Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: พญายา

ชื่อท้องถิ่น: กระแจะจัน ขะแจะ (ภาคเหนือ)/ ตุมตัง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, บ้างก็ว่าภาคกลาง)/ พญายา (ราชบุรี, ภาคกลาง)/ ตะนาว (มอญ)/ พินิยา (เขมร)/ กระแจะสัน ตูมตัง จุมจัง จุมจาง ชะแจะ พุดไทร ฮางแกง ทานาคา

ชื่อสามัญ: -

ชื่อวิทยาศาสตร์: Hesperethusa crenulata (Roxb.) M. Roem.

ชื่อวงศ์: RUTACEAE

สกุล: Naringi

สปีชีส์: crenulata

ชื่อพ้อง:

-Limonia crenulata Roxb.

-Naringi crenulata (Roxb.) Nicolson

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

พญายา thai-herbs.thdata.co | พญายา สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นพญายา จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น หรือเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 8-15 เมตร ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง แตกกิ่งต่ำ กิ่งก้านตั้งฉากกับลำต้น โดยกิ่งอ่อนและยอดอ่อนจะเกลี้ยง ส่วนเนื้อไม้เป็นสีขาว เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาล ผิวขรุขระ ลำต้นและกิ่งมีหนาม หนามมีลักษณะแข็งและยาว โดยหนามจะออกแบบเดี่ยว ๆ หรือออกเป็นคู่ ๆ และยาวได้ถึง 2.5 เซนติเมตร เนื้อไม้เมื่อตัดมาใหม่ ๆ จะเป็นสีขาวแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน หากทิ้งไว้นาน ๆ จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนสีเหลืองอ่อน


พญายา thai-herbs.thdata.co | พญายา สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว เรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 4-13 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปวงรีแกมรูปไข่กลับ โคนและปลายใบมีลักษณะสอบแคบ ส่วนขอบใบเป็นซี่ฟันเลื่อยแบบตื้น ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร ก้านใบแผ่เป็นปีก มีลักษณะเป็นครีบออกทั้งสองข้างและเป็นช่วง ๆ ระหว่างคู่ของใบย่อย เนื้อใบมีลักษณะบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายกับแผ่นหนัง ผิวเนียน เกลี้ยง เมื่อส่องดูจะเห็นต่อมน้ำมันเป็นจุดใส ๆ กระจายอยู่ทั่วไป ส่วนเส้นแขนงของใบมีอยู่ประมาณข้างละ 3-5 เส้น และก้านช่อใบยาวได้ถึง 3 เซนติเมตร ส่วนก้านใบย่อยไม่มี


พญายา thai-herbs.thdata.co | พญายา สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบกระจะ รวมกันเป็นกระจุกตามซอกใบหรอตามกิ่งเล็ก ๆ ดอกมีขนสั้นนุ่มและเป็นสีขาวหรือสีขาวอมสีเหลือง กลีบดอกมี 4 กลีบ ดอกเมื่อบานแล้วจะแผ่ออกหรือลู่ไปทางส่วนของก้านเล็กน้อย กลีบดอกเกลี้ยง มีต่อมน้ำมันอยู่ประปราย ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่แกมรูปรี มีความกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตรและความยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรตัวผู้จำนวน 8 ก้าน มีความยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ยาวเกือบเท่ากันหรือสลับกันระหว่างสั้นกับยาว เกลี้ยง ส่วนก้านชูอับเรณูมีลักษณะเป็นรูปลิ่มแคบ อับเรณูเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ที่ปลายเป็นติ่งแหลมสั้นถึงติ่งแหลมอ่อน และรังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ เกือบกลม ยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร เกลี้ยงและมีต่อมน้ำมัน โดยจะมีอยู่ 4 ช่อง ซึ่งในแต่ละช่องจะมีออวุลอยู่ 1 เมล็ด ส่วนก้านเกสรตัวเมียจะยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีต่อมน้ำมันอยู่ใต้ยอดเกสรตัวเมีย โดยยอดเกสรตัวเมียส่วนปลายจะแยกเป็นแฉก 5 แฉก จานฐานดอกเกลี้ยง มีก้านช่อดอกยาวได้ถึง 2 เซนติเมตร และก้านดอกยาวประมาณ 8-10 มิลลิเมตร มีลักษณะเกลี้ยงหรือมีขน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมีอยู่ 4 กลีบ ลักษณะเป็นรูปคล้ายสามเหลี่ยม มีความกว้างและความยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ปลายแหลม ผิวด้านในเกลี้ยง ส่วนผิวด้านนอกมีขนละเอียดและมีต่อมน้ำมัน


พญายา thai-herbs.thdata.co | พญายา สรรพคุณ สมุนไพร ไทย พญายา thai-herbs.thdata.co | พญายา สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ผลเมื่ออ่อนจะเป็นสีเขียว แต่เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงคล้ำ ในผลมีเมล็ดอยู่ประมาณ 1-4 เมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอมสีส้มอ่อน ลักษณะของผลเป็นรูปเกือบกลมและมีความกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร ส่วนก้านยาวได้ถึง 2 เซนติเมตร

สภาพนิเวศวิทยา: ป่าเบญจพรรณทั่วไป รวมไปถึงป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-400 เมตร

ถิ่นกำเนิด: อินเดีย ศรีลังกา และอินโดจีน

การกระจายพันธุ์: พม่า ปากีสถาน ศรีลังกา อินเดีย บังกลาเทศ มณฑลยูนนานของจีน และในภูมิภาคอินโดจีน สำหรับในประเทศไทยนั้นเขตการกระจายพันธุ์คือทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด หรือการปักชำด้วยกิ่งอ่อนหรือราก

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*เนื้อไม้ รสขมเย็น สรรพคุณ แก้ไข้ แก้กระษัย แก้โลหิต แก้ผอมแห้ง ดับพิษร้อน

องค์ประกอบทางเคมี: -

การศึกษาทางเภสัชวิทยา: -

การศึกษาทางพิษวิทยา: -

การใช้ประโยชน์:

-เนื้อไม้ มีสีน้ำตาลปนสีเหลืองอ่อน จะมีลักษณะเป็นมันเลื่อม เนื้อหยาบแต่สม่ำเสมอ มีความแข็ง น้ำหนักปานกลาง และค่อนข้างเหนียว สามารถนำมาใช้ในงานแกะสลักได้ หรือจะใช้ทำตู้ ทำหีบใส่ของเพื่อป้องกันตัวแมลงก็ได้เช่นกัน

-เนื้อไม้ หากทิ้งไว้นาน ๆ จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนสีเหลืองอ่อน ๆ ชาวพม่าจะนิยมนำมาใช้ทำเป็นเครื่องประทินผิวที่เรียกว่า “กระแจะตะนาว” หรือ “ทานาคา” (Thanaka) (ชื่อไม้ชนิดนี้จะเรียกตามชื่อของเทือกเขาตะนาวศรี) โดยใช้เนื้อไม้นำมาบด ฝน หรือทำให้เป็นผงละเอียด ก็จะได้ผงที่มีกลิ่นหอมแบบอ่อน ๆ ใช้สำหรับทาผิว ทำให้ผิวเนียนสวย ซึ่งสามารถนำมาใช้ผสมในเครื่องหอม “กระแจะตะนาว” ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในพม่า หรือเป็นส่วนผสมหลักในเครื่องประทินผิวแบบโบราณได้หลายชนิด ในพม่าจะนิยมใช้เปลือกและไม้นำมาฝนกับน้ำเป็นเครื่องหอมประทิวผิว โดยจะใช้เปลือกและไม้ฝนผสมกับไม้จันทน์ (Sandalwood)

-ราก นำมาฝนกับน้ำสะอาดใช้สำหรับทาหน้าแทนการใช้แป้ง จะทำให้ผิวเป็นสีเหลือง ช่วยแก้สิว แก้ฝ้า

-กิ่งอ่อน ที่บดละเอียดสามารถนำมาใช้ผสมทำเป็นธูปหรือแป้งที่มีกลิ่นหอมแบบอ่อน ๆ








ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง