Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: กระโดน

กระโดน thai-herbs.thdata.co | กระโดน สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ชื่อท้องถิ่น: หูกวาง (จันทบุรี)/ ขุย (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)/ แซงจิแหน่ เส่เจ๊ออะบะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)/ พุย (ละว้า-เชียงใหม่)/ ปุยขาว ผักฮาด ผ้าฮาด (ภาคเหนือ)/ กระโดนโคก กระโดนบก ปุย (ภาคเหนือ, ภาคใต้)/ ต้นจิก (ภาคกลาง)/ ปุยกระโดน (ภาคใต้)/ เก๊าปุย (คนเมือง)/ ละหมุด (ขมุ)/ กะนอน (เขมร)/ กระโดนโป้

ชื่อสามัญ: Tummy-wood, Patana oak

ชื่อวิทยาศาสตร์: Careya arborea Roxb.

ชื่อวงศ์: LECYTHIDACEAE-BARRINGTONIACEAE

สกุล: Careya

สปีชีส์: arborea

ชื่อพ้อง:

-Barringtonia arborea (Roxb.) F.Muell.

-Careya sphaerica Roxb.

-Cumbia coneanae Buch.-Ham.

-Careya venenata Oken

-Careya orbiculata Miers

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

      ต้นกระโดน เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง มีลักษณะของเรือนยอดเป็นพุ่มกลมแน่นทึบ มีความสูงของต้นประมาณ 10-20 เมตร เปลือกต้นหนาเป็นสีดำหรือสีน้ำตาลดำ แตกล่อนเป็นแผ่น ต้นมีกิ่งก้านสาขามาก ส่วนเนื้อไม้เป็นสีแดงเข้มถึงสีน้ำตาลแกมแดง

      ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบมนและมีติ่งแหลมยื่น โคนใบสอบเรียว ส่วนขอบใบเป็นหยักเล็กน้อยตลอดทั้งขอบใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 15-25 เซนติเมตรและยาวประมาณ 30-35 เซนติเมตร ผิวใบทั้งสองด้านมีลักษณะเกลี้ยง เนื้อใบหนาและค่อนข้างนิ่ม มีเส้นแขนงใบอยู่ประมาณข้างละ 8-15 เส้น เส้นใบย่อยเป็นแบบร่างแห เห็นได้ชัดเจนทางด้านล่าง ก้านใบอวบเกลี้ยงและมีความยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ในหน้าแล้งใบแก่ท้องใบจะเป็นสีแดง และจะทิ้งใบเมื่อออกใบอ่อน ยอดอ่อนของใบเป็นสีน้ำตาลแดง ใบก่อนร่วงเป็นสีแดง

      ดอก ดอกมีขนาดใหญ่ ออกดอกเป็นช่อแบบกระจะตามปลายกิ่งที่ไม่มีใบ สั้นมาก ในแต่ละช่อมีดอกประมาณ 2-6 ดอก ลักษณะของดอกคล้ายเป็นดอกเดี่ยว มีกลีบดอก 5 กลีบ แต่ละกลีบดอกยาวประมาณ 1-5 นิ้ว ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปขอบขนาน แยกกัน ขอบกลีบและปลายกลีบเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนโคนกลีบเป็นสีชมพู โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ร่วงได้ง่าย โดยดอกจะบานในเวลากลางคืน และมักจะร่วงในช่วงเช้า ดอกมีเกสรเพศผู้สีขาวจำนวนมากยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร ก้านเกสรยาวเรียงตัวกันแน่นเป็นพู่ โคนก้านเกสรเชื่อมติดกันเป็นวงสีแดงอ่อน ๆ โดยเกสรที่สมบูรณ์จะอยู่ข้างใน ฐานดอกมีลักษณะเป็นรูปวงแหวน ขอบนูนขึ้น ส่วนเกสรเพศเมียมีรังไข่ใต้วงกลีบ ลักษณะเป็นรูปกระสวยกลีบ มี 4 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีออวุลจำนวนมาก โดยเกสรเพศเมียจะติดคงทน และก้านเกสรเพศเมียจะยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร ดอกมีใบประดับลักษณะกลมหรือรี 3 ใบ มีกลีบเลี้ยงดอก 4 กลีบแยกจากกัน ยาวประมาณ 8-10 มิลลิเมตร เป็นสีเขียวอ่อน หนาและค่อนข้างมน

      ผล มีลักษณะกลมหรือเป็นรูปไข่ อวบน้ำ มีเนื้อสีเขียว ค่อนข้างแข็ง ผลมีขนาดกว้างประมาณ 5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6.5 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ เปลือกหนา ที่ปลายผลจะมีกลีบเลี้ยงที่ติดทนอยู่ และมีก้านเกสรเพศเมียติดอยู่ที่ปลายผลด้วย ผลสดเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมากและมีเยื่อหุ้ม เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอ่อน ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่และแบน มีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร

สภาพนิเวศวิทยา: พบได้ตามป่าเบญจพรรณชื้น ป่าหญ้า และป่าแดง

ถิ่นกำเนิด: อัฟกานิสถาน อินเดีย และ อินโดจีน

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

      *เปลือกต้น รสฝาดเมา สรรพคุณ แช่น้ำดื่มแก้ปวดท้อง ท้องเสีย แก้พิษงู แก้อักเสบจากงูกัด ใช้เป็นยาสมาน ใช้สมานแผล แก้เคล็ดเมื่อย   

      *ใบ รสฝาด สรรพคุณ ใช้รักษาแผลสด โดยนึ่งให้สุกใช้ปิดแผล หรือปรุงเป็นน้ำมันสมานแผล

      *ดอก รสสุขุม สรรพคุณ บำรุงร่างกายหลังคลอดบุตร แก้หวัด แก้ไอ ทำให้ชุ่มคอ  

*ผล รสจืดเย็น ช่วยย่อยอาหาร บำรุงหลังคลอด   

      *ดอก และน้ำจากเปลือกสด ใช้ผสมกับน้ำผึ้ง สรรพคุณ กินเป็นยาแก้หวัด แก้ไอ ทำให้ชุ่มคอ และเป็นยาบำรุงสำหรับสตรีหลังคลอดบุตร

      *ใบอ่อน และยอดอ่อน มีรสฝาด รับประทานสดเป็นผักจิ้ม

      *ต้น ผสมกับเถายางน่อง และดินประสิว เคี่ยวให้งวด ตากแห้ง สรรพคุณ ใช้ปิดแผลมีพิษ ปิดหัวฝี

      *เมล็ด รสฝาดเมา เป็นพิษ

-หมอยาพื้นบ้านอีสาน ใช้  เปลือกต้น สรรพคุณ แก้น้ำกัดเท้า แก้โรคกระเพาะอาหาร สมานแผลภายใน

องค์ประกอบทางเคมี: -

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:-

การศึกษาทางพิษวิทยา:-

การใช้ประโยชน์:

-ใบอ่อน ยอดอ่อน และดอกอ่อนมีรสฝาดอมมัน ใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก แจ่ว ลาบ ก้อย ส้มตำ ตำมะม่วง ผักประกอบเมี่ยงมดแดง (ชาวอีสานนิยมใช้กระโดนน้ำมากกว่ากระโดนบก เนื่องจากมีรสฝาดน้อยกว่าและมีรสชาติที่อร่อยกว่า) แต่ใบและยอดอ่อนจะมีกรดออกซาลิก (Oxalic acid) ในปริมาณที่ค่อนข้างสูง การรับประทานมาก ๆ อาจเป็นสาเหตุเบื้องต้นที่ทำให้เกิดโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้ (ใบกระโดนสด 100 กรัม จะมีปริมาณของออกซาเลต 59 มิลลิกรัม ซึ่งมีปริมาณน้อยกว่าผักชะพลู 12 เท่า และน้อยกว่าผักโขม 16 เท่า)

-ใบอ่อน เมื่อนำไปต้มแล้วนำไปใช้ห่อเกลือกินแบบเมี่ยงได้ (ขมุ)

-เปลือกต้นใช้ต้มทำสีย้อมผ้า โดยจะให้สีน้ำตาลแดง หรือจะต้มรวมกับฝ้ายใช้ย้อมผ้า จะให้สีเหลืองอ่อน

-เส้นใยที่ได้จากเปลือกต้น สามารถนำมาใช้ทำเชือก ทำกระดาษสีน้ำตาล เนื่องจากเปลือกลอกได้ง่าย

-เปลือกต้น นำมาทุบใช้ทำเป็นเบาะปูรองนั่งหลังช้าง หรือใช้รองของไว้บนหลังช้าง ส่วนคนอีสานนิยมลอกออกมาทุบให้นิ่มใช้ทำเป็นที่นอน และยังสามารถนำมาใช้ทำคบไฟ หรือนำมาจุดไฟใช้ควันไล่แมลง ไร ริ้น หรือยุงก็ได้

-เนื้อไม้กระโดนใช้สำหรับงานก่อสร้างอาคารบ้านเรือนได้ดี เพราะมอดไม่กิน เนื่องจากเนื้อไม้มีรสฝาด และยังใช้ทำเครื่องเรือน เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ทำครกสาก ทำเรือและพาย เกวียนและเพลา หรือใช้ทำเป็นหมอนรองรางรถไฟ ฯลฯ

-เมล็ด ราก และใบมีพิษ ใช้เป็นยาเบื่อปลา

-ต้นกระโดน สามารถนำมาใช้ปลูกตามสวนสาธารณะได้ โดยลักษณะของต้นเป็นทรงพุ่มกลมทึบ มีใบใหญ่ มองเห็นทรงพุ่มได้เด่นชัด แต่ไม่ควรนำมาปลูกใกล้ลานจอดรถ เนื่องจากต้นกระโดนเป็นไม้ผลัดใบและมีผลขนาดใหญ่



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง