Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: เปล้าใหญ่

ชื่อท้องถิ่น: เปาะ (กำแพงเพชร)/ ควะวู (กาญจนบุรี)/ เปล้าหลวง (ภาคเหนือ)/ ‎เซ่งเค่คัง สะกาวา สกาวา ส่ากูวะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)/ ห้าเยิ่ง (ชาน-แม่ฮ่องสอน)

ชื่อสามัญ: -

ชื่อวิทยาศาสตร์: Croton persimilis Müll.Arg. 

ชื่อวงศ์: EUPHORBIACEAE

สกุล: Croton 

สปีชีส์: persimilis

ชื่อพ้อง: 

-Croton oblongifolius Roxb.

-Croton roxburghii N.P.Balakr.

-Oxydectes oblongifolia Kuntze

-Oxydectes persimilis (Müll.Arg.) Kuntze

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

เปล้าใหญ่ thai-herbs.thdata.co | เปล้าใหญ่ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นเปล้าใหญ่ เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก เป็นไม้ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 8 เมตร เปลือกของลำต้นเรียบ เป็นสีน้ำตาล มีรอยแตกบ้างเล็กน้อย ที่กิ่งก้านค่อนข้างใหญ่ ตามใบอ่อน ยอดอ่อน และช่อดอก จะมีเกล็ดสีเทาเป็นแผ่นเล็ก ๆ ปกคลุมอยู่ทั่วไป 


เปล้าใหญ่ thai-herbs.thdata.co | เปล้าใหญ่ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปขอบขนาน รูปวงรีแกมขอบขนาน หรือเป็นรูปใบหอก ใบรียาว มีความกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 9-30 เซนติเมตร โคนใบและปลายใบแหลมหรือมน ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟันไม่สม่ำเสมอ ลักษณะของใบจะลู่ลง ใบอ่อนจะเป็นสีน้ำตาล ส่วนใบแก่ค่อนข้างเกลี้ยง หลังใบเรียบมีสีเขียวเข้ม ท้องใบมีขนไม่มาก ใบเมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีส้มก่อนร่วงหล่นลงมา ส่วนก้านใบยาวประมาณ 1.3-6 เซนติเมตร และฐานใบมีต่อม 2 ต่อม


เปล้าใหญ่ thai-herbs.thdata.co | เปล้าใหญ่ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อดอกมีหลายช่อ ช่อดอกมีความยาวประมาณ 12-22 เซนติเมตร ลักษณะตั้งตรง ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกันหรือแยกต้น ดอกย่อยมีขนาดเล็ก กลีบดอกมีสีเหลืองแกมสีเขียว ดอกจะทยอยบานจากโคนช่อไปหาปลายช่อ โดยดอกตัวผู้เป็นสีขาวใส มีกลีบดอกสั้นจำนวน 5 กลีบ ที่โคนกลีบดอกจะติดกัน มีกลีบเลี้ยงเป็นรูปขอบขนานกว้าง ๆ 5 กลีบ หลังกลีบเลี้ยงมีเกล็ดสีน้ำตาล โดยกลีบดอกยาวเท่ากับกลีบเลี้ยง มีขนอยู่หนาแน่น ที่ฐานดอกมีต่อมลักษณะกลม ๆ 5 ต่อม มีเกสรตัวผู้ 12 อัน เกลี้ยง ส่วนดอกตัวเมียเป็นสีเหลืองแกมเขียว มีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบเล็ก ลักษณะเป็นรูปยาวแคบ ขอบกลีบจะมีขน ที่โคนกลีบดอกจะติดกัน ปลายกลีบดอกแหลม กลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน และรังไข่เป็นรูปขอบขนาน มีเกล็ด


เปล้าใหญ่ thai-herbs.thdata.co | เปล้าใหญ่ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่ผลจะแห้งแตก ผลเป็นรูปทรงกลมแบน มีพู 3 พู มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ผิวเรียบ ด้านบนแบน มีเกล็ดเล็กห่างกัน ในผลมีเมล็ดลักษณะแบนรี ยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร

สภาพนิเวศวิทยา: พบได้ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าผลัดใบ ที่มีความสูงไม่เกิน 950 เมตร สำหรับประเทศไทยพบได้ทุกภาคยกเว้นภาคใต้ มักขึ้นในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง

ถิ่นกำเนิด: อนุทวีปอินเดียไปยังจีน (ยูนนานทางใต้) และอินโดจีน

การกระจายพันธุ์: อินเดีย เนปาล ภูฎาน บังคลาเทศ ภูมิภาคอินโดจีน พม่า และในประเทศไทย 

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ใบ รสร้อนเมาเอียน สรรพคุณ บำรุงธาตุ

*เปลือกต้น และกระพี้ รสร้อนเมาเอียน สรรพคุณ แก้เลือดร้อน

*ผล รสร้อนเมาเอียน สรรพคุณ ขับโลหิตในเรือนไฟ ขับน้ำคาวปลา

*แก่น รสร้อนเมาเอียน สรรพคุณ ขับเลือด ขับหนองให้ตก ขับพยาธิไส้เดือน

*ราก รสร้อนเมาเอียน สรรพคุณ ขับผายลม

องค์ประกอบทางเคมี: 

-สารสกัดของลำต้นเปล้าใหญ่ด้วยแอลกอฮอล์ 50% พบว่ามีสารองค์ประกอบอยู่ในกลุ่มแทนนินส์ ทั้งที่เป็น Condensed tannins และ Hydrolysable tannins ในปริมาณไม่สูงมากนัก มีสารฟลาโวนอยด์ประเภท Anthocyanidin, Catechin, Dihydroflavonol, Flavonol, Hydroflavonoids และ Leucoanthocyanidin

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสูง สารสกัดจากลำต้นยังมีสารในกลุ่มอัลคาลอยด์ที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสูง (EC50 = 36.05มก./มล.) 

-ฤทธิ์ในการต้านเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลาก (ที่ความเข้มข้น 8 มก./มล.) 

-ฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย S. aureus ที่ทำให้เกิดโรคแผลฝีหนองและเชื้อ V. cholerae ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอหิวาตกโรค (ที่ความเข้มข้น 3.125 มก./มล.) 

-ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย S. mutans ที่ทำให้เกิดโรคในช่องปาก (ที่ความเข้มข้น 0.39 มก./มล.) 

-ฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย Shigella ที่ทำให้เกิดโรคบิด (ที่ความเข้มข้น 12.5 มก./มล.) 

มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อไวรัสโรคเริม Herpes simplex virus type 1 (IC50 = 40.06 มก./มล.) 

-ฤทธิ์กระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิดทีเซลล์และบีเซลล์ (ที่ความเข้มข้น 3.13-200 มก./มล.) 

-ฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งตับปานกลาง (IC50 = 378.4±18.7 มก./มล.) โดยพบว่ามีความเป็นพิษต่อเซลล์ปกติบ้าง แต่ไม่พบว่าจะสามารถเหนี่ยวนำให้เซลล์มะเร็งตับตายแบบอะพอพโทซิสเมื่อเซลล์ได้รับสารสกัดนาน 1 วัน

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-สารสกัดจากเปล้าใหญ่นี้ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ ทั้งในภาวะที่มีและไม่มีเอนไซม์ แต่สามารถลดฤทธิ์ในการก่อกลายพันธุ์ของสารมาตรฐานที่ทดสอบได้เป็นอย่างดี เมื่อมีการทำงานของเอนไซม์ในตับร่วมด้วย โดยมีค่า IC50 = 5.78 และ 4.04 มก./plate

การใช้ประโยชน์:

-ผลแก่ ใช้รับประทานได้

-ผลอ่อน ใช้ย้อมผ้า

-ไม้เปล้าใหญ่ สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ส่วนต้นใช้เลี้ยงครั่ง

-น้ำยางจากใบ ใช้ทาเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ริมฝีปากในช่วงฤดูหนาว

-ใบ นำมาย่างไฟรองนอนสำหรับคนที่รถล้ม จะช่วยแก้อาการฟกช้ำ

-ใบ ใช้ต้มน้ำอาบ ช่วยแก้ผดผื่นคัน แก้อาการคันตามตัว

-เปลือกต้น นำมาต้มกินเป็นยาแก้อาการปวดข้อและอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ 

-กิ่ง ใบ และลำต้น นำมาต้มกับน้ำอาบสำหรับสตรีหลังคลอดบุตร จะช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น 

-ใช้เข้ายาอบสมุนไพร ซึ่งเป็นตำรับยาอบสมุนไพรสูตรบำรุงผิวพรรณให้มีน้ำมีนวล ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ช่วยทำให้ร่างกายผ่อนคลาย แก้อาการปวดเมื่อย แก้ผดผื่นคัน ขับพิษออกทางผิวหนัง



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง