Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: ทองหลางใบมนด่าง

ชื่อท้องถิ่น: ทองหลางลาย ทองหลางด่าง ทองหลางใบมนด่าง ทองหลางดอกแดงทองเผือก (ไทย)/ ชื่อถง ไห่ถงผี (จีนกลาง) 

ชื่อสามัญ: -

ชื่อวิทยาศาสตร์: Erythrina variegata L.

ชื่อวงศ์: FABACEAE-LEGUMINOSAE และอยู่ในวงศ์ย่อย  FABOIDEAE-PAPILIONOIDEAE-PAPILIONACEAE

สกุล:  Erythrina 

สปีชีส์: variegata

ชื่อพ้อง: 

-Chirocalyx candolleanus Walp.

-Chirocalyx divaricatus Walp.

-Chirocalyx indicus Walp.

-Chirocalyx pictus Walp.

-Corallodendron divaricatum (Moc. & Sesse) Kuntze

-Corallodendron orientale (L.) Kuntze

-Corallodendron spathaceum (DC.) Kuntze

-Erythrina alba Cogn. & Marchal, Erythrina boninensis Tuyama

-Erythrina carnea Blanco

-Erythrina corallodendron Lour.

-Erythrina divaricata DC.

-Erythrina indica Lam.

-Erythrina lithosperma Miq.

-Erythrina lobulata Miq.

-Erythrina loueiri G.Don

-Erythrina marmorata Planch.

-Erythrina mysorensis Gamble

-Erythrina orientalis Murray

-Erythrina parcelli hort.

-Erythrina phlebocarpa Bailey

-Erythrina picta L.

-Erythrina rostrata Ridl.

-Erythrina spathacea DC.

-Gelala alba Rumph.

-Gelala litorea Rumph.

-Tetradapa javanorum

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ทองหลางใบมนด่าง thai-herbs.thdata.co | ทองหลางใบมนด่าง สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นทองหลางด่าง เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงได้ประมาณ 18-20 เมตร ตามลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมโค้งและคม ปลายหนามเป็นสีม่วงคล้ำ เปลือกลำต้นบางเป็นสีเทา สีเทาอมน้ำตาล หรือเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ เนื้อไม้เปราะ 


ทองหลางใบมนด่าง thai-herbs.thdata.co | ทองหลางใบมนด่าง สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบประกอบเรียงสลับ มีใบย่อย 3 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปสามเหลี่ยมมน ปลายใบแหลมยาวคล้ายใบโพธิ์ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ใบยอดที่อยู่ปลายสุดจะมีขนาดใหญ่กว่าใบคู่ล่าง หน้าใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนหลังใบมีสีเขียวอ่อนมีแถบสีเหลืองตามแนวเส้นใบ เส้นใบข้างละ 7-8 เส้น มีขนปกคลุมเล็กน้อย ก้านใบสั้น ก้านช่อใบยาวประมาณ 20 เซนติเมตร


ทองหลางใบมนด่าง thai-herbs.thdata.co | ทองหลางใบมนด่าง สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อติดกันเป็นกลุ่ม ๆ บริเวณข้อต้น โคนก้านใบ หรือที่ยอดต้น ก้านช่อดอกยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร มีขนปกคลุมเล็กน้อย ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร ดอกเป็นสีแดงสด ดอกมีลักษณะคล้ายดอกถั่ว กลีบดอกยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร

ผล ลักษณะเป็นฝักแบน ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ออกเป็นพวง ๆ โคนฝักเล็กลีบ ส่วนที่ค่อนไปทางปลายฝักจะบวม เห็นเป็นสันของเมล็ดได้ชัดมาก เมื่อฝักแก่เต็มที่ปลายฝักจะแตกอ้าออก ภายในมีเมล็ดประมาณ 1-8 เมล็ด มีขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตร รูปกลม และเป็นสีแดงเข้ม

สภาพนิเวศวิทยา: -

ถิ่นกำเนิด: -

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการปักชำกิ่ง

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

* ใบสด รสเอียนเย็น สรรพคุณ แก้ไข้ตัวร้อน ดับพิษ 

*ใบแก่สด รมควันไต้ให้ตายนึ่งชุบสุราปิดแผล แก้เนื้อร้ายตายลุกลามบวมแดง (เนื้อเน่า)

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ราก กิ่ง ใบ และผล มี hydrocyanic acid ส่วนเปลือกต้นพบว่ามีส่วนประกอบ betaine, choline, fatty acid, fixed oils, hypaphorine, potassium chloide, potassium carbonate, resins

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลองของสารสกัดจากส่วนเปลือกต้นทองหลางลาย ด้วยวิธีการจับอนุมูลอิสระ 1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl (DPPH) พบว่าสารสกัดทั้งหมด 4 ชนิด ได้แก่ methanol,n-hexane, carbon tetrachloride และ chloroform มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในระดับปานกลาง (IC50เท่ากับ 82.35-484.4 ug/ml) ในขณะที่สารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากเปลือก 3 ชนิด ได้แก่ 4,5,7-trihydroxy-8-prenyl isoflavone, alpinum isoflavone และ 6- hydroxygenistein มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 6.42, 8.30 และ 8.78 ug/ml ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน ได้แก่ tert-butyl-1-hydroxytoluene (BHT) มีค่า IC50 เท่ากับ 5.88 ug/ml การทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ β-glucosidase ของสารสกัดทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ methanol,n-hexane, carbon tetrachloride และ chloroform พบว่าสามารถยับยั้งได้ 34.75, 95.04, 91.49 และ 55.32% ตามลำดับ

-ฤทธิ์ป้องกันโรคกระดูกพรุน มีการศึกษาผลของสารสกัดเปลือกต้นทองหลางลายด้วย 65% เอทานอล ต่อภาวะกระดูกพรุนของหนูขาวที่ถูกตัดรังไข่ โดยป้อนสารสกัดทองหลางลายในขนาดต่ำ 300 mg/kg และขนาดสูง 600 mg/kg แก่หนูขาวเพศเมีย ทุกวันเป็นเวลา 14 สัปดาห์ พบว่าสามารถป้องกันภาวะกระดูกพรุนในหนูที่ถูกตัดรังไข่ได้ จากการทดสอบพบว่า สารสกัดขนาดต่ำสามารถป้องกันการลดลงของระดับแคลเซียมในเลือด และลดการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะ ขณะที่สารสกัดขนาดสูง จะลดการขับออกของแคลเซียมทางปัสสาวะเท่านั้น และยังพบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับฟอสฟอรัสในเลือด ส่วนการวัดระดับของสาร osteocalcin (OCN) และ alkaline phosphatase (ALP) ในเลือด พบว่าเพิ่มขึ้น 80% และ 55% ตามลำดับทั้งนี้สารสกัดสามารถปกป้องกระดูก โดยลดการสลายของกระดูกเนื้อโปร่ง (trabecular bone) และเพิ่มมวลของกระดูกเนื้อ เมื่อทดสอบโดยใช้กระดูกหน้าแข้ง (tibea) ของหนู โดยออกฤทธิ์ได้เช่นเดียวกับฮอร์โมน estradiol

และยังได้ทดสอบฤทธิ์ของสารสกัด 65%เอทานอล จากเปลือกต้นทองหลางลาย ต่อการยับยั้งการสูญเสียมวลกระดูก ในหนูขาวเพศเมีย สายพันธุ์ Sprague–Dawley ที่ถูกตัดรังไข่ ให้ได้รับสารสกัดทองหลางใบด่างในขนาดต่ำ (200 mg/kg),ขนาดปานกลาง (500 mg/kg) และขนาดสูง (1000 mg/kg) จากนั้นจึงศึกษาคุณสมบัติของกระดูก ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดทองหลางใบด่างในขนาดสูง (1000 mg/kg) สามารถลดการขับแคลเซียม และฟอสฟอรัส ทางปัสสาวะ นอกจากนั้นสารสกัดยังทำให้ระดับแคลเซียม และฟอสฟอรัสในเลือดคงที่ และมีผลทำให้โครงสร้างภายใน ของกระดูก trabecular (กระดูกเนื้อโปร่ง)และกระดูก cortical (เนื้อกระดูกส่วนทึบแน่น) คงรูปดีขึ้น

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-การศึกษาพิษเฉียบพลันของสารสกัดน้ำจากเปลือกทองหลางใบด่าง เมื่อทดสอบในหนูขาวเพศผู้สายพันธุ์ Wistar โดยสารป้อนสารสกัดด้วยน้ำจากทองหลางใบด่าง เพียงครั้งเดียว ในขนาด 500, 1000 และ 2000 mg/kg แก่หนู 3 กลุ่ม แล้วสังเกตผลอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ชั่วโมง และสังเกตเป็นระยะต่อไปอีก 6 ชั่วโมง ของการได้รับสารทดสอบ ซึ่งผลการศึกษาพิษเฉียบพลันพบว่าไม่มีการตายของหนู และเมื่อให้สารสกัดน้ำจากเปลือกทองหลางใบด่าง ในขนาดสูงถึง 2000 mg/kg ก็ไม่มีหนูตายเช่นเดียวกันและยังไม่พบอาการง่วงนอน ไม่มีผลต่ออัตราการหายใจ ไม่มีอาการพิษเกิดขึ้น ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของหนู และเนื้อเยื่อไม่เปลี่ยนแปลง โดยสารทดสอบที่ให้ทางปาก มีค่า LD 50 มากกว่า 1000 mg/kg ซึ่งแสดงว่ามีพิษในระดับต่ำ และมีความปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตามยังมีรายงานการศึกษาวิจัยความเป็นพิษบางฉบับ รายงานผลว่าเมล็ดของทองหลางลาย มีสารบางชนิดที่ทำให้เกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อลายของกบได้เมื่อใช้ในปริมาณสูง

การใช้ประโยชน์:

-นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เป็นไม้มงคลประจำบ้าน

-ต้นทองหลางเป็นพืชที่โตเร็ว สร้างปุ๋ยได้เนื่องจากที่ปมรากมีบักเตรีที่ตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ มีใบจำนวนมาก 

-ใบอ่อน ใช้รับประทานเป็นผัก 



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง