Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: ส้มโอ

ชื่อท้องถิ่น: โกร้ยตะลอง (ภาษาเขมร)/ มะขุน (เหนือ)/ มะโอ (เหนือ)/ ลีมาบาลี (มลายู ยะลา)/ และ สังอู (กะเหรี่ยง มลายู)

ชื่อสามัญ: Pomelo

ชื่อวิทยาศาสตร์: Citrus maxima (Burm.) Merr.

ชื่อวงศ์:  RUTACEAE

สกุล: Citrus 

สปีชีส์: maxima

ชื่อพ้อง: 

-Citrus maxima (Burm.f.) Merr.

-Citrus aurantium L. var. grandis L.

-Citrus pamplemos Risso.

-Aurantium maxima

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นส้มโอ เป็นไม้ยืนต้น มีความสูงของลำต้นประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นแตกกิ่งแขนงมาก กิ่งอ่อนมีขนปกคลุม ลำต้น และกิ่งมีหนามรูปทรงอ้วน ยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร ลำต้นมีทรงพุ่มบริเวณส่วนปลายของลำต้น ขนาดทรงพุ่มประมาณ 3-4 เมตร เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลอมเทา ส่วนเนื้อไม้มีลักษณะเหนียว แต่ไม่แข็ง กิ่งหักได้ยาก

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงวนสลับกันบนกิ่ง ใบมีขนาดใหญ่ สีเขียวเข้ม แผ่นใบหนา และเป็นเป็นมัน กว้างประมาณ 10-12 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ใบประกอบด้วยแผ่นใบ และก้านใบ โดยก้านใบจะมีแผ่นใบขนาดเล็ก ส่วนแผ่นใบจะรูปร่างคล้ายรูปไข่ยาว หรือรูปโล่ ฐานใบแหลมป้าน ปลายใบมน และมีรอยเว้าตรงกลางเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบจะมีหยักเล็กๆ แผ่นใบด้านบนมีสีเขียวเข้มเป็นมันวาว ส่วนแผ่นใบด้านล่างเป็นสีเขียวอ่อน และมีขนนุ่มปกคลุม

ดอก ออกเป็นช่อหรือออกเป็นดอกเดี่ยว แทงออกบริเวณปลายของกิ่งอ่อน ประกอบด้วยช่อดอกที่เกิดบริเวณปลายยอด และตายอดด้านข้าง แต่ละช่อมีดอก 1-20 ดอก ดอกมีขนาดใหญ่ และเป็นดอกสมบูรณ์เพศที่ผสมเกสรในดอกตัวเอง แต่ละดอกมีขนาดประมาณ 3-7 เซนติเมตร ประกอบด้วยกลีบเลี้ยงที่ฐานดอก 3-5 กลีบ ส่วนกลีบดอกมีสีขาว กลีบดอกมีรูปหอก จำนวน 4-5 กลีบ กว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3.5-4.0 เซนติเมตร แผ่นกลีบดอกหนา ด้านในกลีบดอกมีเกสรตัวผู้จำนวน 20-25 อัน เรียงซ้อนกันเป็นวงกลมรอบรังไข่ และมีฐานเกสรเชื่อมติดกันเป็นกลุ่ม 4-5 กลุ่ม ส่วนด้านในสุดเป็นรังไข่ที่แบ่งเป็นช่องๆ 11-16 ช่อง ทั้งนี้ ดอกส้มโอจะบานจากดอกส่วนปลายก่อน และทยอยบานในดอกโคนช่อ

ผล ลักษณะผลเป็นผลสด มีรูปร่างค่อนข้างกลม บางพันธุ์มีขั้วผลเรียวแหลม ผลมีขนาดใหญ่ ขนาดผลประมาณ 10-13 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกมีสีเขียวอมเหลืองหรือสีเหลืองทองตามสายพันธุ์ เปลือกหนาประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ประกอบด้วยชั้นนอกสุด สีเขียวอมเหลือง มีต่อมน้ำมันจำนวนมาก ชั้นต่อมา เป็นส่วนที่เป็นเนื้อเยื่ออ่อนนุ่มสีขาวที่มีความหนามาก และชั้นที่สามเป็นเนื้อเยื่อของพูที่หุ้มรอบเนื้อผล ส่วนเนื้อผลแบ่งออกเป็นกลีบๆเรียงติดกันเป็นวงกลม แต่แกะแยกออกจากกันง่าย เรียกลีบเนื้อ ภายในกลีบจะฉ่ำด้วยน้ำที่ให้รสหวานหรือหวานอมเปรี้ยว เมล็ดส้มโอเป็นผลไม้ที่มีเมล็ดค่อนข้างน้อย แต่บางพันธุ์มีเมล็ดมาก เมล็ดรวมกันอยู่ตรงแกนกลางของผล มีจำนวนตั้งแต่ 0-265 เมล็ด เมล็ดมีทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็กสุด เมล็ดมีรูปร่างแบน และผิวย่น เปลือกเมล็ดมีสีเขียวอมเหลือง และเป็นร่องลึก ขนาดเมล็ดกว้างประมาณ 0.6-1.2 เซนติเมตร

สภาพนิเวศวิทยา: -

ถิ่นกำเนิด: แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*เปลือกลูก รสร้อนหอม สรรพคุณ แก้ลมวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่น

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้ส้มโอ ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” มีส่วนประกอบของส้มโอร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมกองละเอียด ได้แก่ อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย (อาการที่รู้สึกใจหวิววิงเวียนคลื่นไส้ ตาพร่าจะเป็นลม) ใจสั่น และบารุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น

องค์ประกอบทางเคมี: 

-acridone, acronycine, anthranilate, apigenin, bergamottin, camphor, citral, hesperidine, limonene, limonin, linalool, myricetin, naringenin, nerol, nomilin, pinene, quercetin, rutin, scopoletin, umbelliferone สารขมในเปลือกชื่อ naringin

การศึกษาทางเภสัชวิทยา: 

-ต้านเชื้อรา ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านไวรัส ฆ่าแลง ฆ่าเห็บวัว ยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase ลดการอักเสบ ยับยั้งการทำงานของต่อมไทรอยด์ ยับยั้งการกลายพันธุ์ ต้านออกซิเดชัน ขับเสมหะ แก้ไอ เพิ่มปริมาณน้ำนมในวัว เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง

การศึกษาทางพิษวิทยา: -

การใช้ประโยชน์:

-โรคลักปิดลักเปิด (เลือดออกตามไรฟัน) ส้มโอมีวิตามินซีสูง จึงช่วยป้องกันและรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน

-โรคลมพิษที่ผิวหนัง ใช้เปลือกประมาณ 1 ผล หั่นเป็นชิ้น ๆ แล้วต้มกับน้ำอาบ

-อาการปวดศีรษะ ใช้ใบมาตำแล้วพอกบริเวณศีรษะ

-อาการไอมีเสมหะ ใช้ผลสดนำเมล็ดออก แกะเป็นชิ้นเล็ก ๆ แช่กับน้ำเหล้าไว้หนึ่งคืน เสร็จแล้วนำไปต้มให้เละแล้วผสมกับน้ำผึ้ง นำมากวนจนเข้ากันแล้วจิบกินบ่อย ๆ

-อาการปวดข้อหรืออาการปวดบวม ใช้ใบส้มโอนำมาตำแล้วเอาไปย่างไฟให้อุ่น แล้วนำมาพอกบริเวณที่ปวด 

-อาการคันตามผิวหนัง ใช้เปลือกผลมาต้มน้ำอาบ

-ผลส้มโอ รับประทานส้มโอเป็นผลไม้สด ทำเป็นน้ำผลไม้ หรือจะนำไปประกอบอาหารก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น ยำ เมี่ยง ส้มตำ ข้าวยำ หรือของหวานเป็นต้น (ผล)

-ในด้านความเชื่อ คนโบราณเชื่อว่าสตรีที่ยังไม่ได้แต่งงานจะนำส้มโอมาทาหน้า เพราะเชื่อว่าจะช่วยทำให้ผิวพรรณผุดผ่อง สดใส 

-ประเทศจีน ใช้เป็นยาแก้ธาตุไม่ปกติ และแก้ไอ ผสมในยาหอมกินแล้วทำให้ชื่นใจ



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง