Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: ก้ามปู/ จามจุรี

ก้ามปู thai-herbs.thdata.co | ก้ามปู สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ชื่อท้องถิ่น: ก้ามกราม ก้ามกุ้ง ก้ามปู จามจุรี (ภาคกลาง)/ ลัง สารสา สำสา (ภาคเหนือ)/ ตุ๊ดตู่ (ตาก)/ เส่คุ่ เส่ดู่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ชื่อสามัญ: Cow tamarind/ Rain tree

ชื่อวิทยาศาสตร์: Albizia saman (Jacq.) F. Muell.

ชื่อวงศ์: FABACEAE-LEGUMINOSAE

สกุล: Albizia

สปีชีส์: saman

ชื่อพ้อง:

-Samanea saman (Jacq.) Merr.

-Acacia propinqua A.Rich.

-Albizia saman (Jacq.) F. Muell.

-Calliandra saman (Jacq.) Griseb.

-Enterolobium saman (Jacq.) Prain

-Feuilleea saman (Jacq.) Kuntze

-Inga cinerea Willd.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นก้ามปู ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง 10-20 เมตร ผลัดใบเรือนยอดแผ่เป็นพุ่มกว้างคล้ายร่ม โคนต้นเป็นพูพอนต่ำ เปลือกสีน้ำตาลปนเทา แตกตามยาวขรุขระไม่เป็นระเบียบ

ใบ ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงตรงข้าม แกนกลางใบประกอบ ยาว 10-18 เซนติเมตร ก้านใบประกอบยาว 3-5 เซนติเมตร ใบประกอบ แยกแขนงตรงกันข้าม 2-5 คู่ บนแขนงเป็นรูปรี รูปไข่ หรือรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ปลายมน มักเว้าตื้นหรือมีติ่งสั้น โคนเบี้ยว ขอบใบเรียบ แผ่นหลังใบเรียบ ท้องใบมีขนนุ่ม ไม่มีก้านใบย่อย ใบย่อยเรียงตรงข้าม 2-10 คู่ คู่ที่อยู่ปลายบนมีขนาดใหญ่ที่สุดและลดหลั่นลงไปจนถึงคู่ล่างมีขนาดเล็กสุด มีความกว้าง 0.6-4.0 เซนติเมตร ยาว 1.5-6.0 เซนติเมตร ปลายกิ่ง

ดอก ช่อดอกแบบกระจุกแน่น ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อตั้งขึ้น มีดอกจำนวนมาก ดอกวงนอกมีก้านสั้นๆ ดอกวงในไม่มีก้าน ก้านช่อดอกยาว 5-9 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงสีขาวอมเขียว 5 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นรูปแตร 1.0-1.2 เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้สีชมพูจำนวนมาก ติดกับโคนดอก ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร รังไข่แบนยาว

ผล รูปทรงแบนยาว คล้ายฝักถั่ว ฝักอ่อนมีสีเขียว ฝักแก่มีสีน้ำตาลจนถึงดำเมื่อฝักสุก ฝักแก่กว้างประมาณ 1.5-2.4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ขอบฝักเป็นแนวตรงเสมอกัน คอดเล็กน้อยเป็นตอนๆระหว่างเมล็ด และมีเส้นสีเหลืองตามขอบ ร่องฝักนูนบริเวณที่มีเมล็ด และถูกหุ้มด้วยเนื้อผลสีน้ำตาล และช่วงระหว่างเมล็ดเป็นร่องที่ประกอบด้วยเนื้อสีน้ำตาลเช่นกัน เนื้อผลจามจุรีมีรสหอม และหวานมาก สามารถนำมารับประทานได้

เมล็ด แบนสีน้ำตาลเข้มปนดำเป็นมัน กว้าง 6 มิลลิเมตร ยาว 10 มิลลิเมตร

สภาพนิเวศวิทยา: ขึ้นตามริมฝั่งแม่น้ำ ที่ราบลุ่มทั่วประเทศ

ถิ่นกำเนิด: อเมริกาใต้เขตร้อน เช่น เม็กซิโก บราซิล และเปรู

การกระจายพันธุ์: พบได้ทั่วไปในเขตร้อน และเอเชียใต้ เอเชียอาคเนย์ หมู่เกาะแปซิฟิก และฮาวาย

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

      *เมล็ด รสเมา สรรพคุณ แก้กลาก เกลื้อน โรคเรื้อน

      *เปลือกต้น รสฝาด สรรพคุณ แก้ปากเปื่อยเป็นแผล แก้เหงือกบวม แก้ปวดฟัน แก้ท้องร่วง แก้ริดสีดวงทวาร

-ราก นำมาต้มดื่ม รักษาอาการท้องร่วง นำมาฝนทาแผล รักษาแผลอักเสบ เป็นหนอง

-ฝักหรือผลสุก นำมารับประทาน ช่วยบำรุงร่างกาย

-ใบสด นำมาต้มน้ำดื่ม หรือตากแห้งใช้ชงเป็นชาดื่ม ช่วยรักษาโรคท้องร่วง

-เปลือกต้น มีรสฝาด นำมาต้มน้ำดื่มรักษาโรคท้องเสีย ท้องร่วง แก้ริดสีดวงทวารหนัก ใช้ฝนหรือบดทารักษาแผล แผลติดเชื้อ แผลเป็นหนอง ใช้รักษาแก้โรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน นำมาเคี้ยวช่วยลดอาการเหงือกบวม แก้ปวดฟัน

-เมล็ด มีรสฝาด นำมาต้มน้ำดื่มรักษาโรคท้องเสีย ท้องร่วง ใช้ฝนหรือบดทารักษาแผล แผลติดเชื้อ แผลเป็นหนอง ใช้รักษาแก้โรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน

องค์ประกอบทางเคมี: -

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:-

การศึกษาทางพิษวิทยา:-

การใช้ประโยชน์:

-เนื้อไม้ ใช้นำมาแปรรูปเป็นไม้ก่อสร้างบ้าน ไม้ปูพื้น ไม้ฝ้า ไม้ผนัง คาน ขอบหน้าต่าง หน้าต่าง บานประตู และที่สำคัญนิยมใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้หลายชนิด เนื่องจากมีลายไม้ที่สวยงาม และเนื้อไม้แข็งแรง เช่น ทำโต๊ะ เก้าอี้ ตู้เสื้อผ้า เป็นต้น รวมถึงงานแกะสลักประเภทต่างๆ เนื่องจากมีสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ เมื่อขัดจะขึ้นเงามันงาม

-ต้นจามจุรีมีทรงพุ่มกว้าง ใบดก ให้ร่มเงาได้ดีมาก จึงนิยมปลูกเพื่อให้ร่มเงาตามหัวไร่ปลายนา ข้างถนนสำหรับคนเดินทาง สถานที่ราชการสำหรับประชาชน รวมถึงปลูกเป็นไม้ประดับด้วยการตัดแต่งไม่ให้มีลำต้นสูง และแตกกิ่งยาวมากนัก นอกจากนั้น ยังใช้เป็นที่เกาะของเฟิร์น และกล้วยไม้

-กิ่งอ่อนของต้นจามจุรีมีเยื่อเปลือกอ่อนที่เป็นอาหารของครั่ง จึงนิยมปลูกสำหรับปล่อยเลี้ยงครั่ง ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีราคาสูง เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศเป็นอย่างมาก ต้นจามจุรีที่นิยมใช้เลี้ยงครั่งจะเป็นชนิดดอกสีชมพู เปลือกสีดำ มีใบเขียวเข้ม ชนิดนี้ครั่งจะจับได้ดี และครั่งมีคุณภาพดี

-เนื่องจากต้นจามจุรีเป็นพืชในตระกูลถั่ว ใบมีสารอาหารหลายชนิดจึงนิยมนำมาเป็นอาหารสัตว์ เช่น วัว ควาย สุกร แพะ แกะ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังใช้ร่วมกับฝักแก่สำหรับเป็นอาหารสัตว์ เนื่องจากฝักมีรสหวานเป็นที่ชอบของสัตว์บางชนิด เช่น โค กระบือ

-ฝักแก่ สามารถนำมาหมักเป็นเหล้าหรือผลิตแอลกอฮอล์ได้ โดยฝักแก่ที่มีขนาดใหญ่ 100 กิโลกรัม สามารถผลิตแอลกอฮอล์ได้มากกว่า 11 ลิตร

-ฝักแก่ นำเอาเมล็ด และเปลือกออก เหลือเฉพาะเนื้อฝักใช้รับประทานเป็นอาหาร ให้รสหอมหวานมาก รวมถึงนำมาต้มหรือชงเป็นชาดื่มก็ได้



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง