Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: หญ้าใต้ใบ (ลูกใต้ใบ)

ชื่อท้องถิ่น: Egg woman, Tamalaki, Hazardana, Stonebreaker, Seed-under-leaf

ชื่อสามัญ: ต้นใต้ใบ หญ้าลูกใต้ใบ หมากไข่หลัง (เลย)/ หญ้าใต้ใบ (อ่างทอง, นครสวรรค์, ชุมพร)/ ไฟเดือนห้า (ชลบุรี)/ หญ้าใต้ใบขาว (สุราษฏร์ธานี)/ หน่วยใต้ใบ (คนเมือง)/ มะขามป้อมดิน (ภาคเหนือ)/ จูเกี๋ยเช่า (จีน) เป็นต้น

ชื่อวิทยาศาสตร์: 

-Phyllanthus amarus Schumach. & Thonn.(หญ้าใต้ใบ)

-Phyllanthus sp.1 (ลูกใต้ใบดอกขาว) 

-Phyllanthus sp.2 (ลูกใต้ใบตีนชี้)  

-Phyllanthus sp.3 (ลูกใต้ใบหัวหมด)

ชื่อวงศ์: PHYLLANTHACEAE

สกุล: Phyllanthus 

สปีชีส์: amarus

ชื่อพ้อง: 

-Diasperus nanus (Hook.f.) Kuntze

-Phyllanthus amarus subsp. sanyaensis P.T.Li & Y.T.Zhu

-Phyllanthus nanus Hook.f.

-Phyllanthus niruri var. scabrellus (Webb) Müll.Arg.

-Phyllanthus scabrellus Webb

-Phyllanthus swartzii Kostel.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

หญ้าใต้ใบ thai-herbs.thdata.co | หญ้าใต้ใบ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นหญ้าใต้ใบ เป็นไม้ล้มลุก อายุเพียงปีเดียว มีความสูงประมาณ 10-60 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นไม่มีขน และทุกส่วนของต้นมีรสขม


หญ้าใต้ใบ thai-herbs.thdata.co | หญ้าใต้ใบ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคี่ มีใบย่อยประมาณ 23-25 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ โคนใบมนแคบ ส่วนปลายใบมนกว้าง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 5-10 มิลลิเมตร มีก้านใบสั้นมาก มีหูใบสีขาวนวล ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายแหลมเกาะติดอยู่ 2 อัน


หญ้าใต้ใบ thai-herbs.thdata.co | หญ้าใต้ใบ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นแบบแยกเพศ มีขนาดเล็กสีขาว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.08 เซติเมตร ดอกเพศเมียมักจะอยู่บริเวณโคนก้านใบ ส่วนดอกเพศผู้มักจะอยู่บริเวณส่วนปลายของก้านใบ โดยดอกตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าดอกตัวผู้ประมาณ 2 เท่า เกสรตัวผู้มี 3 ก้าน โคนก้านเกสรเชื่อมกันเล็กน้อย มีอับเรณูแตกอยู่ตามแนวราบ ส่วนกลีบรองและกลีบดอกเป็นรูปไข่ ขอบกลีบมีสีอ่อน


หญ้าใต้ใบ thai-herbs.thdata.co | หญ้าใต้ใบ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมแป้น ผิวเรียบมีสีเขียวอ่อนนวล ผลมีขนาดประมาณ 0.15 เซนติเมตร โดยผลมักจะเกาะติดอยู่บริเวณใต้โคนของใบย่อย และอยู่ในบริเวณกลางก้านใบ ผลเมื่อแก่จะแตกเป็นพู 6 พู ในแต่ละพูจะมีเมล็ด 1 เมล็ด สีน้ำตาล มีลักษณะเป็นรูปเสี้ยว 1 ส่วน 6 ของรูปทรงกลม มีสันตามยาวทางด้านหลัง และมีขนาดเล็กมากประมาณ 0.1 เซนติเมตร

สภาพนิเวศวิทยา: พบทั่วไปในพื้นที่เปิด พบตั้งแต่ระดับ 30-1100 เมตร จากระดับน้ำทะเล

ถิ่นกำเนิด: เม็กซิโกใต้ไปจนถึงอเมริกาเขตร้อน

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ใช้ทั้งต้น รสขมเย็น สรรพคุณระงับความร้อน แก้พิษไข้ แก้ไขมาลาเรีย แก้กามโรคขับระดูขาว ตำผสมสุราพอก แก้พิษฝี แก้ฟกบวม

องค์ประกอบทางเคมี: -

การศึกษาทางเภสัชวิทยา: 

-ฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระ สารสกัดด้วยเอทานอลของรากลูกใต้ใบชนิด P. amarus มีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระ และยังสามารถช่วยลด Oxidative stress ได้เมื่อศึกษาในหลอดทดลอง ส่วนสารสกัดแบบน้ำชาของลูกใต้ใบก็พบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระเช่นกัน

-จากการเปรียบข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสารสกัดหยาบของลูกใต้ใบ 3 ชนิด ซึ่งได้แก่ P. amarus, P. urinaria, และ P. virgatus โดยได้ทำการวิเคราะห์หาสารประกอบฟีนอลิกที่พบในสารสกัด 50% เมทานอล พบว่าสารสกัดของลูกใต้ใบชนิด P. virgatus มีปริมาณของสารประกอบฟีนิกลิกสูงกว่าสารสกัดของลูกใต้ใบชนิด P. amarus และ P. urinaria และยังพบว่าสารสกัดหยาบของลูกใต้ใบชนิด P. virgatus มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระได้ดีที่สุด นอกจากนี้ยังสามารถยับยั้งการเกิด Lipid peroxidation ของ Linoleic acid system ได้ดีที่สุดอีกด้วย และเมื่อทำการทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดของลูกใต้ใบต่อเซลล์มะเร็ง HepG2 ก็พบว่าสารสกัดของ P. virgatus มีความเป็นพิษต่อเซลล์มากกว่าสารสกัดของลูกใต้ใบชนิด P. amarus และ P. urinaria

-ฤทธิ์ในการต้านการเกิดมะเร็ง สารสกัดด้วยน้ำของลูกใต้ใบชนิด P. amarus มีฤทธิ์ในการต้านการเกิดมะเร็ง Sarcoma ในหนูที่ได้รับสารก่อมะเร็ง 20-methylcholanthrene และยังมีฤทธิ์ช่วยยืดอายุของหนูที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์มะเร็ง และทำให้ก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็กลง

-ฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ สารสกัดด้วยเมทานอลของลูกใต้ใบ P. amarus มีฤทธิ์ในการต้านการก่อกลายพันธุ์ของสาร 2-acetaminofluorene (2-AFF), 4-nitro-O-phenylenediamine, Aflatoxin B1, Sodium azide และ N-methyl-N-nitro-N- nitrosoguanidine เมื่อทำการศึกษาด้วย Ames test ในหนูทดลอง โดยผลการต้านการก่อกลายพันธุ์ของสารสกัดใน in vitro จะดีกว่าใน in vivo

-ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อเอชไอวี สารสกัดด้วยน้ำและแอลกอฮอล์ของลูกใต้ใบชนิด P. amarus มีฤทธิ์แรงในการช่วยยับยั้ง HIV-1 โดยเป็นสารออกฤทธิ์ในกลุ่ม Gallotannin ซึ่งสาร Corilagin, Ellagitannins และ Geraniin นั้นจะมีฤทธิ์แรงที่สุด นอกจากนี้ยังช่วยยับยั้งเชื้อ HIVE ได้ถึง 30% และมีผลยับยั้งเชื้อ HIVE ทั้งใน in vitro และใน in vivo

-ฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด สารสกัดด้วยเมทานอลของลูกใต้ใบชนิด P. amarus มีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นโรคเบาหวานจากการฉีดสาร Alloxan และสารสกัดด้วยน้ำจากใบและเมล็ดของ P. amarus ก็มีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เช่นกัน โดยมีการทดลองใช้ดื่มน้ำตาลซูโครส 10% เป็นเวลา 30 วันเพื่อทำให้ภาวะน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น แต่ผลการทดลองก็พบว่าสามารถช่วยลดภาวะเบาหวานได้

-ฤทธิ์ต้านอาการท้องเสีย สารสกัดด้วยน้ำจากใบของลูกใต้ใบชนิด P. amarus มีฤทธิ์ต้านอาการท้องเสีย ทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ช้าลง ช่วยลดความถี่ในการขับถ่าย ช่วยลดการเคลื่อนตัวของอาหารในลำไส้ของหนูถีบจักร ช่วยชะลอการเกิดท้องเสียและลดจำนวนครั้งที่ขับถ่ายหลังจากได้รับน้ำมันละหุ่ง

-ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร สารสกัดด้วยเมทานอลของลูกใต้ใบชนิด P. amarus มีฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยลดการบวมน้ำที่อุ้งเท้า ลดอาการบาดเจ็บและอาการเลือดออกในกระเพาะอาหาร และช่วยลดอัตราการตายเนื่องจากได้รับเอทานอลได้

-ฤทธิ์ต้านไวรัสตับอักเสบ จากการค้นคว้าพบว่าลูกใต้ใบมีผลทางบวกในการยับยั้งไวรัสและชีวเคมีของตับ เมื่อมีการติดเชื้อ HBV เรื้อรัง การใช้ส่วนผสมของลูกใต้ใบมีผลต่อไวรัสตับอักเสบบี ช่วยทำให้เกิดการฟื้นตัวของการทำหน้าที่ของตับและช่วยยับยั้งเชื้อ HBV (ลูกใต้ใบชนิด P. amarus) และลูกใต้ใบยังสามารถยับยั้งไวรัสตับอักเสบได้อีกด้วย

-ฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์ DNA ของไวรัส แพทย์ชาวอเมริกันและอินเดียได้ทำการศึกษาวิจัยพืชสมุนไพรต่าง ๆ กว่า 1,000 ชนิดที่มีการใช้รักษาอาการดีซ่านมาตั้งแต่โบราณ โดยนำมาใช้ทดสอบความสามารถในการยับยั้งปฏิกิริยาของเอนไซม์ที่ใช้ในการสังเคราะห์สาร DNA ซึ่งมีความจำเป็นต่อการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งจากการทดลองพบว่าสารสกัดของต้นลูกใต้ใบมีฤทธิ์สูงสุดในการช่วยยับยั้งการสังเคราะห์ DNA ของไวรัสชนิดนี้ ซึ่งวิธีการทดลองทางคลินิกก็คือให้แคปซูลยาสมุนไพร 200 มิลลิกรัมของน้ำหนักแห้งแก่ผู้ป่วยที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี จำนวน 37 คน วันละ 30 ครั้งพร้อมกับให้ยาหลอก หลังการทดลองพบว่าผู้ป่วย 22 คน ไม่มีเชื้อไวรัสในกระแสเลือด ในขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกมีเพียง 1 คนเท่านั้นที่ไม่พบเชื้อไวรัสในกระแสเลือด ส่วนกลุ่มผู้ป่วยที่รับการรักษาแต่ไม่ได้ผล เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับเชื้อใหม่ ๆ จึงทำให้ยังมีเชื้อไวรัสจำนวนมาก เพราะเป็นระยะการเพิ่มจำนวนของเชื้ออย่างรวดเร็ว ซึ่งแนวทางการรักษานี้จึงควรใช้ยาในขนาดที่สูงขึ้นไปอีก

การศึกษาทางพิษวิทยา: -

การใช้ประโยชน์:

-โรคดีซ่าน ใช้ทั้งต้นของลูกใต้ใบนำมาต้ม 3 ส่วนให้เหลือ 1 ส่วน แล้วเอามาดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 1 สัปดาห์ 

-โรคนิ่วในถุงน้ำดีและนิ่วในไต ใช้ทั้งต้นของต้นลูกใต้ใบ จำนวน 1 กำมือ ตำให้แหลกคั้นเอาแต่น้ำ และให้เอาสารส้มขนาดปลายนิ้วก้อยละลายลงไป แล้วดื่มก่อนอาหารให้หมดครั้งละครึ่งถ้วยชา วันละ 3 เวลา โดยให้ดื่มติดต่อกัน 3 วัน จากนั้นให้ใช้ทั้งต้นจำนวน 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำตาลทรายแดงให้พอหวาน ใช้ดื่มต่างน้ำติดต่อกันอีก 3 วัน เมื่อขึ้นวันที่ 7 ก็ให้ดื่มน้ำอ้อยสด วันละ 1 ขวดต่อไปอีก 3 วัน เพื่อช่วยล้างนิ่วเป็นขั้นตอนสุดท้าย 

-โรคเถาดานในท้อง (ลักษณะเป็นก้อนแข็งในท้อง บางครั้งมีลักษณะเป็นแผ่นแข็ง ซึ่งอาจส่งผลทำให้มีอาการปวดหลังตามมาได้) ใช้ทั้งต้นของลูกใต้ใบมาตากให้แห้งประมาณ 1 ลิตร แช่ในเหล้า 1 ลิตร แล้วหมกข้าวเปลือกไว้ 7 วัน แล้วเอามานึ่ง ให้คาดคะเนว่าธูปหมด 1 ดอก ให้รับประทานเช้าและเย็น 

-โรคเริม ใช้ทั้งต้นนำมาตำผสมกับเหล้าคั้นเอาแต่น้ำยา แล้วใช้สำลีชุบน้ำยามาแปะตรงที่เป็นเริม เพื่อทำให้รู้สึกเย็น และอาการปวดจะหายไป 

-อาการไข้ ช่วยลดความร้อน ช่วยลดไข้ทุกชนิด (ไข้หวัด ไข้จับสั่น ไข้ทับระดู ไข้หวัดใหญ่ ไข้จากการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ไข้จากการอ่อนเพลีย) ใช้ต้นสดประมาณ 1 กำมือ ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว แล้วเคี่ยวจนเหลือ 1 ½ ถ้วยแก้ว ใช้ดื่มครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว หรือใช้ลูกใต้ใบตากแห้งเก็บใส่โหลไว้ชงเป็นชาดื่ม

-อาการไข้ทับระดู ใช้ทั้งต้นนำมาล้างน้ำให้สะอาด ใช้ตำผสมกับเหล้าขาว คั้นเอาแต่น้ำยามาดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา

-อาการระดูไหลไม่หยุดหรือมามากกว่าปกติของสตรี ใช้รากสดนำมาตำผสมกับน้ำซาวข้าวรับประทานจะช่วยทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ

-อาการปวดท้อง ท้องมาน แก้บิด ท้องร่วง ใช้ทั้งต้นของลูกใต้ใบช่วยแก้อาการปวดท้อง ท้องเสีย และแก้บิด สำหรับวิธีการใช้เป็นยาแก้บิด ให้ใช้ทั้งต้นของลูกใต้ใบ นำมาต้มดื่มหรือแทรกปูนแดงขนาดเท่าเม็ดถั่วดำ นำมาต้มรวมกันใช้ดื่มแก้บิด 

-อาการฟกช้ำบวม ใช้ต้นสดนำมาตำผสมกับเหล้า แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็น ในบางตำราระบุว่าให้ใช้คลุกกับข้าวสุกเสียก่อนแล้วค่อยพอก

-อาการปวดหลัง ปวดเอว ปวดเมื่อยตามร่างกาย ใช้ลูกใต้ใบที่ล้างสะอาดแล้วนำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ตากแดดให้แห้ง แล้วนำไปต้มในหม้อดินและนำมาใช้ดื่มแทนน้ำชา

-อาการนมหลง สำหรับหญิงคลอดบุตรแล้วน้ำนมเกิดหยุดไหลหลังจากเคยไหลมาแล้วและมีอาการปวดเต้า ถ้าหากปล่อยไว้อาจจะกลายเป็นฝีที่นมได้ ให้ใช้ทั้งต้นประมาณ 1 กำมือนำมาตำผสมกับเหล้าขาว แล้วคั้นเอาแต่น้ำมาดื่ม 1 ถ้วยชา และใช้กากที่เหลือนำมาพอกก็จะช่วยทำให้น้ำนมไหลออกมาได้ -อาการร้อนในกระหายน้ำ ใช้ทั้งต้นนำมาต้มดื่ม 

-อาการหืด ใช้ทั้งต้นของลูกใต้ใบนำมาล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียดผสมกับน้ำอุ่น แล้วคั้นเอาแต่น้ำมาดื่มก่อนอาหารครั้งละ 2-3 อึก วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 3 วัน

-ช่วยขับเหงื่อ โดยใช้หญ้าใต้ใบ นำมาต้มดื่ม และยังช่วยลดไข้ได้ด้วย

-ช่วยบำรุงกระเพาะอาหาร ใช้รากของลูกใต้ใบนำมาต้มหรือชงกับน้ำดื่ม มีสรรพคุณเป็นยา ช่วยแก้อาการกระเพาะอาหารพิการ และช่วยรักษาลำไส้อักเสบ

-ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขัด แก้ขัดเบา ใช้ต้นสดประมาณ 1 กำมือ ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว แล้วเคี่ยวจนเหลือ 1 ½ ถ้วยแก้ว ใช้ดื่มครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว

-ช่วยขับประจำเดือนของสตรี แก้อาการประจำเดือนมาไม่ปกติ ใช้ต้นนำมาต้มดื่ม 

-ชาวอินเดียจะนำลูกใต้ใบไปใช้ในการเบื่อปลา แต่ปลาที่ถูกเบื่อนั้นสามารถรับประทานได้ และข้อมูลก็ไม่ได้ระบุด้วยว่าจะมีผลอะไรกับคนหรือไม่หากนำผลมารับประทาน





ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง