นเวลา 14 วัน พบว่าไม่มีสัตว์ทดลองตาย (Jarald, et al., 2009)

การใช้ประโยชน์:

-แก่นของลำต้น ต้มเคี่ยวเอายางซึ่งมีลักษณะแข็งเป็นก้อนเรียกสีเสียด สีเสียดไทย หรือสีเสียดลาวเป็นส่วนผสมปูนกินกับหมากและใช้เป็นสีย้อมผ้าและย้อมหนัง แห และอวน เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องมือการเกษตรต่างๆ เช่น ด้ามมีด ด้ามพร้า กงล้อเกวียน ตลอดจนทำถ่านสำหรับเป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้มหลายแห่งได้พัฒนามาเป็นพืชปลูกประดับบ้าน หรือประดับสวน ส่วนที่ปลูกเพื่อผลิตสีเสียดเป็นการค้ายังมีปริมาณน้อย

-ลำต้น ใช้ทำเสาบ้าน และเครื่องมือทางการเกษตร และเผาทำเป็นถ่านสำหรับเป็นเชื้อเพลิง หุงต้ม เยื่อไม้ที่เหลือจากการสกัดเอายางออกใช้ทำแผ่นไม้อัด ใบใช้เป็นอาหารสัตว์ ประเภท วัว ควาย ทั้งต้นใช้เลี้ยงครั่ง ในอินเดียและพม่ามีการปลูกสวนป่าเพื่อการค้า

-เปลือกลำต้น ใช้น้ำต้มเป็นยาระงับเชื้อ ชะล้างบาดแผล ล้างแผลถูกไฟไหม้ แผลหัวแตก สมานแผล และแก้โรคผิวหนัง บดหรือต้มเอาน้ำดื่มแก้ท้องร่วง บิดมูกเลือดลงแดงแก้อติสาร แก่นลำต้นใช้เป็นยาฝาดสมาน ยางเคี่ยวจากเปลือกและเนื้อไม้หรือสีเสียดใช้บดหรือต้มทาเป็นยาระงับเชื้อ ทาหรือล้างบาดแผล แก้แผลถูกไฟไหม้และโรคผิวหนัง กินหรือดื่มแก้แผลในปากในคอ แก้ท้องร่วง บิดมูกเลือด ลงแดง แก้อติสารและเป็นยาบำรุงธาตุ เมล็ดใช้บดกับน้ำทำเป็นยาพอกแก้โรคหิด

-กะเหรี่ยงเชียงใหม่ใช้แก่นไม้ เคี้ยวกินกับหมาก

-กะเหรี่ยงและไทยใหญ่ใช้ยางจากเปลือกลำต้นเป็นยาห้ามเลือดและรักษาแผลสด ใช้เปลือกต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องเดิน ท้องร่วงและท้องเสีย 

-ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ไทยใหญ่ มูเซอ และพม่า ใช้เนื้อของลำต้นเคี่ยวกับน้ำจนงวดเป็นยางก้อนใช้กินกับหมาก ใช้น้ำต้มเป็นพืชสี สำหรับย้อมเสื้อผ้า แห และเชือกเพื่อให้เกิดความคงทนซึ่งจะได้สีน้ำตาลอ่อนหรือแก่โดยให้มีความเข็มข้นมากหรือน้อยตามต้องการ ม้งนิยมใช้ย้อมหนังหรือเชือกเป็นปังเหียนหรือสายรัดเพื่อบังคับม้าหรือบรรทุกภาชนะบรรจุผลผลิตหรือสิ่งของต่างๆ ในการขนส่ง 

-ชาวเขาโดยทั่วไปใช้ลำต้นทำเสาบ้าน และกิ่งก้านสาขาทำฟืนเป็นเชื้อเพลิง สำหรับหุงหาอาหารหรือให้ความอบอุ่นในฤดูหนาว 



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง