Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: มะไฟเดือนห้า-กรดน้ำ

ชื่อท้องถิ่น: กรดน้ำ กระต่ายจามใหญ่ กัญชาป่า มะไฟเดือนห้า (กรุงเทพฯ)/ ต้อไม้ลัด (สิงห์บุรี)/ เทียนนา (จันทบุรี)/ ปีกแมงวัน ผักปีกแมลงวัน (กาญจนบุรี)/ หูปลาช่อนตัวผู้ (ตราด)/ ตานซาน (ปัตตานี)/ ขัดมอนเทศ (ตรัง)/ หญ้าขัดหิน หญ้าจ้าดตู้ด หญ้าหัวแมงฮุน ยูกวาดแม่หม้าย (ภาคเหนือ)/ ขัดมอนเล็ก ขัดมอญเล็ก หนวดแมว หญ้าขัด หญ้าหนวดแมว (ภาคกลาง)/ ข้างไลดุ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)/ หญ้าพ่ำสามวัน (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน)/ ปิงถางเฉ่า เหย่กานฉ่าน แหย่กานฉ่าน (จีนกลาง)/ เอี่ยกำเช่า (จีนแต้จิ๋ว)

ชื่อสามัญ: Macao Tea, Sweet Broomweed

ชื่อวิทยาศาสตร์: Scoparia dulcis Linn.

ชื่อวงศ์: PLANTAGINACEAE

สกุล: Scoparia 

สปีชีส์: dulcis 

ชื่อพ้อง: -

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

มะไฟเดือนห้า thai-herbs.thdata.co | มะไฟเดือนห้า สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

มะไฟเดือนห้า เป็นไม้ล้มลุกอายุ 2 ปี ลำต้นตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 30-80 เซนติเมตร เป็นพุ่ม แตกกิ่งแผ่สาขามาก ลำต้นมีลักษณะเป็นเหลี่ยม ไม่มีขน กิ่งเล็กเรียว  ปัจจุบันพบขึ้นทั่วไปในเขตร้อนชื้น 

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามหรือเป็นวงรอบข้อ ข้อละ 3-4 ใบ แผ่นใบมีขนาดเล็กเป็นสีเขียว ลักษณะของใบเป็นรูปรีเรียว รูปใบหอกแกมรูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ปลายใบแหลม โคนใบเรียวสอบ ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยตรงส่วนใกล้โคนใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-15 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-35 มิลลิเมตร ท้องใบมีต่อม ก้านใบสั้นมากหรือแทบไม่มี


มะไฟเดือนห้า thai-herbs.thdata.co | มะไฟเดือนห้า สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก  ออกดอกเดี่ยว ๆ ขนาดเล็กสีขาว ที่ง่ามใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีวงละ 4 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ปลายแยกออกเป็น 2 ปาก กลีบดอกเป็นสีขาว ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน และมีเกสรเพศเมีย 1 อัน ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ในต้นหนึ่งจะมีดอกมาก


มะไฟเดือนห้า thai-herbs.thdata.co | มะไฟเดือนห้า สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะค่อนข้างกลมหรือเป็นรูปไข่ มีขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เมื่อแก่จะแตกออก ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก

สภาพนิเวศวิทยา: พบในป่าเต็งรัง ขึ้นตามที่แห้งแล้งโล่งแจ้ง สำหรับในประเทศไทยพบขึ้นทั่วทุกภาค โดยมักขึ้นเป็นวัชพืชในที่รกร้าง ป่าผลัดใบ และพื้นทรายริมฝั่งแม่น้ำ

ถิ่นกำเนิด: อเมริกาเขตร้อน

การกระจายพันธุ์:พบทั่วไปในเขตร้อน  

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ต้น รสเผ็ดร้อน สรรพคุณ บำรุงธาตุ 

*ราก รสร้อนเมา สรรพคุณ แก้โรคเรื้อน ฆ่าพยาธิโรคเรื้อน ขันไส้เดือน ขับโลหิต ระดูให้ตก

*ใบ รสร้อน สรรพคุณ แก้ฟกช้ำ พลัดตกหกล้มจนตับปอดพิการ แก้ไข้ตัวเย็น หมดสติ เจริญธาตุ แก้พิษฝี

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ลำต้น พบสาร amellin, benzoxazolinone, betulicin acid, friedilin, glutinol, dulciol, dulcioic acid, dulciolone, sitosterol, iffaionic acid, scoparol, α-amyrin, tritriacontane และอัลคาลอยด์ ส่วนรากพบสาร d-mannitol, hexacosanol, mannitol, tannin และ β-sitosterol ต้นหญ้าช่วงบนจะมีสารอัลคาลอยด์ประมาณ 1.6%

การศึกษาทางเภสัชวิทยา: 

-ฤทธิ์ลดความดันโลหิต น้ำที่คั้นหรือสารที่สกัดได้รากนั้น เมื่อนำมาทดลองกับสัตว์ พบว่ามีผลต่อร่างกายของมัน เช่น ลดการเกร็งตัว การเคลื่อนไหวของลำไส้เล็กส่วนต้นของกระต่าย กระตุ้นหัวใจของคางคก และมีผลน้อยในการกระตุ้นมดลูกของหนูขาว แต่ไม่มีผลอะไรต่อกล้ามเนื้อลายหน้าท้องของคางคก และลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภา แต่เมื่อนำมาฉีดเข้าไปในหลอดเลือดของแมวแล้วจะช่วยลดความดันเลือดให้ลดลง และลดการหายใจ

-ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาบในเลือด เมื่อให้คนไข้ที่เป็นโรคเบาหวานทาน Amellin (อะเมลลิน-สารที่สกัดได้จากลำต้นกรดน้ำ) ในขนาด 15-20 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 30 วัน พบว่าสามารถช่วยลดน้ำตาลในเลือดและในปัสสาวะได้ โดยปฏิกิริยาในการลดจะค่อย ๆ ลดลงทีละน้อย แต่คุณภาพของยายังห่างจากอินซูลิน (Insuline) เนื่องจากยาชนิดนี้ไม่ได้ทำให้ปริมาณในเลือดลดต่ำกว่าเดิม แต่ Amellin จะช่วยธาตุเหล็กในเซรุ่ม ช่วยเพิ่มสภาพด่างในร่างกายของคนไข้ที่เป็นโรคเบาหวาน ช่วยเพิ่มระดับในเม็ดเลือดแดง และ acetone bodies ในเลือด จึงช่วยรักษาคนไข้ที่เป็นโรคเบาหวานที่มีอัลบูมิน (Albumin) คีโตน (Ketone) ในปัสสาวะ และที่มีอาการโลหิตจางได้ นอกจากนั้นยังช่วยลดไขมันในบาดแผลให้หายเร็วขึ้นอีกด้วย

-เมื่อปี ค.ศ.1985 ที่ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากกรดน้ำ ผลการทดลองพบว่า สมุนไพรชนิดนี้มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

-เมื่อปี ค.ศ.2002 ที่ประเทศอินเดีย มหาวิทยาลัย Annamalai ได้ทำการทดลองใช้สมุนไพรกรดน้ำกับหนูทดลองที่เป็นเบาหวาน โดยใช้สารสกัดจากใบกรดน้ำความเข้มข้น 0.15, 0.30, 0.45 กรัมต่อกิโลกรัม โดยป้อนยาให้หนูกินเป็นระยะเวลานาน 45 วัน ผลการทดลองพบว่า สมุนไพรชนิดนี้สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองและทำให้น้ำหนักตัวของหนูทดลองลดลงได้ อีกทั้งยังทำให้เกิดผลที่หนูมีความทนต่อกลูโคสได้ดีขึ้นอีกด้วย (Glucose tolerance test)

การศึกษาทางพิษวิทยา: 

-สารที่สกัดจากแอลกอฮอล์ไม่มีพิษ ส่วนสารที่สกัดจากน้ำจะมีพิษสูงต่อหนูถีบจักร

-จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่าขนาดที่ทำให้หนูถีบจักรตายครึ่งหนึ่ง เมื่อฉีดสารสกัดทั้งต้นด้วยน้ำและแอลกอฮอล์เข้าช่องท้องคือขนาด 1 กรัมต่อกิโลกรัม

การใช้ประโยชน์:

-ยาพื้นบ้านจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ ลดไข้ หากเด็กเป็นไข้ให้ใช้ลำต้นสดประมาณ 15 กรัม นำมาต้มใส่น้ำและน้ำตาลพอให้มีรสชาติ แล้วกรองเอาแต่น้ำกิน

-โรคหัด เมื่อเป็นหัดให้ใช้ลำต้นสดนำมาต้มแล้วกรองเอาแต่น้ำกินติดต่อกัน 3 วัน 

-อาการไข้ ไอ หวัด ทั้งต้นมีรสชุ่มหวาน ขมเล็กน้อย ไม่มีพิษ เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อตับ กระเพาะ และลำไส้ใหญ่ มีสรรพคุณเป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้ไอร้อน ไอหวัด ลดไข้ แก้เด็กเป็นไข้อีสุกอีใส และช่วยขับเสมหะ 

-อาการไอ ใช้ลำต้นกรดน้ำสด ๆ ประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มให้เดือดแล้วเอาน้ำมารับประทานเป็นยาแก้ไอ รักษาอาการไอเนื่องจากปอดร้อน (หรือถ้าเป็นหวัดและไอ ให้ใช้ต้นกรดน้ำสด 30 กรัม, สะระแหน่ 10 กรัม และพลูคาวอีก 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน 

-อาการเจ็บคอ เสียงแหบ ใช้รากต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้เจ็บคอ เสียงแหบ หรือจะใช้ต้นสดประมาณ 120 กรัม นำมาตำให้ละเอียดแล้วคั้นเอาแต่น้ำมาผสมกับน้ำผึ้ง ใช้รับประทานเป็นยาแก้เจ็บคอก็ได้ 

-อาการผิดปกติของระบบลำไส้ ใช้ใบนำมาทำเป็นยาชงดื่ม ช่วยลดอาการผิดปกติของระบบลำไส้ 

-อาการบิดติดเชื้อ ใช้ต้นกรดน้ำสด 30 กรัม, หยางถีเฉ่า 30 กรัม และข้าวเก่าประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำ รับประทานวันละ 1 เทียบ ขะช่วยลดอาการแก้ท้องร่วง ปวดบิดท้อง ช่วยสมานลำไส้ 

-อาการท้องเสีย ท้องเดิน ปวดท้อง แก้ลำไส้อักเสบ หากลำไส้อักเสบ ปวดท้อง ใช้ลำต้นขนาดประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มให้เดือดแล้วกรองเอาแต่น้ำกิน

-อาการแผลสด แผถลอก แผลเรื้อรัง ใช้ใบสดนำมาตำคั้นเอาน้ำทาหรือใช้พอก จะช่วยรักษาอาการแผลสด แผลถลอก แผลเรื้อรัง และช่วยห้ามเลือด 

-อาการผื่นคันตามผิวหนัง ใช้ลำต้นที่สด ๆ นำมาตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำมาทาบริเวณที่เป็นผื่นคัน

-อาการเท้าบวม ขาบวมจากการเป็นเหน็บชา ด้วยการใช้ลำต้นสดประมาณ 30 กรัม และน้ำตาลทรายแดง 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานก่อนอาหาร ใช้กินทุกเช้าและเย็นหลังอาหาร

-อาการปวดข้อ ใช้รากต้มกับน้ำดื่มร่วมกับลูกใต้ใบและหญ้าปันยอด จะช่วยลดอาการปวดข้อ 

-ช่วยบำรุงมารดาและน้ำนม ใช้ต้นสด 1 กำมือ นำมาต้มกินหลังคลอด จะช่วยให้มารดาแข็งแรงและมีน้ำนมดี 

-คนเมืองจะใช้ทั้งต้นนำไปต้มแล้วใช้ไอน้ำมารมแผลสดเพื่อช่วยให้แผลแห้งเร็วยิ่งขึ้น

-ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่จะใช้ทั้งต้นนำมาต้มแล้วเอาน้ำมาใส่แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก 

-ชาวเขาเผ่าแม้ว กะเหรี่ยง จะใช้ราก ทั้งต้น นำมาต้มกับน้ำดื่มหรือเคี้ยวกินเป็นยาแก้ปวดท้อง อาหารเป็นพิษ อาหารไม่ย่อย โรคกระเพาะอาหาร

-ชาวม้งจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำอาบรักษาผื่นคัน ซึ่งใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ 

-ชาวปะหล่องจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำรวมกับต้นสาบแร้งสาบกาให้เด็กอาบแก้อาการเบื่ออาหาร 

-ในฟิลิปปินส์จะดื่มน้ำต้มจากรากเป็นยาแก้ขัดเบา หรือหากมีอาการปัสสาวะขัดให้ใช้ลำต้นประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มให้เดือด แล้วกรองเอาแต่น้ำดื่ม




ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง