Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: กระทือ

ชื่อท้องถิ่น: เฮียวแดง (แม่ฮ่องสอน)/ กระทือป่า กะแวน กะแอน แสมดำ เฮียวดำ แฮวดำ (ภาคเหนือ)/ ทือ กะทือ (อื่นๆ)

ชื่อสามัญ: Shampoo ginger, Wild ginger

ชื่อวิทยาศาสตร์: Zingiber zerumbet (Linn.) Smith

ชื่อวงศ์: ZINGIBERACEAE

สกุล: Zingiber 

สปีชีส์: zerumbet 

ชื่อพ้อง: 

-Amomum latifolium Lam.

-Amomum sylvestre Lam.

-Amomum zerumbet L.

-Zerumbet zingiber T.Lestib.

-Zingiber sylvestre Garsault

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

กระทือ thai-herbs.thdata.co | กระทือ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นกระทือ เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นเทียมสูงได้ถึง 1 เมตร มีเหง้าใต้ดิน แตกแขนงเป็นกอ เปลือกเหง้าสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม มีรสขม ขื่น ปร่า และเผ็ดเล็กน้อย ต้นจะโทรมในหน้าแล้งแล้วจะงอกขึ้นใหม่ในหน้าฝน 


กระทือ thai-herbs.thdata.co | กระทือ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับในระนาบเดียวกัน ใบสีเขียวเข้ม ลักษณะของใบคล้ายรูปหอกแกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบและแผ่นใบเรียบ ด้านล่างของใบมักมีขนนุ่ม ใบกว้างประมาณ 5-7.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร ที่ก้านใบเป็นกาบหุ้มลำต้น


กระทือ thai-herbs.thdata.co | กระทือ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย  

ดอก ออกดอกเป็นช่อแทงออกมาจากเหง้าขึ้นมา ลักษณะของช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอก สีขาวอมเหลืองโคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 3 แฉก กลีบบนรูปไข่กว้าง 0.9 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.7 เซนติเมตร ปลายแหลม ผิวเกลี้ยง กลีบข้างรูปหอก กว้าง 0.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.8  เซนติเมตร ปลายเรียวแหลม ผิวเกลี้ยง ดอกบานไม่พร้อมกัน กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอด กว้าง 0.1-0.35 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.6-1.7 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 3 แฉก ผิวเกลี้ยง สีขาว เกสรเพศผู้ 1 อัน อับเรณูขนาดใหญ่ โค้ง มีรยางค์ที่ปลาย กว้างประมาณ 0.4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ก้านชูอับเรณูสั้นมากยาวประมาณ 0.1 ซม. เกสรเพศผู้เป็นหมันด้านข้าง 2 อัน สีเหลืองอ่อน เกสรเพศผู้เป็นหมันอันกลาง สีเหลืองอ่อน ตรงโคนมีแต้มสีเหลืองเข้ม เกสรเพศเมีย รังไข่รูปวงรี กว้าง 0.3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 0.4 เซนติเมตร ผิวเกลี้ยง มี 3 ช่อง พลาเซนตารอบแกนร่วม ก้านชูเกสรเพศเมีย ยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ยอดเกสรเพศเมียรูปกรวยหรือเกือบกลม ผลแบบผลแห้งแตก รูปไข่กลับ ขนาดเล็ก ผิวเรียบ สีแดง ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร

ผล ลักษณะรูปขอบขนาน ค่อนข้างกลม มีเยื่อหุ้มเมล็ดเป็นริ้วสีขาว เมล็ดสีดำเป็นมัน

สภาพนิเวศวิทยา: ขึ้นบริเวณป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ  หรือที่ชื้นริมลำธาร หรือดินที่ร่วนซุย

ถิ่นกำเนิด: เอเชียเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน

การกระจายพันธุ์: -

กระทือ thai-herbs.thdata.co | กระทือ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการแยกหัวเหง้า

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*หัว เหง้า รสขมขื่นน้อยๆ สรรพคุณ บำรุงน้ำนมสตรีให้สมบูรณ์ แก้ปวดมวนในท้อง แก้บิด ขับผายลม ขับปัสสาวะ หัวกะทือหมกไฟฝนกับน้ำปูนใส รับประทาน แก้ปวดเบ่ง แก้บิด แก้เสมหะ เป็นพิษ แก้แน่นหน้าอก กล่อมอาจม ขับน้ำย่อยอาหารให้ลงลำไส้

*ราก รสขมขื่นเล็กน้อย สรรพคุณ แก้ไข้ตัวเย็น แต่รู้สึกร้อนภายใน  

*ต้น รสขมขื่น สรรพคุณ แก้เบื่ออาหาร ทำให้เจริญอาหาร  

*ใบ รสขมขื่นเล็กน้อย สรรพคุณ ขับเลือดเน่าในมดลูก และขับน้ำคาวปลา หลังคลอดบุตรใหม่ๆ

*ดอก รสขมขื่น สรรพคุณ แก้ไข้เรื้อรัง ไข้จับสั่นผอมเหลือง แก้ไข้ตัวเย็น

-พิกัดยา ประกอบด้วย

1.“พิกัดตรีผลธาตุ” ได้แก่ เหง้ากระทือ เหง้าไพล หัวตะไคร้หอม สรรพคุณ ช่วยบำรุงธาตุไฟ แก้ไข้ตัวร้อน และช่วยแก้เลือดกำเดาไหล

องค์ประกอบทางเคมี: 

-หง้าแก่  พบน้ำมันหอมระเหย  ที่มีองค์ประกอบของ methylgingerol , zingerone , citral

การศึกษาทางเภสัชวิทยา: 

-ฤทธิ์ต้านการอักเสบ การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบในหลอดทดลอง ของสารบริสุทธิ์ 4 ชนิด ที่แยกได้จากเหง้ากระทือ ได้แก่ zerumbone(1), 3-O-methyl kaempferol(2), kaempferol-3-O-(2, 4-di-O-acetyl-α-L-rhamnopyranoside) (3) และ  kaempferol-3-O-(3,4-di-O-acetyl-α-L-rhamnopyranoside) (4) โดยดูผลการยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ และ prostaglandin E2 (PGE2) ซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องในขบวนการอักเสบที่หลั่งจากแมคโครฟาจ (RAW 264.7 murine macrophage cell lines) ของหนู โดยใช้ lipopolysaccharide (LPS) เป็นสารกระตุ้นการอักเสบ ผลการทดสอบพบว่าสาร (1) และ (2) มีฤทธิ์แรงในการยับยั้งการสร้าง NO ได้ร้อยละ 84.1 ± 2.31 และ 47.1 ± 2.97ตามลำดับ โดยสามารถยับยั้งการผลิต NO ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ มีค่า IC50 เท่ากับ 4.37 และ 24.35 µM ตามลำดับ ฤทธิ์ยับยั้งการหลั่ง prostaglandin E2 (PGE2) พบว่าสาร (1) และ (2) มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่ง PGE2ได้ร้อยละ 51.0 ± 12.7 และ 68.6 ± 15.9 ตามลำดับ โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 20 และ 40 µM ตามลำดับ (Chien, et al., 2008)

-ทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบในสัตว์ทดลองของสาร zerumbone ซึ่งเป็นสารกลุ่ม monocyclic sesquiterpene ที่เป็นสารองค์ประกอบหลักในน้ำมันหอมระเหยที่แยกได้จากเหง้ากระทือ ใช้การทดสอบด้วยวิธี writhing test ในหนูขาวเพศเมียสายพันธุ์ Sprague–Dawley ฉีดสาร zerumbone ในขนาดความเข้มข้น 10 และ 20 mg/kg เข้าทางช่องท้องหนูก่อนฉีดคาราจีนแนน หรือพรอสตาแกลนดิน E2  ที่บริเวณอุ้งเท้าหลังด้านขวาของหนู เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบ บันทึกผลปริมาตรการบวมของอุ้งเท้าหนูด้วยเครื่อง plethysmometer ที่เวลา 1, 2, 3, 4 และ 5 ชั่วโมง ผลการศึกษาพบว่า สาร zerumbone มีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่เกิดจากการเหนี่ยวนำด้วยคาราจีแนน และ prostaglandin E2 (PGE2) เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน piroxicam (20mg/kg) ซึ่งเป็นยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID)โดยสาร zerumbone ขนาด 10 และ 20 mg/kg และยา piroxicam มีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่เหนี่ยวนำด้วยคาราจีแนน ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p <0.05) โดยมีค่าการต้านการอักเสบได้ร้อยละ 45.67, 70.37 และ 75.31 ตามลำดับ ฤทธิ์ต้านการอักเสบที่เหนี่ยวนำด้วยพรอสตาแกลนดิน E2  พบว่ามีค่าการต้านการอักเสบคิดเป็นร้อยละ 41.46, 87.80 และ 92.68 ตามลำดับ (Somchit, et al., 2012)

-ฤทธิ์ลดการบวมที่อุ้งเท้าหนู การทดสอบฤทธิ์ลดการบวมที่อุ้งเท้าหนูถีบจักร สายพันธุ์ ICR โดยการฉีดสารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากเหง้ากระทือ ได้แก่  zerumbone ขนาด 10 mg/kg ก่อนให้คาราจีแนน1 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบวมที่อุ้งเท้าด้านหลังของหนู แล้วบันทึกผลปริมาตรการบวมของอุ้งเท้าด้วยเครื่อง plethysmometer ที่เวลา 1, 2, 3, 4, 5 และ 6 ชั่วโมง ผลการทดสอบพบว่าสาร zerumbone และสารมาตรฐาน indomethacin ขนาด 100 mg/kg สามารถลดปริมาตรการบวมได้ โดยมีค่าร้อยละของการเพิ่มขึ้นของปริมาตรอุ้งเท้าเท่ากับ 38.8±16.7 และ 51.0±16.7% (P<0.01 เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม) ตามลำดับ โดยสาร zerumbone ออกฤทธิ์ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน โดยสรุปสาร zerumbone มีฤทธิ์ลดการอักเสบ และลดการบวมได้ดีที่สุด โดยสามารถยับยั้งการหลั่งไนตริกออกไซด์ เมื่อทดสอบในหลอดทดลอง และลดการบวมที่อุ้งเท้าหนูได้ (Chien, et al., 2008)

-ฤทธิ์แก้ปวด ทดสอบฤทธิ์แก้ปวดของน้ำมันหอมระเหยที่กลั่นได้จากเหง้ากระทือ ในหนูถีบจักรเพศผู้สายพันธุ์ ICR โดยกระตุ้นให้หนูเกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหน้าท้องด้วยการฉีดกรดอะซิติก (writing test) ซึ่งแสดงถึงการเจ็บปวด โดยให้น้ำมันหอมระเหยในขนาดความเข้มข้นต่างๆ แก่หนูแต่ละกลุ่ม หลังจากนั้น 30 นาที จึงฉีดกรดอะซิติกเข้าทางช่องท้องเพื่อกระตุ้นการปวด ผลการศึกษาพบว่าเมื่อให้หนูได้รับน้ำมันหอมระเหยจากกระทือ โดยการฉีดเข้าทางช่องท้อง และให้ทางปาก ในขนาดความเข้มข้น 50, 100, 200 หรือ 300 mg/kg มีฤทธิ์ระงับปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่าการยับยั้งอาการปวดเมื่อให้โดยวิธีการฉีดเท่ากับ 23.02, 53.89, 83.63 และ 98.57% ตามลำดับ และค่าการยับยั้งการปวดเมื่อให้ทางปากเท่ากับ 13.04, 28.30, 54.69 และ 75.68% ตามลำดับ ค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งอาการปวดได้ร้อยละ 50 (ID50) โดยวิธีการฉีด และให้ทางปากเท่ากับ 88.8 และ 118.8 mg/kg ตามลำดับ แสดงว่าการฉีดมีผลยับยั้งการปวดได้ดีกว่าการกิน ดังนั้นจึงเลือกใช้วิธีการฉีดในการศึกษาวิธีอื่นๆ ต่อไป  การศึกษาฤทธิ์ระงับปวดโดยใช้สารกระตุ้นการปวด 3 ชนิด ได้แก่ capsaicin, glutamate และ phorbol 12-myristate 13-acetate (PMA) ทดสอบโดยฉีดน้ำมันหอมระเหยจากกระทือ เข้าทางช่องท้องหนู ในขนาดความเข้มข้น 50, 100, 200 หรือ 300 mg/kg แก่หนูแต่ละกลุ่ม ใช้ยาแอสไพริน (100 mg/kg, i.p.) และ capsazepine (0.17 mmol/kg, i.p.) เป็นสารมาตรฐาน  หลังฉีดสารทดสอบแล้ว 30 นาที จึงฉีดสารกระตุ้นการปวดชนิดต่างๆ ที่บริเวณอุ้งเท้าหลังด้านขวา แล้วสังเกตพฤติกรรมการยกเท้าขึ้นเลียของหนู (แสดงถึงการเจ็บปวด) ผลการทดสอบโดยใช้ capsaicin เป็นสารกระตุ้นการปวดพบว่าสารสกัดความเข้มข้น  100, 200 และ 300 mg/kg สามารถระงับปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  โดยมีค่าการยับยั้งการปวดเท่ากับ 33.00, 73.40 และ 97.64% ตามลำดับ มีค่า ID50 เท่ากับ 128.8 mg/kg ขณะที่สารมาตรฐานแอสไพริน และ capsazepine มีค่าการยับยั้งเท่ากับ 40.07 และ 62.29 % ตามลำดับ ผลการทดสอบเมื่อใช้ glutamate เป็นสารกระตุ้น พบว่าสารสกัดทุกความเข้มข้น  และยามาตรฐานแอสไพริน สามารถระงับปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  โดยมีค่าการยับยั้งเท่ากับ 11.27, 41.70, 64.81, 99.30 และ 63.88% ตามลำดับ ค่า ID50 ของน้ำมันหอมระเหยจากกระทือ มีค่าเท่ากับ 124.8 mg/kg  ผลการทดสอบเมื่อใช้ phorbol 12-myristate 13-acetate (PMA) เป็นสารกระตุ้นการปวด พบว่าสารสกัดทุกความเข้มข้น  และยามาตรฐานแอสไพริน สามารถระงับปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  โดยมีค่าการยับยั้งการปวดได้เท่ากับ 59.94, 80.42, 94.58,100 และ 56.93% ตามลำดับ ค่า ID50 ของน้ำมันหอมระเหยจากกระทือ มีค่าการยับยั้งเท่ากับ 40.29 mg/kg  จากการศึกษาสรุปได้ว่าน้ำมันหอมระเหยจากกระทือสามารถลดอาการปวดได้ ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาเพื่อนำมาใช้ในทางคลินิกสำหรับบรรเทาอาการปวดได้ต่อไป (Khalid, et al., 2011)

-ทดสอบฤทธิ์ระงับปวดในสัตว์ทดลองของสาร zerumbone ซึ่งเป็นสารกลุ่ม monocyclic sesquiterpene ที่เป็นสารองค์ประกอบหลักในน้ำมันหอมระเหยที่แยกได้จากเหง้ากระทือ ทดสอบในหนูขาวโดยกระตุ้นให้หนูเกิดการปวดจนเกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหน้าท้องด้วยกรดอะซิติก (writing test) ทดสอบโดยฉีดสาร zerumbone ขนาด 10 และ 20 mg/kg แก่หนู หลังจากนั้น 30 นาที จึงฉีดกรดอะซิติก ใช้ piroxicam (20mg/kg) เป็นสารมาตรฐาน  ผลการทดสอบพบว่า การให้ zerumbone ในขนาดความเข้มข้น 10 และ 20 mg/kg สามารถระงับอาการปวดได้ คิดเป็นร้อยละ 47.89 และ 71.05 ตามลำดับ ซึ่งออกฤทธิ์ได้ใกล้เคียงกับยามาตรฐาน piroxicam (ระงับการปวดได้ร้อยละ 71.49) (Somchit, et al.,2012)

การศึกษาทางพิษวิทยา: 

-การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเหง้าด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 250 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่พบอาการเป็นพิษ

การใช้ประโยชน์:

-อาการบิดป่วงเบ่ง แก้อาการปวดท้อง อาการปวดมวนในท้อง อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง และช่วยขับผายลมในลำไส้ ด้วยการใช้หัวกระทือหรือเหง้ากระทือสด ประมาณ 20 กรัม นำมาย่างไฟพอสุก แล้วนำมาตำเข้ากับน้ำปูนใสครึ่งแก้ว คั้นเอาแต่น้ำมาดื่มเมื่อมีอาการ 

-อาการเคล็ดขัดยอก ใช้หัวกระทือนำมาฝนแล้วใช้ทาบริเวณที่มีอาการเคล็ด

-ช่วยบำรุงและขับน้ำนมของสตรี ใช้เหง้าต้มน้ำดื่ม ช่วยบำรุงและกระตุ้นการหลั่งน้ำนม

-หัว ใช้ในการประกอบอาหาร ซึ่งเนื้อในจะมีรสขมเล็กน้อย ต้องนำมาหั่นแล้วขยำกับน้ำเกลือนาน ๆ ก่อนนำมารับประทาน โดยทางภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน มีการใช้เหง้าไปแกงกับปลาย่างเพื่อใช้รับประทาน

-หน่ออ่อนหรือต้นอ่อน สามารถนำมาทำแกงเผ็ด แกงไตปลา หรือนำไปต้มจิ้มกินกับน้ำพริกได้

-สารสกัดจากเหง้าด้วยเมทิลแอลกอฮอล์ สามารถนำมาใช้ป้องกันและกำจัดเหาได้เป็นอย่างดี ซึ่งได้ผลดีกว่าขมิ้นชัน ขิง และไพล

-ในจังหวัดกาญจนบุรีมีการนำดอกแห้งของกระทือและเหง้ากระทือมาใช้รับประทานเป็นผักหรือใส่ในน้ำพริกรับประทาน

-ปลูกเป็นไม้ประดับ เพื่อความสวยงามในสถานที่ต่าง ๆ เนื่องจากดอกที่สวยงามเป็นเอกลักษณื สามารถนำไปประดับแจกันได้



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง