Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: สมอดีงู

ชื่อท้องถิ่น: สมอหมึก (พัทลุง)/ สมอเหลี่ยม (ชุมพร) เป็นต้น

ชื่อสามัญ: Yellow myrobalan

ชื่อวิทยาศาสตร์: Terminalia citrina Roxb. ex Fleming

ชื่อวงศ์: COMBRETACEAE

สกุล: Terminalia 

สปีชีส์: citrina

ชื่อพ้อง: 

-Bucida comintana Blanco

-Combretum arboreum Miq.

-Embryogonia arborea Teijsm. & Binn.

-Myrobalanus citrina Gaertn.

-Terminalia arborea Koord.

-Terminalia comintana Merrill

-Terminalia curtisii Ridl.

-Terminalia hilia Buch.-Ham. ex Wall.

-Terminalia multiflora Merrill

-Terminalia teysmannii Koord. & Valet.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นสมอดีงู เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง แตกกิ่งก้านสาขาที่เรือนยอดของต้นแผ่ออกกว้าง ต้นมีขนาดประมาณ 150-200 เซนติเมตร และสูงได้ประมาณ 20-30 เมตร โคนต้นเป็นพูพอนขนาดเล็ก เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลแกมเทา ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความชื้น 

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปมนรีหรือรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบหรือมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-14 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนา ผิวใบเกลี้ยงเป็นสีเขียว ก้านใบยาวได้ประมาณ 0.5-2.5 เซนติเมตร มีต่อม 1-2 คู่ ใกล้โคนใบ

ดอก ออกดอกเป็นช่อตามง่ามใบและบริเวณส่วนยอดของลำต้น ช่อดอกยาวได้ประมาณ 2-6 เซนติเมตร ส่วนดอกย่อยไม่มีก้าน ลักษณะของดอกย่อยที่โคนกลีบรองดอกจะเชื่อมติดกันเป็นหลอด ส่วนปลายแยกออกเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ กลีบเป็นรูปสามเหลี่ยม มี 5 กลีบ ด้านนอกเกลี้ยง ส่วนด้านในมีขน ไม่มีกลีบดอก ดอกมีเกสร 10 อัน

ผล ลักษณะผลเป็นรูปมนรีหรือเป็นรูปกระสวย ผิวผลเกลี้ยง แต่จะมีสันตื้น ๆ อยู่ 5 สัน หัวท้ายแหลม ผลสดเป็นสีแดงเข้ม มีรสขมฝาด ขนาดเล็กเรียว ส่วนผลแห้งจะเป็นสีดำเข้ม ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดเป็นรูปรี ผิวเมล็ดขรุขระมีอยู่ 5 สัน

สภาพนิเวศวิทยา: พบขึ้นทั่วไปในประเทศตามชายป่า ส่วนมากจะขึ้นอยู่ตามชายฝั่งทะเลทางภาคใต้ของไทย

ถิ่นกำเนิด: -

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ผล รสขมฝาด สรรพคุณ แก้พิษดี พิษโลหิต แก้ไอ ขับถ่ายโลหิตระดูสตรี ถ่ายระบายอุจจาระแรงกว่าสมอชนิดอื่นมาก

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้สมอดีงู ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาถ่ายดีเกลือฝรั่ง” มีส่วนประกอบของสมอดีงูร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการท้องผูกเฉพาะในรายที่ท้องผูกมากหรือในรายที่มีอาการท้องผูกเรื้อรังและใช้ยาอื่นแล้วไม่ได้ผล 

2.ยาบำรุงโลหิต ปรากฏตำรับ “ยาบำรุงโลหิต” มีส่วนประกอบของสมอดีงูร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บำรุงโลหิต

องค์ประกอบทางเคมี: -

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:-

การศึกษาทางพิษวิทยา:-

การใช้ประโยชน์:

-อาการท้องเสียเรื้อรัง ใช้ผลดิบ รสฝาดมีสารแทนนิน (tannin) ใช้รักษาอาการท้องเสียเรื้อรังได้

-ผล พบสารในกลุ่มแทนนินมาก มีรสฝาดสมาน เป็นยาฝาดสมาน ใช้เป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับช่องท้อง รักษาโรคท้องร่วงอย่างแรง ด้วยการใช้ผลดิบประมาณ 5-10 ผล นำมาทุบให้พอแตกต้มกับน้ำสะอาด 500 ซีซี ประมาณ 10 นาที แล้วกรองเอาแต่น้ำดื่มครั้งละ 1 แก้ว

-ผล ใช้ฟอกหนังและย้อมสี



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง