Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: สมอพิเภก

ชื่อท้องถิ่น: ลัน (เชียงราย)/ สะคู้ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)/ ซิบะดู่ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่)/ แหน แหนต้น แหนขาว (ภาคเหนือ)/ สมอแหน (ภาคกลาง)

ชื่อสามัญ: Beleric Myrobalan, Ink Not, Bahera, Beleric

ชื่อวิทยาศาสตร์: Terminalia bellirica (Gaertn.) Roxb.

ชื่อวงศ์: COMBRETACEAE

สกุล: Terminalia 

สปีชีส์: bellirica 

ชื่อพ้อง: -

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นสมอพิเภก เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เป็นไม้ผลัดใบ มีความสูงราว 15-35 เมตร ลักษณะเป็นทรงเรือนยอดกลมแผ่กว้างและค่อนข้างทึบ มีลำต้นเปราตรง โคนต้นมักขึ้นเป็นพูพอน เปลือกต้นมีสีเทาอมน้ำตาลหรือเป็นสีดำ ๆ ด่าง ๆ เป็นแห่ง ๆ เปลือกต้นค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็ก ๆ ไปตามความยาวของต้น เปลือกด้านในมีสีเหลือง ส่วนกิ่งอ่อนและยอดอ่อนจะมีขนอยู่ประปราย

ใบ เป็นใบเดี่ยวติดเวียนกันเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปทรงรีแกมรูปไข่หัวกลับ มีความกว้างประมาณ 9-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 13-19 เซนติเมตร โคนใบสอบมาสู่ก้านใบ และส่วนที่ค่อนไปทางปลายใบจะผายกว้าง ขอบใบเรียบ ที่ปลายสุดของใบจะหยักคอดเป็นติ่งแหลมสั้น ๆ เนื้อใบค่อนข้างหนา ผิวใบมีเส้นแขนงใบโค้งอ่อนประมาณ 6-10 คู่ เส้นใบเป็นแบบร่างแหเห็นได้ชัดเจนทางด้านท้องใบ ท้องใบมีสีจางหรือสีเทามีขนนุ่ม ๆ คลุมอยู่ ส่วนหลังใบมีสีเขียวเข้มและมีสีน้ำตาลกระจายอยู่ทั่วไป แต่ใบทั้งสองด้านขนจะหลุดร่วงออกไปเองเมื่อใบแก่จัด และก้านใบมีความประมาณ 4-6 เซนติเมตร ที่บริเวณกึ่งกลางก้านจะมีต่อมหรือตุ่มหูดอยู่ 1 คู่

ดอก ออกดอกเป็นช่อเดี่ยว ๆ แบบหางกระรอกตามง่ามใบหรือรอยแผลใบตามกิ่ง ปลายช่อดอกจะห้อยย้อยลง ช่อมีความยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ดอกสมอพิเภกมีขนาดเล็กสีขาวอมเหลือง ดอกตัวผู้ส่วนใหญ่จะอยู่ตามปลายช่อ ส่วนดอกสมบูรณ์เพศจะอยู่ตามโคนช่อ ส่วนกลีบฐานดอกจะมีกลีบ 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยเล็ก ๆ และทั้งหมดมีขนอยู่ทั่วไป โดยเกสรตัวผู้จะมีอยู่ด้วยกัน 10 ก้าน เรียงซ้อนกันอยู่เป็นสองแถว ส่วนรังไข่ค่อนข้างแป้น ภายในมีช่องเดียวและมีไข่อ่อนอีก 2 หน่วย หลอดท่อรังไข่มีหลอดเดียว

ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือกลมรี มีความกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร มีสัน 5 สัน ผิวภายนอกปกคลุมไปด้วยขนสีน้ำตาลอยู่หนาแน่น ผลมักออกรวมกันเป็นพวงโต ๆ เมล็ดเดี่ยวแข็ง ผลอ่อนมีรสเปรี้ยว ส่วนผลแก่มีรสเปรี้ยวฝาดหวาน (ฝาดแบบสุขุม) และเมล็ดในมีรสฝาด

สภาพนิเวศวิทยา: พบขึ้นได้ทั่วไปตามป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-400 เมตร ส่วนทางภาคใต้มักจะพบขึ้นตามป่าดงดิบ

ถิ่นกำเนิด: -

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด การปักชำและการตอนกิ่ง

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*เปลือกต้น รสเย็นฝาด สรรพคุณ ขับปัสสาวะ

*ใบ รสฝาด สรรพคุณ แก้บาดแผล

*ดอก รสฝาด สรรพคุณ แก้โรคตา

*ผลอ่อน รสเปรี้ยว สรรพคุณ แก้ไข้เพื่อเสมหะ และไข้เจือลม

*ผลแก่ รสเปรี้ยวฝาดหวาน สรรพคุณ แก้เสมหะจุกคอ ทำให้ชุ่มคอ แก้โรคตา บำรุงธาตุ แก้ไข้ แก้ริดสีดวง

*เมล็ดใน รสฝาด สรรพคุณ แก้บิด

*แก่น รสฝาด สรรพคุณ แก้ริดสีดวงพลวง

*ราก รสเย็น สรรพคุณ แก้โลหิตร้อน

-พิกัดยา ประกอบด้วย

1.“พิกัดตรีผลา” ได้แก่ ลูกสมอพิเภก ลูกสมอไทย ลูกมะขามป้อม สรรพคุณ แก้ปิตตะวาตะ สมหะในกองธาตุ ฤดู อายุ และกองสมุฏฐาน

2.“พิกัดตรีสมอ” ได้แก่ ลูกสมอไทย ลูกสมอเทศ ลูกสมอพิเภก สรรพคุณ แก้เสมหะ แก้ไข้ บำรุงธาตุ ผายธาตุ  รูถ่ายรู้ปิดเอง

3.“พิกัดจตุผลาธิตะ” ได้แก่ ลูกสมอไทย ลูกสมอภิเภก ลูกมะขามป้อม ลูกสมอเทศ สรรพคุณ ถ่ายไข้ ถ่ายลมแก้โรคตา บำรุงธาตุ ผายธาตุ ถ่ายรูปิดธาตุ

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้สมอพิเภกในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของสมอพิเภกร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน (ลมจุกแน่นในอก) ในผู้สูงอายุ แก้ลมปลายไข้ (หลังจากฟื้นไข้แล้วยังมีอาการ เช่น คลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร ท้องอืด และอ่อนเพลีย) ตำรับ

2.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ “ยามหาจักรใหญ่” มีส่วนประกอบของสมอพิเภกร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมซาง บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ

3.ยารักษากลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจ ปรากฏตำรับ “ยาแก้ไอผสมกานพลู” มีส่วนประกอบของสมอพิเภกร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ ตำรับ “ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม” มีส่วนประกอบของสมอพิเภกร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ ตำรับ “ยาตรีผลา” มีส่วนประกอบของสมอพิเภกร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ ตำรับ “ยาอามฤควาที” มีส่วนประกอบของสมอพิเภกร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ

4.ยาบำรุงโลหิต ปรากฏตำรับ “ยาบำรุงโลหิต” มีส่วนประกอบของสมอพิเภกร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บำรุงโลหิต

5.ยาบำรุงธาตุ ปรับธาตุ ปรากฏตำรับ “ยาตรีพิกัด” มีส่วนประกอบของสมอพิเภกร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้ปรับสมดุลธาตุ

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ผล พบสาร chebulagic acid, ellagic acid, gallic acid, chebulagic acid

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ควบคุมการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร การศึกษาผลของยาตรีสมอต่อการควบคุมและการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร ซึ่งตำรับยาตรีสมอประกอบด้วยพืชทั้งสิ้น 3 ชนิด คือสมอพิเภก สมอไทย และสมอเทศ ในอัตราส่วนที่เท่ากัน โดยทำการทดลองทั้งในหลอดทดลอง และในร่างกายหนูทดลอง ทำการทดสอบผลในร่างกายหนู โดยศึกษาผลของสารทดสอบในการทำให้กระเพาะอาหารว่าง และการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหาร และลำไส้ในหนูแรทเพศผู้สายพันธุ์ Sprague-Dawley และการทดสอบในหลอดทดลองโดยใช้ลำไส้เล็กส่วนปลาย (ileum) ที่แยกมาจากหนูตะเภาเพศผู้ ผลการทดลองพบว่าสารสกัดในขนาด 1000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีผลลดระยะเวลาในการขนส่งอาหารออกจากกระเพาะอาหาร และยังมีผลกระตุ้นการเคลื่อนไหวของระบบย่อยอาหาร  ส่วนการทดลองในลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภาที่แยกออกมา พบว่าสารสกัดที่ความเข้มข้นต่ำ (0.1 นาโนกรัม/มิลลิลิตร) ทำให้เกิดการหดตัวของลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภาที่แยกออกมา แต่อย่างไรก็ตามผลในการกระตุ้นการหดตัวของลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภาจะลดลงอย่างมากที่ความเข้มข้นของสารสกัดที่สูงขึ้น (0.2-1 นาโนกรัม/มิลลิลิตร) จากงานวิจัยนี้จึงสรุปได้ว่าตำรับยาตรีสมอสามารถนำไปใช้เป็นยาระบาย และแก้ท้องร่วงได้ (Wannasiri, et al., 2015)

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดผลด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 1,515 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ และเมื่อให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมพบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) เท่ากับ 6.156 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)

การใช้ประโยชน์:

-ยาระบาย ใช้ผลโตแต่ยังไม่แก่ประมาณ 2-3 ผล นำมาต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว พร้อมใส่เกลือเล็กน้อย แล้วใช้รับประทานเพียงครั้งเดียว

-ยาแก้ท้องร่วง ท้องเดิน ใช้ผลแก่ประมาณ 2-3 ผล นำมาต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้วและใส่เกลือเล็กน้อย เคี่ยวจนเหลือ 1 ถ้วยแก้วและนำมาใช้ดื่มแก่อาการ

-บาดแผล ใช้ใบสดนำมาตำแล้วนำมาพอกรักษาแผล

-ผล ใช้ย้อมสีผ้าโดยจะให้สีขี้ม้า ส่วนเปลือกต้นจะให้สีเหลือง และยังใช้ฟอกหนัง ทำหมึกได้อีกด้วย

-เนื้อไม้ สามารถนำมาใช้ทำพื้น หีบใส่ของ ทำฝา ใช้ในการก่อสร้างต่าง ๆ ทำคันไถ เครื่องมือทางการเกษตรต่าง ๆ เรือขุด เป็นต้น

-ในประเทศแถบอินโดจีนใช้ผลแห้งเป็นยาฝาดสมาน



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง