Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: เทียนข้าวเปลือก

ชื่อท้องถิ่น: เทียนแกลบ เทียนหวาน เตียนแกบ ยี่หร่าหวาน ฮุ่ยเซียง เสี่ยวหุยเซียง (จีนกลาง)

ชื่อสามัญ: Fennel, Sweet fennel

ชื่อวิทยาศาสตร์: Foeniculum vulgare Mill.

ชื่อวงศ์:  APIACEAE-UMBELLIFERAE

สกุล:  Foeniculum 

สปีชีส์: vulgare 

ชื่อพ้อง: 

-Anethum foeniculum L.

-Foeniculum dulce Mill.

-Foeniculum officinale All.

-Foeniculum capillaceum Gilib.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

เทียนข้าวเปลือก thai-herbs.thdata.co | เทียนข้าวเปลือก สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นเทียนข้าวเปลือก เป็นไม้ล้มลุก มีอายุหลายปี มีความสูงของต้นประมาณ 50-150 เซนติเมตร ลำต้นมีสีเขียวเข้มขนาดเล็ก มีการแตกกิ่งก้านบริเวณปลายยอด กิ่งและก้านมีสีเทาอมเขียว ผิวมีร่องตามยาว

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกมีสีเขียวสดออกเรียงสลับกัน ใบมีลักษณะเป็นเส้นฝอย แตกเป็นแฉกคล้ายขนนกประมาณ 3-4 แฉก มีก้านใบยาวประมาณ 3.5-4.5 เซนติเมตร


เทียนข้าวเปลือก thai-herbs.thdata.co | เทียนข้าวเปลือก สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อคล้ายร่ม มีขนาดเล็กสีเหลืองออกเป็นช่อ โดยจะออกที่ปลายกิ่ง ในช่อหนึ่งจะมีดอกประมาณ 5-30 ดอก ก้านช่อดอกจะแตกออกเป็นก้านประมาณ 5-20 ก้าน ช่อดอกยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร ดอกเทียนข้าวเปลือกมีขนาดเล็ก สีเหลือง ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปกลมรี ยาวได้ประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 5 ก้าน มีเกสรเพศเมีย 1 ก้าน


เทียนข้าวเปลือก thai-herbs.thdata.co | เทียนข้าวเปลือก สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล (เทียนข้าวเปลือก) ลักษณะออกผลเป็นคู่บริเวณดอก ผลมีลักษณะกลมยาวเป็นรูปไข่หรือเป็นรูปขอบขนานคล้ายข้าวเปลือก ด้านข้างของผลค่อนข้างแบน ผิวเรียบไม่มีขน เมล็ดหรือซีกผลมีลักษณะด้านนอกนูน ส่วนด้านในที่ประกบกันของเมล็ดหรือด้านแนวเชื่อมค่อนข้างแบนหรืออาจเว้าเล็กน้อย ด้านที่นูนจะมีสันตามแนวยาวของเมล็ด 3 เส้น และด้านแนวเชื่อมอีก 2 เส้น สันมีลักษณะยื่นนูนออกจากผิวอย่างเด่นชัด เมล็ดเป็นสีน้ำตาล มีขนาดกว้างประมาณ 1.1-2.5 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 3.6-8.4 มิลลิเมตร ผลมักจะไม่ค่อยแตกเป็น 2 ซีก ทำให้ดูคล้ายข้าวเปลือก แต่บางครั้งก็แตกเป็น 2 ซีก ซึ่งภายในแต่ละซีกจะมีเมล็ด 1 เมล็ด ทำให้เหมือนแกลม เมื่อนำมาบดเป็นผงสีน้ำตาลอมเหลืองถึงสีน้ำตาลอมเขียว โดยมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว รสหวานและเผ็ดร้อน

สภาพนิเวศวิทยา: -

ถิ่นกำเนิด: -

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*เมล็ด รสเผ็ดร้อน สรรพคุณ ช่วยขับลม แก้อาหารไม่ย่อย เบื่ออาหาร ลำไส้อักเสบในเด็ก ขับปัสสาวะ กระตุ้นความอยากอาหาร แก้ไอ ละลายเสมหะ และขับเสมหะ

-พิกัดยา ประกอบด้วย

1.“พิกัดเบญจเทียน” ได้แก่ เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน สรรพคุณ แก้ลม เสมหะ และดีระคนกัน แก้พิษโลหิต แก้ทางปัสสาวะ แก้นิ่ว  แก้มุตกิด  บำรุงธาตุ  บำรุงกำลัง

2.“พิกัดสัตตะเทียน” ได้แก่ เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนสัตตบุษย์ เทียนเยาวพาณี สรรพคุณ แก้ลม เสมหะและดีระคนกัน แก้พิษโลหิต แก้ทางปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้มุตกิด บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ลมในท้อง แก้พรรดึก แก้ลมครรภ์รักษา

3.“พิกัดเนาวเทียน” ได้แก่ เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนสัตตบุษย์ เทียนเยาวพาณี เทียนตากบ เทียนเกล็ดหอย สรรพคุณ แก้ลม เสมหะแบะดีระคนกัน แก้พิษโลหิต แก้ทางปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้มุตกิด บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ลมในท้อ  แก้พรรดึก แก้ลมครรภ์รักษา

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้เทียนข้าวเปลือกในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ “ยาหอมทิพโอสถ” มีส่วนประกอบของเทียนข้าวเปลือกร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมวิงเวียน “ยาหอมเทพจิตร” มีส่วนประกอบของเทียนข้าวเปลือกร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมกองละเอียด ได้แก่ อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย (อาการที่รู้สึกใจหวิววิงเวียน คลื่นไส้ ตาพร่าจะเป็นลม) ใจสั่น และบารุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น “ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของเทียนข้าวเปลือกร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน (ลมจุกแน่นในอก) ในผู้สูงอายุ แก้ลมปลายไข้ (หลังจากฟื้นไข้แล้วยังมีอาการ เช่น คลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร “ยาหอมอินทจักร์” มีส่วนประกอบของเทียนข้าวเปลือกร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมบาดทะจิต แก้คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลมจุกเสียด

2.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ “ยามันทธาตุ” มีส่วนประกอบของเทียนข้าวเปลือกร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ธาตุไม่ปกติ “ยามหาจักรใหญ่” มีส่วนประกอบของเทียนข้าวเปลือกร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมซาง บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ “ยาอภัยสาลี” มีส่วนประกอบของเทียนข้าวเปลือกร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บาบัดโรคลม บรรเทาอาการจุกเสียดแน่น “ยาริดสีดวงมหากาฬ” มีส่วนประกอบของเทียนข้าวเปลือกร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการริดสีดวงทวารหนัก 

3.ยาแก้ไข้  ปรากฏตำรับ “ยาประสะเปราะใหญ่” มีส่วนประกอบของเทียนข้าวเปลือกร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการหวัดในระยะแรก และอาการที่เกิดจากการแพ้อากาศ  เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน

4.ยาบำรุงโลหิต ปรากฏตำรับ “ยาบำรุงโลหิต” มีส่วนประกอบของเทียนข้าวเปลือกร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บำรุงโลหิต

องค์ประกอบทางเคมี: 

-เมล็ด พบสารสำคัญ ได้แก่ น้ำมันหอมระเหยประมาณ 3-6% และในน้ำมันพบสาร Anethole, Anisealdehyde, Anisic acid, a-Phellandrene, a-Pinene, cis-Anethole, Dipentene, Estragole, Fenchone และพบน้ำมันอีก 18% โดยส่วนใหญ่เป็น Petroselinic acid, Stigmasterol, 7-Hydroxycoumarin เป็นต้น

-น้ำมันเทียนข้าวเปลือก มีน้ำมันระเหยง่ายอยู่ประมาณ 1.5-8.6% ซึ่งในน้ำมันมี Trans-anethole อยู่ในปริมาณมาก นอกนั้นยังมี anisic acid, anisic, aldehyde, alpha-pinene, camphene, estragole (methyl chavicol), fenchone, limonene สารในกลุ่ม flavonoid เช่น quercetin-3-arabinoside, quercetin-3-glucurunide, isoquercitrin, rutin และมีสารในกลุ่มคูมาริน เช่น umbelliferone

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ลดความดันโลหิต สารสกัดน้ำมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตในหนูโดยมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ

-ฤทธิ์ต้านการเกาะตัวของเกล็ดเลือด  น้ำมันหอมระเหยมีผลทำให้เกล็ดเลือดไม่เกาะตัวกัน

-ฤทธิ์ปกป้องกระเพาะอาหาร สาสกัดน้ำมีฤทธิ์ปกป้องการเกิดแผลที่กระเพาะอาหารหนูจากการทำลายของแอลกอฮอล์

-ฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ สารสกัดแอลกอฮอล์และน้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อหลอดลมโดยมีผลต่อ potassium channel

-ฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน น้ำมันหอมระเหย สารสกัดน้ำ และสารdiglucoside stilbene trimers และอนุพันธ์ benzoisofuranone มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน

-ฤทธิ์ต้านจุลชีพ น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด และมีฤทธิ์ต้านเชื้อ Helicobacter pylori

-ฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจน สารสกัดอะชิโตนมีฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจนในหนู มีฤทธิ์ขับน้ำนม ขับปะจำเดือน สารสำคัญคือ polymer ของ anethole

-ฤทธิ์ต้านการปวดอักเสบ สารสกัดเมทานอลมีฤทธิ์ต้านการปวดและอักเสบ

-ฤทธิ์ปกป้องตับ น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ปกป้องตับหนู

-ผลต่อเอนไซม์ CYP 450 สารสกัดเมทานอลมีผลต่อเอนไซม์ CYP 450 ซึ่งมีผลต่อการเผาผลาญของยาที่ใช้ร่วมกันได้

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดผลด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด16 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 2,500 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่ตรวจพบอาการเป็นพิษ

-สาร estragole ก่อให้เกิดเนื้องอกในหนู น้ำมันหอมระเหยมีผลทำให้เกิดประสาทหลอนได้ น้ำมันหอมระเหยปริมาณ 0.93 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร มีพิษต่อเซลล์ทารกที่เลี้ยงในหลอดทดลอง

การใช้ประโยชน์:

-เมล็ด สามารถนำมาใช้ใส่ในอาหารประเภทต้ม ตุ๋น เพื่อช่วยทำให้มีกลิ่นหอมน่ารับประทาน หรือจะนำมาอบบดผสมในขนมอบอย่างขนมปัง เค้ก หรือบิสกิต เป็นต้น

-เมล็ด นำมาใช้แต่งกลิ่นอาหารประเภทเนื้อ ซอส กลิ่นซุป ขนมหวาน ขนมปัง เหล้า ผักดอง และมีการใช้น้ำมันหอมระเหยจากเทียนข้าวเปลือกชนิดหวานในการแต่งกลิ่นยาถ่าย (ช่วยบรรเทาอาการไซ้ท้องได้ด้วย) ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากเทียนข้าวเปลือกชนิดจมจะนำมาใช้ในการแต่งกลิ่นเครื่องสำอาง ครีม เครื่องหอม สบู่ สารชะล้าง และยาทาภายนอก

-ในต่างประเทศจะใช้หน่อและใบของต้นเทียนข้าวเปลือกมาใช้ในการประกอบอาการ เช่น ผัด ต้ม ตุ๋น ย่าง หรือรับประทานแบบสด ๆ



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง