Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: ขิง (ขิงหยวก)

ชื่อท้องถิ่น: ขิง, ขิงใหญ่, ขิงหยวก, ขิงขาว

ชื่อสามัญ: Ginger

ชื่อวิทยาศาสตร์: Zingiber officinale Roscoe.

ชื่อวงศ์: ZINGIBERACEAE

สกุล: Zingiber 

สปีชีส์: officinale

ชื่อพ้อง: 

-Amomum angustifolium Salisb.

-Amomum zingiber L.

-Amomum zinziba Hill

-Zingiber aromaticum Noronha

-Zingiber cholmondeleyi (F.M.Bailey) K.Schum.

-Zingiber missionis Wall.

-Zingiber officinale var. cholmondeleyi F.M.Bailey

-Zingiber officinale f. macrorhizonum (Makino) M.Hiroe

-Zingiber officinale f. rubens (Makino) M.Hiroe

-Zingiber officinale var. rubrum Theilade

-Zingiber sichuanense Z.Y.Zhu, S.L.Zhang & S.X.Chen

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ขิงบ้าน thai-herbs.thdata.co | ขิงบ้าน สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นขิง เป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน ลักษณะแง่งใหญ่ ข้อห่าง เนื้อละเอียด มีเสี้ยนน้อยมาก รสไม่เผ็ดจัด เมื่อลอกเปลือกออกเนื้อในไม่มีสี หรือมีสีเหลืองเรื่อๆ ตามที่ปรากฏบนแง่งลักษณะกลมมน แทงหน่อหรือลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอประกอบด้วยกาบหรือโคนใบหุ้มซ้อนกัน  ลำต้นสูงพ้นพื้นดินขึ้นมาประมาณ 1 เมตร

ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันเป็นสองแถว ใบรูปหอกเกลี้ยงๆ กว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12-20 เซนติเมตร หลังใบห่อจีบเป็นรูปรางนำปลายใบสอบเรียว โคนใบสองแคบและจะเป็นกาบหุ้มลำต้นเทียม ตรงช่วงระหว่างกาบกับตัวใบจะหักโค้งเป็นข้อศอก


ขิงบ้าน thai-herbs.thdata.co | ขิงบ้าน สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อรูปเห็ดหรือกระบองโบราณสีขาว แทงขึ้นมาจากเหง้า ชูก้านสูงขึ้นมาประมาณ 15-25 เซนติเมตร ทุกๆ ดอกที่กาบสีเขียวปนแดงรูปโค้งๆ ห่อรองรับ กาบจะปิดแน่นเมื่อดอกยังอ่อน และจะขยายอ้าให้ เห็นดอกในภายหลัง กลีบดอกและกลีบรองกลีบดอก มีอย่างละ 3 กลีบ อุ้มน้ำ และหลุดร่วงไว โคนกลีบดอกม้วนห่อ ส่วนปลายกลีบผายกว้างออกเกสรผู้มี 6 อัน

ผล ลักษณะทรงกลม แข็ง โต วัดผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร

สภาพนิเวศวิทยา: -

ถิ่นกำเนิด: อัสสัม, จีนกลาง-ใต้, เทือกเขาหิมาลัยตะวันออก, อินเดีย

การกระจายพันธุ์: -

ขิงบ้าน thai-herbs.thdata.co | ขิงบ้าน สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการแยกเหง้า

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*เหง้า รสหวานเผ็ดร้อน สรรพคุณ ขับลม แก้ปวดท้อง แก้จุกเสียด เจริญอากาศธาตุ

*ต้น รสเผ็ดร้อน สรรพคุณ ขับลมให้ผายเรอ

*ใบ รสเผ็ดร้อน สรรพคุณ บำรุงกำเดา

*ดอก รสเผ็ดร้อน สรรพคุณ แก้โรคประสาท ซึ่งทำให้ใจขุ่นมัว

*ราก รสหวานเผ็ดร้อน สรรพคุณ ขับเสมหะในลำคอ เจริญอาหาร

องค์ประกอบทางเคมี: 

-เหง้า พบสารที่ให้รสเผ็ดร้อน gingerols. สาร shogaols, น้ำมันหอมระเหยและชัน (oleoresin) 4.0-7.5% ประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหย 1.0-3.3% สารประกอบหลักคือ sesquiphellandrene hydrocarbon 30-70% (เป็นสารที่ให้กลิ่นหอม) ได้แก่ (-)-zingiberene, (+)-ar-curcumene, (-)-beta-sesquiphellandrene, beta-bisabolene, camphene, alpha-pinene, nerol, geranyl acetate, linalool, borneol

การศึกษาทางเภสัชวิทยา: 

-ฤทธิ์บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ฤทธิ์ขับลม เกิดจากสาร menthol, cineole, shogaol และ gingerol กระตุ้นการทํางานของกล้ามเนื้อที่ระบบทางเดินอาหารให้มีการบีบตัวมากขึ้น จึงเกิดการขับลมออกมา ฤทธิ์เพิ่มการหลั่งน้ำดี ในลําไส้เล็กส่วนต้นของหนูถีบจักร โดยสารสกัดอะซิโตนของเหง้าขิง แต่สารสกัดน้ำของเหง้าขิงไม่มีฤทธิ์เพิ่มการหลั่งน้ำดี ซึ่งสารที่ออกฤทธิ์คือ 6- และ 10-gingerol นอกจากนี้สารสกัดเหง้าขิงขนาด 75 mg/kg ในหนูมีฤทธิ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวของกระเพาะและลําไส้ โดยมีฤทธิ์ใกล้เคียงกับ metoclopramide ขนาด 10 mg/kg และ domperidone นอกจากนี้สารสกัดเอทานอลของขิง ความเข้มข้น 50 และ 200 ug/ml และสารสกัดน้ำของเหง้าขิงความเข้มข้น 200 ug/ml  มีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลําไส้เล็กของหนูตะเภาที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการหดเกร็งลำไส้ด้วย acetylcholine, histamine และ barium (ลักษณา, 2551)

-ฤทธิ์ลดการอักเสบของลำไส้ใหญ่ เมื่อป้อนหนูขาวเพศผู้ สายพันธุ์ wistar ด้วยสารสกัดเอทานอลจากเหง้าขิง ขนาด 100, 200 และ 400 มก./กก. และยามาตรฐาน sulfasalazine ขนาด 500 มก./กก. ก่อนเป็นเวลา 3 วัน จากนั้นเหนี่ยวนำให้หนูเกิดการอักเสบ และเป็นแผลที่ลำไส้ใหญ่ด้วยกรดอะซีติก 3% แล้วทำการศึกษาต่อไปอีก 7 วัน พบว่าสารสกัดจากเหง้าขิงที่ขนาด 200 และ 400 มก./กก. และยา sulfasalazine มีผลลดอาการบวม และอักเสบของลำไส้ โดยดูจากจำนวน และขนาดของแผลที่ลำไส้ใหญ่ที่ลดลง ซึ่งสารสกัดจากเหง้าขิงที่ขนาด 400 มก./กก., ยา sulfasalazine สามารถลดการอักเสบได้เท่ากับ 59.1 และ 48.1% ตามลำดับ สารสกัดจากเหง้าขิงทั้ง 3 ขนาด และยา sulfasalazine มีผลทำให้เอนไซม์ และสารที่หลั่งออกมาเมื่อเกิดการอักเสบลดลง ได้แก่  myeloperoxidase (MPO), tumor necrosis factor-α (TNF- α) และ prostaglandine E2 (PEG2) เมื่อเพิ่มขนาดยาทำให้การออกฤทธิ์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลต่อกระบวนการต้านอนุมูลอิสระ โดยสารสกัดที่ขนาด 400 มก./กก. ทำให้ระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระได้แก่ catalase, superoxide dismutase และ glutathione เพิ่มขึ้นจนกลับมาสู่ระดับปกติได้ และลดระดับของสาร malondehyde (เกิดขึ้นเมื่อมีการเกิดออกซิเดชันของไขมัน) แสดงว่าผลในการรักษาลำไส้ใหญ่อักเสบของสารสกัดจากเหง้าขิงเนื่องมาจากฤทธิ์ในการลดการอักเสบ และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (El-Abhar, et al., 2008)

-ฤทธิ์แก้ท้องเสีย การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของขิงต่อการเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่ โดยให้สาร zingerone ซึ่งเป็นสารที่มีรสเผ็ดร้อน แยกมาจากน้ำมันหอมระเหยจากเหง้าขิง แก่หนูแรทเพศผู้ สายพันธุ์ wistar โดยให้สาร zingerone บริเวณช่องว่างของลำไส้ เพื่อให้ซึมผ่านไปยังผนังลำไส้ บันทึกผลโดยดูการหดตัวของลำไส้ใหญ่จากลำไส้หนูที่แยกออกมานอกร่างกาย และศึกษาฤทธิ์เมื่อให้สารทดสอบแก่หนูโดยตรง (in vivo) โดยวัดการเปลี่ยนแปลงของความดันในลำไส้ และปริมาตรการขับของเหลวออกจากลำไส้ใหญ่ ผลการทดลองพบว่าสาร zingerone ขนาด 30 และ 50 mM สามารถยับยั้งการเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่ ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยไม่มีผลต่อความดันเลือด และอัตราการเต้นของหัวใจ เมื่อให้ zingerone ขนาด 10 mg/kg สามารถลดความดันในลำไส้ และลดการขับของเหลวออกจากลำไส้ (control: 2.8 ± 0.8, zingerone: 0.8 ± 0.2 ml/10 min, n = 4) นอกจากนี้ยังได้ทดสอบว่าผลของการยับยั้ง เกิดผ่านระบบประสาทหรือไม่ โดยให้สาร capsazepine  และ tetrodotoxin ซึ่งมีกลไกการยับยั้งผ่าน neuron ก่อนให้สาร zingerone พบว่าไม่มีผลกดการทำงานของ zingerone แสดงว่ากลไกการยับยั้งของ zingerone ออกฤทธิ์โดยตรงต่อกล้ามเนื้อเรียบจากการศึกษานี้จึงสรุปได้ว่าสารสกัดจากขิงสามารถใช้เป็นยาแก้อาการท้องเสียที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของลำไส้ที่มากเกินไปโดยสามารถลดอัตราการคลื่อนไหวของลำไส้ได้ (Iwami, et al., 2011)

-ฤทธิ์ลดการหดเกร็งของลำไส้ การศึกษาฤทธิ์ต่อการเคลื่อนไหวของลำไส้ในหนูแรทเพศผู้ สายพันธุ์ wistar โดยการตัดลำไส้เล็กส่วน Ileum ของหนู และกระตุ้นให้เกิดการหดตัวของลำไส้เล็กโดยใช้กระแสไฟฟ้า (electrical stimulation ; EFS) หรือ acetylcholine แล้วทำการให้สารสกัดขิงในขนาด 0.01–1000 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร หลังจากนั้น 15 นาที บันทึกผลการทดสอบพบว่าสารสกัดขิงสามารถยับยั้งการหดตัวของลำไส้เล็กจากการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า (EPS) และ acetylcholineได้  โดยจะมีฤทธิ์ยับยั้งการหดตัวที่แรงกว่าในกรณีที่ถูกกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า (EPS) แสดงว่าสารสกัดขิงสามารถลดการหดตัวของลำไส้เล็กโดยยับยั้ง acetylcholine ที่ปล่อยจากระบบประสาท (enteric nerve) เมื่อทดสอบด้วย EPS  และออกฤทธิ์โดยตรงต่อ muscarinic receptor ที่อยู่ภายในกล้ามเนื้อเรียบ เมื่อทดสอบด้วย acetylcholine จากภายนอก หรือออกฤทธิ์เป็นแบบ direct antispasmodic effect ขิงจึงมีศักยภาพในการนำมาใช้รักษาการหดเกร็งของลำไส้ในกรณี ท้องเสีย หรือคลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น (Borrelli, et al., 2004)

-ฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว และเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ การทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว (myeloma) และเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ (WiDr) ในหลอดทดลอง โดยใช้เซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวที่แยกได้จากหนู และเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ได้จากคน โดยใช้สารสกัดเอทานอลที่ได้จากขิง, ดีปลี, และสารสกัดผสมระหว่างสารสกัดเอทานอลที่ได้จากขิงกับสารสกัดเอทานอลที่ได้จากดีปลีในอัตราส่วน 1:1ตรวจสอบโดยวิธี MTT cytotoxic assay ใช้ยา doxorubicin เป็นสารมาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่าขิง, ดีปลี, สารสกัดผสม และยา doxorubicinมีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 28, 36, 55  และ 2 µg/ml ตามลำดับ และมีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 74, 158, 64 และ 1µg/ml ตามลำดับ (ค่า IC50 < 1,000 µg/ml ภายหลังสัมผัสสารทดสอบแล้ว 24 ชม.จึงแปลผลว่ามีฤทธิ์ต้านมะเร็ง)  แสดงว่าสารทดสอบทั้งหมดมีฤทธิ์ต้านมะเร็งทั้งสองชนิด  การศึกษาความสามารถเหนี่ยวนำให้เกิด apoptosis ซึ่งเป็นขบวนการในการกำจัดเซลล์ผิดปกติ และเซลล์มะเร็งภายในร่างกาย พบว่าทั้งสารสกัดเอทานอลที่ได้ดีจากดีปลี, ขิง และสารสกัดผสม สามารถเหนี่ยวนำขบวนการ apoptosis  โดยการศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์พบว่าทำให้เซลล์มะเร็งทั้งสองชนิดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ได้แก่ มีขนาดหดเล็กลง เยื่อหุ้มเซลล์ปูดพอง DNA และเซลล์มะเร็งแตกออกเป็นชิ้น (Ekowati, et al., 2012)

-ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่กระเพาะอาหาร การศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori  ซึ่งเป็นเชื้อที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการท้องอืดเฟ้อ แผลในกระเพาะอาหาร และอาการที่รุนแรงอาจทำให้เกิดมะเร็งในกระเพาะอาหาร และลำไส้ การทดสอบใช้เชื้อ H. pylori  ทั้งหมด 19 สายพันธุ์ รวมทั้งสายพันธุ์ CagA+5 (ซึ่ง Cag เป็นสายพันธุ์ที่มีความจำเพาะในการทำให้เกิดแผลแบบ premalignant และ malignant ที่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งในกระเพาะอาหาร) ขั้นตอนการสกัดใช้เหง้าขิงสกัดด้วยเมทานอล และทำการสกัดแยกสารบริสุทธิ์โดยใช้เทคนิค high performance liquid chromatography (HPLC) ได้สารสำคัญ 2 ชนิด คือ  6-,8-, 10-gingerol และ 6-shogoal  ซึ่งเป็นสารกลุ่มโพลีฟีนอล และทำการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเชื้อโดยใช้เทคนิค agar diffusion test เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน amoxicillin ผลการทดลองพบว่าสารสกัดจากเหง้าขิงสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ H. pylori  ได้ 14 สายพันธุ์ รวมทั้งสายพันธ์ุ CagA+  4 สายพันธุ์ และสายพันธ์ุ  ATCC-43504  1 สายพันธุ์ โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อได้ (MIC) เท่ากับ 25 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร (6.25–50 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร) ในขณะที่ยาฆ่าเชื้อ amoxicillin มีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อได้ (MIC) เท่ากับ 0.0039-0.25 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร  นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดขิงส่วนสกัดย่อยที่มีองค์ประกอบหลักเป็นสาร 10-gingerols รองลงมาคือ 6-gingerol, 6-shogoal และ 8-gingerol คิดเป็น 7.6%, 1%, 13.3% และ 2% ตามลำดับ สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ H. pylori  ในทุกสายพันธุ์ โดยมีค่า MIC อยู่ระหว่าง  0.78-12.5 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร และมีฤทธิ์ต้านเชื้อ H. pyroli  สายพันธ์ุ CagA+ ได้สูงกว่าเชื้อ H. pyroli  สายพันธุ์อื่นด้วย เมื่อให้ในขนาด 6.25ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สามารถยับยั้งเชื้อได้ 100% จากผลการทดลองนี้สรุปได้ว่า สารสกัดเหง้าขิงมีสารที่ชื่อว่า gingerols เป็นองค์ประกอบที่สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ H. pyroli  สายพันธ์ุ CagA+ ได้ (Mahady, et al., 2003)

-ฤทธิ์ต้านการอักเสบ การทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งการหลั่งไนตริกออกไซด์ในหลอดทดลอง พบว่าสารสกัดเอทานอลของขิงด้วยวิธีการหมัก ยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ (NO) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งหลั่งจาก macrophage ของหนูที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysaccharide (LPS) พบว่าสารสกัดเอทานอลของเหง้าขิง และสารบริสุทธิ์ 6-gingerol ซึ่งเป็นองค์ประกอบทางเคมีหลักในขิง มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง NO โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 11.93±1.29 และ 44.57±1.32 มคก./มล. ตามลำดับ (ยามาตราฐาน Indomethacin ค่า IC50 เท่ากับ 20.32±3.28 มคก./มล.) (อินทัช และคณะ, 2557)

-ฤทธิ์ต้านเชื้อปรสิต การศึกษาฤทธิ์ในการต้านเชื้อปรสิต Toxoplasma gondii  ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อทั้งในคนปกติและคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (HIV) เป็นปรสิตเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ภายในเซลล์บุลำไส้ของแมว หรือสัตว์ในตระกูลแมว ปล่อยเชื้อระยะโอโอซิสต์ (oocyst) ออกมากับอุจจาระสัตว์ การกินโอโอซิสต์ระยะติดต่อ หรือกินเนื้อสัตว์ที่มีซิสต์เนื้อเยื่อดิบๆ สุกๆ เข้าไป นอกจากนี้เชื้อยังมีโอกาสผ่านรกไปยังตัวอ่อนในครรภ์ทำให้แท้งบุตรได้ เชื้อจะแพร่กระจายไปในสมองและทั่วร่างกาย  แต่ส่วนใหญ่เชื้อจะไปที่สมอง ทำให้เกิดอาการสมองอักเสบ (toxoplasmic encephalitis) และเสียชีวิตได้ การทดสอบสารสกัดเมทานอลจากรากขิง (GE) และทำการแยกสาร ด้วยเทคนิค silica gel column chromatography ได้ส่วนสกัดย่อย ที่ 1(GE/F1) จากนั้นนำมาศึกษาทั้งในหลอดทดลอง และในสัตว์ทดลอง การศึกษาในหลอดทดลอง โดยใช้เซลล์ C6 glioma cells ของหนูแรท ที่ถูกทำให้ติดเชื้อ T. gondii และให้สารสกัดขิง เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน sulfadiazine พบว่าเมื่อเซลล์ติดเชื้อ จะกระตุ้นการสร้าง caspase-3, bax, p53 และ p21 ซึ่งเป็นโปรตีนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการตายของเซลล์ (programmed cell death) แต่ผลการทดลองพบว่า GE/F1 ในขนาด 240 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สามารถยับยั้งการเกิด caspase-3, bax, p53 และ p21ที่ก่อให้เกิดการตายของเซลล์ได้ เมื่อเวลาผ่านไป 24 ชั่วโมง โดยมีค่าความเข้มข้นในการยับยั้งได้ 50% ของ GE, GE/F1 และ sulfadiazine เท่ากับ 220.83, 205.56 และ 276.81 μg/ml ตามลำดับ   การศึกษาในสัตว์ทดลอง ในหนูถีบจักรที่ทำให้ติดเชื้อ T. gondii  และได้รับ GE/F1 ในขนาด 500 µg/ml เมื่อเวลาผ่านไป 24 ชั่วโมง พบว่าสามารถยับยั้งการหลั่งสารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ ได้แก่ INF-g, IL-8 ได้ และทำให้หนูมีชีวิตรอด (Choi, et al., 2013)

การศึกษาทางพิษวิทยา: 

-การศึกษาพิษเฉียบพลัน และพิษกึ่งเฉียบพลัน ของขิงในหนูขาวเพศผู้ และศึกษากลไลการเกิดพิษ การศึกษานี้ทดสอบในหนู 84 ตัว แบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม กลุ่มละ 12 ตัว แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม 2 กลุ่ม (negative และ positive control ) สำหรับการศึกษาพิษเฉียบพลัน จะป้อนผงเหง้าขิงในขนาด 2,500 mg/kgให้หนูเพียงครั้งเดียว ส่วนการศึกษาพิษกึ่งเฉียบพลัน หนูจะได้รับผงเหง้าขิงในขนาด 50 mg/kg และ 500 mg/ kg นาน 28 วัน หลังจาก 24 ชั่วโมง ในการศึกษาพิษเฉียบพลัน และ 28 วัน ในการศึกษาพิษกึ่งเฉียบพลัน หนูจำนวน 6 ตัว ในแต่ละกลุ่ม จะถูกสุ่มมาวัดความดันเลือด และอัตราการเต้นของหัวใจ อีก 6 ตัว จะถูกตรวจเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อหัวใจ ผลการทดสอบพบว่าผงขิงในขนาด 2,500 mg/kg ที่ให้วันละครั้ง ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ และหัวใจเต้นช้า (bradycardia) และเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของกล้ามเนื้อหัวใจได้ การให้สารสกัดขิงในขนาด 50 mg/kg นาน 28 วันทำให้หัวใจเต้นช้า (bradycardia) สารสกัดขิงขนาด 500 mg/kg ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ และหัวใจเต้นช้า (bradycardia) และมีการเสื่อมสภาพของกล้ามเนื้อหัวใจ การเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ และหัวใจเต้นช้าเป็นผลมาจากสารสกัดขิงทำให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือด โดยเพิ่มการปลดปล่อย หรือเพิ่มการสังเคราะห์ nitric oxide หรืออาจเกิดจากผลของ calcium channel blocking (Elkhishin and Awwad, 2009)

การใช้ประโยชน์:

-อาการหวัด ไอ ใช้เหง้าขิงสดอายุ 11-12 เดือน ขนาดเท่าหัวแม่มือ หนักประมาณ 5 กรัม ทุบให้แตก แล้วต้มเอาน้ำมาดื่ม ถ้ามีอาการไอร่วมด้วยก็อาจผสมน้ำผึ้งในน้ำขิง หรืออาจเหยาะเกลือลงในน้ำขิงเล็กน้อยหากมีอาการไอร่วมกับเสมหะ เกลือจะทำให้ระคายคอและขับเสมหะที่ติดในลำคอออกมา จิบน้ำขิง บ่อยๆ แทนน้ำ 

-อาการไอ ใช้เหง้าสดประมาณ 60 กรัม น้ำตาลทรายแดง 30 กรัม ใส่น้ำ 3 แก้ว นำไปต้มเคี่ยวให้เหลือครึ่งแก้ว แล้วจิบตอนอุ่นๆ หรือใช้ฝนกับมะนาวแทรกเกลือใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ ในกรณีที่ต้องการใช้ ขับเสมหะ คั้นน้ำขิงสดประมาณครึ่งถ้วย ผสมน้ำผึ้ง 30 กรัม อุ่นให้ ร้อนก่อนดื่ม ส่วนในรายที่ไอเรื้อรัง ใช้น้ำผึ้งประมาณ 500 กรัม น้ำคั้นจากเหง้าสดประมาณ 1 ลิตรนำมาผสมกันแล้วเคี่ยวในกระทะทองเหลือง (ถ้าไม่มีอาจใช้กระทะสแตนเลสที่ทนกรดทนด่างได้ แต่ ไม่ควรใช้กระทะเหล็ก) จนน้ำระเหยไปหมดจึงนำมาปั้นเป็นลูกกลอนเท่าเม็ดลูกพุทราจีน ให้อมกินครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง

-อาการหวัดเย็นในเด็ก ใช้ขิงสดและรากฝอยต้นหอมตำรวมกัน เอาผ้าห่อคั้นเอา แต่น้ำทาที่คอ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หน้าอก และหลังของเด็ก

-อาการท้องอืดท้องเฟ้อ จุก เสียดแน่น ใช้ขิง 30 กรัม ชงกับน้ำเดือด 500 มิลลิลิตร แช่ทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง ดื่มครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ (60 มิลลิลิตร) ใช้ ขิงแก่ต้มกับน้ำ รินน้ำดื่มแก้โรคจุกเสียด ทำให้หลับสบาย ขิงแก่ยาว 2 นิ้ว ทุบพอแหลก เทน้ำเดือดลงไปครึ่งแก้ว ปิดฝา ตั้งทิ้งไว้นาน 5 นาที รินเอาแต่น้ำมาดื่มระหว่างอาหารแต่ละมื้อ ใช้ผงขิงแห้ง 1 ช้อนโต๊ะปาดๆ หรือ 0.6 กรัม ถ้าขิงแก่สดยาวประมาณ 1 องคุลี หรือประมาณ 5 กรัม ต้มกับน้ำ เติมน้ำตาลดื่มทุกๆ วัน ถ้าเป็นผงขิงแห้งให้ชงน้ำร้อน เติมน้ำตาลดื่ม

-อาการปวดข้อ ใช้น้ำคั้นจากเหง้าสด ผสมกาวหนังวัว เคี่ยวให้ข้น นำไป พอกบริเวณที่ปวด หรือใช้เหง้าสดย่างไปตำ ผสมน้ำมัน มะพร้าวใช้ทาบริเวณที่ปวด

-อาการคลื่นไส้ อาเจียน ขิงสด ๓๐ กรัมสับให้ละเอียด ต้มดื่มขณะท้องว่าง ใช้ขิงแก่สด หรือแห้ง ขิงสดขนาดหัวแม่มือ (ประมาณ 5 กรัม) ทุบให้แตก ถ้าแห้ง 5-7 ชิ้น ต้มกับน้ำดื่ม นำขิงสด 3 หัว หัวโตยาวประมาณ 5 นิ้ว ใส่น้ำ 1 แก้ว ต้มจนเหลือ 1/2 แก้ว (ประมาณ 15-20 นาที หลังจากเดือดแล้ว) รินเอาน้ำดื่ม

-อาการปวดประจำเดือน ขิงแห้ง 30 กรัม น้ำตาลอ้อย (หรือน้ำตาลทรายแดง) 30 กรัม ต้มน้ำดื่ม

-อาการผมร่วงหัวล้าน ใช้เหง้าสด นำไปผิงไฟให้อุ่น ตำพอกบริเวณที่ผมร่วง วันละ 2 ครั้ง สัก 3 วัน ถ้าเห็นว่า ดีขึ้นอาจจะใช้พอกต่อไปจน กว่าผมจะขึ้น

-อาการมือลอกเป็นขุย ใช้เหง้าสดมาหั่นเป็นแผ่น แล้วนำมาแช่เหล้า 1 ถ้วยชา ทิ้งไว้ 1 วัน แล้วนำแผ่นขิงมาถูบริเวณดังกล่าววันละ 2 ครั้ง

-ช่วยให้เจริญอาหาร ใช้เหง้าสดประมาณ 1 องคุลี ถ้าผงแห้งใช้ 1/2 ช้อนโต๊ะ หรือประมาณ 0.6 กรัม ผงขิงแห้งชงกับน้ำดื่ม เหง้าสดต้มน้ำ หรือปรุงอาหาร เช่น ผัด หรือรับประทานสดๆ เช่น กับลาบ แหนม และอื่นๆ

-ช่วยให้ผิวพรรณเรียบเนียนยิ่งขึ้น ด้วยการนำขิงสดมาขูดเป็นฝอยแล้วนำมานวดบริเวณต้นขา ก้น หรือบริเวณที่มีเซลลูไลต์จะช่วยลดความขรุขระของผิวได้อีกด้วย

-ช่วยลดกลิ่นปาก แก้อาการปากเหม็น ด้วยการนำขิงมาคั้นผสมน้ำอุ่นและเกลือเล็กน้อย นำมาอมบ้วนปาก ช่วยฆ่าเชื้อโรคในปากได้อีกด้วย

-ช่วยกำจัดกลิ่นรักแร้ ด้วยการใช้เหง้าขิงแก่นำมาทุบให้แหลก แล้วนำมาคั้นเอาน้ำมาทารักแร้เป็นประจำ จะช่วยกำจัดกลิ่นได้

-เหง้าสด นำมาทำอาหารได้หลากหลาย ขิงอ่อนใช้เป็นผักจิ้ม ใช่ทำผัดขิง ใสในยำเช่นยำหอยแครง ใส่ในแกงฮังเล น้ำพริก กุ้งจ่อม ซอยใส่ในต้มส้มปลา เมี่ยงคำ ไก่สามอย่าง ใช้ทำขิงดอง ใส่ในบัวลอยไข่หวานเพื่อดับกลิ่นคาวไข่ ทำเป็นอาหารหวาน เช่น น้ำขิง เต้าฮวย ขิงแช่อิ่ม ขนมปังขิง และยังทำเป็นขิงผงสำเร็จรูป สำหรับชงดื่มได้อีกด้วย



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง