Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: ฝิ่นต้น

ชื่อท้องถิ่น: มะหุ่งแดง (ภาคเหนือ)/ มะละกอฝรั่ง (กรุงเทพฯ)/ ทิงเจอร์ต้น ว่านนพเก้า (คนเมือง)

ชื่อสามัญ: Coral bush, Coral plant, Physic Nut

ชื่อวิทยาศาสตร์: Jatropha multifida L.

ชื่อวงศ์: EUPHORBIACEAE

สกุล: Jatropha 

สปีชีส์: multifida

ชื่อพ้อง: 

-Adenoropium multifidum (L.) Pohl

-Jatropha janipha Blanco

-Manihot multifida

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ฝิ่นต้น thai-herbs.thdata.co | ฝิ่นต้น สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นฝิ่นต้น เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลักษณะของลำต้นคล้ายกับต้นมะละกอ แต่มีขนาดเล็กและเป็นแกนแข็งกว่า โดยลำต้นจะมีความสูงได้ประมาณ 2-3 เมตร และอาจสูงได้ถึง 6 เมตร ลำต้นค่อนข้างอวบน้ำ เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีเทา มีกระและจุดเล็ก ๆ มียางสีขาว รากมีลักษณะเป็นหัว


ฝิ่นต้น thai-herbs.thdata.co | ฝิ่นต้น สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ก้านใบยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร ลักษณะของใบเป็นรูปกลม ขอบใบลึกเป็นแฉกเว้าลึกลักษณะคล้ายฝ่ามือ ประมาณ 9-11 แฉก ในขอบใบที่เป็นแฉกจะหยักเป็นซี่ฟันช่วงกลางขอบใบ ปลายเป็นติ่งแหลมถึงยาวคล้ายหาง ปลายใบแหลม พบบ้างมีรยางค์แข็ง ใบมีขนาดประมาณ 10-30 เซนติเมตร แผ่นใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน หลังใบเรียบ ก้านใบยาวกลม หูใบแยกเป็นง่ามรูปขนแข็ง ยาว 2 เซนติเมตร


ฝิ่นต้น thai-herbs.thdata.co | ฝิ่นต้น สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อแบนแน่นติดกันแบบช่อเชิงหลั่น โดยจะออกที่ปลายกิ่ง ก้านช่อดอกยาวได้ถึง 23 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็กติดกันแน่น ดอกมีสีแดงสด ดอกเป็นแบบแยกเพศ ลักษณะของดอกคล้ายกับดอกเถาคันหรือดอกกะตังบาย กลีบเลี้ยงในดอกเพศผู้จะเป็นรูปไข่กลับกว้าง ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกแยกจากกัน ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร สีแดงสด เกสรเพศผู้มี 8 อัน ก้านเกสรแยกกัน ส่วนกลีบดอกในดอกเพศเมียจะยาวได้ถึง 9 มิลลิเมตร ยอดเกสรเพศเมียเป็นรูปกระจุก เป็นพู 2 พู


ฝิ่นต้น thai-herbs.thdata.co | ฝิ่นต้น สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีพู 3 พู คล้ายผลสลอดหรือผลปัตตาเวีย แต่จะมีขนาดใหญ่กว่า แต่ละพูจะมีลักษณะเป็นสัน ผลมีขนาดประมาณ 3 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ ผลอ่อนเป็นสีเขียว พอแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีออกเหลืองหม่น มีลายสีน้ำตาล มีจุกขั้วขนาดเล็ก แต่ละพูมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีขนาดยาวประมาณ 1.7-2 เซนติเมตร

สภาพนิเวศวิทยา: -

ถิ่นกำเนิด: เม็กซิโก, แคริบเบียน

การกระจายพันธุ์: คิวบา, สาธารณรัฐโดมินิกัน, เฮติ, เกาะลีวาร์ด, หมู่เกาะวินด์เวิร์ด, อ่าวเม็กซิโก, เม็กซิโกตะวันออกเฉียงเหนือ, เม็กซิโกตะวันตกเฉียงใต้, เปอร์โตริโก, แคริบเบียนตะวันตกเฉียงใต้, ตรินิแดด-โตเบโก, เกาะวิน, แองโกลา, บังกลาเทศ, เบอร์มิวดา, โบลิเวีย, บราซิลเหนือ, บราซิลตะวันออกเฉียงเหนือ, บราซิลตอนใต้, บราซิลตะวันออกเฉียงใต้, กัมพูชา, เคปเวิร์ด, เกาะเคย์แมน, สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, จีนตอนกลางตอนใต้, จีนตะวันออกเฉียงใต้, โคลอมเบีย, หิมาลายาตะวันออก, ฟลอริดา, แกมเบีย, กินี, อ่าวกินี, ไหหลำ, ฮาวาย, อินเดีย, จาเมกา, จาวา, มลายู, นิโคบาร์ไอส์, ปารากวัย, เปรู, ฟิลิปปินส์, ซามัว, สุมาตรา, โตโก, เวเนซุเอลา, เวเนซุเอลาแอนทิลลิส, ซาอีร์ 

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*เปลือกต้น รสฝาดเมา สรรพคุณ คุมธาตุ แก้ท้องร่วง แก้อาเจียน แก้ลงแดง แก้ปวด แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย

-พิกัดยา ประกอบด้วย

1.“พิกัดตรีเกสรมาศ” ได้แก่ เปลือกฝิ่นต้น เกสรบัวหลวง และลูกมะตูมอ่อน มีสรรพคุณ เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงธาตุ คุมธาตุ แก้ท้องร่ว

2.“พิกัดตรีเกสรเพศ” ได้แก่ เปลือกฝิ่นต้น เกสรบัวหลวงขาว และเกสรบัวหลวงแดง มีสรรพคุณ เป็นยาคุมธาตุ แก้ไข้เพื่อปถวีธาตุกำเริบ ทำให้ตัวเย็น แก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน

องค์ประกอบทางเคมี: -

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลองด้วยวิธีทางเคมี ของสารสกัดที่ได้จากใบ และเปลือกฝิ่นต้น,  และสารบริสุทธิ์กลุ่ม C-glycosyl flavone 2 ชนิด ที่แยกได้จากใบ ได้แก่ vitexin และ isovitexin ศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลอง ด้วยวิธีทางเคมี โดยใช้อนุมูลอิสระ DPPH (2,2-diphenyl-1-picrylhdrazyl)  ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทิลอะซิเตท และสารสกัดเอทานอล ที่ได้จากเปลือก, vitexin และ isovitexin สามารถยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH ได้ โดยมีค่าความเข้มข้นในการยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) เท่ากับ 17.23, 40.57, 54.37 และ 87.27 µg/ml (p<0.05) ตามลำดับ สรุปได้ว่าสารสกัดเอทิลอะซิเตทที่ได้จากเปลือกออกฤทธิ์สูงสุดในการจับอนุมูลอิสระ DPPH (Hirota, et al., 2012)

-การทดสอบสมบัติการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant capacity) ด้วยวิธี phosphomolybdenum spectrophotometric methodโดยดูความสามารถในการรีดิวส์ phosphomolybdic acid เป็น phosphomolybdenumในสภาวะกรด เกิดเป็นสารประกอบเชิงซ้อนสีเขียว (เป็นการวัดความสามารถในการรีดิวซ์สารประกอบเชิงซ้อนซึ่งเป็นความสามารถของสารต้านอนุมูลอิสระ) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดคลอโรฟอร์มที่ได้จากใบ และสารสกัดเอทิลอะซิเตตที่ได้จากเปลือก มีสมบัติในการรีดิวส์ ได้ 103.29 และ 86.18% ตามลำดับ ซึ่งแสดงถึงการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดี (Hirota, et al., 2012)

-ฤทธิ์ห้ามเลือด (hemostatic activity) การทดสอบความสามารถในการห้ามเลือดในหลอดทดลอง ของน้ำยางที่ได้จากฝิ่นต้น ทดสอบจากการวัดระยะเวลาที่ทำให้เลือดแข็งตัว (blood coagulation time) โดยใช้เลือดจากอาสาสมัครจำนวน 500 µl แต่ละหลอดทดสอบ เติมน้ำยางจำนวน 4 หลอด ปริมาณแต่ละหลอดเท่ากับ 10, 25, 50 และ 100 µl ตามลำดับ ทดสอบเป็นเวลา 1 นาที (ที่ 37°C) ผลการทดสอบพบว่าระยะเวลาที่ทำให้เลือดแข็งตัวเท่ากับ 240, 220, 225 และ 110 วินาที ตามลำดับ  เมื่อเปรียบเทียบกับหลอดที่ไม่ใส่น้ำยาง ใช้เวลาในการแข็งตัวของเลือดเท่ากับ 260 วินาที สรุปได้ว่าน้ำยางจากฝิ่นต้นช่วยลดระยะเวลาที่ใช้ในการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดแข็งตัวได้เร็วขึ้น โดยขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำยางที่ใช้ (Dougnon, et al., 2012)

-การทดสอบความสามารถในการตกตะกอนน้ำนม (test of milk precipitation) ของน้ำยางที่ได้จากฝิ่นต้น (เป็นการทดสอบการตกตะกอนโปรตีนของสารทดสอบกลุ่มแทนนิน หรือฟลาโวนอยด์บางชนิด ที่มีสมบัติฝาดสมาน (astringent) เนื่องจากขบวนการแข็งตัวของเลือด จะเกิดการตกตะกอนของโปรตีนในเลือด (plasma) ทำให้เลือดมีความหนืดข้น ลดการเคลื่อนที่ของเม็ดเลือดแดง ทำให้เลือดหยุดไหล วิธีทดสอบโดยเติมน้ำยาง ปริมาณ 1 ml และนม 100 µl ทิ้งไว้ให้เกิดปฏิกิริยาเป็นเวลา 3 นาที ผลการทดสอบพบว่ามีการตกตะกอนโปรตีนภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 นาที (Dougnon, et al., 2012)

-การหาปริมาณโปรตีนรวมในเลือด (Total protein of blood sample)  เป็นการวัดปริมาณโปรตีนในเลือด ภายหลังการเติมน้ำยางที่ได้จากฝิ่นต้น เพื่อยืนยันว่ามีการตกตะกอนของพลาสมาโปรตีนในขบวนการแข็งตัวของเลือด ทำการทดสอบด้วยการเจือจางน้ำยางที่ได้จากฝิ่นต้นด้วยเซรั่มของมนุษย์ในระดับความเจือจาง 0-50% จากนั้นนำไปทดสอบหาปริมาณโปรตีน ด้วยวิธี biuret method ผลการทดสอบพบว่าน้ำยางทำให้ปริมาณโปรตีนลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p<0.05 โดยหลอดทดลองที่มีน้ำยางเจือจาง 15, 20, 25, 40 และ 50% มีปริมาณโปรตีนรวมเท่ากับ 52.28, 46.62, 25.62, 25.52 และ 25.58 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับหลอดควบคุม มีปริมาณโปรตีนรวมเท่ากับ 77.7 สรุปได้ว่าน้ำยางจากฝิ่นต้น ทำให้เกิดการตกตะกอนโปรตีนในเลือด ในขบวนการแข็งตัวของเลือดได้ (Dougnon, et al., 2012)

-ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียในหลอดทดลองของสารสกัดเฮกเซน, เอทิลอะซิเตท และเมทานอล จากเนื้อไม้, เปลือกไม้, เนื้อราก และเปลือกราก ของฝิ่นต้น เชื้อแบคทีเรียก่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่นำมาทดสอบจำนวน 7 ชนิด ได้แก่ Gardnerella vaginalis, Neisseria gonorrhoeae, Escherichia coli, Proteus mirabilis, Pseudomonas aeruginosa, Staphylococcus aureus และCandida albicans ตรวจสอบด้วยวิธี broth dilution method เพื่อหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ยับยั้งการเจริญของเชื้อ (MIC) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดที่ได้จากส่วนต่างๆ ของฝิ่นต้นสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ทุกชนิดที่ใช้ทดสอบ โดยมีค่า MIC ระหว่าง 0.78–12.5 µg/ml  โดยสารสกัดที่ยับยั้งเชื้อ G. vaginalis และ N. gonorrhoeae ได้สูงสุดคือ สารสกัดเฮกเซนจากเปลือกต้น และสารสกัดเฮกเซนจากเปลือกราก ตามลำดับ โดยมีค่า MIC เท่ากับ 1.56 และ 0.78 µg/ml ตามลำดับ สารสกัดที่ยับยั้งเชื้อ E. coli ได้สูงสุดคือ สารสกัดเฮกเซนจากเนื้อราก และสารสกัดเอทิลอะซิเตตจากเปลือกราก โดยมีค่า MIC เท่ากับ 1.56 µg/ml เท่ากัน สารสกัดที่ยับยั้งเชื้อ P. mirabilis ได้สูงสุดคือ สารสกัดเอทิลอะซิเตตจากเปลือกต้น และสารสกัดเมทานอลจากเปลือกต้น โดยมีค่า MIC เท่ากับ 1.56 µg/ml เท่ากัน สารสกัดที่ยับยั้งเชื้อ P. aeruginosa ได้สูงสุดคือ สารสกัดเมทานอลจากเนื้อไม้, เปลือกต้น, สารสกัดเฮกเซน และสารสกัดเอทิลอะซิเตต จากเนื้อราก ตามลำดับ โดยมีค่า MIC เท่ากับ 12.5 µg/ml เท่ากัน สารสกัดที่ยับยั้งเชื้อ S. aureus ได้สูงสุดคือ สารสกัดเอทิลอะซิเตต และเมทานอลของเนื้อราก, สารสกัดเฮกเซนของเปลือกราก โดยมีค่า MIC เท่ากับ 0.78 µg/ml เท่ากัน สารสกัดที่ยับยั้งเชื้อ C. albicans ได้สูงสุดคือ สารสกัดเฮกเซน และเอทิลอะซิเตต จากเนื้อราก, สารสกัดเมทานอลจากเปลือกราก ตามลำดับ โดยมีค่า MIC เท่ากับ 3.12 µg/ml เท่ากัน (Aiyelaagbe, et al., 2008)

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-การทดสอบความเป็นพิษต่อไรทะเล การทดสอบความเป็นพิษในหลอดทดลองของสารสกัดที่ได้จากใบ และเปลือกฝิ่นต้น และสารบริสุทธิ์กลุ่ม C-glycosyl flavone 2 ชนิด ที่แยกได้จากใบ ได้แก่ vitexin และ isovitexin ตรวจสอบความเป็นพิษต่อไรทะเล (brine shrimps lethality test (BST) โดยใช้ควินิดีนซัลเฟต (quinidine sulfate) เป็นสารมาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดคลอโรฟอร์มที่ได้จากเปลือก มีค่า LC50 (ความเข้มข้นที่ทำให้ไรทะเลตายครึ่งหนึ่ง) เท่ากับ 57.59 µg/ml ซึ่งใกล้เคียงกับควินิดีนซัลเฟต (LC50เท่ากับ 50.1 µg/ml) ส่วนสารสกัดที่ได้จากใบมีความเป็นพิษน้อยกว่าสารสกัดที่ได้จากเปลือก โดยค่า LC50 ของสารสกัดจากใบด้วยคลอโรฟอร์ม มีค่า LC50 เท่ากับ  252.96 µg/mlสำหรับ vitexin และ isovitexinไม่เป็นพิษต่อไรทะเล (Hirota, et al., 2012)

-การทดสอบการแตกของเม็ดเลือดแดง การทดสอบการแตกของเม็ดเลือดแดงในหลอดทดลอง ของสารสกัดเอทานอลที่ได้จากใบ และเปลือกฝิ่นต้น ด้วยวิธี blood agar plates method ใช้กระดาษกรองเป็นแผ่น disc สำหรับหยดสารทดสอบ โดยใช้สารสกัด 1,000 µg ต่อ disc เพื่อให้สารทดสอบซึมจากกระดาษลงไปยังเพลท หรือจานที่มีเม็ดเลือดแดงของแกะ แล้วบ่มเพาะที่ 36°C เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลที่ได้จากใบ และเปลือกฝิ่นต้น ไม่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก (Hirota, et al., 2012)

การใช้ประโยชน์:

-น้ำยาง ใช้ใส่แผลสดเป็นยาช่วยสมานแผล ใช้ทาแผลปากเปื่อย แผลมีดบาด แผลอักเสบเรื้อรัง จะช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น

-ราก มีรสเฝื่อนคล้ายรากมันสำปะหลัง สามารถนำมาเผาแล้วกินได้

-เมล็ด ใช้เป็นยาเบื่อ บ้างนำเมล็ดมาใช้เป็นยาเบื่อปลา ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า ต้นมีสารจำพวกซาโปนิน สามารถนำมาใช้เบื่อปลาได้เช่นกัน

-ใบ ใช้ในการย้อมสีเส้นไหม โดยใบสด 15 กิโลกรัม สามารถย้อมสีเส้นไหมได้ 1 กิโลกรัม โดยสีที่ได้คือสีน้ำตาลเขียว

-นิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภท



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง