Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: มะระจีน

ชื่อท้องถิ่น: Balsam apple, Balsam pear, Bitter Cucumber, Leprosy Gourd, Bitter Gourd

ชื่อสามัญ: Bitter Melon

ชื่อวิทยาศาสตร์: Momordica charantin Linn

ชื่อวงศ์: CUCURBITACEAE

สกุล: Momordica 

สปีชีส์: charantin 

ชื่อพ้อง: -

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

มะระจีน thai-herbs.thdata.co | มะระจีน สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นมะระจีน เป็นไม้เถาเลื้อยล้มลุก อายุปีเดียว มีมือเกาะ ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม


มะระจีน thai-herbs.thdata.co | มะระจีน สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนรอบต้น รูปแผ่กว้าง แผ่นใบเว้าลึกเป็น 5 พู ขนาดประมาณ 3-7 เซนติเมตร โคนใบเว้า ปลายใบแหลม ขอบใบจักตื้น มีขนสากเล็กๆ มีมือเกาะยื่นออกมาจากที่ข้อ ก้านใบยาว 2-6 เซนติเมตร


มะระจีน thai-herbs.thdata.co | มะระจีน สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเดี่ยวตามซอกใบ ดอกสีเหลือง แยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ก้านดอกยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ดอกเพศผู้ กลีบดอก 5 กลีบ เชื่อมกันที่ฐาน เกสรผู้ 3 อัน สีเหลือง ดอกเพศเมียกลีบดอกคล้ายดอกเพศผู้ มีก้านชูเกสร 1 อัน ปลายแยก 3 แฉก


มะระจีน thai-herbs.thdata.co | มะระจีน สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะทรงยาวรี เปลือกบาง ผิวขรุขระมีร่องลึกตามยาว ผลใหญ่เนื้อหนา ผลดิบจะมีสีเขียวอ่อน ใช้รับประทาน เมื่อผลสุกจะมีสีแดง แต่รับประทานไม่ได้ ภายในผลจะมีหลายเมล็ด มีเนื้อฉ่ำน้ำ มีรสชาติขม ดรูปไข่แกมรี ขนาดประมาณ 7-10 มิลลิเมตร มีเยื่อหุ้มสีแดง

สภาพนิเวศวิทยา: -

ถิ่นกำเนิด: -

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ใบ รสขม สรรพคุณ แก้ไข้หวัด ไข้ตัวร้อน บำรุงน้ำดี

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ผล เมล็ด ใบ ลำต้น เอนโดสเปิร์ม และแคลลัส มีสารสำคัญมากถึง 228 ชนิด ที่อาจจะออกฤทธิ์แบบเดี่ยวๆ หรือ ออกฤทธิ์แบบร่วมกัน เช่น charantin, polypeptide-p, vicine, momordin และสารอนุพันธ์ที่คล้ายกัน เช่น momordinol, momordicilin, momorcharin, momordicin , Gallic acid , Caffeic acid และ Catechin เป็นต้น

การศึกษาทางเภสัชวิทยา: 

-กระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากเบต้าเซลล์ มีการศึกษาถึงผลของมะระจีนในมนุษย์หลายการศึกษาทั้งในผู้ที่มีสุขภาพดีและผู้ป่วยเบาหวานชนิดต่างๆ พบว่ามะระจีนมีฤทธิ์เหมือนอินซูลินและกระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากเบต้าเซลล์ เพิ่มการใช้น้ำตาลกลูโคสในเนื้อเยื่อต่างๆ โดยไปเพิ่ม tissue respiration เมื่อให้น้ำคั้นผลมะระจีนก่อนให้น้ำตาลกลูโคส พบว่ามีการนำกลูโคสไปใช้จึงมีการสะสมของ glycogen ในตับและกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจเนื่องจากไปเร่งการหลั่งอินซูลิน และเร่งการดูดซึมของกลูโคสก็ได้ นอกจากนี้น้ำคั้นยังมีผลต่อ gluconegensis ในไตคล้ายกับสาร hypoglycin ซึ่งลดน้ำตาลเนื่องจากเบาหวาน และพบว่าการทดลองให้หนูที่เหนี่ยวนำด้วย strepotozotocin ให้เป็นเบาหวาน มะระจีนไม่ให้ผล อาจเพราะเบต้าเซลล์ถูกทำลายไปแล้ว

-จากการศึกษาของนักวิจัยในฮ่องกง พบว่าในเมล็ดมีสารซึ่งมีฤทธิ์เช่นเดียวกับอินซูลิน ซึ่งต่อมาได้พบว่า คือ α-momorcharin, β-momorcharin , α-trichosantin และเลคติน ในเวลาใกล้ๆกัน ได้มีผู้นำเมล็ดมะระมาสกัดด้วย 50% เมทานอล และ 0.9% น้ำเกลือ เมื่อนำสารสกัดไปทดสอบในหนูซึ่งอดอาหาร พบว่าปริมาณน้ำตาลในเลือดลดลง และสารสกัดเมทานอลและน้ำเกลือยังป้องกันไม่ให้ adrenaline ไปเหนี่ยวนำให้เกิดเบาหวาน

-การศึกษาฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในหนูขาว การศึกษาฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของตำรับยาซึ่งมีมะระจีนเป็นส่วนผสม (ไม่ระบุชนิดของสารสกัด) โดยฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร ขนาด 0.1 ก./กก. พบว่าลดน้ำตาลในเลือด เมื่อทดลองฉีดสารสกัดอินซูลินจากมะระจีนเข้าทางช่องท้องหรือให้ทางปากหนูขาวปกติ และหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน ด้วย alloxan หรือ  streptozotocin พบว่าน้ำตาลในเลือดลดลง ต่อมามีการศึกษาผลของสารสกัดเมทานอล:น้ำ ของดอกแห้งและใบมะระจีนขนาด 10 และ 30 มก./กก. เมื่อกรอกเข้าทางกระเพาะอาหารหนูขาว พบว่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด และสารสกัด 95% เอทานอลของผลสด ขนาด 200 มก./กก. กรอกเข้าทางกระเพาะอาหารของหนูขาวที่ใช้ streptozotocin เหนี่ยวนำให้เกิดเบาหวาน มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดลง 22% และน้ำคั้นผลดิบสดของมะระจีน(ไม่ระบุขนาด) กรอกเข้าทางกระเพาะอาหารหนูขาว มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด

-การศึกษาฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำโดย alloxan ทดลองใช้สารสกัดเอทานอลขนาด 250 มก./กก. ทดลองเป็นเวลา 2 สัปดาห์ พบว่ามะระมีฤทธิ์อย่างแรงในการลดน้ำตาลในเลือด สารสกัดมะระ 3 ตัวอย่างคือ สารสกัด A เป็นผลแห้งมะระ 0.5 กก. ในเมทานอล (1:10) สารสกัด B เป็นผลแห้งมะระ 0.5 กก. ในคลอโรฟอร์ม (1:10) สารสกัด C เป็นผลสดมะระ 0.5 กก. ในน้ำ (10:25) ในขนาด 20 มก/กก มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย alloxan เมื่อทดลองใช้เป็นเวลา 4 สัปดาห์ไม่พบความเป็นพิษต่อตับและไต และทดลองใช้ในขนาดสูงไม่พบพิษต่อตับและไตเช่นกัน โดยดูจากค่า SGOT , SGPT และ lipid profile

-การศึกษาที่ประเทศแอฟริกาใต้ ปี พ.ศ.2549 ถึงฤทธิ์ของการใช้สารสกัดมะระจีนทั้ง 5เพื่อลดปริมาณน้ำตาลในเลือดของหนูที่ทำให้เป็นโรคเบาหวานโดยใช้สารสเตรปโทโซโทซิน พบว่าปริมาณน้ำตาลในเลือดหนูลดลงทั้งหนูปกติและหนูที่เป็นเบาหวาน ผลการลดปริมาณน้ำตาลแปรผันตามปริมาณสารสกัดที่ได้รับ 

-การทดลองให้สารสกัดมะระจีนทั้ง 5 โดยการฉีดเข้าหลอดเลือดกับหนูปกติและหนูที่ถูกทำให้มีความดันสูง (hypertensive Dahl salt-sensitive rats) พบว่าลดความดันช่วงบนและอัตราการเต้นของหัวใจของหนูทั้งที่เป็นปกติและมีอาการความดันสูงอย่างแปรผันกับปริมาณสารสกัดดังกล่าว การให้สารอะโทรพีนต่อหนูไม่มีผลต่อการลดความดันเลือดในการทดลองนี้ จึง เชื่อว่าผลการลดความดันดังกล่าวไม่ได้เกิดจากกลไกโคลิเนอร์จิก

-การศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น ปี พ.ศ.2549 พบว่าไทรเทอร์พีนอะไกลโคนจากสารสกัดแอลกอฮอล์ของผลมะระจีนแห้งจำนวน 2 ชนิด แสดงผลลดปริมาณน้ำตาลในเลือดหนูทดลองที่เป็นเบาหวาน (หนูเบาหวานตัวผู้ พันธุ์ ddY) สารดังกล่าวคือ epoxydihydroxycucurbitadiene และ trihydroxycucurbitadien-al 

-ฤทธิ์ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยังพบว่าทั้งมะระจีนมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ HIV โดยออกฤทธิ์ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน มีรายงานวิจัยว่าชาวฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อได้ใช้สารสกัดจากมะระจีนนาน 4 ปี พบว่ามีจำนวน T lymphocytes เพิ่มขึ้น และมีแพทย์ชาวจีนรายงานว่ามีผู้ใช้มะระจีนนาน 4 เดือน ถึง 3 ปี พบว่ามีจำนวน T lymphocytes เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่ามะระจีนมีฤทธิ์ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

การศึกษาทางพิษวิทยา: 

-การทดสอบความเป็นพิษ เมื่อฉีดสารสกัดพืชทั้งต้นด้วยเอทานอล (50%) เข้าใต้ผิวหนังในขนาด 20 ก./กก. หรือให้หนูถีบจักรกินในขนาด 10 ก./กก. ไม่พบพิษ สารสกัดส่วนเหนือดินและไม่ระบุส่วนที่ใช้ด้วยเอทานอล (50%) เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร ขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่าเท่ากับ 681 มก./กก. และมีค่าสูงกว่า 1,000 มก./กก. แอลคาลอยด์ที่แยกได้จากมะระจีน เมื่อให้กระต่ายกินขนาด 56 มก./ตัว หรือฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร 14 มก./กก. ไม่พบพิษ ฉีดน้ำคั้นจากผลเข้าช่องท้องหนูขาวขนาด 15 ซีซี/กก. หรือ 40 ซีซี/กก. พบว่าทำให้สัตว์ทดลองตายภายใน 18 ช.ม.และเมื่อฉีดน้ำคั้นผลเข้าช่องท้องของกระต่ายในขนาด 15 ซีซี/กก. พบว่าทำให้กระต่ายตายภายใน 18  ช.ม. แต่เมื่อให้เข้าทางกระเพาะของกระต่ายในขนาด 6 ซีซี/กก. พบว่ากระต่ายตายหลังจากได้รับสารสกัดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 23 วัน

ส่วนน้ำต้มผลสดฉีดเข้าช่องท้อง หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนูถีบจักร ค่า LD50 เท่ากับ 16 มคก./ซีซี และ 270 มคก./ซีซี ตามลำดับ เมื่อฉีดสารสกัดผลด้วยเอทานอล (50%) เข้าช่องท้องหนูถีบจักรพบว่า LD50 เท่ากับ 681 มก./กก. ให้หนู gerbil กินสารสกัดผลด้วนเอทานอล (95%) ขนาด 1.1 ก./กก. นานติดต่อกัน 30 วัน  และสารสกัด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) ด้วยเอทานอล (95%) เมื่อผสมอาหารในขนาด 50 มคก./ตัว ในหนูถีบจักรกิน พบว่าไม่ทำให้เกิดพิษ เมื่อฉีดสารสกัดเมล็ดด้วยน้ำเข้าช่องท้องหนูขาวพบว่า LD50 เท่ากับ 25 มก./กก. สารสกัดผลด้วยคลอโรฟอร์ม เมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องหนูถีบจักรในขนาด 1,000 มก./กก. ทำให้สัตว์ทดลองอ่อนแรง และตายหลังได้รับสารสกัดเป็นเวลา 24 ช.ม.

-พิษต่อระบบสืบพันธุ์ เมื่อให้น้ำคั้นจากผล ขนาด 6 ซีซี/กก. ในกระต่ายที่ตั้งท้อง ทำให้มีเลือดออกจากมดลูกและมีกระต่ายตายจากการตกเลือด เมื่อฉีดสารสกัดผลซึ่งมีสาร charantin และเมล็ดซึ่งมีสาร vicine เข้าทางช่องท้องของสุนัขในขนาด 1.75 ก./ตัว พบว่าฤทธิ์ยับยั้งขบวนการสร้างอสุจิและในหนูถีบจักรเพศเมีย เมื่อได้รับสารสกัด (ไม่ระบุชนิด) พบว่ามีผลยับยั้งการผสมพันธุ์เมื่อให้ใบและเปลือกลำต้น (ไม่ระบุขนาด) เข้าทางกระเพาะในหนูขาวที่ตั้งท้อง พบว่ามีเลือดออกผิดปกติจากมดลูก น้ำคั้นผลสดเมื่อให้ในหนูถีบจักรเพศเมียมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญพันธุ์ และน้ำคั้นผลสดเมื่อให้เข้าทางกระเพาะของหนูขาว เมื่อให้น้ำคั้นจากผล (ไม่ระบุขนาด)

-ผลต่อเม็ดเลือดขาว น้ำคั้นจากผลในขนาดที่มีผลทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวปกติ (lymphocyte) ตายครึ่งหนึ่ง มีค่าเท่ากับ 0.35 มก./จานเพาะเชื้อ สารสกัดด้วยน้ำเกลือ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) เมื่อทดสอบกับเซลล์เม็ดเลือดขาว (lymphocyte) ในขนาด 40 มคก./จากเพาะเชื้อ พบว่ามีความเป็นพิษต่อยืน (gene) lectin และโปรตีนบางชนิดในเมล็ดของมะระ มีผลยับยั้งบางขั้นตอนการสังเคราะห์ DNA ของทั้งเซลล์เม็ดเลือดขาวปกติและเซลล์มะเร็ง ป้อนน้ำคั้นจากผลสดและเมล็ดของมะระจีนให้หนูขาวเพศผู้ในขนาด 1 ซีซี/น้ำหนักตัว 100 ก. เป็นเวลา 30 วัน พบว่าทำให้ enzyme serum Ƴ-glutamyltransferase และ alkaline phosphatase มีความเข้มข้นสูงขึ้นจึงคาดว่าน่าจะมีสารที่ทำให้เกิดความเป็นพิษต่อตับ

การใช้ประโยชน์:

-อาการป่วยไข้ ใช้มะระจีนทั้ง 5 คือ ดอก ผล ใบ ราก และเถาอย่างละ 1 กำมือใส่น้ำให้ท่วมแล้วต้มจนเดือด กินครั้งละ 1 แก้ว ก่อนอาหาร วันละ 3-4 ครั้งติดต่อกันเพียง 3-4 วันก็จะหายไข้

-อาการคอแหบแห้ง เสียงไม่มี เนื่องจากโรคหวัด นำผลมะระจีนต้มกิน หรือใช้ประกอบเป็นอาหารช่วยรักษาให้ทุเลาจนถึงหายขาดได้

-อาการท้องผูก ใช้มะระจีนใกล้สุก มาหั่นทั้งเนื้อและเม็ดแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง คั่วจนหอมแล้วตำให้ละเอียดผสมน้ำผึ้ง ปั้นเป็นยาลูกกลอนขนาดหัวแม่มือกินครั้งละ 1 เม็ดก่อนนอน แก้ท้องผูก

-ช่วยบำรุงสายตา ใช้ผลมะระจีนและยอดอ่อนมาปรุงอาหารตามใจชอบ ควรกินวันเว้นวันสม่ำเสมอ สายตาจะดีขึ้น 

-ช่วยบำรุงเลือด บำรุงกำลัง เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ใช้เม็ดมะระจีนแก่จัดมาตากแห้งแล้วแกะเปลือกนอกออก ใช้เนื้อในบดจนละเอียด ละลายน้ำร้อนกินครั้งละ 1 ช้อนกาแฟวันละ 1 ครั้งก่อนนอน ติดต่อกัน 2 อาทิตย์ เว้น 2 อาทิตย์ กินอีก 2 อาทิตย์ จะทำให้เจริญอาหาร มีกำลังวังชาขึ้น ยาขนานนี้ยังช่วยขับพยาธิตัวเล็กได้อีกด้วย




ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง