Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: โกฐจุฬาลัมพา

โกฐจุฬาลัมพา thai-herbs.thdata.co | โกฐจุฬาลัมพา สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ชื่อท้องถิ่น: พิษนาศน์ พิษนาด (ราชบุรี)/ โกฐจุฬาลำพา (กรุงเทพฯ)/ ตอน่า (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน)/ เหี่ย เหี่ยเฮี๊ยะ (จีนแต้จิ๋ว) ไอ้เย่ ไอ้ อ้าย (จีนกลาง)

ชื่อสามัญ: Common wormwood/ mugwort

ชื่อวิทยาศาสตร์: Artemisia vulgaris L.

ชื่อวงศ์: ASTERACEAE-COMPOSITAE

สกุล: Artemisia

สปีชีส์: vulgaris

ชื่อพ้อง:

-Absinthium spicatum (Wulfen ex Jacq.) Baumg.

-Artemisia affinis Hassk.

-Artemisia apetala hort.pest. ex Steud.

-Artemisia cannabifolia H.Lév.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

โกฐจุฬาลัมพา thai-herbs.thdata.co | โกฐจุฬาลัมพา สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นโกฐจุฬาลัมพา (Artemisia vulgaris L.) เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 45-120 เซนติเมตร หรืออาจสูงได้ถึง 2 เมตร โคนต้นเป็นเหง้าติดพื้นดินหรืออยู่ใต้ดิน ลำต้นมีลักษณะกลมและมีร่อง ตั้งตรง มีขนขึ้นปกคลุม แตกกิ่งก้านกลางต้น

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นฝอยคล้ายผักชี ผิวใบเรียบ ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย หลังใบมีขนสีขาวเล็กน้อย สีเทาเขียว ส่วนหน้าใบเป็นสีเขียว ใบแตกเป็นแฉกแบบขนนก เป็นซี่ ปลายใบแหลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-9 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-10.5 เซนติเมตร ผิวใบเรียบเกลี้ยง ก้านใบสั้น

ดอก มีขนาดเล็กเป็นสีขาว (เป็นพันธุ์ที่พบได้ในป่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia vulgaris L.) หรือดอกเป็นสีแดง (เป็นพันธุ์ที่พบได้จากการเพาะปลูก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia argyi Levl. et Vant.) มีกลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ ออกเป็นช่อตามปลายต้น ตั้งตรง ดอกยาวประมาณ 3.5-5 มิลลิเมตร กลีบดอกมีต่อม ส่วนโคนดอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังหรือหลอด ปลายกลีบดอกหยักเป็นแฉก 4-5 แฉก

ผลหรือเมล็ด เป็นรูปไข่ มีลักษณะทรงกลมรี พื้นผิวเกลี้ยงไม่มีขน

สภาพนิเวศ: กลางแจ้ง, ร่มรำไร

สภาพนิเวศวิทยา: เป็นวัชพืชอยู่ตามที่โล่งแจ้ง ตามไร่ สองข้างทาง นาข้าว

ถิ่นกำเนิด: ทวีปยุโรป เอเชีย แอฟริกาเหนือ และรัฐอลาสกา รวมทั้งในอเมริกาเหนือ

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ใช้ทั้งต้น รสขมกลิ่นหอม สรรพคุณ แก้ไข้เจรียง (คือไข้ที่มีอาการจับวันเว้นวันเป็นไข้จับสั่นประเภทหนึ่ง) แก้ไข้ที่มีผื่นขึ้นตามตัว เช่น หัดเหือด สุกใส ดำแดง ฝีดาษ ไข้รากสาด แก้หืด ไอ แก้ไข้เพื่อเสมหะ

-พิกัดยา ประกอบด้วย

1.“พิกัดโกฐทั้ง 5” ได้แก่ โกฐหัวบัว โกฐสอ โกฐเขมา โกฐเชียง โกฐจุฬาลำพา มีสรรพคุณแก้ไข้เพื่อเสมหะ หืดไอ แก้โรคปอด โรคในปากคอ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต

2.“พิกัดโกฐทั้ง 7” (มีโกฐกระดูก และโกฐก้านพร้าว เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณ แก้ไข้จับสั่น แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืดไอ แก้โรคในปอด แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต แก้ไข้เรื้อรัง แก้หอบ แก้สะอึก

3.“พิกัดโกฐทั้ง 9” (มีโกฐพุงปลา และโกฐชฎามังษี เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณแก้ไข้จับ แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืดไอ แก้โรคปอด แก้โรคในปากคอ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต แก้ไข้เรื้อรัง แก้หอบ แก้สะอึก บำรุงกระดูก แก้ไข้ในกองธาตุอติสาร แก้ไส้ด้วนไส้ลาม ขับระดูร้าย

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติด้านยา ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้โกฐจุฬาลัมพาในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของโกฐจุฬาลัมพาอยู่ในพิกัดโกฐทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง

2. ยาแก้ไข้ ปรากฏตำรับ “ยาจันทน์ลีลา” มีส่วนประกอบของส่วนประกอบของโกฐจุฬาลัมพาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู

3.ยารักษากลุ่มอาการทางสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา ปรากฏตำรับตำรับ “ยาเลือดงาม” มีส่วนประกอบของโกฐจุฬาลัมพาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด

-แพทย์แผนจีนใช้แก้ไข้อันเกิดจากความร้อนในฤดูร้อน แก้ไข้ต่ำๆที่ไม่มีเหงื่อ แก้ไข้อันเนื่องจากวัณโรค และแก้ไข้จับสั่น แก้ริดสีดวงทวาร

***จากการพิสูจน์ชนิดของเครื่องยาหรือสมุนไพรในห้องปฏิบัติการล่าสุดด้วยการใช้วิธีการพิสูจน์เอกลักษณ์ ซึ่งวิธีที่นิยมก็คือการตรวจสอบลายพิมพ์ขององค์ประกอบทางเคมี ผลการตรวจสอบพบว่า เครื่องยาที่มีชื่อเรียกว่า โกฐจุฬาลัมพาในปัจจุบันนี้คือ ส่วนเหนือดินของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia pallens หรือ Artemisia vulgaris L. (ส่วนเครื่องยาที่ใช้ชื่อว่าโกฐจุฬาลัมพาอีกชนิดที่ใช้สำหรับต้มน้ำอาบ ซึ่งได้จากส่วนใบของพืชอีกชนิด พบว่าคือชนิด Artemisia argyi หรือ Artemisia annua L.)

-ทั้งต้นแห้ง (Artemisia vulgaris L.) มีรสเผ็ดขม สุขุม เป็นพืชไม่มีพิษ ออกฤทธิ์ต่อธาตุ ตับ และไต ใช้เป็นยารักษาเลือดลมผิดปกติ แก้ไข้ที่มีเสมหะ แก้ไอ แก้หืด แก้ไข้เจรียง (ไข้ที่มีเม็ดผื่นคันขึ้นตามตัว เช่น เหือดหัด, สุกใส, ดำแดง, รากสาด, ประดง) ช่วยขับลม แก้ท้องขึ้นจุกเสียด ปวดแน่นท้อง ใช้แก้ประจำเดือนผิดปกติหรือประจำเดือนมาไม่ปกติ มีอาการปวดท้องน้อย แก้อาการปวดประจำเดือนเนื่องจากเลือดคั่งในมดลูก เป็นยาบำรุงครรภ์ของสตรี ใช้เป็นยาห้ามเลือด ห้ามเลือดกำเดาและตกเลือด แก้โรคบิดถ่ายเป็นเลือด ขับความเย็นชื้นของร่างกาย ชาตามมือตามเท้า ด้วยการใช้ต้นแห้งครั้งละ 3-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ภายนอกเป็นยาแก้โรคผิวหนังผดผื่นคันก็ได้ (การนำมาใช้ภายนอก ให้ใช้ได้ตามความต้องการ)

*ตำรับยาแก้ผื่นคันและมีอาการคันตามผิวหนัง จะใช้โกฐจุฬาลัมพา 35 กรัม, ตี้ฟูจื่อ 20 กรัม, แปะเสียงพ๊วย 20 กรัม และพริกหอมอีก 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำ แล้วใช้ไอน้ำอบตัว

*ตำรับยารักษาผู้มีอาการปวดมดลูก ตกเลือด จะใช้โกฐจุฬาลัมพา 6 กรัม นำมาเข้าตำรายากับหัวแห้วหมู 15 กรัม, แปะเจียก 15 กรัม, โกฐเชียง 10 กรัม และง่วนโอ๊ว 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน

*ตำรับยารักษาอาการปวดเอ็น ปวดข้อ ปวดกระดูก จะใช้โกฐจุฬาลัมพาม้วนเป็นเส้นแล้วจุดไฟเผาแล้วนำไปลนที่หัวเข็มตอนฝังเข็ม จะทำให้ตัวยาซึมเข้าผิวหนัง

-ใบโกฐจุฬาลัมพา (Artemisia vulgaris L.) ใช้เป็นยาขับเหงื่อ ขับลมในลำไส้ แก้ท้องร่วง ถ่ายพยาธิ ขับปัสสาวะ ช่วยบำรุงมดลูก ช่วยทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ ระงับอาการปวดท้องและอาการเจ็บท้องคลอดลูก ถ่ายน้ำเหลืองเสีย แก้ไขข้ออักเสบ และช่วยระงับอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ด้วยการใช้ใบนำมาต้มเอาแต่น้ำดื่ม ส่วนการใช้ภายนอกจะใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดแล้วนำไปพอกแก้โรคปวดศีรษะ รักษาบาดแผลเรื้อรัง แก้อาการเคล็ดบวม และใช้สูบควันแก้โรคหืด ในส่วนใบและช่อดอก จะนำมาต้มเอาน้ำดื่มเป็นยาแก้ขับเสมหะ แก้หืด และอาหารไม่ย่อย

องค์ประกอบทางเคมี: -

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:-

การศึกษาทางพิษวิทยา:-

การใช้ประโยชน์: -

 

ชื่อไทย: โกฐจุฬาลัมพา/ ชิงเฮา

โกฐจุฬาลัมพา thai-herbs.thdata.co | โกฐจุฬาลัมพา สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ชื่อท้องถิ่น: โกฐจุฬา โกฐจุฬาลัมพาจีน (ไทย)/ แชเฮา แชฮาว (จีนแต้จิ๋ว) ชิงเฮา ชิงฮาว ชิงฮาวซู (จีนกลาง)

ชื่อสามัญ: Sweet warm wood/ Quinghao

ชื่อวิทยาศาสตร์: Artemisia annua L.

ชื่อวงศ์: ASTERACEAE-COMPOSITAE

สกุล: Artemisia

สปีชีส์: annua

ชื่อพ้อง:

-Artemisia chamomilla C.Winkl.

-Artemisia annua f. annua

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

โกฐจุฬาลัมพา thai-herbs.thdata.co | โกฐจุฬาลัมพา สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นโกฐจุฬาลัมพา หรือ ชิงเฮา (Artemisia annua L.) ไม้ล้มลุก มีอายุเพียงปีเดียว มีความสูงได้ประมาณ 0.7-2 เมตร แตกกิ่งมาก ทั้งต้นมีกลิ่นแรง มีขนขึ้นประปราย หลุดร่วงได้

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ ใบมีต่อมน้ำมันโปร่งแสง ใบบริเวณโคนต้นรูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ กว้าง 2-6 เซนติเมตร ยาว 3-7 เซนติเมตร ขอบใบหยักลึกแบบขนนก 3 หรือ 4 ชั้น เป็น 5-8 คู่ แฉกใบจักฟันเลื่อยลึกรูปสามเหลี่ยม กว้างและยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร เส้นกลางใบเด่นชัดทางด้านบน แกนกลางใบมีปีกแคบ อาจจักฟันเลื่อยเล็กน้อยหรือเรียบ ใบบริเวณกลางต้นหยักลึกแบบขนนก 2 หรือ 3 ชั้น ใบใกล้ยอดรวมทั้งใบประดับหยักลึกแบบขนนก 1 หรือ 2 ชั้น ก้านใบสั้นมาก

ดอก ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง (panicle) รูปพีรามิดกว้าง ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่น กลม มีจำนวนมาก สีเหลืองถึงเหลืองเข้มเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 มิลลิเมตร ก้านช่อย่อยสั้น ดอกไม่มีแพพัส (pappus) วงนอกเป็นดอกเพศเมีย มี 10-18 ดอกเชื่อมติดกันเป็นหยอด ปลายจักเป็นซี่ฟัน 5 เกสรเพศผู้ 5 อัน อับเรณูเชื่อมติดต่อ แต่ละอับมีรยางค์ด้านบน 1 อัน รูปสามเหลี่ยมปลายแหลม และมีรยางค์ปลายมนที่โคน 2 อัน

ผล เป็นแบบผลแห้ง เมล็ดล่อน (achene) มีขนาดยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร

สภาพนิเวศ: กลางแจ้ง, ร่มรำไร

สภาพนิเวศวิทยา: พบที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200-3,650 เมตร ในประเทศจีนนั้นมักขึ้นทั่วไปตามเนินเขา ตามข้างทาง ตามที่รกร้าง หรือตามชายป่าทั่วไป

ถิ่นกำเนิด: จีน

การกระจายพันธุ์: ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปยุโรป ภาคเหนือของทวีปแอฟริกา และในทวีปเอเชีย

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-แพทย์แผนโบราณของจีนจะใช้โกฐจุฬาลัมพา (Artemisia annua L.) เป็นยาแก้ไข้จับสั่น แก้ไข้อันเกิดจากความร้อนในฤดูร้อน แก้ไข้ต่ำ ๆ ที่ไม่มีเหงื่อ แก้ไข้อันเนื่องมาจากวัณโรค และใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร ส่วนตำรายาไทยจะใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้เจรียง (ไข้จับวันเว้นวัน ซึ่งเป็นไข้จับสั่นประเภทหนึ่ง) แก้ไข้เพื่อเสมหะ ช่วยลดเสมหะ แก้ไข้มาลาเรีย แก้หืด แก้หอบ แก้ไอ ช่วยขับเหงื่อ และใช้เป็นยาแก้ดีซ่าน

องค์ประกอบทางเคมี: -

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:-

การศึกษาทางพิษวิทยา:-

การใช้ประโยชน์:

-ทั้งต้น ใช้เป็นยาฆ่ายุงได้ ด้วยการใช้ต้นสดนำมาคั้นเอาน้ำไปฆ่ายุง

-ในปัจจุบันสาร Artemisinin และอนุพันธ์ที่มีอยู่ในต้นชิงเฮาถูกนำมาศึกษากันอย่างกว้างขวาง จนได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย ให้ใช้เป็นยารักษาโรคมาลาเรียที่เกิดจากเชื้อ Plasmodium falciparum ที่ดื้อต่อยาคลอโรควิน ซึ่งพบมากในประเทศไทย โดยนำมาผลิตเป็นยาทั้งในรูปของยาเม็ดและยาฉีด

-จีนจะนำมาใช้เป็นวัสดุบำบัดโรคด้วยการรมยา (moxibuston)

-ใช้เป็นสมุนไพรไล่หนู ด้วยการใช้ต้นโกฐจุฬาลัมพา 2 ขีด, น้ำ 1 ลิตร และจุลินทรีย์หน่อกล้วยอีก 10 ซีซี นำมาผสมรวมกัน หมักทิ้งไว้ 1 คืน แล้วคั้นเอาแต่น้ำไปใช้ฉีดพ่นรอบแปลงนา (ใช้ในอัตราส่วนสารสกัด 100 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร) โดยใช้ฉีดพ่นรอบแปลงนาในระยะ 7-10 วัน อย่างต่อเนื่อง จะช่วยป้องกันหนูมาทำลายต้นข้าวในนา



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง