Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: กระเทียม

ชื่อท้องถิ่น: กระเทียม (ภาคกลาง)/ หอมเทียม (ภาคเหนือ)/ หอมขาว (ภาคอีสาน)/ เทียม หอมเทียม (ภาคใต้)

ชื่อสามัญ: Garlic

ชื่อวิทยาศาสตร์: Allium sativum L.

ชื่อวงศ์: AMARYLLIDACEAE และอยู่ในวงศ์ย่อย ALLIOIDEAE-ALLIACEAE

สกุล: Allium 

สปีชีส์: sativum

ชื่อพ้อง: 

-Allium arenarium Sadler ex Rchb.

-Allium controversum Schrad. ex Willd.

-Allium longicuspis Regel

-Allium pekinense Prokh.

-Allium sativum subsp. asiae-mediae Kazakova

-Allium sativum f. sagittatum Kazakova

-Allium sativum f. vulgare Kazakova

-Allium scorodoprasum var. multibulbillosum Y.N.Lee

-Porrum ophioscorodon (Link) Rchb.

-Porrum sativum (L.) Rchb.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

กระเทียม thai-herbs.thdata.co | กระเทียม สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

กระเทียม thai-herbs.thdata.co | กระเทียม สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นกระเทียม เป็นไม้ล้มลุก สูงประมาณ 30-60 เซนติเมตร มีกลิ่นแรง มีหัวใต้ดิน ลักษณะกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-4 เซนติเมตร มีแผ่นเยื่อสีขาวหรือสีม่วงอมชมพูหุ้มอยู่ 3-4 ชั้น ซึ่งลอกออกได้ แต่ละหัวมี 6-10 กลีบ กลีบเกิดจากตาซอกใบของใบอ่อน ลำต้นลดรูปลงไปมาก 


กระเทียม thai-herbs.thdata.co | กระเทียม สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยว ขึ้นมาจากดิน เรียงซ้อนสลับ แบนเป็นแถบแคบ กว้างประมาณ 0.5-2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร ปลายแหลม ขอบเรียบและพับทบเป็นสันตลอดความยาวของใบ โคนแผ่เป็นแผ่นและเชื่อมติดกันเป็นวงหุ้มรอบใบที่อ่อนกว่าและก้านช่อดอกทำให้เกิดเป็นลำต้นเทียม ปลายใบสีเขียวและสีจะค่อยๆ จางลงจนกระทั่งถึงโคนใบ ส่วนที่หุ้มหัวอยู่มีสีขาวหรือขาวอมเขียว


กระเทียม thai-herbs.thdata.co | กระเทียม สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกเป็นช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ประกอบด้วยตะเกียงรูปไข่เล็กๆ จำนวนมากอยู่ปะปนกับดอกขนาดเล็กซึ่งมีจำนวนน้อย มีใบประดับใหญ่ 1 ใบ ยาวประมาณ 7.5-10 เซนติเมตร ลักษณะบาง ใส แห้ง เป็นจะงอยแหลมหุ้มช่อดอกขณะที่ยังตูมอยู่ แต่เมื่อช่อดอกบานใบประดับจะเปิดอ้าออกและห้อยลงรองรับช่อดอกไว้ ก้านช่อดอกเป็นก้านโดด เรียบ รูปทรงกระบอกตัน ยาวประมาณ 40-60 เซนติเมตร ดอกสมบูรณ์เพศ กลีบรวม 6 กลีบ แยกจากกันหรือติดกันที่โคน รูปใบหอกปลายแหลม ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร สีขาวหรือขาวอมชมพู เกสรเพศผู้ 6 อัน ติดที่โคนกลีบรวม อับเรณูและก้านเกสรเพศเมียยื่นขึ้นมาสูงกว่าส่วนอื่นๆ ของดอก รังไข่ 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1-2 เม็ด 


กระเทียม thai-herbs.thdata.co | กระเทียม สรรพคุณ สมุนไพร ไทย  กระเทียม thai-herbs.thdata.co | กระเทียม สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะผลขนาดเล็กเป็นกระเปาะสั้นๆ รูปไข่หรือค่อนข้างกลม

สภาพนิเวศวิทยา: -

ถิ่นกำเนิด: -

การกระจายพันธุ์: -

กระเทียม thai-herbs.thdata.co | กระเทียม สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*หัว รสร้อนฉุน สรรพคุณ แก้ไอ แก้โรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน แผลเน่า เนื้อร้าย บำรุงธาตุ ขับโลหิตระดู แก้โรคประสาท น้ำคั้นจากหัว หยอดหู แก้ปวดหูและหูอื้อ

องค์ประกอบทางเคมี: -

การศึกษาทางเภสัชวิทยา: 

-ฤทธิ์ปกป้องตับจากสารพิษ การทดลองป้อนสาร diallyl disulfide (DADS) จากกระเทียมให้แก่หนูขาว ขนาดวันละ 50 และ 100 มก./กก. น้ำหนักตัว ในหนูแต่ละกลุ่ม นานติดต่อกัน 5 วัน ก่อนเหนี่ยวนำให้ตับเกิดการเสียหายด้วยสาร carbon tetrachloride (CCl4) พบว่า DADS ทั้งสองขนาดสามารถป้องกันตับเป็นพิษได้ การตรวจสอบลักษณะทางจุลกายวิภาคศาสตร์พบว่าสามารถยับยั้งความเสียหายของเซลล์ตับ โดยลดการทำงานของเอนไซม์ aspartate transaminase (AST) และ alanine transaminase (ALT) ในตับลงได้ ลดการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการอักเสบ และการตายของเซลล์ตับ ได้แก่ Bax, cytochrome C, caspase-3, nuclear factor-kappa B, I kappa B alpha นอกจากนี้ยังมีผลเพิ่มการแสดงออกของโปรตีน และเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ catalase, superoxide dismutase, glutathione peroxidase, glutathione reductase, glutathione S-transferase ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า สาร DADS จากกระเทียมมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและปกป้องตับจากสารพิษ โดยกลไกกระตุ้นการทำงานของ nuclear factor E2-related factor 2 (Nrf2) ซึ่งเป็น transcription factor หรือโปรตีนที่ควบคุมการแสดงออกของยีนที่ทำหน้าที่ปกป้องเซลล์ และเนื้อเยื่อจากอนุมูลออกซิเจนที่ว่องไวต่อปฏิกิริยา การกระตุ้น Nrf2 มีผลเหนี่ยวนำการสร้างเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ และสร้างเอนไซม์ในระบบการกำจัดสารพิษออกจากร่างกายในขั้นตอนที่ 2 (detoxifying Phase II  enzyme) และยับยั้ง nuclear factor-kappa B มีผลให้ลดการสร้างสารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบลง และปกป้องตับจากสารพิษได้ (Lee, et al, 2014)

-ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดน้ำโดยไม่ผ่านความร้อน (raw garlic) และสารสกัดกระเทียมที่ผ่านการต้มแล้ว นำมาทดสอบในหลอดทดลอง โดยใช้เนื้อเยื่อของกระต่าย พบว่า raw garlic สามารถยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase (ที่ทำให้เกิดการสร้างสารอักเสบ) แบบ non-competitive และ irreversible จากการศึกษาพบว่า raw garlic สามารถยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase ได้ โดยมีค่า IC50 ต่อเกล็ดเลือด,ปอด และหลอดเลือดแดงในกระต่ายเท่ากับ 0.35, 1.10 และ 0.90 mg ในขณะที่กระเทียมที่ต้มแล้วมีฤทธิ์ยับยั้ง cyclooxygenase ได้เล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับกระเทียมที่ไม่ผ่านความร้อน เนื่องจากส่วนประกอบสำคัญในกระเทียมนั้นถูกทำลายในขณะที่ให้ความร้อน จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่ากระเทียมน่าจะมีประโยชน์ในการป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตันได้ (Ali, 1995)

-จากการรวบรวมงานวิจัย ที่ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของกระเทียม โดยสรุปพบว่ากระเทียมมีฤทธิ์ต้านการอักเสบผ่านหลายกลไก ดังนี้คือ ต้านการอักเสบผ่าน T-cell lymphocytes โดยไปยับยั้ง SDF1a-chemokine-induced chemotaxis มีผลให้การมารวมกลุ่มกันของสารที่ทำให้เกิดการอักเสบลดลง, ยับยั้ง transendothelial migration of neutrophils มีผลให้ลดการเคลื่อนที่ของเม็ดเลือดขาวชนิด neutrophil ในกระบวนการอักเสบลง, ยับยั้งการหลั่งสาร TNFα ซึ่งเป็นสารเริ่มต้นในขบวนการอักเสบ, กดการสร้างอนุมูลไนโตรเจนที่ว่องไวต่อการเกิดปฏิกิริยาการอักเสบ และการทำงานผ่าน ERK1/2 ทั้ง 2 กลไก ได้แก่ การยับยั้ง phosphatase-activity (directly related with ERK1/2 phosphorylation) และการเพิ่ม phosphorylation of ERK1/2 kinase (ผ่านทาง p21ras protein thioallylation) มีผลทำให้การอักเสบลดลง (Martins, et al, 2016)

-ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย การทดสอบความสามารถในการต้านเชื้อ Escherichia coli ซึ่งป็นเชื้อก่อโรคทางเดินอาหาร ของสารสกัดหัวกระเทียมด้วย เอทานอล เมทานอล  อะซิโตน  และการสกัดสดโดยวิธีบีบคั้นแบบเย็น โดยใช้วิธี microdilution broth susceptibility test พบว่าการสกัดสดมีค่า MIC และค่า MBC ต่ำที่สุด (3.125กรัมต่อลิตร) และรองลงมาคือ สารสกัดจากตัวทำละลาย เอทานอล เมทานอล และอะซิโตน ให้ค่า MIC และ MBC เท่ากัน (6.25กรัมต่อลิตร) แสดงว่าสารสกัดสดมีสมบัติในการยับยั้ง และฆ่าเชื้อแบคทีเรียดีที่สุด เนื่องจากในกระเทียมสดมี allin เป็นสารประกอบกำมะถันที่สำคัญ เมื่อกระเทียมสดถูกบด หรือผ่านกระบวนการแปรรูป allinase จะถูกปลดปล่อยออกมาจากภายใน vacuole ของเซลล์ และอาศัยน้ำเป็นกลไกในการทำปฏิกิริยาได้เป็น allicin ซึ่งเป็นสารที่มีความสามารถในการยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งกระบวนการสกัดสดช่วยให้การทำปฏิกิริยาระหว่างสาร allin และ allinase ดีขึ้น เนื่องจากจะต้องใช้เวลาในการบีบเค้นน้ำกระเทียมซึ่งระยะเวลาดังกล่าวช่วยให้การทำปฏิกิริยาระหว่างสารมากขึ้น อาจทำให้ได้ allicin เพิ่มขึ้น (ภรภัทร และรังสินี, 2554)

-ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพของสารสกัดน้ำที่ได้จากหัวกระเทียม ทำการศึกษาในหลอดทดลอง โดยใช้วิธี tube dilution method ใช้ยา Ciprofloxacin 40 μg/mL เป็นสารมาตรฐาน เชื้อจุลินทรีย์ที่ใช้ในการทดสอบ ได้แก่ Escherichia coli, Klebsiella pneumoniae, Pseudomonas aeruginosa, Staphylococcus aureus และ Salmonella typhi ผลการทดสอบ พบว่าสารสกัดน้ำจากหัวกระเทียมสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อ (MIC) ต่อเชื้อ E. coli, K. pneumonia, P. aeruginosa, S. aureus และ S. typhi เท่ากับ 120, 120, 120, 80 และ 120 mg/ml ตามลำดับ และมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถฆ่าเชื้อ (MBC) เท่ากับ 120, 160, 120, 120 และ 160 mg/ml ตามลำดับ (Lawal, et al., 2016)

***หมายเหตุ

*เชื้อ E. coli สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วง และโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบ และการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น

*เชื้อ K. pneumonia ก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ปอด ทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

*เชื้อ S. typhi เป็นแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคอุจจาระร่วง ไข้ไทฟอยด์ โรคทางเดินอาหารอักเสบ เป็นต้น

*เชื้อ S. aureus เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดการติดเชื้อผิวหนังที่พบทั่วไป เช่น  ฝี  หนอง แผลติดเชื้อ สามารถสร้างสารพิษ endotoxin ทำให้เกิดการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร ลำไส้อักเสบ อาหารเป็นพิษ เป็นต้น และยังก่อให้เกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในโรงพยาบาลอีกด้วย

*เชื้อ P. aeruginosa มักก่อให้เกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในโรงพยาบาล โรคติดเชื้อ P. aeruginosa ได้แก่ การติดเชื้อในชั้นผิวหนัง การติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่าง และการติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นต้น

-ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เมื่อนำสารสกัดกระเทียมที่ได้จากการบ่มสกัด (aged garlic extract (AGE) ด้วย 20 % เอทานอล เป็นเวลา 20 เดือน ที่อุณหภูมิห้อง นำมาทดสอบการต่อต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของไลโปโปรตีนชนิดความหนาแน่นต่ำ หรือต้านการเกิด oxidized LDL (ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว) โดยนำ LDL ที่แยกได้จากคนมาทดสอบในภาวะที่มีหรือไม่มี AGE โดยใช้ CuSO4 และ 5-lipoxygenase เหนี่ยวนำให้เกิด oxidized LDL และทดสอบสารสกัดของ AGE ผลการทดสอบพบว่า AGE มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยลดการสร้าง superoxide ion (อนุมูลอิสระของออกซิเจน) และลดการเกิด lipid peroxide (ออกซิเดชันของไขมัน)  โดย AGE 10%v/v เมื่อใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย สามารถยับยั้งการเกิด superoxide ได้อย่างสมบูรณ์ ส่วนสารสกัด 10% v/v จาก diethyl ether ของ AGE ให้ผล 34%  ฤทธิ์ลดการเกิด lipid peroxidation ของ LDL พบว่าสารสกัด 10% v/v จาก diethyl ether ลดการเกิด lipid peroxidation ที่เกิดจากการเหนี่ยวนำของ Cu2+ และ 5-lipoxygenase ได้ 81% และ 37% ตามลำดับ สรุปได้ว่า AGE มีผลยับยั้งการเกิด oxidation ของ LDL โดยลดการสร้าง superoxide และยับยั้งการเกิด lipid peroxide  ดังนั้น AGE จึงอาจมีบทบาทในการป้องกันการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว (atherosclerotic disease) ได้ (Dillon, et al, 2003)

-การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดหัวกระเทียมด้วย เอทานอล เมทานอล  อะซิโตน  และการสกัดสดโดยวิธีบีบคั้นแบบเย็น ทดสอบโดยวิธีการยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH, การต้านออกซิไดส์จากสาร hydrogen peroxide (hydrogen peroxide (H2O2) scavenging activity ผลการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH พบว่าการสกัดกระเทียมด้วยตัวทำละลายอะซิโตน ให้ค่า IC50 ต่ำที่สุด เท่ากับ 3.58±0.02 mg/ml รองลงมา ได้แก่ สารสกัดเมทานอล เอทานอล และการสกัดสด ตามลำดับ โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 3.72±0.03, 4.47±0.20 และ 55.36±3.96 mg/ml ตามลำดับ  ผลการต้านสารออกซิไดซ์ที่รุนแรง ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) พบว่าสารสกัดด้วยตัวทำละลายเมทานอล มีสมบัติการต้านออกซิไดส์ของสาร H2O2 ดีกว่าสารสกัดด้วย เอทานอล อะซิโตน และการสกัดสด ตามลำดับโดยมีค่า IC50 เท่ากับ 13.10±3.25 ,17.42±1.32, 29.58±2.72 และ 76.55±6.79  mg/ml ตามลำดับ (ภรภัทร และรังสินี, 2554)

-ฤทธิ์การเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (radical scavenging activity) ของสารสกัดกระเทียมด้วยน้ำ และเอทานอล วิเคราะห์ด้วยวิธียับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH พบว่าสารสกัดกระเทียมที่สกัดด้วยเอทานอลสามารถยับยั้งอนุมูลอิสระได้ เท่ากับ 52.28% ส่วนสารสกัดน้ำยับยั้งได้น้อยกว่า 50% ซึ่งผลของการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระมีความสอดคล้องกับค่าฟีนอลิคทั้งหมดคือ เมื่อนำไปวิเคราะห์ปริมาณสารฟีนอลิคทั้งหมด (total phenolics) ด้วยวิธี Folin ciocalteu พบว่าสารสกัดเอทานอล มีปริมาณ ฟีนอลิคเท่ากับ 1.34 GAE/ 100 g ทั้งนี้อาจเนื่องจาก สารสำคัญในกระเทียมที่เป็นสารหลักในการต้านอนุมูลอิสระคือ quercetin ซึ่งสารชนิดนี้อยู่ในกลุ่มสารประกอบฟีนอลิค โดยมีหมู่ OH (hydroxyl) ในโครงสร้างจำนวนมาก จึงสามารถให้อิเล็กตรอนกับอนุมูลอิสระ ทำให้อิเล็กตรอนมีความเสถียรขึ้น (สุญาณี และคณะ, 2556)

-การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลอง ของสารสกัดเอทานอลของต้นอ่อนกระเทียม หลังจากงอกในระยะต่างๆ ด้วยวิธีการทางเคมี ได้แก่ การทดสอบฤทธิ์สารสกัดในการจับอนุมูลอิสระ DPPH (Diphenylpicrylhydrazyl)  และ ORAC (Oxygen Radical Absorbance Capacity) ทดสอบฤทธิ์ลดการสร้างอนุมูล peroxyl radical พบว่าต้นอ่อนกระเทียมที่มีอายุ 5 วัน มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงสุดในทั้งสองการทดสอบ ในขณะที่สารสกัดเอทานอลของหัวกระเทียมสด มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ต่ำกว่า และยังพบว่าการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีภายในต้นอ่อนที่มีอายุ 5 – 6 วัน มีความแตกต่างกับต้นอ่อนที่มีอายุ 0 – 4 วัน อย่างชัดเจน ต้นอ่อนกระเทียมจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับใช้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระได้ (Zakarova, et al, 2014)

-การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และหาปริมาณสารโพลีฟีนอลที่ได้จากกระเทียมรูปแบบต่างๆ ได้แก่ กระเทียมสด (FG) และผลิตภัณฑ์กระเทียมพร้อมรับประทานจำนวน 4 รูปแบบ ได้แก่ กระเทียมเจียวด้วยส่วนผสมของน้ำมันถั่วเหลืองกับไขมันจากพืชที่ผ่านการไฮโดรจีเนต (1:1) ใช้อุณหภูมิ 180ºC เป็นเวลา 2 นาที (FRG), ส่วนผสมของกระเทียมสด 20% กับกระเทียมอบแห้ง 80% (MG), กระเทียมสดสับที่มีการใส่เกลือ 2%(CGS) และกระเทียมสดสับที่ไม่มีการใส่เกลือ (CG)โดยทำการศึกษาในหลอดทดลอง ตรวจสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธีทางเคมี โดยใช้วิธี DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl) assay รายงานผลในหน่วย DPPH scavenging activity (I%), ตรวจสอบผลในการยับยั้งเกิดออกซิเดชันของไขมันด้วย วิธี β-carotene/linoleic acid assay รายงานผลในหน่วยร้อยละของ linoleic acid peroxidation (%LAP) และวิธี Rancimat® method รายงานผลในรูปแบบ protection factor (PF) ผลการทดสอบพบว่า ปริมาณของสารโพลีฟีนอลที่พบใน กระเทียมเจียว (FRG) มีปริมาณสูงสุด เท่ากับ 8.32 ±1.32 µg/mg เมื่อเทียบกับ FG, CG, CGS และ MG เท่ากับ 6.99± 0.39, 6.36± 0.54, 4.78 ±0.37และ 6.21 ±1.10 µg/mg (P<0.05) เมื่อทดสอบด้วยวิธี Folin-Cio-calteu reagent   การตรวจสอบโดยใช้วิธี DPPH assay พบว่ากระเทียมเจียว (FRG) ออกฤทธิ์ยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH ได้ดีที่สุด โดยมีร้อยละของการยับยั้งของ FRG, FG, CG, CGS และ MG เท่ากับ 60.85±6.03, 21.69 ±3.22, 28.80 ±4.11, 23.11± 1.78 และ 24.92 ±4.76 µg/mg ตามลำดับ (P<0.05)  การตรวจสอบโดยใช้วิธี β-carotene/linoleic acid assay พบว่ากระเทียมเจียว (FRG)ออกฤทธิ์ยับยั้งการเกิดเปอร์ออกซิเดชันของกรดไลโนเลอิก ได้ดีที่สุด โดยมีร้อยละของการยับยั้งของ FRG, FG, CG, CGS และ MG เท่ากับ 79.09±2.97, 35.74 ±3.65, 34.42± 4.47, 38.11± 2.56 และ 40.94 ±4.94 µg/mgตามลำดับ (P<0.05)  จากการทดสอบผลิตภัณฑ์ทั้งหมดพบว่ากระเทียมเจียวมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุด ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากการมีปริมาณสารโพลีฟีนอลสูง และการใช้อุณหภูมิสูงทำให้เกิดปฏิกิริยา Maillard reaction ซึ่งทำให้เกิดสารที่มีฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชันเพิ่มมากขึ้น (Queiroz, et al., 2009)

-การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัด 80% เมทานอล ที่ได้จากกระเทียมทั้งต้น ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ตรวจสอบโดยใช้วิธีการต้านอนุมูลอิสระ DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl) assay, การกำจัดไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ ด้วยวิธี hydrogen peroxide-scavenging activity และวิธี TBA (thiobarbituric acid reactive substances) assay ในการหาการยับยั้ง lipid peroxidation ใช้สารสกัดกระเทียมทั้งต้น แบ่งสารสกัด ออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ กระเทียมต้นอ่อนตากแห้งทั้งต้น (1), หัวกระเทียมตากแห้งที่ผ่านการบ่มสกัดมาแล้ว(2), และหัวกระเทียมสด(3) ผลการทดสอบพบว่า การตรวจสอบโดยวิธี DPPH assay สารสกัด 1, 2 และ 3 มีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH ได้ร้อยละ 50 (IC50) เท่ากับ 1.03, 4.41 และ 6.01 mg/ml ตามลำดับ  การตรวจสอบโดยวิธี hydrogen peroxide-scavenging activity พบว่าสารสกัด 1, 2 และ 3 มีค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการกำจัด hydrogen peroxide ได้ร้อยละ 50 (IC50) เท่ากับ 0.55, 0.65 และ 2.01 mg/ml ตามลำดับ   การตรวจสอบโดยวิธี TBA (thiobarbituric acid reactive substances) assayเพื่อดูผลการยับยั้ง lipid peroxidation โดยตรวจวัดระดับสารมาลอนอัลดีไฮ (MDA) ผลผลิตจากการเกิดลิปิดเปอร์ออกซิเดชันพบว่าสารสกัด 1, 2 และ 3 มีค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการยับยั้งการเกิด lipid peroxidation ได้ร้อยละ 50 (IC50) เท่ากับ 0.03, 0.05 และ 0.02 mg/ml ตามลำดับ  โดยสรุปสารสกัดจากต้นกระเทียมอ่อน (ทั้งต้น) ออกฤทธิ์ดีที่สุดในการยับยั้งอนุมูลอิสระ และยับยั้ง lipid peroxidation  (Bozin, et al., 2008)

การศึกษาทางพิษวิทยา: -

การใช้ประโยชน์:

-โรคความดันโลหิตสูงที่เกิดจากไขมันอุดตันหลอดเลือด เนื่องจากมีสารละลายไขมันในเส้นเลือด รับประทานเป็นประจำ 15 วัน ความดันโลหิตลดลงอย่างเห็นได้ชัด ฉะนั้นผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงขณะรับประทานกระเทียมเป็นประจำควรจะมีการตรวจความดันโลหิตก่อน

-โรคผิวหนังที่เกี่ยวกับเชื้อรา เช่น กลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้า เชื้อราในช่องคลอด โดยใช้น้ำที่คั้นจากกระเทียมสดทาบริเวณที่เป็น

-ช่วยขับเหงือ ขับปัสสาวะ และขับเสมหะ โดยใช้กระเทียมสดครึ่งกิโลกรัม ทุบพอแตก แช่ในน้ำหวานหรือน้ำผึ้ง 1 ถ้วย ประมาณ 1 สัปดาห์ รับประทานครั้งละครึ่งช้อนโต๊ะ วันละ 3 ครั้ง

-อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร โดยใช้กระเทียมสด 5-7 กลีบ บดให้ละเอียด ผสมกับน้ำส้มสายชู 2 ช้อนโต๊ะ เติมน้ำตาลและเกลือเล็กน้อย กรองเอาแต่น้ำ ดื่มวันละ 3 ครั้ง หลังรับประทานอาหาร

-อาการแผลสด แผลเป็นหนอง โดยใช้กระเทียมสดปอกเปลือก นำมาทุบหรือฝานทาในบริเวณที่เป็นแผล

-อาการริมฝีปากอักเสบ ใช้กระเทียมบดห่อด้วยผ้าขาวบางวางบริเวณริมฝีปากที่เกิดการอักเสบ 8-10 ชั่วโมง ช่วยบรรเทาอาการ

-อาการไอ หวัดเจ็บคอ ใช้น้ำคั้นกระเทียมผสมน้ำเชื่อมรับประทานเป็นยาขับเสมหะ บรรเทาอาการไข้หวัดเจ็บคอ น้ำมูกไหล และอาการไอ

-อาการปวดฟันจากฟันผุ โดยใช้กระเทียมสดสับละเอียดทุกฟันที่ผุ 

-อาการปวดหู หูอื้อ หูตึง โดยใช้น้ำกระเทียมหยอดหูประมาณ 1-2 หยด วันละ 3-4 ครั้ง

-ช่วยป้องกันการเป็นวัณโรคหรือนิวโมเนียได้ สำหรับผู้ที่รับประทานกระเทียมสดเป็นประจำ เนื่องจากขณะที่รับประทานกระเทียมสารมีกลิ่นกระเทียมจะระเหยออกมาทางลมหายใจ ทางปอด สารนี้จะไปทำลายเชื้อโรคที่ทางเดินหายใจก่อนที่เชื้อจะเข้าสู่ปอด แก้ไอ ขับเสมหะ

-ช่วยป้องกันโรคติดเชื้อในทางเดินอาหาร มีกลไกเช่นเดียวกับป้องกันวัณโรค คือ จากสารที่ได้จากกระเทียมจะเข้าไปยับยั้งหรือฆ่าเชื้อต่าง ๆ ที่ติดเข้าไปกับอาหาร ความเข้มข้นของน้ำมันกระเทียมเพียง 0.001% สามารถฆ่าเชื้ออหิวาต์และไทฟอยด์ในหลอดทดลองได้

-ช่วยป้องกันแบคทีเรียในลำคอ ใช้น้ำคั้นจากกระเทียมบดผสมน้ำอุ่น 5 เท่า ผสมเกลือเล็กน้อย อมกลั้วคอฆ่าเชื้อในปากและลำคอได้

-กระเทียม มีสารเป็นตัวนำของวิตามินบี1 เข้าสู่ทางเดินอาหารได้ดีเพื่อทำให้วิตามินบี1 นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย โดยรวมเป็นสารอัลลิลไทอะมิน (Allithiamin) ทำให้วิตามินบี1 ออกฤทธิ์ได้ดีขึ้นถึง 20 เท่า และสารอัลลิซัลไฟด์จะช่วยกระตุ้นการดูดซึมของวิตามินบี1 ในลำไส้ดีขึ้นเท่าตัว

-กระเทียม เป็นเครื่องสมุนไพรที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด และยังเป็นพืชที่ธาตุซีลีเนียมสูงกว่าพืชชนิดอื่น ๆ อีกทั้งยังมีสารอะดีโนซีน (Adenosine) ซึ่งเป็นกรดนิวคลีอิกที่เป็นตัวสร้าง DNA และ RNA ของเซลล์ในร่างกาย

-กระเทียม มีสารเมอร์แคปแตน (mercaptan) เป็นสารกำมะถันอินทรีย์ที่อยู่ในกระเทียม ช่วยทำให้เนื้อและโปรตีนที่ทำลายยาก เช่น โปรตีนจากไข่ขาว นม ละลายและดูดซึมในลำไส้ได้ง่ายขึ้น

-หัว (กระเทียม) ช่วยปรุงรสชาติของอาหารให้มีรสและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ ทั้ง ต้ม ผัด แกง ทอด ยำ ต้มยำ หรือน้ำพริกต่าง ๆ 

-หัว (กระเทียม) สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างหลากหลาย เช่น กระเทียมเสริมอาหาร กระเทียมสกัดผง สารสกัดน้ำมันกระเทียม กระเทียมดอง เป็นต้น

-ในอินเดียใช้กระเทียมโขลกสระผมช่วยป้องกันผมหงอก นอกจากนี้กระเทียมยังมีไอโอดีนเช่นเดียวกับสาหร่ายทะเล หอยต่าง ๆ กุ้ง น้ำมันตับปลา สับปะรด



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง