Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: เลี่ยน

ชื่อท้องถิ่น: เลี่ยนดอกม่วง (ทั่วไป)/ เลี่ยนใบใหญ่ เคี่ยน เลี่ยน เกษมณี (ภาคกลาง)/ เกรียน เคี่ยน เฮี่ยน (ภาคเหนือ)/  ลำเลี่ยน (ลั้วะ)/ โขวหนาย (จีนแต้จิ๋ว)/ ขู่เลี่ยน ขู่เลี่ยนซู่ (จีนกลาง)

ชื่อสามัญ: Bastard cedar, Bead tree, Chaina tree, Chinaball tree, Persian lilac, White cedar

ชื่อวิทยาศาสตร์: Melia azedarach L.

ชื่อวงศ์: MELIACEAE

สกุล: Melia 

สปีชีส์: azedarach 

ชื่อพ้อง: 

-Melia australis Sweet

-Melia candollei Sw.

-Melia japonica G.Don

-Melia sempervirens Sw.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

เลี่ยน thai-herbs.thdata.co | เลี่ยน สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นเลี่ยน จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กผลัดใบ มีขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เลี่ยนเล็กมีความสูงได้ประมาณ 10-15 เมตร ส่วนเลี่ยนใหญ่จะมีความสูงของต้นได้ถึง 25 เมตร (มีสรรพคุณทางยาเหมือนกัน) แตกกิ่งก้านโปร่งบางและแผ่กว้าง โคนต้นเป็นพูพอน เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลแตกเป็นร่องตามยาวตื้น ๆ เปลือกต้นมีรูขนาดเล็กอยู่ทั่วไป กิ่งอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนกิ่งแก่เป็นสีม่วง 


เลี่ยน thai-herbs.thdata.co | เลี่ยน สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงเวียนสลับ มักทิ้งใบเหลืออยู่ที่ปลายกิ่ง หรือช่อใบออกเป็นช่อ ช่อหนึ่งมีใบย่อยประมาณ 3-5 ใบ ช่อใบยาวได้ประมาณ 8 นิ้ว ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่หรือรูปรีกึ่งขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือสอบ ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบเกลี้ยง ด้านบนใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างเป็นสีเขียวอ่อน และตามเส้นใบจะมีขนอ่อน ๆ ปกคลุมอยู่ เลี่ยนเล็กใบจะมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-4.5 เซนติเมตร ส่วนเลี่ยนใหญ่ ใบจะมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร


เลี่ยน thai-herbs.thdata.co | เลี่ยน สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบใกล้กับปลายกิ่ง ดอกเป็นสีขาวอมม่วง มีกลิ่นหอมเย็นอ่อน ๆ กลีบดอกมี 5-6 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ดอกยาวประมาณ 0.5 นิ้ว ก้านเกสรเพศผู้มีสีม่วงเข้มติดกันเป็นหลอด ซึ่งจะตัดกับกลีบดอกน่าดูมาก ส่วนกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉก 5-6 แฉก และดอกที่โคนก้านช่อจะบานก่อน แล้วจะค่อย ๆ บานขึ้นไปตามลำดับ


เลี่ยน thai-herbs.thdata.co | เลี่ยน สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะกลมรี เลี่ยนเล็กผลยาวได้ประมาณ 1.2-1.5 เซนติเมตร ส่วนเลี่ยนใหญ่ ผลจะยาวได้ประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว ผลสุกเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีน้ำตาลเหลือง ภายในผลมีเมล็ดเดี่ยวสีน้ำตาล เป็นรูปเหลี่ยมสีดำ

สภาพนิเวศวิทยา: พบขึ้นได้ตามชายป่าดิบและป่าเบญจพรรณ

ถิ่นกำเนิด: สหรัฐอเมริกา

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด และวิธีการปักชำ 

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ต้น รสขมเมา สรรพคุณ แก้โรคผิวหนังเรื้อน แต่ทำให้ผิวหนังเกรียม ลอกเป็นขุย เจริญอาหาร เป็นยาอายุวัฒนะ 

*ยาง รสขมเมา สรรพคุณ แก้ม้ามโต (พิษจับไข้จับสั่น) 

*ใบ รสขมเมา สรรพคุณ ขับพยาธิ ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว บำรุงโลหิตประจำเดือน

*ดอก รสขมเมา สรรพคุณ แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน 

*ใบกับดอก ตำรวมกัน พอกศีรษะ แก้ปวดหัว ปวดประสาท 

*ลูก รสขมเมา สรรพคุณแก้โรคเรื้อน และฝีคันทะมาลา

*เมล็ด รสขมเมา สรรพคุณ แก้ปวดข้อ 

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ต้นเลี่ยน พบสารขมอยู่หลายชนิด ซึ่งเป็นพวก Triterpenoids, 

-เปลือกต้น พบสาร  Triacontane, B-sitosterol, Glucose 

-เปลือกต้นและเปลือกราก พบสาร Toosendanin (สารชนิดนี้มีฤทธิ์ถ่ายพยาธิตัวกลม) Kulinone และพบ Alkaloids อีกหลายชนิด เช่น Ajaridine, Margosine 

-ใบ Carotenoid, Meliantin 

-ผล พบสาร Bakayanin, Neo-bakayanin, Steroid สารขมชื่อ Margosine, Fixed oil และกำมะถัน

-เมล็ด พบสาร  Tetranortriterpenoids (สารชนิดนี้มีฤทธิ์ฆ่าแมลง)  Melianone, Melianol, Melianetriol น้ำมันที่ได้จากเมล็ด พบสาร Salanine  และFatty acid (Oleic acid, Palmitic acid, Myristic acid, Linoleic acid) เป็นต้น

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ฆ่าพยาธิ สาร Toosendanin ที่สกัดได้จากเปลือกด้วยแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ฆ่าพยาธิตัวกลมของหนูที่อยู่นอกร่าง จากการทดลองพบว่า สารที่สกัดในความเข้มข้น 1 ต่อ 1,000 สามารถทำให้ส่วนหัวของพยาธิมึนชา และสารที่สกัดในความเข้มข้น 1 ต่อ 5,000-9,000 จะทำให้พยาธิมีอาการมึนชาทั้งตัว ทำให้พยาธิไม่สามารถยึดเกาะภายในลำไส้ได้

-จากการทดลองผลของสารมาร์โกซีน (margosine) ที่ได้จากการสกัดเปลือกต้นและเปลือกรากด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการขับพยาธิตัวกลม ทำให้พยาธิตัวกลมของหมูซึ่งทดลองนอกร่างกายเป็นอัมพาต โดยฤทธิ์ในการขับพยาธิขึ้นอยู่กับปริมาณที่ใช้กล่าวคือ ที่เข้มข้นตั้งแต่ 1 ต่อ 1,000 ขึ้นไป จะมีผลทำให้พยาธิตัวกลมของหมูเป็นอัมพาต แต่ถ้าใช้ที่มีความเข้มข้นน้อยลงระหว่าง 1 : 5,000 -1 : 9,000 จะมีฤทธิ์กระตุ้นบริเวณหัวและกลางลำตัวของพยาธิอย่างเห็นได้ชัด การกระตุ้นแสดงให้เห็นโดยพยาธิเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น และมีการบีบตัวอย่างรุนแรงเป็นระยะ ๆ เป็นเวลา 10-24 ชม. และยังมีฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อลำไส้ของกระต่ายทั้งนอกและในร่างกาย ทำให้การบีบตัวของลำไส้แรงและเร็วขึ้น

-จากการทดลองผลในการขับพยาธิตัวกลม ด้วยการใช้เปลือกต้นแห้ง 5-10 กรัม สำหรับผู้ใหญ่ และในขนาด 3-6 กรัม สำหรับเด็ก โดยให้ผู้ใหญ่กินครั้งละ 6-8 เม็ด ส่วนเด็กอายุ 1 ขวบ ให้กินครั้งละ 2 เม็ด, อายุ 2-4 ขวบ ให้กินครั้งละ 2-3 เม็ด, อายุ 4-6 ขวบ ให้กินครั้งละ 3-4 เม็ด, อายุ 6-8 ขวบ ให้กินครั้งละ 4 เม็ด, และอายุ 9-12 ขวบ ให้กินครั้งละ 5 เม็ด โดยการกินวันละ 2 ครั้ง พบว่าได้ผลอยู่ที่ประมาณ 20.2-100% ซึ่งส่วนใหญ่แล้วพยาธิจะถูกขับออกมาภายใน 1-2 วัน

-จากการทดลองกับเด็กจำนวน 50 ราย โดยใช้เปลือกต้นสด 50 กรัม นำมาต้มกับน้ำให้ได้น้ำสกัด 200 มิลลิลิตร ใช้สวนทวาร หลังจากนั้น 30 นาที ใช้น้ำสกัดจำนวน 300-500 มิลลิลิตร สวนทวารอีกเป็นครั้งที่สอง และหลังจากนั้น 60 นาที ก็ให้ใช้น้ำสกัด 300-500 มิลลิลิตร สวนทวารอีกรอบเป็นครั้งที่สาม นับเป็นการรักษาช่วงแรก และภายหลัง 24 ชั่วโมง ถ้าพยาธิยังไม่ขับออกมาให้เริ่มช่วงที่สอง พบว่าได้ผลดีมาก (ในรายที่เสียน้ำมากต้องให้น้ำเกลือก่อน)

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่าการออกฤทธิ์ต่อสัตว์ทดลองจะไม่เท่ากัน กล่าวคือ สารสกัดในปริมาณ 3-4 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม สามารถทำให้แมวตายได้ และในสุนัขทดลองจะต้องใช้สารสกัด 30-32 มิลลิกรัมต่อ 1กิโลกรัม จึงจะทำให้สุนัขตาย

-จากการทดสอบฤทธิ์ในการกระตุ้นกระเพาะอาหาร หากใช้ในปริมาณมาก ในขนาด 20-40 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว กรอกเข้าไปในกระเพาะของหนูขาว จะทำให้เยื่อบุผิวของกระเพาะอาหารเกิดการบวมน้ำ อักเสบ บวมเป็นหนอง และเป็นแผล ดังนั้นผู้ที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารจึงต้องระมัดระวังในการใช้ให้มาก

การใช้ประโยชน์:

-โรคผิวหนังกลากเกลื้อน เชื้อราบนหนังศีรษะ และน้ำกัดเท้า ใช้เปลือกแห้งนำมาบดให้เป็นผงผสมกับน้ำส้มสายชู ใช้ทาบริเวณที่เป็นวันละ 2-3 ครั้ง หรือจะใช้เมล็ดนำมาคั่วให้เหลือง บดให้เป็นผง ผสมกับน้ำมันมะพร้าวในอัตราส่วน 1:1 ใช้ทาบริเวณที่เป็น 

-โรคผิวหนัง โรคเรื้อน ใช้ดอก 1 ช่อเล็ก หรือผลประมาณ 5-7 ผล แล้วเอาดอกหรือผลนำมาตำให้ละเอียด เติมน้ำมันพืช แล้วนำมาใช้ทาบริเวณเป็นวันละ 2-3 ครั้ง จนกว่าจะหาย 

-โรคหิด ใช้กิ่งหรือเปลือกต้นนำมาเผาให้เป็นเถ้า แล้วนำไปคุกผสมกับน้ำมันหมู แล้วนำมาใช้ทาบริเวณที่เป็น

-อาหารผดผื่นคัน ใช้เปลือกต้น หรือ ดอกนำมาต้มกับน้ำแล้วใช้ชะล้างบริเวณที่เป็น 

-ยอดและใบอ่อน นำมายางไฟพอสลดเพื่อลดความขม ใช้รับประทานเป็นผักแกล้มกับน้ำพริกชนิดต่าง ๆ เช่น ลาบ ก้อย จะเพิ่มความเข้มข้นให้อร่อยมาก

-ใบ ใช้ในการไล่แมลง หากนำใบเลี่ยนมาสอดไว้ในหนังสือ จะช่วยป้องกันแมลงไม่ให้มากัดกินหนังสือได้

-ใบ เปลือกต้น และเปลือกรากมีฤทธิ์ช่วยไล่แมลง ส่วนผลเป็นยาฆ่าแมลง การใช้เป็นยาฆ่าแมลงและไล่แมลง ให้ใช้ใบและเปลือกแห้งนำมาต้มกับน้ำ แล้วใช้ฉีดไล่ตั๊กแตน (grasshopper) และตั๊กแตนห่า (locusts)

-ใบ ให้สีเขียวที่สามารถนำมาใช้ย้อมสีผ้าได้

-ผล ใช้เป็นยาเบื่อปลา ด้วยการใช้ผลนำมาตำ แล้วเทลงในบ่อปลา จะฆ่าปลาได้ และยังเป็นพิษต่อตัวมวน (ตัวทำอันตรายต่อผลส้ม) และเป็นพิษต่อคน (ถ้ารับประทานถึงขนาดหนึ่งจะทำให้อาเจียนและท้องเดิน)

-เมล็ด มีลักษณะแข็ง ห้าแฉก ใช้ทำลูกประคำหรือลูกปัด

-เนื้อไม้ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ใช้ในการสร้างบ้าน ใช้ทำโครงสร้างต่าง ๆ ของบ้าน เช่น ฝาบ้าน ไม้กระดาน เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ หรือใช้ทำไม้อัด เยื่อกระดาษ ทำฟืน เป็นต้น

-นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับบริเวณบ้านและสวน เนื่องจากในช่วงเวลาที่ออกดอกเป็นช่อบานพร้อมกันดูสวยงาม ให้ร่มเงา ป้องกันลม ป้องกันการพังทลายของหน้าดิน ฯลฯ

-ในด้านของความเชื่อ คนไทยโบราณเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกต้นเลี่ยนไว้เป็นไม้ประจำบ้าน จะทำให้เกิดความสวยงาม ความสะอาด เรียบร้อย เพราะคำว่าเลี่ยน คือ “เลี่ยนเตียน” ที่มีความหมายว่า ราบเรียบ ปลอดโปร่ง และสดใส และยังมีความเชื่ออีกว่าจะช่วยทำให้เกิดความสามัคคี เพราะเลี่ยน คือ การผสมผสานกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นอกจากนี้คนโบราณบางคนยังเชื่อว่าต้นเลี่ยนเป็นของสูงที่มีค่า ทำให้บางเรียกต้นเลี่ยนว่า “ต้นเกษมณี” และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัยควรปลูกต้นเลี่ยนไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์เพื่อเอาคุณ

-ในเคนยาปลูกเป็นพืชอาหารสัตว์ นำใบให้สัตว์เลี้ยงจำพวกวัวกินเพื่อเพิ่มคุณภาพน้ำนม



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง