Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: สะแก

ชื่อท้องถิ่น: ขอนแข้ ขอนแด่ จองแข้ (แพร่)/ แก (อุบลราชธานี)/ แพ่ง (ภาคเหนือ)/ แก (ภาคอีสาน)/ สะแก (ภาคกลาง)/ ซังแก (เขมร-ปราจีนบุรี)

ชื่อสามัญ: Bushwillows, Combretums

ชื่อวิทยาศาสตร์: Combretum quadrangulare Kurz

ชื่อวงศ์: COMBRETACEAE

สกุล: Combretum 

สปีชีส์: quadrangulare

ชื่อพ้อง: Combretum attenuatum Wall.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นสะแกนา เป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร (บ้างว่าสูงได้ประมาณ 15-20 เมตร) เปลือกต้นเรียบเป็นสีเทานวล ตามกิ่งอ่อนเป็นสันสี่มุม ส่วนต่าง ๆ ของลำต้นมีขนเป็นเกล็ดกลม ๆ ต้นสะแกนาที่มีอายุมากบริเวณโคนต้นจะพบหนามแหลมยาวและแข็ง หรือเป็นกิ่งที่แปรสภาพไปเป็นหนามสั้นตามโคนต้น 

ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปไข่กลับแกมขอบขนาน ปลายใบมนหรือเว้าเป็นแอ่งตื้น ๆ โคนใบสอบแคบไปยังก้านใบ ส่วนขอบใบเรียบหรือหยักเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร

ดอก ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและที่ปลายยอด  ช่อดอกเป็นแบบช่อเชิงลด มีขนาดเล็กสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร ไม่มีก้านดอก ในช่อหนึ่งจะมีดอกขนาดเล็กจำนวนมาก กลีบเลี้ยงที่โคนที่เชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ส่วนปลายแยกเป็นกลีบ 4 กลีบ กลีบเลี้ยงเป็นสีขาวอมเหลือง ส่วนกลีบดอกมี 4 กลีบ สีขาวอมเหลือง ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ ปลายมน หลุดร่วงได้ง่าย ดอกมีเกสรเพศผู้ 8 อัน เกสรเพศเมีย มีรังไข่เหนือวงกลีบ โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม

ผล ลักษณะผลเป็นผลแห้ง ขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ มีครีบ 4 ครีบ สีน้ำตาลอมขาว ผลเมื่อแก่หรือสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสีน้ำตาล ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลแดง 2เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกระสวย มีสัน 4 สัน ตามยาว

สภาพนิเวศวิทยา: พบได้ตามป่าละเมาะทั่วไป ป่าเต็งรัง หรือริมธารน้ำชายป่า ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลต่ำกว่า 250 เมตร

ถิ่นกำเนิด: เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การกระจายพันธุ์:  เมียนมาร์ ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*เมล็ดใน รสเมาเบื่อ สรรพคุณ ขับพยาธิเส้นด้าย ขับพยาธิไส้เดือน

*ใช้ทั้ง 5 รสเมาเบื่อ สรรพคุณ เบื่อพยาธิไส้เดือน ขับพยาธิเส้นด้ายแก้เด็กเป็นตานขโมย พุงโร ปวดท้อง อุจจาระสีขาว หยาบ เหม็นคาว

องค์ประกอบทางเคมี: 

-เมล็ด พบสารจำพวก Flavonoid ที่ชื่อว่า Combretol และมี Bsitosterol, Carboxylic acid, Penacyclic, Triterpene เป็นต้น 

-รากกับเมล็ด พบสาร Pentacyclic triterpen carboxylic acid ซึ่งได้แก่ 3B,6B,18B-trihydroxyurs-12-en-30-oic และ B-sitosterol, B-sitosterol glucoside เป็นต้น

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อ HIV-1 สารสกัดชั้นเอทานอลสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อ HIV-1 (IC100 : 12.5 mcg/ml) และสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ HIV-1 integrase ได้ (IC50 : 2.5 mcg/ml) (เข้าใจว่าคือส่วนของใบ)

-ฤทธิ์ขับยาธิตัวกลม เมื่อให้วัวกินเมล็ดสะแก พบว่าจำนวนไข่ของพยาธิตัวกลมชนิด Neoascaris vitulorum ลดลงจนไม่พบอีกใน 1-3 สัปดาห์ต่อมา แต่มีผู้พบว่าเด็กนักเรียนที่กินเมล็ดสะแกนาชุบไข่ทอดในขนาด 1.5-3 กรัม ไม่ให้ผลในการขับพยาธิเส้นด้าย และมีอาการข้างเคียง คือ มีอาการมึนงงและคลื่นไส้ และเมื่อให้ไก่ไข่ที่ได้รับอาหารที่มีเมล็ดสะแกนาเป็นส่วนผสมในอัตรส่วน 1 กรัม ต่อ น้ำหนักไก่ 1 กิโลกรัม เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ใช้ยาถ่ายพยาธิเปอราซิน (piperazine) ในขนาด 15 มิลลิกรัม ต่อ น้ำหนักตัวไก่ 1 กิโลกรัม ผลการทดลองพบว่ากลุ่มที่ได้รับเมล็ดสะแก่นาเป็นส่วนผสมในอาหาร สามารถกำจัดพยาธิไส้เดือน (Ascaridia galli) ได้ 63% ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับยาถ่ายพยาธิสามารถกำจัดพยาธิไส้เดือนได้ 100%

-ฤทธิ์ป้องกันการทำลายตับ สารสกัดเมทานอลจากใบสะแกนา แสดงฤทธิ์ป้องกันการทำลายตับในหนูทดลองที่ถูกชักนำให้ตับถูกทำลายด้วย D-galactosamine, Lipopolysaccharide และในเซลล์ตับเพาะเลี้ยงที่ถูกทำลายด้วย D-galactosamine และ tumor necrosis factor-Alpha โดยสามารถแยกสารสกัดบริสุทธิ์จากใบสะแกนาได้มากกว่า 30ชนิด และพบว่าสารประเภทฟลาโวนอยด์และไตรเทอร์ปีนชนิดไซโคลอาร์เทน (cycloartane -type triterpenes) ซึ่งมีคุณสมบัติป้องกันการทำลายตับ

-สารสกัดด้วยเมทานอลจากเมล็ดสะแกนา มีฤทธิ์ปกป้องตับ (hepatoprotective activity) เมื่อทำการทดลองในเซลล์ตับเพาะเลี้ยงที่ถูกทำลายด้วย D-galactosamine และ tumor necrosis factor-Alpha เมื่อนำสารสกัดเมทานอลมาแยกให้บริสุทธิ์จะได้สารกลุ่ม triterpene glucosides ชนิดใหม่ ซึ่งแสดงฤทธิ์ปกป้องตับคือสาร quadranosides 1,2 และ 5 ที่ความเข้มข้น 50ไมโครโมลาร์ โดยสารทั้ง 3 แสดงฤทธิ์ยับยั้งการทำลายเซลล์ตับได้ 37.6, 40.9, และ67.5% ตามลำดับ

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-จากการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดจากเมล็ดสะแกนาด้วยเมทานอล 80% ด้วยการป้อนเข้าทางปากหนูเม้าส์เพศผู้และเพศเมีย และหนูแรทเพศผู้และเพศเมีย พบว่ามีพิษปานกลางและทำให้สัตว์ทดลองตาย ส่วนการทดลองพิษกึ่งเฉียบพลันในหนูเพศผู้และเพศเมีย เมื่อให้สารสกัด 1 กรัมต่อกิโลกรัม เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ พบว่ามีความสัมพันธ์เล็กน้อยกับน้ำหนักในการเจริญเติบโต แต่ไม่มีผลต่อตับเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม เมล็ดเมื่อให้ทางปากกับหนูแรทและหนูเม้าส์ในขนาด 0.582 และ 1.985 กรัมต่อกิโลกรัม ต่อครั่ง พบว่าไม่มีพิษเฉียบพลัน

-จากการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดจากเมล็ดด้วยเอทานอล 80% โดยให้ทางปากกับหนูเม้าส์เพศผู้และเมีย และหนูแรทเพศผู้และเพศเมีย พบว่ามีพิษปานกลาง และทำให้สัตว์ทดลองตาย แต่เมื่อฉีดสารสกัดเข้าทางช่องท้องหนูพบว่ามีพิษมาก และทำให้สัตว์ทดลองตาย ส่วนการทดสอบความเป็นพิษกึ่งเฉียบพลัน ด้วยการป้อนสารสกัดทางปากทุกวัน ในขนาดวันละ 0.5, 1, และ 2 กรัมต่อกิโลกรัม พบว่าหนูเม้าส์ไม่สามารถทนสารสกัดดังกล่าวในขนาด 1 และ 2 กรัมต่อกิโลกรัมได้ จากการตรวจสอบอวัยวะภายในพบว่ามีเลือดคั่งที่ลำไส้ ตับและไต ลำไส้โป่งบวม พบก้อนเลือดในหลอดเลือดต่าง ๆ พบภาวะเลือดคั่ง และมีเลือดออก ส่วนหนูแรทนั้นสามารถทนสารสกัดในขนาดวันละ 2 กรัมต่อกิโลกรัมได้นานถึง 1 สัปดาห์ โดยไม่แสดงอาการผิดปกติ

-จากการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันของกองวิจัยทาวการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าเมื่อให้เมล็ดสะแกนาในขนาด 1.5 กรัมต่อกิโลกรัมเข้าทางปาก สัตว์ทดลองจะมีอาการขาลาก ตาโปนแดง และตายเมื่อเพิ่มขนาดของยา ดังนั้นการนำมาใช้ในคนจึงต้องระวังเรื่องขนานของยาที่ใช้ให้มาก

การใช้ประโยชน์:

-ยาขับพยาธิ ใช้เมล็ด มีรสเบื่อเมา นำเมล็ดมาตำ (ให้ใช้เมล็ดแก่ในขนาด 1 ช้อนคาว หรือประมาณ 3 กรัม หรือใช้เมล็ดประมาณ 15-20 เมล็ด นำมาสับให้ละเอียด) ผสมกับไข่ทอดให้เด็กกินเพียงครั้งเดียวขณะท้องว่าง เป็นยาถ่ายพยาธิไส้เดือน พยาธิตัวกลม และพยาธิเส้นด้ายในเด็กได้ดีมาก โดยจะใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง ถ้าไม่ถ่ายออกมาก็ให้รับประทานยาถ่ายเอาตัวออกมา

-ผลดิบ นำมาแช่กับน้ำไว้ให้วัวหรือควายกินเป็นยาขับพยาธิได้

-ชาวบ้านมักจะเอาต้นสะแกนาไปทำฟืนกันมาก เพราะแก่นของต้นสะแกนามีความแข็งมากนั่นเอง



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง