Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: ขมิ้นชัน

ชื่อท้องถิ่น: ขมิ้น (ทั่วไป)/ ขมิ้นแกง ขมิ้นหยอก ขมิ้นหัว (เชียงใหม่)/ ขมิ้นชัน (ทั่วไป ภาคใต้)/ ขี้มิ้น หมิ้น (ภาคใต้)/ ตายอ (กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร)/ สะยอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ชื่อสามัญ: Turmeric

ชื่อวิทยาศาสตร์: Curcuma longa L.

ชื่อวงศ์: ZINGIBERACEAE

สกุล: Curcuma

สปีชีส์: longa 

ชื่อพ้อง: 

-Amomum curcuma Jacq.

-Curcuma brog Valeton

-Curcuma domestica Valeton

-Curcuma longa var. vanaharidra Velay., Pandrav., J.K.George & Varapr.

-Curcuma ochrorhiza Valeton

-Curcuma soloensis Valeton

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ขมิ้นชัน thai-herbs.thdata.co | ขมิ้นชัน สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ขมิ้นชัน thai-herbs.thdata.co | ขมิ้นชัน สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นขมิ้นชัน เป็นไม้ล้มลุก อายุหลายปี สูง 30-95 เซนติเมตร มีลำต้นใต้ดินเรียกว่าเหง้า ประกอบด้วยแง่งที่มีลักษณะต่างๆ กันคือ แง่งแม่หรือแง่งหลักจะมีลักษณะกลม ซึ่งจะเป็นที่แตกของแขนงที่สองและสามต่อไป แขนงที่แตกออกมานี้ถ้ามีลักษณะกลมจะเรียกว่า หัว และถ้ามีลักษณะยาวคล้ายนิ้วมือจะเรียกว่า นิ้ว ซึ่งเป็นที่เกิดของรากฝอย เนื้อในหัวมีสีเหลืองอมส้มหรือสีเหลืองจำปาปนสีแสด และมีกลิ่นหอม ส่วนลำต้นเหนือดินคือกาบก้านใบที่เรียงซ้อนกันเป็นลำต้นเทียม


ขมิ้นชัน thai-herbs.thdata.co | ขมิ้นชัน สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยว กลางใบสีแดงคล้ำ แทงออกจากเหง้าใต้ดิน ลักษณะใบรูปใบหอกยาวเรียว ปลายใบแหลม กว้าง 12-15 ซม. ยาว 30-40 ซม. มีเส้นกลางใบเห็นได้ชัดเจนทางด้านล่างของใบ ใบเรียงแบบสลับ และอยู่กันเป็นกลุ่ม


ขมิ้นชัน thai-herbs.thdata.co | ขมิ้นชัน สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกเป็นช่อ ช่อดอกจะเกิดบนลำต้นที่มีใบหรือโผล่ขึ้นมาจากใจกลางของกลุ่มใบ ช่อดอกมีรูปร่างแบบทรงกระบอกหรือรูปกรวย ใบประดับมีสีเขียวอ่อนๆ หรือสีขาว กลีบดอกสีเหลืองอ่อน ตรงปลายช่อดอกจะมีสีชมพูอ่อน จัดเรียงซ้อนกันอย่างเป็นระเบียบ กลีบรองกลีบดอกจะเชื่อมติดกันเป็นรูปท่อ มีขน กลีบดอกมีขาว ตรงโคนเชื่อมติดกันเป็นท่อยาว บานครั้งละ 3-4 ดอก

ผล ลักษณะผลรูปไข่ ผิวมีขนหนาแน่น เมล็ดมีรูปร่างคล้ายหยดน้ำยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร

สภาพนิเวศวิทยา: พบขึ้นในป่าเบญจพรรณ เต็งรัง และป่าดิบแล้ง

ถิ่นกำเนิด: -

การกระจายพันธุ์: -

ขมิ้นชัน thai-herbs.thdata.co | ขมิ้นชัน สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*หัว รสฝาดเอียน สรรพคุณ แก้ไข้เพื่อดี คลั่งเพ้อ แก้ไข้เรื้อรังผอมเหลือง แก้โรคผิวหนัง แก้เสมหะและโลหิต แท้องร่วง สมานแผล

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้ขมิ้นชัน ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาเหลืองปิดสมุทร” มีส่วนประกอบของขมิ้นชันร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปน และท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้ นอกจากนี้ยังจัดอยู่ในบัญชียาพัฒนาจากสมุนไพรที่สามารถใช้เดี่ยว เพื่อบรรเทาอาการแน่น จุกเสียด

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ราก และเหง้า พบสาร สารกลุ่มเคอร์คิวมินนอยด์ (curcuminoids) ประกอบด้วย เคอร์คิวมิน (curcumin), monodesmethoxycurcumin, bisdesmethoxycurcumin และน้ำมันระเหยง่าย (volatile oil) มีสีเหลืองอ่อน สารหลักคือเทอร์เมอโรน (turmerone) 60%, ซิงจิเบอรีน (zingiberene) 25%, borneol, camphene, 1, 8 ciniole , sabinene, phellandrene

การศึกษาทางเภสัชวิทยา: 

-ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคทางเดินอาหาร การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรค ของสารสกัดเอทานอล เฮกเซน และสารเคอร์คูมินอยด์ (ประกอบด้วยเคอร์คูมิน 86.5%, ดีเมทอกซีเคอร์คูมิน 13.4% และบิสเมทอกซีเคอร์คูมิน 0.1%) ที่ได้จากเหง้าขมิ้นชัน ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ใช้วิธี disc diffusion method หาค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ยับยั้งการเจริญของเชื้อ (MIC) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ Bacillus cereus, Vibrio cholera,  B. subtilis, Staphylococcus aureus และ V. parahaemolyticus โดยมีค่า MIC เท่ากับ 3.91, 15.63, 15.63, 31.25 และ 31.25 ppt ตามลำดับ สารสกัดเฮกเซนสามารถยับยั้งเชื้อ Staph. aureus, B. cereus, V. cholera และV. parahaemolyticus โดยมีค่า MIC เท่ากับ  250, 250, 500 และ 1000 ppt ตามลำดับ และสารเคอร์คูมินอยด์สามารถยับยั้งเชื้อ Staph. aureus, B. cereus และ B. subtilis โดยมีค่า MIC เท่ากับ 3.91, 15.63 และ 125 ppt ตามลำดับ โดยสรุปสารสกัดเอทานอล สารสกัดเฮกเซน และสารเคอร์คูมินอยด์จากเหง้าขมิ้นชัน สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อก่อโรคทางเดินอาหารหลายชนิดได้แก่  B. subtilis, B. cereus ซึ่งก่อโรคอาหารเป็นพิษ ท้องร่วง เชื้อ V. parahaemolyticus ก่อโรคอาหารเป็นพิษ หรือทางเดินอาหารอักเสบเชื้อV. cholera ก่อโรคอหิวาตกโรค เชื้อ Staph. aureus ทำให้เกิดการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร ลำไส้อักเสบ อาหารเป็นพิษ เป็นต้น  (Sincharoenpokai, et al., 2009)

-ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคทางผิวหนัง การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus (เป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่ผิวหนังที่พบทั่วไป เช่น  ฝี  หนอง แผลติดเชื้อ สามารถสร้างสารพิษ endotoxin ทำให้เกิดการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร ลำไส้อักเสบ อาหารเป็นพิษ เป็นต้น และยังก่อให้เกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในโรงพยาบาลอีกด้วย)  ทดสอบโดยใช้สารสกัดปิโตรเลียมอีเธอร์, สารสกัดเบนซีน, สารสกัดคลอโรฟอร์ม, สารสกัดเมทานอล และสารสกัดน้ำจากเหง้าขมิ้นชัน  ด้วยวิธี disc diffusion method หาบริเวณใสในการยับยั้งเชื้อ (zone of inhibition) ใช้ยา gentamycin เป็นสารมาตรฐาน  แสดงผลในหน่วยร้อยละของการยับยั้งการเจริญของเชื้อ ใช้เชื้อในการทดสอบ 2 ชนิด คือ เชื้อมาตรฐาน S. aureus ATCC 6571 และ S. aureus ที่แยกทางคลินิก (clinical isolates) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์, เบนซีน, คลอโรฟอร์ม, เมทานอล และน้ำ สามารถยับยั้งเชื้อมาตรฐาน S. aureus ATCC 6571โดยมีค่า MIC เท่ากับ 73, 84, 42, 100 และ 73% ตามลำดับ (ให้ gentamycin เท่ากับ 100%) และยับยั้งเชื้อ S. aureus ที่แยกทางคลินิก ได้เท่ากับ 85, 107, 71, 42 และ 85% ตามลำดับ (ให้ gentamycin เท่ากับ 100%) โดยสรุปสารสกัดเมทานอลออกฤทธิ์ดีที่สุดในการยับยั้งเชื้อมาตรฐาน S. aureus ATCC 6571 และสารสกัดเบนซีนออกฤทธิ์ดีที่สุดในการยับยั้งเชื้อ S. aureus ที่แยกทางคลินิก (Gupta, et al., 2015)

-ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพของสารสกัดน้ำที่ได้จากเหง้าขมิ้นชัน ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ตรวจสอบโดยใช้วิธี agar diffusion method เพื่อหาบริเวณใสในการยับยั้งเชื้อ (zone of inhibiton) และใช้วิธี agar dilution method เพื่อหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ยับยั้งเชื้อ (MIC) และใช้วิธี broth macro-dilution method เพื่อหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการฆ่าเชื้อ (MBC) ใช้ยา gentamicin sulphate เป็นสารมาตรฐาน ทำการทดสอบกับเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก 5 ชนิด ได้แก่ Staphylococcus aureus, S. epidermidis, Micrococcus luteus, Bacillus subtilis และ Lactobacillus plantarum และเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ 5 ชนิด ได้แก่ Escherichia coli, Klebsiella pneuminiae, Salmonella typhimurium, Pseudomonas aeruginosa และ Proteus vulgaris ผลการทดสอบพบว่า สารสกัดน้ำที่ได้จากเหง้าขมิ้นชันออกฤทธิ์ดีในการยับยั้งเชื้อหลายชนิด ที่ความเข้มข้นต่ำ โดยสามารถยับยั้งเชื้อ 4 ชนิด ได้แก่ S. aureus, S. epidermidis, E. coli  และ K. pneuminiae โดยมีค่า MIC เท่ากับ 6, 4, 4 และ 16 g/L ตามลำดับ และมีค่า MBC เท่ากับ 32, 16, 16 และ 32 g/L ส่วนยามาตรฐาน gentamicin sulphate มีค่า MIC ต่อเชื้อทั้ง 4 ชนิด น้อยกว่า 0.5 mg/L (Niamsa, et al., 2009)

***หมายเหตุ 

*S. aureus เป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อผิวหนังที่พบทั่วไป เช่น  ฝี หนอง แผลติดเชื้อ สามารถสร้างสารพิษ endotoxin ทำให้เกิดการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร ลำไส้อักเสบ อาหารเป็นพิษ เป็นต้น

*S. epidermidis เป็นแบคทีเรียชนิดแกรมบวก ทำให้เกิดการติดเชื้อในโรงพยาบาล ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเด็กแรกเกิด หรือในผู้ที่ใส่อุปกรณ์ทางการแพทย์ เชื้อสามารถเคลื่อนจากบริเวณผิวหนังเข้าสู่ชั้นเนื้อเยื่อที่ลึกขึ้นและเข้าสู่กระแสเลือดได้

*E. coli  เป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ โรคติดเชื้อ E. coli ที่สำคัญ ได้แก่ โรคท้องร่วง โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ โรคติดเชื้อในทางเดินหายใจ และโรคติดเชื้อที่ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น

*K. pneuminiae เป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ ปกติจะอาศัยในลำไส้มนุษย์ และไม่ก่อให้เกิดโรค แต่หากเชื้อนี้แพร่ไปอยู่ในตำแหน่งอื่นๆในร่างกาย ก็จะสามารถทำให้เกิดโรคต่างๆขึ้นได้ โรคเหล่านี้ได้แก่ โรคติดเชื้อในปอด โรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคติดเชื้อที่บาดแผล ที่แผลผ่าตัด โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยา: 

-การศึกษาพิษเฉียบพลันของเหง้าขมิ้นชันในหนูถีบจักร พบว่าหนูที่ได้รับผงขมิ้นชันทางปากในขนาด 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่แสดงอาการพิษ และเมื่อให้สารสกัดของเหง้าขมิ้นชันด้วย 50% แอลกอฮอล์ โดยวิธีป้อนทางปาก ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และทางช่องท้องในขนาด 15 กรัม/กิโลกรัม พบว่าไม่ทำให้เกิดอาการพิษเฉียบพลัน และหนูถีบจักรไม่ตาย ขนาดของสารสกัดทำให้หนูตายครึ่งหนึ่ง (LD50) เมื่อให้โดยวิธีดังกล่าว จึงมีค่ามากกว่า 15 กรัม/กิโลกรัม (คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา, 2549)

-การศึกษาพิษเรื้อรังของขมิ้นชันในหนูขาวสายพันธุ์วิสตาร์ที่แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุมที่ได้รับน้ำ และกลุ่มทดลองที่ได้รับผงขมิ้นชันทางปากในขนาด 0.039, 2.5 และ 5.0 กรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับ 1, 83 และ 166 เท่าของขนาดที่ใช้ในคนคือ 1.5 กรัมต่อ 50 กิโลกรัมต่อวัน เป็นเวลานาน 6 เดือน พบว่าหนูเพศผู้ที่ได้รับขมิ้นชันขนาด 2.5 และ 5.0 กรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน มีน้ำหนักตัว และการกินอาหารน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงนี้ในหนูเพศเมียที่ได้รับยาขนาดเท่ากัน ขมิ้นชันในขนาดต่างๆ ที่ให้แก่หนูขาวไม่ทำให้เกิดอาการพิษใดๆ รวมทั้งไม่มีผลต่อค่าทางโลหิตวิทยา หรือค่าเคมีคลินิก และไม่ทำให้เกิดพยาธิสภาพต่ออวัยวะภายในของหนูขาวทั้งสองเพศ (คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา, 2549)

-การศึกษาพิษเรื้อรังนาน 6 เดือน ของสารเคอร์คิวมินอยด์ ในหนูขาวสายพันธุ์วิสตาร์ ที่แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มละ 15 ตัวต่อเพศ แบ่งเป็นกลุ่มควบคุมที่ได้รับน้ำ กลุ่มควบคุมที่ได้รับ tragacanth  และกลุ่มทดลองที่ได้รับน้ำยาแขวนตะกอนเคอร์คิวมินอยด์ ใน tragacanth ทางปากในขนาด 10, 50 และ 250 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับ 1, 5 และ 25 เท่าของขนาดที่ใช้ในคนต่อวัน ส่วนหนูทดลองกลุ่มที่ 4 ได้รับน้ำยาแขวนตะกอนเคอร์คิวมินอยด์ ขนาด 250 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน นาน 6 เดือน แต่หยุดให้ยา 2 สัปดาห์ ก่อนผ่าซาก เพื่อดูว่าหากมีอาการพิษจากเคอร์คิวมินอยด์เกิดขึ้น จะกลับมาหายเป็นปกติได้หรือไม่หลังจากหยุดยา พบว่าอัตราการเจริญของหนูเพศผู้ที่ได้รับเคอร์คิวมินอยด์ ขนาด 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน สูงกว่ากลุ่มที่ได้รับ tragacanth อย่างมีนัยสำคัญ สารเคอร์คิวมินอยด์ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของค่าทางโลหิตวิทยาใด ๆ ที่มีความสัมพันธ์กับขนาดของสารที่ให้ในหนูเพศผู้ที่ได้รับเคอร์คิวมินอยด์ ขนาด 250 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน พบว่าน้ำหนักจริง และน้ำหนักสัมพัทธ์ของตับ และระดับ alkaline phosphatase สูงกว่ากลุ่มควบคุมทั้งสองกลุ่ม แต่ยังอยู่ในช่วงของค่าปกติ แม้ว่าหนูกลุ่มนี้ดูเหมือนจะมีอุบัติการณ์ของไขมันสะสมในตับ และชั้น cortex  ของต่อมหมวกไตสูง แต่อุบัติการณ์ดังกล่าวไม่ได้แตกต่างจากกลุ่มควบคุมทั้งสองอย่างมีนัยสำคัญ ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าการให้เคอร์คิวมินอยด์ ในขนาดที่ใช้ในคน 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลานาน ไม่ทำให้เกิดพิษในหนูขาว อย่างไรก็ตามเคอร์คิวมินอยด์ ในขนาดสูงอาจมีผลต่อการทำงาน และโครงสร้างตับได้ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่กลับเป็นปกติได้เมื่อหยุดใช้เคอร์คิวมินอยด์ (คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา, 2549)

การใช้ประโยชน์:

-โรคกระเพาะอาหาร ใช้เหง้าแก่สดยาวประมาณ 2 นิ้ว เอามาขูดเปลือก ล้างน้ำให้สะอาด ตำให้ละเอียด เติมน้ำ คั้นเอาแต่น้ำ รับประทานครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 3-4 ครั้ง หรือยาแคปซูลที่มีผงเหง้าขมิ้นชันแห้ง 250 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 2-4 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน  อาจปั้นเป็นลูกกลอนกับน้ำผึ้ง

-โรคกลาก เกลื้อน ใช้เหง้าแก่สดผสมกับน้ำแล้วทาบริเวณที่เป็นกลาก เกลื้อน จำนวน 2 ครั้ง/วัน

-อาการจุกเสียดเน้นเฟ้อ ใช้เหง้าแก่สดยาวประมาณ 2 นิ้ว เอามาขูดเปลือก ล้างน้ำให้สะอาด ตำให้ละเอียด เติมน้ำ คั้นเอาแต่น้ำ รับประทานครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 3-4 ครั้ง หรือยาแคปซูลที่มีผงเหง้าขมิ้นชันแห้ง 250 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 2-4 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน  อาจปั้นเป็นลูกกลอนกับน้ำผึ้ง

-อาการปวดท้องบิด ใช้เหง้าแก่สดเผาไฟแล้วโขลกรวมกับน้ำปูนใส รับประทานแก้ท้องร่วง แก้บิด

-อาการท้องเสีย ช้ขมิ้นชันผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอน รับประทานช่วงเวลาหลังอาหารและก่อนนอน ครั้งละ 3-5 เม็ด วันละ 3 เวลา

-อาการเคล็ดขัดยอก ใช้เหง้าแก่สดโขลกกับดินประสิวเล็กน้อย ผสมน้ำปูนใสพอกบริเวณที่มีอาการแก้เคล็ด ขัด ยอก 

-อาการผดผื่นคัน ใช้ผงขมิ้นเคี่ยวกับน้ำมันพืช ทำน้ำมันใส่แผลสด ผสมน้ำทาผิว แก้เม็ดผดผื่นคัน

-ช่วยบรรเทาแผลจากแมลงสัตว์กัดต่อย ใช้เหง้าแก่สดมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วตำจนละเอียด คั้นเอาแต่น้ำมาทาบริเวณดังกล่าว หรือใช้ผงขมิ้นชัน 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันหมู 2 – 3 ช้อนโต๊ะ เคี่ยวด้วยไฟอ่อนๆ จนน้ำมันกลายเป็นสีเหลือง ใช้น้ำมันที่ได้ใส่แผล

-ช่วยสมานบาดแผล ใช้มิ้นสดโขลกกับดินประสิวเล็กน้อย ผสมน้ำปูนใสพอกบาดแผล

-ช่วยให้ผิวพรรณนุ่มนวล ขาวผ่องใส เต่งตึง ใช้เหง้าแก่สดทำทรีตเมนต์พอกผิว ขัดผิว โดยนำเหง้าแก่สดมาล้างน้ำให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปปั่นรวมกับดินสอพอง 2-3 เม็ด แล้วผสมกับมะนาว 1 ลูก ปั่นจนเข้ากัน นำมาพอกหน้าหรือผิวทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด

-เหง้าแก่สด หรือผงขมิ้น มีสีเหลืองเข้ม กลิ่นหอม คนไทยรู้จักกันในฐานะของพืชสมุนไพรและเครื่องเทศ นิยมนำมาใช้ประกอบอาหาร เพิ่มการแต่งสี แต่งกลิ่น เพิ่มรสชาติให้อาหารมีความน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น อาหารที่นิยมใส่ขมิ้นชัน ได้แก่ แกงเหลือง ข้าวหมกไก่ แกงกะหรี่ ขนมเบื้องญวน ไก่ทอด แกงไตปลา มัสตาร์ด เนย มาการีน เป็นต้น

-ป้องกันหนอนใยผัก หนอนกระทูผัก และหนอนผีเสื้อ ใช้เหง้าแก่แห้งครึ่งกิโลกรัม ตำให้ละเอียด จากนั้นนำไปหมักในน้ำ 2 ลิตร ทิ้งไว้ค้างคืน เมื่อได้ที่แล้วจึงกรองเอาเฉพาะน้ำไปผสมน้ำเพิ่มอีก 2 ลิตร ใช้ฉีดพ่นแปลงผักจะช่วยป้องกันหนอนใยผัก หนอนกระทูผัก และหนอนผีเสื้อทั่วไป

-ผู้หญิงชาวอินเดียมักนำขมิ้นมาทาผิวเพื่อป้องกันไม่ให้ขนงอก

ขมิ้นชัน thai-herbs.thdata.co | ขมิ้นชัน สรรพคุณ สมุนไพร ไทย



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง